กองปราบปลา-คนบ้าอนุรักษ์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอ สุขภาพกาย สุขภาพใจยังแข็งแรงกันอยู่ใช่ไหมครับ ท่องไว้นะครับ กินร้อน ช้อนเรา เข้าบ้าน จะออกไปไหนก็สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ เรื่องราวแบบนี้หากทำประจำ ก็จะชินจนเป็นอัตโนมัติ ไม่มีใครตอบได้ว่า เราจะอยู่กับบรรยากาศเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องช่วยกันเองด้วย ช่วยตัวเรา ช่วยสังคมชุมชนของเรา

ตำแหน่งประจำ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์

ในยุคโควิด-19 ย่างกรายเข้ามา จนเป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลกในทุกวันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงหลากหลายสรรพสิ่ง บ้างก็ดีขึ้น บ้างก็ละเลยจนหายไป หลายอาชีพจำต้องปลดระวาง หลายอาชีพเกิดใหม่ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นไปในแบบปรับตัวและพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า โลกได้พักบ้าง จากการถูกย่ำยีทุกวันด้วยสารพัดสารเคมีที่มนุษย์กระทำต่อโลก ในวันนี้เราจึงได้เห็นสัตว์ป่าเริ่มมีเสรีภาพในการเดินไปทั่วป่า หรือทะเลที่สงบ สะอาด และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำมามากมาย

การกอบโกยโดยทำลายในสิ่งที่มี ได้สร้างปัญหาต่อเนื่องมาจนต้องหาทางแก้ไข ผมได้รู้จักกับชาวประมงคนหนึ่ง ผู้มีชื่อว่า จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ (เบอร์โทร. 062-839-3236) ที่ตั้งแต่เกิดก็ได้กลิ่นไอเค็มของทะเล เรียนรู้ในระบบเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ และอย่างน้อยก็มีใบประกาศว่าผ่านการศึกษา แต่โลกที่กว้างใหญ่ส่วนหนึ่งของชีวิตคือ ทะเล ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก็เริ่มออกหาปลาไปกับพ่อและพี่ชาย ซึมซับเทคนิค วิธีการแห่งประมงพื้นบ้านเอาไว้จนแกร่งกล้า ในช่วง พ.ศ. 2529 ชุมชนอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีเรือทำประมงเพียง 5 ลำ ออกเรือไปไม่ไกลก็จับปลามาจนเต็มลำเรือ สารพัดสัตว์น้ำมีให้จับมากมาย แต่ปัญหาก็เกิดจนได้

“ไม่มี แม่ค้า พ่อค้าคนกลาง ครับพี่ หาได้เท่าไหร่ก็ต้องขายเอง”

“แล้วของเราใครขายครับ”

ของฝากจากทะเลที่ดูแลอย่างดี

“แม่ครับ แม่ต้องหาบปลาไปขายที่ตลาดเช้าทุกวัน”

“หมดไหม”

“ไม่หมดหรอกครับ ผมกับพี่ชายก็ต้องเอาปลาที่เหลือวิ่งขายตามหมู่บ้าน ชุมชนข้างเคียง”
“ขายปลาเป็นหลัก”

เพียบลำเรือ

“ก็ทำสวนสับปะรดด้วย สวนมะพร้าวด้วย ก็ได้อาศัยขนไปขายด้วยกันแบบนี้แหละพี่”

“ทำมานานแล้วหรือ”

ปลาหลังเขียว ที่มีมากที่ทะเลประจวบฯ

“ตั้งแต่จบ ป.6 ครับ วิ่งขายกันอยู่แบบนั้น พอตกเย็นก็ลงเรือ เช้าก็แบบเดิม”

เมื่อจิรศักดิ์มีอายุได้ 15 ปี ก็มีจุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้น เรือประมงจากชะอำเริ่มเข้ามาลากอวนปลาหลังเขียว แต่ละคืนได้ไม่น้อยกว่าตันสองตัน เริ่มมีแม่ค้า พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ในช่วงนั้นราคาซื้อปลาหลังเขียว กิโลกรัมละ 5 บาท แต่ละคืนเรือเหล่านั้นทำเงินหมื่นได้ง่ายๆ จึงทำให้ประมงพื้นบ้านเช่นจิรศักดิ์ และคนอื่นๆ ต้องทำตามบ้าง จากที่ทำประมงพื้นบ้านเพียง 5 ลำ ก็เพิ่มเป็น 20 จนถึง 50 ลำ ทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่น ต่างก็สนุกสนานในการจับปลา ปู กุ้ง หอย ในทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จิรศักดิ์ ก็ไม่น้อยหน้าต่อเรือลำใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ใช้อุปกรณ์หาปลาที่ตาเล็กลง ทำให้ได้ปลาจำนวนมาก แม้จะราคาต่ำลงมาบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะจำนวนปลาที่จับได้มากมายมหาศาล เนื่องจากเรือใหญ่ขึ้น จำนวนเรือมากขึ้น จึงต้องขยายพื้นที่หาปลาไปเรื่อย จนได้รับสมญานามกองปราบปลา ไปถึงไหนปลาเรียบทั้งใหญ่และเล็ก

แปรรูป

จวบจนปี พ.ศ. 2550 หมดหนทางไปแล้ว สัตว์น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็หายไป เรือที่เคยพลุกพล่านเริ่มบางตา รายได้ที่เคยเป็นกอบเป็นกำก็หายไป ออกเรือไปมองทะเล ดึงอวนมาแต่ละครั้งกระทั่งปลาเล็กปลาน้อยก็ไม่มีติดมา หรือธรรมชาติลงโทษชาวประมงกลุ่มนี้กันหนอ จากการที่กอบโกยเอาไปจนไม่เหลือให้มีลูกปลาที่จะเติบโตต่อไป ถึงวันหนึ่งทุกอย่างก็หมดสิ้น ในความทุกข์ที่ผ่านไป 1 ปี ที่ดูยาวนานนั้น วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2551 ผู้หญิง 3 คน ก็เข้ามาในหมู่บ้านพร้อมคำถาม

“ได้ปลากันเยอะไหม”

จากการถาม-ตอบแบบเสียมิได้ ไปจนถึงการเริ่มรวมกลุ่มประชุมร่วมกัน จนมีข้อสรุปว่า เพราะเราจับกันจนไม่เลือกขนาด สิ่งที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้นไป ทางเดียวที่จะเกิดขึ้นและอยู่ยืนยาว นั่นคือ ต้องสร้างบ้าน (ซั้งกอ) ให้ปลามาอาศัย

ซั้งกอ หรือ บ้านปลา

“สร้างบ้านให้ปลา”

“ใช่ครับพี่ เรามีทะเลกว้างๆ แต่ไม่มีแหล่งพักพิง แหล่งอนุบาลลูกปลา ผ่านการดูงานถึงท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช”

“ได้อะไรกลับมาบ้าง”

กองเรือประมงพื้นบ้าน

“ซั้งกอ และสิทธิมนุษยชนครับ เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา”
“ทำแล้วเห็นผลไหม”
“ไม่นานเลยพี่ จากที่เราแทบหมดหวัง แต่พอบ้านปลาเกิดขึ้น บางคนหาได้เป็นแสนๆ เลยครับ ปลามงมาจากไหนไม่รู้เป็นตันๆ”

จากผลสำเร็จที่มองเห็น บ้านปลาก็เลยเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน นอกจากบ้านปลาก็มีธนาคารปูลอยน้ำ ใครมีลูกปูก็นำมาอนุบาลที่นี่  มีการประชุมกันบ่อยครั้ง เพื่อหาทางทำให้เกิดความยั่งยืน ก็เลยต้องตั้งกฎกติกาการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น

1.เราจะเลิกใช้อวนตาถี่มาจับลูกปลา
2. ห้ามอวนทุกชนิดวางล้อมบ้านปลา
3. ห้ามใช้อวนปูที่ต่ำกว่า 4 นิ้ว
4. ห้ามไซ ห้ามใช้ลอบปู
5. ห้ามทิ้งขยะลงทะเล จนมา ปี พ.ศ. 2554 จึงได้เปลี่ยนจากกลุ่มมาเป็นสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได

“มีปัญหาอะไรอีกไหม”

ลักษณะของซั้งกอ หรือ บ้านปลา

“เยอะพี่ เราต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรที่เรามี ขนาดสมาชิกทำผิดก็ยังไม่เว้นนะ เรียกว่าเราเข้มมาก จากกองปราบปลาตอนนั้นเรากลายมาเป็นกลุ่มคนบ้าอนุรักษ์ไปเลย”

“เรื่องทั้งหมด หากสรุปว่าเกิดขึ้นจากสามสาวที่เข้ามาได้ไหม”

“พี่บันทึกไว้เลยครับ พี่ตุ๊ก น้องสุ น้องหนู นี่แหละที่มาปลุกให้ประมงพื้นบ้านลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เป็นสิทธิและหน้าที่ ที่ควรทำ”

ออกร้านขายผลผลิตจากทะเล

“สถานการณ์โควิด กระทบกับประมงพื้นบ้านขนาดไหน”

“ทั้งกระทบและเปิดช่องครับพี่ ที่กระทบคือ เราไม่รู้จะขายปลาให้ใคร จับปลามาแล้วใครจะมาซื้อ เพราะบ้านเมืองอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ แต่เราก็ต้องทำมาหากิน ก็เลยนำวิชาที่มีติดตัวมาตั้งแต่เล็ก นั่นคือ ทำปลาเค็ม ปลาหวานไว้ขาย”

“ขายที่ไหน”

“ผมเคยออกร้านกับร้านคนจับปลาครับ ก็เลยพอมีทักษะการขาย ประกอบกับเอามาโพสต์ทางเฟซ เพื่อนในเฟซก็ช่วยกันซื้อ จึงเป็นอีกช่องทางใหม่ให้เราชาวประมงพื้นบ้านได้มีหน้าร้านของตัวเองครับ จับปลา แปรรูป และขายเอง”
“รายได้พอไหวไหม”
“ดีครับพี่ พออยู่ได้ อาศัยว่าขายไม่แพง เราก็ไม่ขาดทุน ลูกค้าก็ได้กินของดีราคาถูก”
“หากมีคนต้องการสั่ง”
“โทร.มาได้เลยพี่ 062-839-3236 หรือเข้าเฟซผมก็ได้ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ครับ”

ปลากุเลาแดดเดียว ที่แปรรูปแบบพื้นบ้าน

ทะเลประจวบฯ ในยุคโควิดยังมีคลื่นแผ่วพลิ้ว ชีวิตคนเราก็คงเช่นกัน มีขึ้นมีลงดังกระแสคลื่นนั่นเอง โชคดีนะชาวประมงพื้นบ้าน จงอนุรักษ์และจับมากินมาขายเฉพาะที่ขนาดเหมาะสม แล้วเราทุกคนจะได้อาศัยอาหารจากทะเลแห่งนี้ หรือทุกแห่งไปนานๆ ขอขอบคุณ