ผู้เขียน | พิชญาดา เจริญจิต |
---|---|
เผยแพร่ |
คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อน เมื่อเห็นเด็กเป็นไข้จากอากาศเปลี่ยนแปลงต้นฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า ไข้หัวลม ท่านมักจะบอกว่า “ถ้าเป็นไข้หัวลม ต้องกินแกงส้มดอกแค” (ลมเปลี่ยนฤดู ย่างสู่หน้าหนาว) ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีคนเป็นไข้ท่านจึงมักทำแกงส้มดอกแคให้กิน เพราะรสที่เปรี้ยวและร้อนนั้นจะช่วยให้เหงื่อออกดีนัก หายไข้ได้เร็วขึ้นนั่นเอง
ในตำรายาสมุนไพรก็ระบุไว้เช่นกันว่า แค เป็นยาแก้ไข้หัวลม แต่ให้ใช้ส่วนยอดแทน ซึ่งเราจะได้กินก็ต่อเมื่อเอามาลวกจิ้มน้ำพริก ไม่เหมือนกับดอกแคที่หากินได้ง่ายกว่า
ดอกแค หรือ ยอดแค ที่จะมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ดีต้องเป็นดอกหรือยอดที่ปรุงอาหารมาใหม่ๆ เช่น แกงส้มก็ต้องแกงเสร็จใหม่ๆ ยอดแคก็ต้องลวกสดๆ ใหม่ๆ เดี๋ยวนั้น! เพราะทั้งสองอย่างมีวิตามินเอ และวิตามินซีอยู่สูงมาก
ในดอกแคสด 100 กรัม จะมีวิตามินเอ อยู่ 117 หน่วย วิตามินซี 52 มิลลิกรัม
ส่วนยอดแคสด มีวิตามินเอ 10,383 หน่วย และวิตามินซี 58 มิลลิกรัม ซึ่งหากเรากินยอดแค จะได้วิตามินเอ เยอะกว่า แต่วิตามินซี ใกล้เคียงกัน หากทั้ง 2 ชนิด นี้เมื่อโดนความร้อนและอากาศ วิตามินซีจะลดลงเสียครึ่งหนึ่ง และถ้าทิ้งไว้ยิ่งหายไปหมดเลย ส่วนวิตามินเอในผักจะอยู่ในรูปแคโรทีน ซึ่งร่างกายต้องเอาไปเปลี่ยนเป็นวิตามินเออีกทีก่อน และจะเปลี่ยนไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างจากวิตามินเอที่เราได้จากเนื้อสัตว์
วิตามินเอจากผักเมื่อทิ้งไว้ในแสงสว่างหรือโดนความร้อนนานๆ ก็จะสลายตัวโดยเร็ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม? ถึงต้องกินแกงส้มที่ปรุงสุกใหม่ๆ และอีกอย่างที่ควรรู้คือ จะให้ร่างกายดูดซึมวิตามินเอได้ดีต้องกินคู่กับไขมัน เช่น ไขมันจากปลาหรือหมูที่แกงด้วย หรืออาจจะมีผัดผักใส่น้ำมัน เพราะไขมันจะเป็นตัวนำพาวิตามินเอเข้าไปสู่ร่างกายได้นั่นเอง
ดอกแค และ ยอดแค ยังช่วยเติมธาตุเหล็กจากธรรมชาติให้ร่างกายเราได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีแคลเซียม ไนอะซิน ในปริมาณที่สูง จึงนับว่าดอกแคและยอดแค ไม่เพียงแค่เป็นผักที่กินอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์สูงอีกด้วย…
แกงส้มดอกแค โบราณท่านเชื่อกันว่าช่วยรักษาไข้หัวลมหรือไข้เพราะโดนลมต้นฤดูหนาว ซึ่งอาจจะเป็นจริง เพราะในดอกแคและยอดแคนั้นจะมีวิตามินซี และวิตามินเอเยอะมาก ซึ่งวิตามินทั้ง 2 ชนิดนั้น ในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่ามีส่วนช่วยในการสร้างภูมิต้านทานโรคของร่างกายทั้งหวัดรวมไปถึงมะเร็งร้ายได้ด้วย
เป็นไข้หัวลม ต้องกินแกงส้มดอกแค
ถ้าเป็นช่วงที่จากฝนเป็นหนาว ตามแพทย์แผนไทยบอกว่า ร่างกายมีไอความร้อนค้างอยู่ตอนหน้าฝน พออากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว ปรับตัวไม่ทัน เกิดภาวะธาตุไฟพิการ ก็เลยป่วยได้ สำหรับในคนที่มีภูมิต้านทานดีก็จะไม่มีอาการใดๆ แต่ในคนที่ภูมิต้านทานไม่ค่อยดี ช่วงนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อน จะป่วยง่ายมาก
อากาศเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งมี 3 ฤดู เช้าฝนตก กลางวันแดดออกร้อนเปรี้ยงๆ กลางคืนเย็น ซะงั้น! บางคนไข้ขึ้นเลย วันนี้เลยมีเมนูมาฝากค่ะ
เครื่องปรุง
- ดอกแค (เอาเกสรสีเหลืองออกก่อน ไม่มีพิษ แต่จะขม)
- กุ้งสดๆ
- น้ำเปล่า (น้ำซุป)
- เครื่องแกงส้ม
- กะปิ
- เกลือป่น
- น้ำตาลปี๊บ
- น้ำมะขามเปียก
- น้ำมะนาว
(ทุกอย่างกะเอาพอประมาณกับคนกินค่ะ สำหรับแกงส้มกุ้ง รสชาติและความเข้มข้นของเครื่องแกงส้ม ต้องอ่อนลงกว่า หรือเบากว่าแกงส้มปลา)
วิธีทำ
- ผสมเครื่องแกงส้มกับกะปิ โขลกให้เข้ากันเตรียมไว้
- ดอกแค เด็ดเกสรออก ล้างให้สะอาดใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำ
3. ล้างกุ้งให้สะอาด แกะเปลือกที่ตัวกุ้งออกจนถึงเปลือกข้อสุดท้าย ไว้หางผ่าหลัง ดึงเส้นดำออก (ถ้าต้องการให้กุ้ง กรอบ ขาวใส ให้นำเอาเกลือป่นมาขัดกับกุ้งที่แกะเปลือกออกแล้วเบาๆ แล้วเอาไปล้างน้ำให้สะอาด จะได้กุ้งที่ขาวใส เวลาเอาไปผัดหรือแกง กุ้งนั้นจะกรอบอร่อย) - ผสมเครื่องแกง ข้อ 1. ใส่ในหม้อแกง คนให้ละลายในน้ำเปล่าหรือน้ำซุป แล้วยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดให้ใส่กุ้ง พอกุ้งเริ่มสุก เติมเกลือป่น (นิดหน่อย) น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก คนให้ทั่ว พอเดือดอีกครั้งใส่ดอกแค ชิมรสชาติอีกครั้ง ให้มีรสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม ตัดกับรสหวานนิดหน่อย สุดท้ายให้ตัดความเปรี้ยวของน้ำมะนาวอีกนิดหน่อย (น้ำมะนาวให้ใส่ทีหลัง จะได้กลิ่นหอมของมะนาวเต็มๆ) ทีนี้ก็เสร็จพร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ ได้ข้าวสวยร้อนๆ ราดน้ำแกงส้มดอกแค กินคู่กับปลาเค็ม และไข่เจียวสักจาน รับรองอร่อยเหาะ อย่าบอกใครเชียว
การดูแลสุขภาพของคนพื้นบ้านไทยๆ ในอดีตถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ใช้ป้องกันและเสริมภูมิต้านทานโรค แกงส้มดอกแค แก้หวัดหัวลม (ลมเปลี่ยนฤดู ย่างสู่หน้าหนาว) ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่า แค่แกงส้มธรรมดาๆ สามารถช่วยให้ท่านหายจากอาการหวัดอ่อนๆ ที่มาพร้อมกับลมหนาวที่หนาวเย็นยะเยือก ตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ปวดหัว ตัวร้อน ซึ่งหากท่านมีอาการเช่นนี้รีบหาแกงส้มดอกแคมากินกับข้าวได้เลย รับรองว่าคงจะช่วยให้ท่านหายจากอาการหวัดได้บ้างค่ะ
– ดอกแค ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ให้ไข้สร่าง
– น้ำพริกแกงส้ม (ส่วนผสมของ พริกแห้ง หัวหอมแดง และกระเทียม) มีสรรพคุณ ช่วยขับลมในกระเพาะ
– มะขามเปียก มีสรรพคุณ ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ ลดความร้อน ในร่างกาย
ภูมิปัญญาไทย ไข้หัวลม ก็คือ ไข้เปลี่ยนฤดูนั่นเอง จากร้อนเป็นฝน ฝนเป็นหนาว หรือหนาวเป็นร้อน เรียกเหมือนกันหมด (สรุปว่ามีอยู่ 3 หัวลม) วิธีการแก้ไข้หวัดด้วยอาหารพื้นบ้านอย่างแกงส้มดอกแคนั้นโบราณท่านว่าดีนักแล
ดังนั้น คนโบราณท่านเลยมีวิธีป้องกันเสียก่อน ก่อนที่จะป่วยล้มหมอนนอนเสื่อกัน โดยท่านเริ่มต้นจากการกินอาหารกันง่ายๆ ก่อนจะไปถึงยา ซึ่งในสมัยก่อนคนบ้านนอกรู้เพียงแค่ว่า ต้นแค ที่ปลูกไว้ตามรั้วบ้าน คันนา จะออกดอกให้เห็นในช่วงนี้พอดี ซึ่งเหมือนกับว่าธรรมชาติจะรู้ว่าคนต้องการดอกแคไปกินเพื่อแก้ไข้ลมหนาว และนี่แหล่ะ! คือภูมิปัญญาชาวบ้านพื้นถิ่น ในการใช้ประโยชน์พืชผักที่กินเป็นอาหารประจำวันที่นอกจากจะทำให้อิ่มท้องแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยสร้างสมดุลภายในร่างกายช่วยป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ ได้ หากเราเรียนรู้ที่จะรู้จักเลือกกินให้เหมาะสมกับตนเอง เลือกใช้อาหารมากินแทนยา จะดีกว่ากินยาเป็นอาหารไหม?
เผยแพร่ครั้งแรกวันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ.2560