ผู้เขียน | อำพน ศิริคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
น้ำดื่ม เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ในอดีตน้ำดื่มบรรจุขวดและถัง จะขายได้เฉพาะในชุมชนเมืองเท่านั้น ส่วนชุมชนในชนบทยังดื่มน้ำฝน แต่ปัจจุบันนี้คนในชนบทดื่มน้ำฝนน้อยลง อาจเนื่องจากมลภาวะทางอากาศมากขึ้น หรือความสะดวก หรือเหตุผลอื่น ทำให้หันมาดื่มน้ำขวดหรือถังมากขึ้น
ท่านที่เคารพครับ ตามที่ได้เกิดวิฤตภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลจึงได้มีนโยบายมาตรการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2559 โดยมีกรอบโครงการ เช่น ปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย, การแปรรูปสินค้าเกษตร, รายได้นอกภาคการเกษตร, โครงสร้างพื้นฐานการเกษตร เป็นต้น โดยให้ชุมชนเสนอความต้องการผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอและจังหวัด เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ได้โอนเงินให้ไปดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงิน
บ้านหินปูน หมู่ที่ 17 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้ร่วมโครงการ โดยเสนอโครงการผลิตน้ำดื่มชุมชน สามารถสร้างอาชีพในชุมชน และทำรายได้ในระดับน่าพอใจ
คุณละออง คำเหลา อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหินปูน โทร. (089) 840-3531 ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้ข้อมูลว่า น้ำดื่มเป็นสินค้าสำคัญที่น่าจะทำรายได้ให้แก่ชุมชน จึงได้เสนอโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง โดย คุณนุชนาถ เหล่าหมวด เกษตรตำบลและอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง งบประมาณ 996,000 บาท
การผลิตน้ำดื่ม เริ่มจากสูบน้ำจากน้ำบาดาล (ขนาดท่อ 6 นิ้ว ลึกประมาณ 40 เมตร) มาพักไว้ที่ถังพัก จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการกรอง ผ่านเครื่องกรอง 4 ถัง เช่น กรองเรซิ่น คาร์บอน ฯลฯ นำเข้าเครื่องกรอง RO (เมมเบรน) กรองละเอียด กรองสะอาด ผ่านโอโซน ผ่านรังสีอัลตราไวโอเลต (ฆ่าเชื้อ) นำเข้าห้องบรรจุ (ขวด บรรจุ 600 มิลลิลิตร, ถัง 19 ลิตร) จากนั้นซีลคอขวด แพ็กเป็นโหล แล้วส่งขายตามที่ต่างๆ
การตลาดและสถานที่จำหน่าย
- ราคาขาย ถัง (19 ลิตร) ลิตรละ 8 บาท, ขวด 600 มิลลิลิตร โหลละ 40 บาท แต่ถ้าส่งตามร้าน โหลละ 45-50 บาท แล้วแต่ปริมาณการสั่ง
- ขายภายในหมู่บ้าน, หมู่บ้านใกล้เคียงและในตำบล
- ร้านค้าต่างๆ ในอำเภอกันทรวิชัย, รีสอร์ต ฯลฯ
ได้ อย. แล้ว กำลังขอ GMP
ผู้ใหญ่ละออง บอกว่า การผลิตน้ำดื่มต้องรักษามาตรฐานอย่างเคร่งครัด เช่น ตรวจน้ำทุกวัน ค่าความเป็นกรดเป็นด่างมาตรฐานน้ำดื่มไม่เกิน 8.5 ของเรา 6.5 การตรวจวัดความขุ่นใสของน้ำ ของเราอยู่ที่ 7.0 ซึ่งถือว่าใสมาก นอกจากนี้ เรายังทำกระบวนการล้างย้อนทุกวัน (Backwash) ซึ่งจะทำให้ได้น้ำที่สะอาด สำหรับน้ำดื่มของเราได้รับการรับรองจาก อย. เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะขอมาตรฐาน GMP
การบริหารจัดการ
มีการแบ่งเวรกันรับผิดชอบ วันละ 4-6 คน จ้างเหมาเป็นบางชิ้นงาน
ผู้ใหญ่ละออง บอกด้วยว่า ขณะนี้มียอดขายวันละประมาณ 5,000-6,000 ลิตร ทำรายได้วันละ 3,000-4,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 85,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีพอสมควร
จะเห็นว่าการผลิตน้ำดื่มชุมชนบ้านหินปูน ตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง นอกจากเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการฝึกให้คนได้เสนอโครงการตามความต้องการ ได้เรียนรู้ในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็งสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในระยะยาว
ท่านที่ต้องการสั่งซื้อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่ละออง คำเหลา โทร. (089) 840-3531 หรือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สังวาลย์ ขานเกตุ โทร. (094) 382-6898