โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ (Area-based Approach) ปี 2563 เป็นนโยบายที่กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำขึ้นมาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีวิสาหกิจชุมชนขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ และให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำแปลงใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้ชุมชนผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพที่ตลาดต้องการ เพื่อให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของตนเองตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนามีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

เกษตรกรและผู้สนใจ รับฟังแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่

คุณจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เล่าให้ฟังว่า จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ 953,660 ไร่ ประชากร 1,163,604 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ มีพื้นที่ทำการเกษตร 333,143 ไร่ เกษตรกร 20,814 ครัวเรือน มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางใจเมือง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ทำให้พื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นหลักพื้นที่ประมาณ 265,062 ไร่ รองลงมาปลูกพืชผักชนิดต่างๆ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน และผลไม้อื่นๆ มีศูนย์การค้าส่งสินค้าพืชผักและผลไม้ขนาดใหญ่ที่ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดผลไม้เกรดคัดเลือกพิเศษที่ตลาดไอยรา ที่สามารถรองรับผลผลิตได้ต่อเนื่อง

คุณจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่

คุณสมโชค ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ใช้โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานกลุ่มเกษตรกร ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและพัฒนารูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ให้มีการบูรณาการการทำงานเพื่อปรับปรุงระบบการทำงานและโครงสร้างการส่งเสริมการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม การขับเคลื่อนงานได้ดำเนินการนำร่อง 6 จุดในพื้นที่ 6 เขตทั่วประเทศ โดยใช้กลไกแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และ Yong Smart Farmer

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้กำหนดให้แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นจุดนำร่อง เพราะเกษตรกรในพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตผักปลอดภัย มีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมทั้งมีผู้นำกลุ่มเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่บริหารจัดการด้านการตลาดได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

คุณสมโชค ณ นคร ผอ.สสข.ที่ 1 จังหวัดชัยนาท ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเชิงพื้นที่ เขตที่ 1 ภาคกลาง

คุณสมเดช คงกระพันธ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี เล่าให้ฟังว่า เมื่อรับนโยบายจากกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท แล้วได้ดำเนินการโดยใช้หลักคิดเชิงพื้นที่จัดเวทีชุมชน 3 ครั้ง เพื่อให้ทราบพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้นำไปแก้ไขปัญหา สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกผักแบบหว่านเป็นแบบการเพาะกล้าเพื่อลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสม หรือการพัฒนาจุดรวบรวมสินค้าให้มีคุณภาพ

ผลการดำเนินงาน ทำให้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์ลดลง ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ตัน เพิ่มเป็น 1.5 ตัน ทำให้มีผลผลิตส่งขายที่ตลาดต่อเนื่องและได้เชื่อมโยงตลาดเพิ่มขึ้น ในชุมชนมีอาชีพเพาะกล้าผักขาย ผักที่ปลูกจะเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน หรือจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตผักให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ

ผลผลิตผักจากแปลงใหญ่ผักปลอดภัย

คุณสุขุม ไตลังคะ เกษตรกรต้นแบบ/Yong Smart Farmer เล่าให้ฟังว่า ผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรและชุมชน เมื่อดำเนินโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อำเภอสามโคก กลุ่มได้ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพกลุ่มและชุมชน หาแนวทางการผลิตและแก้ปัญหา และเป้าหมายการพัฒนา มีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัด ธ.ก.ส. บริษัทผู้รับซื้อผลผลิต หรือเกษตรกรเครือข่ายจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมให้คำแนะนำ สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และได้ผักปลอดภัยคุณภาพตามความต้องการของตลาด ได้พัฒนาต่อยอดการเพาะกล้าผักขาย พัฒนาการผลิตผักปลอดภัย ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์แทนการใช้เรือรดน้ำทำให้ประหยัดเวลา แรงงานหรือค่าใช้จ่าย

ผักปลอดภัยจากแปลงใหญ่ผักปลอดภัยสู่ตลาดผู้บริโภค

คุณสมโชค เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ปี 2563 นี้จะทำต่อเนื่องในจุดนำร่องเดิมและทำใหม่ 9 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท แปลงใหญ่ผักสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดสิงห์บุรี แปลงใหญ่อ้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดอ่างทอง แปลงใหญ่ไม้มงคล อำเภอแสวงหา จังหวัดลพบุรี ศพก.ขมิ้นชัน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แปลงใหญ่ข้าว อำเภอบางซ้าย จังหวัดนนทบุรี แปลงใหญ่ผัก อำเภอบางใหญ่ กรุงเทพมหานคร แปลงใหญ่มะพร้าว เขตบางขุนเทียน จังหวัดปทุมธานี แปลงใหญ่หมากเหลือง อำเภอลำลูกกา

คุณสุขุม ไตลังขะ เกษตรกรต้นแบบ Yong Smart Farmer ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการผลิตเกษตร

แนวทางการดำเนินงานปี 2563 คือ 1. พัฒนาการเกษตรโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area-based) กำหนดขอบเขตชัดเจน นำข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช (Zoning) ใช้เป็นแนวทางการตัดสินใจ เพื่อให้เกษตรกรบริหารพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม 2. ใช้เวทีชุมชนวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาการเกษตรที่เกิดจากความต้องการของชุมชน 3. ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมบูรณาการและงบประมาณจากทุกภาคส่วน 4. พัฒนาต่อยอดโดยใช้กลไกการพัฒนาที่มีอยู่แล้วทำงานบนพื้นฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น

คุณสมเดช คงกระพันธ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี

เป้าหมายการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ปี 2563 คือ 1. เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2. เพื่อให้ชุมชนผลิตสินค้าคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 3. เพื่อให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของตนเองตลอดห่วงโซ่อุปทาน 4. เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งที่พึ่งตนเองได้ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนโยบายโครงการพัฒนาการงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ในปี 2563 สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้เลือกดำเนินการแปลงใหญ่หมากเหลือง ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนผลิตสินค้าคุณภาพ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งที่พึ่งตนเองได้ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอนและเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริม มีความมั่นคงในการยังชีพ

เรื่องราว โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางให้เกษตรกรลดความเสี่ยง ลดทุนการผลิต ยกระดับรายได้ครัวเรือน สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณจุฑามาศ จงศิริ หรือ คุณมานพ พลายแสง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท โทร. (092) 385-6055 หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 581-6327 ก็ได้ครับ

……………………………………………………………………………………………………………………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่