เส้นทางเดินของ “ชายน้อย” แบรนด์ทุเรียนทอดชื่อดังจากชุมพร สู่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

เอสเอ็มอี ในบ้านเราหลายรายร่ำรวยมาจากการค้าขายกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น  ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 9,700 สาขา แต่ไม่ใช่ทุกรายจะประสบความสำเร็จ เพราะจะต้องมีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

เอสเอ็มอี รายหนึ่งที่ผลิตสินค้าขายให้กับร้านเซเว่น อีเลฟเว่นจนต้องขยายกิจการให้ใหญ่โตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด เจ้าของทุเรียนทอดกรอบและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” และแบรนด์ “ชายน้อย อีซี่”

โอท็อป 4 ดาว ของชุมพร

โรงงานผลิตของบริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ทะเลทรัพท์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้ ได้เห็นกับตาฟังกับหูว่าทำไม หนุ่มใหญ่วัย 41 ปี คนนี้ถึงเป็นเศรษฐีได้ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี

คุณสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ดฯ เล่าความเป็นมาในการทำธุรกิจว่า ครอบครัวเป็นคนชุมพร และคุณแม่เป็นแม่ค้าผลไม้  โดยรับซื้อผลไม้จากทั่วประเทศ แล้วนำมาขายที่ภาคใต้ รวมถึงรับซื้อทุเรียนแบบเหมาสวน ไปขายที่ตลาดสี่มุมเมืองกรุงเทพฯ กระทั่งปี 2545 ราคาทุเรียนตกต่ำเหลือกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 5 บาท จากเดิม ก.ก.ละ 20 บาท แม่จึงทำเป็น “ทุเรียนทอด”

ต้นทุเรียนหมอนทอง

คุณสุรพงษ์เคยทำงานอยู่ที่ กทม. เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทขายนาฬิกาแบรนด์ดัง และเคยขายก๋วยเตี๋ยวมาก่อน กระทั่งในปี 2546 มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจทุเรียนทอด จึงสร้างแบรนด์บ้านทุเรียนชายน้อย ส่งร้านขายของฝาก และรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนบ้านชายน้อยขึ้น  สินค้าได้รับเลือกให้เป็นโอท็อป 4 ดาว จากเดิมที่ส่งสินค้าร้านขายของฝาก จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ค่อยๆ ขยายช่องทางการจำหน่ายไปที่ จ.เพชรบุรี, จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงร้านขายของฝากต่างๆ

กระทั่งปี 2551 คุณสุรพงษ์ ติดต่อทางซีพีออลล์ ใช้เวลา 7-8 เดือน ในการปรับแพ็คเกจจิ้ง และทำสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน และได้นำสินค้าขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นภายในปี 2552 ตอนแรกขายเป็นทุเรียนทอดเกรด C ซองละ 10 บาท พัฒนามาเรื่อยๆ จนได้มาตรฐาน พอครบ 5 ปี ในปี 2557 ก็ตั้งโรงงานใหม่ ตอนนี้มีสินค้าที่ส่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้แก่ ทุเรียนทอด กล้วยเล็บมือนางอบแห้ง แครกเกอร์หน้าทุเรียนทอด ซึ่งช่วงแรกร้านเซเว่น อีเลฟเว่นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กด้วยการจ่ายเงิน 15 วัน จ่ายต่อครั้ง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

“ช่วงทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งตามร้านขายของฝาก มียอดขาย 1-2 ล้านบาท ต่อเดือน พอส่งขายร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเพิ่มเป็น 3-4 เท่า แต่ละปีเติบโต 20-30% ตอนนี้ตลาดหลักคือ ยอดขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และส่งออกไปขายที่จีน พม่า เวียดนาม เกาหลี เกาะกวม และเกาะมัลดีฟส์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ คุณสุรพงษ์ ได้นำกล้วยหอมทองอบกรอบเข้าไปขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นด้วย เพราะชุมพรเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่น แต่กล้วยหอมที่ลูกบิดเบี้ยวหรือลูกงอไม่ได้ขนาดก็ส่งออกไม่ได้  นอกจากนี้ แต่ละปีบริษัทจะผลิตสินค้าใหม่ปีละ 2 ตัว โดยกำลังทดลองทำบับเบิ้ลลองกอง เป็นการนำเนื้อลองกองบดมาผสมกับเยลลี่ และอาจจะนำผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ มาทำแบบเดียวกัน อย่างเช่น สับปะรด

พูดได้ว่า บริษัท ชายน้อยฟู้ดฯ ช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละปีรับซื้อผลทุเรียนดิบปีละ 1,000 ตัน แต่เมื่อนำมาทอดแล้วจะได้ 100 ตัน บางช่วงที่ทุเรียนใต้ยังไม่ออกก็รับซื้อจากทุเรียนในภาคตะวันออกด้วย โดยทอดที่ จ.จันทบุรีเลย ก่อนนำมาแพ็กที่ชุมพร

คุณสุรพงษ์ ให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจผลิตสินค้าป้อนร้านเซเว่น อีเลฟเว่นว่า ช่วงแรกๆ จะมีปัญหาเรื่องเงินทุนไม่เพียงพอ รวมถึงการทำโรงเรือนเพื่อให้ได้มาตรฐาน แถมยังต้องเสียค่าบรรจุภัณฑ์ และมีค่าแรกเข้า ซึ่งขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละตัว แต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ทางชายน้อย ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า แต่ตอนนี้หากมีสินค้าใหม่เข้าไปต้องเสีย ตัวละ 2-3 หมื่นบาท ดังนั้นถ้าเป็นนักธุรกิจรายใหม่ การจะนำสินค้าเข้าวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ต้องมั่นใจว่าสินค้ามีคุณภาพ สมควรที่จะลงทุน เพราะถ้าลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ลูกค้าก็จะไม่คุ้มค่า

“กรณีของผม ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง  ซึ่งผมเองมีความตั้งใจจริง และมีตัวช่วย ที่สำคัญมีต้นทุน มีความรู้ในเรื่องการแปรรูป และอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังรู้จักเรื่องการตลาด และช่องทางการขาย ขณะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นมีส่วนช่วยในการจัดจำหน่ายและพัฒนาแพกเกจจิ้ง”

เรื่องราวของทุเรียนทอดกรอบชายน้อย คงทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่-หน้าเก่า ที่อยากจะเข้านำสินค้าไปวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้เห็นแล้วว่า โอกาสและช่องทางการเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่ทั่วหัวระแหงของบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องยากเกินจะทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยสถานที่ผลิตและสินค้าต้องได้เครื่องหมาย อย. รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ด้วย