สวนผลไม้น่าเรียนรู้ ที่หันคา

การทำการเกษตร หลายคนอยากหลบลี้หนีออกไปทำอาชีพอื่น แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่รักในการทำการเกษตร เพราะตระหนักถึงคุณค่า และความยั่งยืนของการดำรงชีวิต แม้ว่าจะรับจ้างอยู่ในบริษัทที่มั่นคงและมีรายได้ที่น่าพอใจก็ตาม ด้วยความรักและอุปนิสัยที่ใฝ่เรียนรู้ ได้สร้างความมั่นใจ ความก้าวหน้า และความสุขที่ยั่งยืน ได้เปลี่ยนกิจกรรมจากพื้นที่ปลูกข้าว เป็นสวนผลไม้ที่สร้างผลผลิตที่ดีด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการปลูกข้าวอย่างน่าชื่นชม

คุณสายันต์ โฉมเชิด อาสาสมัครเกษตร วัย 52 ปี บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทเล่าให้ทราบว่า หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ได้ออกไปหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นช่างบริษัทรถบรรทุกยี่ห้อดัง มีรายได้เป็นที่พอใจ แต่เมื่อมองดูความมั่นคงแล้วมองไม่เห็น เพราะตระหนักดีว่าสักวันหนึ่งต้องชราภาพและต้องออกจากงานที่ทำ จึงตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดทำการเกษตรในพื้นที่ของบิดา-มารดา ในพื้นที่ทำนา 28 ไร่ 2 งาน และจะได้ดูแลท่านทั้ง 2 คน รวมถึงคุณอาที่เริ่มชราภาพอีกด้วย

แต่เมื่อลงมือทำในช่วงแรกต้องพบกับปัญหา ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ต้องใช้ปุ๋ยเคมี พบปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชระบาดเป็นระยะๆ ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย แต่โชคดีที่ได้เข้าเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เป็นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ส่งผลให้เห็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยจากสารพิษและได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน สำหรับการแก้ปัญหา เช่น พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่นา สภาพดินเหนียวขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงปรับปรุงผิวดินตั้งแต่การทำนา ด้วยการหมักฟาง งดการเผาตอซังและฟางข้าวเป็นระยะเวลา 10 ปี และการใช้น้ำส้มควันไม้ สารสมุนไพร สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช

คุณสายันต์ เปิดเผยว่า ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก โดยพื้นที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ดอน ความสามารถกักเก็บน้ำของดินจึงต่ำ ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ดีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ลดลงเรื่อย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ในขณะที่ข้าวมีราคาลดลง ทำให้รายได้ที่ได้รับในครัวเรือนไม่เพียงพอในการยังชีพ ประกอบกับใน ปี 2547 พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ทางการเกษตร ดังนั้น ใน ปี 2557 จึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาเป็นการทำสวนผลไม้แบบยกร่อง เพื่อการระบายน้ำที่ดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยมีท้องร่องขนาด 1.5 เมตร ลึกขนาด 1.5 เมตร เพื่อนำดินมาถมเป็นคันร่อง กว้าง 4.0-4.5 เมตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และลดปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน จากการทำนาข้าวเป็นสวนแทน เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยปลูกพืชแซมเพื่อสร้างรายได้เสริมช่วงรอผลผลิตจากไม้ผล

เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดิน ด้วยสภาพดินที่เป็นดินเหนียวขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีความร่วนซุยเหมาะแก่การปลูกไม้ผล โดยการใช้แกลบดิบโรยทั่วแปลง จากนั้นตามด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพ ครั้งละ 20 ลิตร ต่อไร่ จำนวน 2 ครั้ง แล้วจึงพรวนดินและปลูกปอเทืองควบคู่กันไป ให้ออกดอกแล้วจึงตัดต้นปอเทืองก่อนการพรวนดิน จำนวน 2 ครั้ง เมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว จึงปลูกไม้ผล โดยไม้ผลหลักที่เลือกปลูกคือมะม่วง เพราะพิจารณาแล้วว่าพื้นที่บริเวณข้างเคียงมีการปลูกมะม่วงซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่าไม้ผลชนิดอื่นๆ และมีองค์ความรู้ที่จะสามารถปลูกได้ โดยจัดหาคัดเลือกพันธุ์มะม่วงตามความต้องการของตลาดและมีการบริหารจัดการมะม่วงแต่ละพันธุ์ไม่แตกต่างกัน เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในการบริหารจัดการมะม่วง โดยเริ่มแรกมีการปลูกมะม่วง จำนวน 300 ต้น แบ่งเป็นพันธุ์ต่างๆ ดังนี้ น้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 90-100 ต้น น้ำดอกไม้เบอร์ 4 จำนวน 90-100 ต้น และน้ำดอกไม้ขาวนิยม จำนวน 90-100 ต้น

เพื่อหารายได้เสริมก่อนที่มะม่วงจะให้ผลผลิตและมีรายได้ จึงปลูกพืชแซม คือ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ซึ่งเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตได้เร็ว คือประมาณ 6-7 เดือน ก็สามารถให้ผลผลิต มัลเบอรี่ ปลูกได้ประมาณ 100 ต้น โดยขายเป็นผลสด และพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อเป็นพืชแซมเสริมรายได้ เช่น มะระ จำนวน 2 งาน เนื่องจากมะระเป็นพืชที่ชอบแสงแดด จึงทำเป็นซุ้มคลุมมะม่วงที่ยังมีขนาดเล็ก และเพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างจึงมีการปลูกผักขึ้นฉ่าย ซึ่งเป็นผักที่ชอบแสงแดดน้อยไว้ด้านล่าง เพื่อให้มะระช่วยบังแสงแดดไว้ บวบ จำนวน 1 แปลง ขนาดเนื้อที่ประมาณ 40 เมตร มะละกอ จำนวน 50 ต้น และพืชผักอื่นๆ เช่น มะนาว พริก แฟง น้ำเต้า บัวสาย บัวแดง ซึ่งปลูกในร่องสวน ผักตำลึง ผักบุ้ง แตงไทยลาย ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง

การบริหารจัดการสวน

การบริหารจัดการสวน เน้นการบริหารจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยใช้ธรรมชาติมากกว่า เช่น การเผาถ่านในสวนและการใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อให้ควันไล่แมลง จึงช่วยป้องกันแมลงตัวแม่ไม่ให้ไปวางไข่ การปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์โดยใช้ปอเทืองปลูกสลับไปเรื่อยๆ และปลูกหญ้าแฝกบริเวณร่องน้ำเพื่อป้องกันดินพังและตัดหญ้าแฝกบางส่วนเพื่อนำไปใช้ห่มดิน ส่วนน้ำหมักและปุ๋ยหมักผลิตเอง โดยใช้กับปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป ตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้วิเคราะห์ด้วยตัวเองโดยใช้น้ำยาที่ได้รับมาจากทางราชการ โรคและแมลงส่วนมากพบจำพวกเพลี้ยไฟ ซึ่งสามารถป้องกันและกำจัดโดยใช้น้ำส้มควันไม้ สมุนไพรและสารชีวภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ผลที่ได้รับ พบว่า ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยในปีแรกเป็นงบลงทุนจะมีค่าใช้จ่ายมาก คือประมาณ 35,000 บาท ในพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะแก่การปลูกไม้ผลและค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้

– ต้นมะม่วง ต้นละ 35 บาท x 300 ต้น เป็นเงิน 45,000 บาท

– ต้นฝรั่ง ต้นละ 12 บาท x 1,000 ต้น เป็นเงิน 12,000 บาท

– ต้นมัลเบอรี่ เป็นท่อนพันธุ์ 100 บาท

– ผักต่างๆ อีกเล็กน้อย

– พันธุ์ปลาในร่องสวน เป็นปลาตะเพียน จำนวน ประมาณ 10,000 ตัว โดยได้รับจากสำนักงานประมงอำเภอหันคา

ในปีต่อมาจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน จึงมีต้นทุนที่ต่ำ โดยใช้ปัจจัยที่มีในพื้นที่นั้นมาใช้ในการผลิตปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช แต่อย่างไรก็ตามไม้ผลยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ธาตุอาหารหลักเพื่อการเจริญเติบโต จึงมีต้นทุนด้านปุ๋ยเคมีเล็กน้อยในแต่ละปี คือเฉลี่ยปีละ 2 กระสอบ เป็นเงิน 3,200 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานนั้น ยังใช้แรงงานในครัวเรือน ซึ่งสามารถทำได้ทัน จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลง

การบริหารจัดการด้านการตลาด

การวางแผนการตลาด เน้นการจำหน่ายเอง โดยมองตลาดที่สามารถขายได้โดยตรง เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่ราคาถูกและได้รับสินค้าที่ปลอดภัย เนื่องจากไม่ใช้สารวัตถุอันตรายในการผลิต โดยส่วนใหญ่จะนำผลิตผลไปจำหน่ายตลาดหันคา แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้นจะต้องมองหาตลาดที่อื่น ซึ่งมีเครือญาติได้ติดต่อไว้ให้แล้ว การจำหน่ายเองโดยตรงมีข้อดีคือ ทำให้มีรายได้ดีกว่าการฝากขาย อีกทั้งสินค้าที่นำมาขายมีความปลอดภัยมากกว่าการผ่านพ่อค้าคนกลางที่มักพบสารปนเปื้อนเป็นส่วนใหญ่ โดยการปนเปื้อนเหล่านี้มาจากการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของผู้ประกอบการ ไม่ใช่เป็นการปนเปื้อนจากสวนของเกษตรกร เช่น ฝรั่ง ส่วนมากเกษตรกรจะใช้การห่อป้องกันแมลงศัตรูพืช แต่เมื่อไปสุ่มตรวจในตลาด ทำไมพบปัญหาสารปนเปื้อน

จากการมองหาตลาดด้วยตัวเองพบว่า มีรายได้ดีและทำงานสนุก ช่วงแรกของการจำหน่ายผักมีรายได้ประมาณเดือนละ 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นจะมีรายได้ที่ลดลงมาบ้างเล็กน้อย จากการจำหน่ายผักที่ทยอยออกมา ไข่ไก่ ซึ่งใช้วิธีการเลี้ยงแบบปล่อยให้ไก่ออกหากินตามธรรมชาติ ปลาตะเพียนในร่องน้ำ และกบในบ่อปูนซีเมนต์ จำนวน 4 บ่อ ประมาณ  20,000 ตัว น้ำหนักประมาณ 4 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งจำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ถ้าจำหน่ายแบบปลีกกิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งน้ำในบ่อที่เลี้ยงกบจะนำไปใช้ในสวนมะม่วงและมะม่วงที่เริ่มทยอยให้ผลผลิตออกสู่ผู้บริโภค จำหน่ายควบคู่กับผลผลิตอื่นๆ ตลอดทั้งปีมากน้อยตามฤดูกาลและสภาพแวดล้อม แม้จะไม่ได้มากเช่นการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ผลผลิตที่ออกมานั้นมากด้วยคุณค่าความรู้สึกที่ดีที่มีต่อผู้บริโภคว่า “มอบสิ่งที่ดีปลอดภัยต่อสุขภาพ”

คุณชัด ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา กล่าวว่า การบริหารจัดการตามแบบของ คุณสายันต์ โฉมเชิด น่าสนใจ จึงขอให้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณสวนให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องการพัฒนาที่ดิน โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการปรับภูมิทัศน์ให้มีความเหมาะสม ซึ่งภายในศูนย์จะประกอบด้วย การขุดสระ การสร้างโรงสีและสร้างศาลาเพื่อให้เกษตรกรหรือบุคคลภายนอกที่สนใจสามารถเข้ามาอบรมและศึกษาเรียนรู้แบบครบวงจร ทั้งการปรับปรุงดิน การบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเพิ่มมูลค่าผลผลิต การขยายพันธุ์ไม้ผลเพื่อการจำหน่ายเสริมสร้างรายได้นอกเหนือจากการขายผลผลิตไม้ผล และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขนาดตามมาตรฐาน และลดสินค้าล้นตลาดในช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตมีปริมาณมาก ซึ่งการแปรรูปหลักๆ จะมีการแปรรูปมะม่วงดอง กล้วยฉาบ และกล้วยกวน

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณสายันต์ โฉมเชิด ที่เบอร์โทร. 081-475-8519