“ไก” สาหร่ายน้ำจืดเลิศรส จากลำน้ำน่าน โอท็อปสร้างรายได้เฉียดล้านต่อปี

“สาหร่ายไก” สาหร่ายน้ำจืดเลิศรส โอท็อป 9 วัน ทำยอดขาย 79,000 บาท การันตีงานวิจัยสาหร่ายชนเผ่าไทลื้อ จากลำน้ำน่าน

เดือนธันวาคม เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผู้เขียนไม่พลาดโอกาสที่จะไปเดินชมผลิตภัณฑ์งานแสดงสินค้าโอท็อป บนพื้นที่กว้างใหญ่อลังการ คืองาน Otop city 2018 ที่เมืองทองธานี

ได้ไปจ๊ะเอ๋กับหนึ่งผลิตภัณฑ์โอท็อป ท่องเที่ยวนวัตวิถี อย่าง “สาหร่ายไก” ชื่อนี้ได้ยินแล้วแปลกๆ คันๆ หู ดูน่าสนใจยิ่งนัก

คำว่า สาหร่าย หลายๆ ท่านคงจะคุ้นชินได้ยินกันว่าสาหร่ายส่วนใหญ่น่าจะมาจากใต้ท้องทะเลน้ำลึก หรือนำเข้าจากต่างประเทศ โน่น…นี่…นั่น…ประโยชน์สรรพคุณมีมากล้นมากมาย แตกต่างกันไป…

แต่กับ “สาหร่ายไก” ที่ว่านี้เป็น สาหร่ายน้ำจืดเมืองไทย ผู้เขียนเองก็ไม่คุ้นชินหูเช่นเดียวกัน จึงนำเรื่องราวมาบอกเล่า ผ่าน คุณป้าศิริพร คำหว่าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสาหร่ายน้ำจืดบ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

คุณป้าศิริพร อธิบายว่า “สาหร่ายไก” เป็นสาหร่ายน้ำจืดมีขึ้นอยู่มากมายในสายน้ำน่าน หรือต้นแม่น้ำน่าน มีพบเห็นตามโขดหิน เจริญเติบโตอยู่ใต้ท้องน้ำใสๆ ที่กระแสน้ำไหลเอื่อยๆ กับความลึก 30-50 เซนติเมตร ก็จะได้เห็นเส้นสีเขียวๆ สายยาวๆ นี่แหละคือ “สาหร่ายไก” แห่งเดียวในลำน้ำน่าน จังหวัดน่าน

ป้าศิริพร คำหว่าง ปธ.กลุ่มสาหร่ายไกชนเผ่าไทลือบ้านหนองบัว จ.น่าน

ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังฉงน งงๆ อยู่กับคำว่า “ไก”

อันที่จริงคำว่า “สาหร่าย” กับ “ไก” เป็นคำๆ เดียวกัน…จากการบอกเล่าของคุณป้าศิริพร

“ไก” เป็นภาษาไทลื้อหมายถึง “สาหร่าย” ส่วนคำว่า “สาหร่าย” เป็นคำภาษากลาง แต่ถ้าไปอยู่ในชนเผ่าไทลื้อ เขาเรียกกันว่า “ไก”

เอาเป็นว่าการสร้างแบรนด์ หรือผลิตสินค้าตัวใดตัวหนึ่งแล้วบรรจุลงซองออกจำหน่ายสู่ตลาดโลก การตั้งชื่อแบรนด์สินค้าจะต้องมีเวิร์ดดิ้ง (Wording) คือการใช้คำที่โดดเด่นและโดนใจ “สาหร่ายไก” จึงเป็นเครื่องหมายคำตอบ ให้ได้ขบคิด อ่านแล้วสะดุดตาสะดุดใจ และได้ทั้งภาษากลาง และภาษาท้องถิ่น

คุณป้าศิริพร คนไทลื้อ ประธานกลุ่ม เจ้าของแบรนด์ อธิบายให้ผู้เขียนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้และเข้าถึงว่า บ้านหนองบัว ล้วนเป็นชาวไทลื้อ มีถิ่นอาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำน่าน และเมื่อครั้งอดีตกาล 200 ปีก่อน บรรพบุรุษคนหนองบัวก็คือชนเผ่าจากสิบสองปันนา ที่อพยพมาจากจีน เดินผ่านลัดเลาะแม่น้ำมาเรื่อยๆ แล้วก็มาปักหลักสร้างถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำน่าน ณ หมู่บ้านหนองบัวแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน

สมาชิกกลุ่มลงเก็บสาหร่ายไกในลำน้ำน่าน

และพืชอาหารครัวเรือนที่หาได้ง่ายของชาวบ้านก็คือ สาหร่ายไก ที่อยู่ในแม่น้ำน่าน มีมากล้น ทั้งพ่ออุ้ย แม่อุ้ย ต่างก็นำมาปรุงแต่งเป็นอาหารได้หลากรสหลายเมนูสืบทอดภูมิปัญญาการแปรรูปสาหร่ายไก จนพัฒนามาสู่ตลาดบรรจุถุงขายในหมู่บ้าน ถุงละ 5 บาท 10 บาท เป็นทั้งกับข้าว และอาหารรับประทานเล่น รสชาติอร่อยเลิศต้องบอกต่อกันเลยทีเดียว

คุณป้าศิริพร ในวัย 58 ปี เห็นความแปลกใหม่ของ “ไก” หรือ “สาหร่าย” พืชที่อยู่ใต้น้ำมีรสชาติอร่อยจึงไปขอความรู้ขอสูตรจากผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วชักชวนมารวมกลุ่มแม่บ้านแปรรูปสาหร่ายไก

แรกๆ เริ่ม ก็ทำกันอย่างตามมีตามเกิดเพื่อสร้างเป็นอาชีพเสริม ในยามว่างเว้นช่วงเวลากลางค่ำกลางคืน ส่วนกลางวันสมาชิกแต่ละคนก็เข้าไร่เข้าสวนทำนาของตัวเอง

พอทำมาเรื่อยๆ เริ่มมีตลาด เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ปากต่อปากบอกต่อกันไป อย่างรายคุณหมอก็แนะนำให้เอาไปขายในตลาดโรงพยาบาลน่าน ทุกๆ วันศุกร์ จนได้ลูกค้าประจำซื้อรับประทานกันมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการพัฒนาแปรรูปสาหร่ายไก ได้หลากหลายเมนู อาทิ แกงคั่วไก หรือ (คั่วสาหร่าย), ห่อหมกไก หรือ (ห่อหมกสาหร่าย) และไกยี หรือ (สาหร่ายยีเลิศรส) เมนูนี้ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว เมื่อปี 2559 ภายใต้ชื่อ “สาหร่ายเลิศรส” กลุ่มแปรรูปอาหารจากสาหร่ายน้ำจืด

ส่วน การยีไก หรือ ยีสาหร่าย แต่เดิมชาวบ้านจะยีๆ กับอุ้งมือ มาถึงปัจจุบันเราใช้เครื่องปั่นแทนมือ เพื่อให้ทันใจว่องไวกับออเดอร์จากลูกค้าที่สั่งเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน แต่ถึงกระนั้นการผลิตสาหร่ายไกก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าที่สั่งเข้ามาอยู่ดี เนื่องจากกำลังการผลิตมีขีดจำกัด อีกทั้งกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนล้วนใช้มือแทบทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบ ไปจนถึงการบรรจุห่อลงถุง

สาหร่ายไกเปียกสดที่นำขึ้นมาจากแม่น้ำใหม่ๆ

เริ่มจากการนำสาหร่ายไกมาจากใต้น้ำ “น้องหน่อย” สมาชิกกลุ่มสะใภ้บ้านหนองบัว ต้องนำเรือใส่รถกระบะไปยังจุดที่มีสาหร่ายไก แล้วจึงพายเรือออกไปกลางลำน้ำน่านที่ความลึก 50 เซนติเมตร หรือราวๆ เพียงหน้าอก ต้องดำมุดดำว่ายเอื้อมมือไปเก็บสาหร่ายที่ใต้ท้องน้ำ ของทุกๆ ช่วงต้นฤดูหนาว สาหร่ายไกจะเจริญเติบโตได้ดีในที่น้ำเย็น

เมื่อได้สาหร่ายไกขึ้นจากน้ำ สมาชิกก็จะเอามาขายให้กลุ่ม แต่ต้องล้างให้สะอาด 5-10 น้ำ แล้วนำไปตาก ก่อนนำเข้าตู้อบที่ความร้อนเป็นเวลา 3-5 ชั่วโมง ก็จะได้สาหร่ายไกอบแห้ง การทำสาหร่ายแผ่นก็เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านการทำความสะอาดล้างน้ำแล้ว ก็เอามาสับให้เป็นชิ้นๆ จากนั้นก็เอามาเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียดผสมสูตรปรุงรสตามที่กำหนด แล้วนำมาคั่วเคี่ยวกวนในเตากระทะเป็นเวลา 30 นาที แล้วเอามาแผ่คลึงลงถาด ส่งเข้าตู้อบทิ้งไว้ 8-9 ชั่วโมง การทำสาหร่ายไกแผ่นอบแห้ง ต้องแห้งจริงๆ

จากสาหร่ายไกเปียกสด 40-50 กิโลกรัม เมื่อแห้งออกมาแล้วจะเหลือเพียง 2-3 กิโลกรัม ต่อกำลังการผลิตแต่ละวัน ฉะนั้น สาหร่ายไกเปียกสด 12 กิโลกรัม เมื่ออบแห้งออกมาแล้วจะได้เพียง 1 กิโลกรัม จึงเป็นเรื่องยากที่จะผลิตให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค

ส่วนค่าตอบแทน สำหรับสมาชิกที่เข้ามาทำงานทางกลุ่มจะจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน วันละ 300 บาท โดยเริ่มทำงานกันตั้งแต่ตี 5 นำสาหร่ายไกไปเคี่ยวในเตากระทะ แล้วเอามาคลึงลงถาดให้เป็นแผ่นเข้าตู้อบ จนถึง 7 โมงเช้า แล้วกลับไปรับประทานข้าว พักผ่อน ราวๆ 9 โมง ถึงจะกลับเข้ามาโรงงานอีกทีหนึ่ง เพื่อล้างสาหร่ายเตรียมที่จะทำต่อในวันถัดไป

ตู้อบสาหร่ายไกขนาดเล็กอบแห้งกำลังการผลิตได้เพียง40 50กก.ต่อวัน

ทำไมสาหร่ายไกถึงได้รับความนิยม ในสมัยปู่ย่าตายายร่ำลือกันว่า เมื่อรับประทานสาหร่ายไก แล้วผมจะดกดำ ชะลอความแก่อายุยืนยาว ความจำดีเลิศ ซึ่งให้สอดคล้องกับการทำงานวิจัยของ ดร.ยุวดี พีรพรพิศาล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการทำงานวิจัย ปี 2547 พบว่าสาหร่ายไกมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าสาหร่ายทะเลทั่วๆ ไปหลายเท่าตัว มีโปรตีนสูงเท่าๆ กับเนื้อปลาและเนื้อไก่, มีเบต้าแคโรทีน และสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระ, มีวิตามิน บี 1 และ บี 2 มากกว่าผัก, มีวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยส่งเสริมความจำและช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง, มีธาตุเหล็กและแคลเซียมช่วยบำรุงสมอง กระดูก และฟันให้แข็งแรง, มีเส้นใยกากอาหารสูงป้องกันอาการท้องผูก

ดร.ยุวดี บอกและการันตีว่า จงภูมิใจว่าสาหร่ายไกในบ้านเรามีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าสาหร่ายทั่วๆ ไปกว่าเท่าตัว งานวิจัยนี้จึงส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมหันมารับประทานสาหร่ายไกเพื่อสุขภาพกันเป็นจำนวนมาก

สาหร่ายไกบดปรุงรส และอบแห้งที่มีส่วนผสมกับสมุนไพรมะแขว่น

นอกจากสาหร่ายไกแผ่นทรงเครื่อง สาหร่ายเลิศรส (ไกยี) ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแล้ว คุณป้าศิริพร ประธานกลุ่มแม่บ้าน ยังได้คิดค้นเมนูพิเศษให้หลากหลายเพิ่มเข้ามา อาทิ ห่อหมกไก (ห่อนึ่งไก), กะหรี่ปั๊บสาหร่ายไก, กรอบเค็มสาหร่ายไก, ข้าวตังหน้าสาหร่ายไก, กล้วยตากผสมสาหร่ายไก, น้ำพริกข่า น้ำพริกน้ำผัก น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาร้าตาแดง และที่เด็ดสุดคือ สาหร่ายไกน้ำพริกมะแขว่น เป็นต้น

ส่วนด้านการตลาด สาหร่ายไกวางจำหน่ายอยู่ที่ศูนย์โอท็อป ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัด สนามบิน ท่ารถ ร้านค้าต่างๆ ในตัวจังหวัดน่าน และสามารถสั่งซื้อส่งทางพัสดุทั่วประเทศ ลูกค้าบางรายซื้อเหมาไปคราวเดียว 2,000 บาท เนื่องจากสาหร่ายไกจะหมดก่อน ผลิตไม่ทันและหาซื้อยากนั่นเอง

อ้อ…! ตลอด 9 วัน ในงาน Otop city 2018 ครั้งที่ผ่านมา สาหร่ายไกทำยอดขายได้ 79,000 บาท ส่วนยอดขายตลอดทั้งปี อยู่ที่ 700,000-900,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณป้าศิริพร คำหว่าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสาหร่ายน้ำจืดบ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โทร. (087) 188-4109

สาหร่ายไกที่ผ่านกระบวนการอบแห้ง

ข้อมูลจำเพาะ

ไก หรือ สาหร่ายน้ำจืด ที่ว่านี้ เป็นพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เองเจริญเติบโตอยู่ใต้ท้องน้ำ ขึ้นกระจายตั้งแต่ต้นแม่น้ำน่านไปจนถึงปลายลำน้ำน่าน แต่จะพบมากที่สุดคือที่บ้านหนองบัว ท่าวังผา เนื่องจากกระแสน้ำบริเวณนี้เป็นต้นน้ำมีความใสสะอาดเย็นและบริสุทธิ์ จึงทำให้สาหร่ายไก่เจริญเติบโตได้ดี ถ้าพื้นที่ลำน้ำช่วงบริเวณใดเกิดน้ำขุ่นฝุ่นละอองหรือไม่สะอาด โดยเฉพาะช่วงปลายน้ำ สาหร่ายไกก็จะเหี่ยวเฉาตายไม่มีการเจริญเติบโตได้อีก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยได้นำสาหร่ายไกไปทำการเพาะเลี้ยงแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มาจนถึงปัจจุบัน