ไปชมสวน อินทผลัม ‘KDP’ (KORAT DATE PALM)

คุณประทิน อภิชาติเสนีย์

หลายคนรู้จัก อินทผลัม ในรูปอบแห้งที่มีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และเป็นสินค้าที่นำเข้าจากทางตะวันออกกลาง จึงมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบน

ภายหลังความสำเร็จจากการปลูกอินทผลัมในประเทศไทยที่รับประทานเป็นผลสด นำไปวางขายตามโมเดิร์นเทรดส่งผลให้ได้รับความนิยม จนทำให้มีราคาสูงเป็นที่พอใจของผู้ปลูก

จากนั้นเป็นต้นมาจึงเกิดการตื่นตัวของชาวบ้านหลายพื้นที่หันมาปลูกอินทผลัมกัน แต่ด้วยความเป็นธรรมชาติของพืชต่างถิ่นชนิดนี้ที่ไม่สมบูรณ์เพศ เพราะมีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ

 

pt2

มาทำความรู้จัก อินทผลัม กัน

อินทผลัม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Date Palm และมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera เป็นพืชในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีหลากหลายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย โดยผู้ผลิตอินทผลัมรายใหญ่ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย แอลจีเรีย และประเทศในแถบอาหรับ ดังนั้น การบริโภคอินทผลัมในบ้านเราจึงต้องนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ในรูปอบแห้ง

ต้นอินทผลัมมีความสูงประมาณ 30 เมตร ลำต้นมีขนาดประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีใบติดอยู่บนต้น ประมาณ 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ใบเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุ 5-7 ปี และมีอายุยืนยาวถึงกว่า 100 ปี โดยจะให้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ยประมาณ 7,000-8,000 ลูก ต่อปี หรือ ประมาณ 100-150 กิโลกรัม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของต้น

ผลอินทผลัมสามารถรับประทานได้แบบผลสด หรือเมื่อผลสุกจัดมักนิยมนำไปตากแห้ง ทำให้เก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายปี มีลักษณะเหมือนการอบแห้งแบบหวาน จึงมักเข้าใจผิดว่ารสหวานจัดของอินทผลัมนั้นเกิดจากการแปรรูปด้วยการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล จนไม่กล้ารับประทาน เพราะเกรงว่าจะอ้วนหรือไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันต่ำ นอกจากนั้น ยังอุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีเบต้าแคโรทีน ลูติน และซีแซนทิน ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งในช่องท้อง แล้วช่วยบำรุงร่างกาย ภายในผลอินทผลัมยังมีไฟเบอร์ ซึ่งช่วยในระบบการย่อย และยังช่วยทำให้อิ่มได้เร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น สามารถทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น

มีความหลากหลาย
มีความหลากหลาย

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติเด่นในด้านการนำไปบริโภคต่างกัน อีกทั้งเกรด ราคา รวมทั้งรสชาติแตกต่างกันด้วย สำหรับสายพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมนำมาปลูกในไทยเพื่อรับประทานเป็นผลสดคือ พันธุ์ Barhee หรือ Barhi (บาร์ฮี หรือ บัรฮี) มีแหล่งกำเนิดในประเทศอิรัก ปัจจุบันมีการปลูกกันแพร่หลายในหลายประเทศ กล่าวกันว่า พันธุ์ Barhi เป็น “แอปเปิ้ลแห่งตะวันออกกลาง”

การเป็นพืชไม้ผลที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝน อีกทั้งยังทนแล้งได้ดี จึงทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า อินทผลัม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ถึงปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000-1,600 มิลลิเมตร) ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง

ทางด้านการขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ เพาะจากเมล็ด แยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี/ข้อเสีย ต่างกัน โดยเหตุผลของการขยายพันธุ์ในแต่ละวิธีไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจความเหมาะสมของผู้ปลูกแต่ละรายเป็นหลักที่นำมาใช้ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีใดเป็นหลักหรืออาจรวมหลายวิธีเข้าด้วยกัน

สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมกับอินทผลัม ควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรมีระบบระบายน้ำที่ดีและมีอากาศถ่ายเทที่สะดวกด้วย ทั้งนี้ไม่ควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ถึงแม้จะได้ผลผลิตก็ตาม ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่าพื้นที่ทางภาคอีสานและภาคเหนือมีความได้เปรียบกว่าภาคอื่น

คุณประทิน อภิชาติเสนีย์
คุณประทิน อภิชาติเสนีย์

คุณประทิน อภิชาติเสนีย์ อยู่บ้านเลขที่ 261 หมู่ที่ 13 ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และเป็นเจ้าของสวนอินทผลัมที่มีชื่อว่า “KDP” KORAT DATE PALM หรือ “อินทผาลัม โคราช”

แรงจูงใจที่คุณประทินหันมาปลูกอินทผลัม เพราะความที่ครอบครัวยึดอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว และมีที่ดินเป็นทุนอยู่ จำนวน 400 ไร่ แต่ที่ผ่านมาปลูกแต่พืชล้มลุก ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นการปลูกซ้ำไป-มา อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาการขึ้น-ลง ของราคาผลผลิต รวมถึงยังต้องแบกรับภาระต้นทุนปลูก ซึ่งมีแต่ขยับขึ้นอย่างเดียว

ครอบครัวอภิชาติเสนีย์ จึงหารือกันว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะลองปรับเปลี่ยนพืชชนิดอื่นบ้าง โดยการตั้งโจทย์ขึ้นมา 3 ข้อ ว่า จะปลูกอะไร ใครดูแล และขายที่ไหน

ในที่สุดก็มาจบที่อินทผลัม ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอินทผลัมเป็นพืชทะเลทราย ซึ่งดูแล้วน่าจะทนแล้งได้ดี อีกเหตุผลที่เลือกคือ บริเวณที่ดินของครอบครัวเป็นดินทรายอยู่ด้วย แล้วตกลงให้คุณประทินรับผิดชอบดูแล ทั้งๆ ที่มีงานประจำอยู่ ที่ ธ.ก.ส. จึงต้องลาออกมา

สำหรับการตลาดนั้น คุณประทิน บอกว่า ได้ตั้งธงไว้ว่าปลูกแล้วคงไม่คิดจะแข่งกับใคร เพราะมองว่าถ้าในตลาดมีสินค้าน้อยแล้วความต้องการมีมาก ขณะเดียวกันเมื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิตคงขายได้แน่ ดังนั้น ปลูกเท่าไรคงขายได้หมด แล้วโอกาสเสี่ยงมีน้อย

“เรื่องตลาดไม่ค่อยกังวล เพราะการทำเกษตรกรรมที่ผ่านมามีตลาดเป็นฐานรองรับสินค้าอยู่แล้ว อีกทั้งตำแหน่งสวนที่ตั้งในปัจจุบันเป็นทำเลที่รายล้อมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเขาใหญ่หรือวังน้ำเขียว ฉะนั้น หากบรรทุกใส่รถไปตั้งขายในราคาที่พอสมควร คงได้รับความสนใจอย่างแน่”

คุณประทิน เริ่มปลูกอินทผลัม เมื่อ ปี 2554 ด้วยการไปซื้อต้นพันธุ์ที่เชียงใหม่มา จำนวน 250 ต้น พอถึง ปี 2556 ออกดอก จำนวน 55 ต้น จากนั้นอีก 2 ปีครึ่ง ออกดอกอีก จำนวน 160 ต้น แล้วถัดมาอีก 3 ปีครึ่ง ออกดอกได้ทั้งหมด 224 ต้น ไม่เพียงเท่านั้นเขายังซื้อผลสดมาอีก 2 พวงใหญ่ เพื่อมาทดลองเพาะ ซึ่งสรุปแล้วในช่วงนั้นมีต้นเพาะเมล็ดทั้งหมดราว 700 ต้น

ภายหลังได้ผลผลิต คุณประทิน พบว่า ต้นเพาะเมล็ดที่ปลูกเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ได้มีความหลากหลายทั้งสีเหลือง สีแดง ขนาดผลทั้งเล็ก ใหญ่ ทั้งรสหวานและฝาด คงยากที่จะทำให้นิ่งได้อย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ที่ทำอยู่คือ พยายามคัดสายพันธุ์ให้ใกล้เคียงได้มากที่สุด ซึ่งก็ทำได้ประมาณ 50 ต้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงตัดสินใจซื้อพันธุ์อินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อจากต่างประเทศเข้ามาปลูกด้วย

คุณประทิน ชี้ว่า ผลผลิตที่ได้ระหว่างต้นเพาะเมล็ดกับเนื้อเยื่อไม่ต่างกันเท่าไร แต่สิ่งที่ต่างกันเห็นได้ชัดเจนคือคุณภาพ

เจ้าของสวนแนะว่า ถ้าคิดจะปลูกอินทผลัมเป็นเชิงพาณิชย์ ควรปลูกต้นพันธุ์เนื้อเยื่อ เนื่องจากประกันความเสี่ยงในเรื่องเพศ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการลงทุนค่าขุดหลุม ค่าปุ๋ย ค่าต่อระบบน้ำ ค่าดูแล และอื่นๆ ซึ่งจะต้องปลูกกันไปยาวนานถึง 4 ปี และตลอดระยะเวลาที่ปลูกมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นตลอด แต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมีรายรับได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันต้นที่สมบูรณ์จริง อาจขายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนที่หายไปเป็นค่าใช้จ่ายสูญเปล่า

สำหรับพันธุ์เนื้อเยื่อผลสดที่แนะนำขณะนี้เป็นพันธุ์บาร์ฮี มีราคาซื้อ-ขาย ทั่วไป ประมาณ 1,200 บาท แต่ถ้าซื้อจำนวนมากอาจมีส่วนลดตามแหล่งที่ซื้อซึ่งจะไม่เท่ากัน ถามว่ารับประกันได้มากน้อยแค่ไหน คงบอกได้ว่าประมาณ 99.99 เปอร์เซ็นต์ เพราะอาจเกิดความผิดพลาดทางแล็บของผู้ผลิตในต่างประเทศ

“เพราะฉะนั้นถ้าให้เลือกปลูกคงปลูกต้นเนื้อเยื่อมากกว่า หรือหากจำเป็นต้องใช้เพาะเมล็ด ควรเป็นเพาะเมล็ดจากพันธุ์บาร์ฮี เพราะมาจากต้นเนื้อเยื่อ เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์ รุ่นแรก F1 โอกาสกลายพันธุ์มีน้อย”

คุณประทิน ชี้ว่าการเปรียบพันธุ์อินทผลัมขณะนี้ อาจคล้ายกับการเปรียบเรื่องเงาะ อย่างเมื่อก่อนพันธุ์สีชมพู ได้รับความนิยมมาก แต่มีพันธุ์เงาะโรงเรียนน้อยมาก ในปัจจุบันพบว่าทั่วไปมีแต่เงาะโรงเรียน แทบหาเงาะสีชมพูไม่เจอ หรืออีกกรณีอย่างทุเรียนเมื่อก่อนพันธุ์ชะนีโด่งดังมาก แต่ตอนนี้กลับเป็นหมอนทอง แล้วหาชะนีไม่ค่อยพบ

“เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าไม้ผลอะไรก็ตามหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีกว่า ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็จะได้รับความนิยมมาก สร้างเงินได้มาก”

คุณประทิน กล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจปลูกอินทผลัมควรมองในเรื่องต้นทุนก่อน และถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เนื่องจากถ้าปลูกแล้วไม่ประสบความสำเร็จคงแย่แน่นอน

พร้อมกับให้รายละเอียดว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าใช้ระยะปลูก 7 คูณ 7 เมตร จะได้จำนวน 35 ต้น แล้วหากมีทุนมากพอแนะว่าให้ใช้ต้นเนื้อเยื่อตัวเมียสัก 30 ต้น และต้นตัวผู้ 5 ต้น อันนี้เป็นสัดส่วน ตัวผู้-ตัวเมีย คือ 1 ต่อ 5 หรือ 1 ต่อ 10 อันนี้มองว่าคุณมีเงินทุนสู้ได้

“หรือถ้าเป็นสูตรแบบประหยัดที่ช่วยลดต้นทุน โดยในพื้นที่และจำนวนต้นเท่ากัน ให้ใช้ต้นเนื้อเยื่อตัวเมีย 25 ต้น และใช้ตัวผู้เพาะเมล็ด จำนวน 10 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้ถ้าหากเกิดได้ต้นตัวเมียด้วยอาจถือเป็นโชคดี”

ดังนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ การมีต้นตัวเมีย 25 ต้น ถ้าตามข้อมูลในต่างประเทศระบุว่า แต่ละต้นจะให้ผลผลิต 150-200 กิโลกรัม ในปีที่ 8-9 เหตุที่กำหนดในปีที่ 8 เพราะเมื่อเทียบกับยางพาราแล้วในระยะเดียวกัน จะได้ประโยชน์มากกว่า

“อย่าว่าแต่ 150 กิโลกรัม ต่อต้น แค่เพียง 100 กิโลกรัม ต่อต้น ก็เกินคุ้มแล้ว เพราะที่ผ่านมาอย่างสวนแห่งนี้แค่ปีที่ 5 ยังได้ถึง 60-70 กิโลกรัม ต่อต้น แล้วเป็นต้นเล็กด้วย แล้วถ้าไปถึงปีที่ 8 จำนวน 100 กิโลกรัม ต่อต้น ต้องเป็นไปได้แน่นอน”

คุณประทิน ย้ำจุดยืนในเรื่องการขายว่า ที่ผ่านมามีการตั้งราคาขายไว้ กิโลกรัมละ 500 บาท เขามองว่าอาจสูงเกินไป เพราะการปลูกอินทผลัม ถ้าได้ผลผลิตถึงต้นละ 100 กิโลกรัม เพียงขายแค่กิโลกรัมละ 100 บาท เพียงต้นเดียวมีรายได้หนึ่งหมื่นบาท แล้วถ้าปลูก 25 ต้น ต่อไร่ อาจมีรายได้ถึง 2.5 แสนบาท

ขณะเดียวกันได้ให้มุมมองในเรื่องการตั้งราคาต่อไปอีกว่า ถ้าคิดว่า ราคาขายกิโลกรัมละ 100 บาท ยังสูงไป แล้วฐานตลาดลูกค้ามีจำนวนหลักพันคน แต่ถ้าดึงราคาขายจากหน้าสวนให้ลดลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 50 บาท คุณจะได้เงิน 5,000 บาท ต่อต้น แล้วมีรายได้ไร่ละแสนกว่าบาทต่อไร่ต่อปี

“เมื่อแม่ค้านำไปขาย กิโลกรัมละ 70-80 บาท เป็นราคาที่ผู้บริโภคทุกคน ทุกระดับ จับต้องได้ เพราะระดับราคาใกล้เคียงกับไม้ผลชนิดอื่น ในเมื่อทุกคนมีโอกาสซื้อได้แล้ว คิดว่าถ้าตั้งราคานี้จะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนสักเท่าไร ฉะนั้น ประโยชน์ตรงนี้คุณก็ได้ แม่ค้าคนขายก็ได้”

คุณประทิน ชี้ว่า ความเหมาะสมของสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทยสำหรับการปลูกอินทผลัมนั้นค่อนข้างเอื้อแต่อาจไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งถ้าจากภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาจนสุดภาคเหนือสามารถปลูกได้ทุกแห่ง เนื่องจากถ้าเป็นจังหวัดทางใต้ตอนล่างมีฝนมาก อันมีผลกระทบกับอินทผลัมในช่วงสะสมตาดอก ยิ่งถ้าน้ำท่วมคงได้แต่ยอดใหม่ แต่ไม่ออกดอก

 

วิธีการปลูก

ห่อเพื่อป้องกันแมลง
ห่อเพื่อป้องกันแมลง

ระยะปลูกของคุณประทินคือ 8 คูณ 8 เมตร ได้ 25 ต้น แต่ความจริงคุณประทินแนะนำให้ใช้ระยะ 7 คูณ 7 เมตรดีกว่า เพราะสามารถปลูกได้ถึง 35 ต้น ต่อไร่

ขนาดหลุมที่เตรียมปลูก ควรขุดหลุมยิ่งใหญ่ยิ่งดี ทั้งนี้อาจจะต้องพิจารณาสภาพดินในแต่ละจุดที่จะขุดก่อน ถ้าหน้าดินลึกและลักษณะเป็นดินร่วนซุย ก็ไม่จำเป็นต้องขุดหลุมใหญ่ แต่ถ้าเจอปัญหาหน้าดินตื้น แล้วดินชั้นล่างยังไม่ดูดซึมน้ำ ก็จำเป็นต้องขุดหลุมให้ใหญ่แล้วใส่ปัจจัยการปลูกลงไปให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอก จำนวน 5 กระสอบ ขุยมะพร้าว 1 กระสอบ นอกจากนั้น เป็นสารปรับปรุงดินและธาตุอาหารต่างๆ

ต้นกล้าที่ปลูก เกือบ 1 เดือน
ต้นกล้าที่ปลูก เกือบ 1 เดือน

สำหรับอายุต้นที่พร้อมลงดิน คุณประทิน บอกว่า แนวทางความคิดของเขาอาจจะต่างกับที่อื่น คือไม่นำต้นโตลงดิน เพราะรากเดิมที่เกาะกันแน่นต้องใช้เวลากว่าจะแตกรากใหม่ ดังนั้น จึงใช้ต้นกล้าเล็กที่มีอายุไม่เกิน 2 เดือน ลงปลูกเลย เพราะเมื่อได้อาหาร/น้ำที่พอเหมาะจะแตกรากใหม่ที่แข็งแรงในเวลาที่รวดเร็ว เพียงแต่ต้องปักหลักไว้เพื่อป้องกันต้นล้ม และควรหมั่นถางหญ้าและวัชพืชบริเวณต้นเพื่อมิให้ไปรบกวนการเจริญเติบโต

เมื่อนำต้นกล้าลงดินแล้ว ควรใช้ จอก แหน เป็นวัสดุคลุมดินที่ดี เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่เน่าแล้วยังอุ้มน้ำได้ดี ส่วนผักตบไม่นิยม เพราะมีสายโยงเกะกะในการทำความสะอาดบริเวณโคนต้น อย่างไรก็ตาม จอก แหน สามารถเก็บความชื้นได้นานถึง 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้แกลบดิบคลุมโคนต้น เพราะมีความร้อนมาก

“ระยะเวลาที่ไม่แนะนำให้ปลูกคือ ช่วงเวลาเดือนมกราคม-ปลายเมษายน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศร้อนอบอ้าวมาก เป็นอันตรายต่อต้นกล้าเมื่อรดน้ำ ควรปล่อยให้เข้าช่วงหน้าฝนหรือต้นฝน เพราะต้องการให้ดินมีความชุ่มชื้นเสียก่อน”

แหล่งน้ำที่สวนคุณประทินถือว่าได้เปรียบ เพราะได้รับน้ำมาจากเขื่อน ซึ่งอยู่ไม่ไกล เจ้าของสวนอินทผลัมรายนี้ชี้ว่าน้ำถือเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาก่อน เพราะอินทผลัมผลสดต้องใช้น้ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนปลูกในระยะแรกอาจใช้สายฉีดน้ำเพียงหัวเดียว แต่เมื่อมีผลผลิตแล้วควรเพิ่มหัวฉีดน้ำเป็น 4 หัว

ก่อนหน้านี้มีหลายคนคิดว่า อินทผลัม เป็นพืชทะเลทรายที่ทนแล้งได้ดี แต่นั่นเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว ทั้งนี้เพราะในสวนที่ปลูกอยู่เป็นอินทผลัมที่ชอบน้ำและปุ๋ย อย่างต้นที่ปลูกอายุ 4-5 ปี ให้ผลผลิตไปแล้ว ในช่วงที่มีการผสมเกสรราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะให้น้ำสัปดาห์ละ 800 ลิตร ต่อต้น ผ่านสายหัวจ่าย ยิ่งถ้าเป็นต้นตัวเมียจะต้องวางสายหัวจ่ายน้ำถึง 4 หัว ต่อต้น โดยให้ชั่วโมงละ 200 ลิตร นานถึง 2 ชั่วโมง คือ 400 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ 800 ลิตร

ด้วยเหตุนี้คนที่ต้องการปลูกอินทผลัมแบบมือใหม่ ควรดูสภาพพื้นที่ที่ต้องการปลูกก่อนว่า มีความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำเพียงใด ทั้งนี้หากเป็นพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำไม่แนะนำให้ปลูก ส่วนพื้นที่ปลูกอาจเริ่มต้นที่ 4 ไร่ ก่อน เพราะจะได้ดูแลทั่วถึงพร้อมไปกับการศึกษาหาความรู้ปัญหา/อุปสรรคควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ได้ประเมินเงินลงทุนเริ่มต้นทั้งราคาต้นกล้า การวางระบบน้ำ อาจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 บาท

 

การผสมเกสร

อินทผลัม เป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ ดังนั้น การผสมเกสรจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าส่วนหนึ่งของคุณภาพอินทผลัมเกิดจากการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพ แล้วบอกว่าวิธีการผสมเกสรอาจใช้แนวทางธรรมชาติจากแมลง หรือใช้คนผสม โดยชี้ว่าหากให้ได้ผลผลิตจำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว ควรใช้คนผสมดีกว่า

เจ้าของสวนให้รายละเอียดวิธีการผสมเกสรแบบคร่าวๆ ว่า เริ่มจากเก็บเกสรตัวผู้ก่อน เพราะต้นตัวผู้มีเกสรก่อนต้นตัวเมีย ประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้น เมื่อเก็บเกสรตัวผู้ผึ่งแดดแล้ว ควรใส่ขวด แล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อรอเวลาที่จะผสมกับต้นตัวเมีย

เมื่อได้เวลาผสมให้ใช้หลอดดูดจิ้มเกสรตัวผู้ แล้วพ่นใส่ช่อดอกเกสรตัวเมีย ทั้งนี้ ในวันที่มีการผสมเกสรควรสำรวจอากาศก่อน ถ้าหากมีลมแรงยังไม่ควรทำ ควรให้ปลอดลม แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรใช้พลาสติกครอบบริเวณที่ต้องการผสมเพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่

ทั้งนี้ การผสมเกสรในแต่ละสวนอาจต่างกัน เพราะบางสวนใช้แมลงอย่างผึ้งช่วยผสม โดยการตัดเกสรตัวผู้แล้วมัดเป็นกำเสียบไว้ในระหว่างช่อตัวเมีย จากนั้นผึ้งจะดำเนินการผสมเกสรให้เอง

อินทผลัม ใช้เวลาตั้งแต่ปลูกกระทั่งให้ผลผลิต ในช่วงระยะเวลา 5-7 ปี คุณประทิน บอกว่า อยู่ที่ช่วงเวลาการออกดอก ถ้าปีใดหนาวมาเร็ว คือตั้งแต่พฤศจิกายนเป็นต้นไปแล้วเมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มมีดอก หลังจากนั้นเวลา 120-130 วัน จะเริ่มมีผลผลิตแล้วจะทยอยมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างรออินทผลัมให้ผลผลิต ผู้ปลูกสามารถหารายได้เสริมด้วยการนำต้นพืชผักสวนครัวมาปลูกระหว่างแถวเพื่อหารายได้เสริมอีกได้

ปุ๋ยที่ใช้ส่วนมากเป็นปุ๋ยคอก นอกจากนั้น เป็นปุ๋ยสูตร อาทิ 15-15-15 พอถึงช่วงที่ต้องการสะสมก่อนออกดอก ใช้สูตร 18-24-24 หลังจากติดผลแล้วเปลี่ยนมาใช้ สูตร 13-13-21

เมื่อได้ผลผลิตแล้ว ควรมีการแต่งช่อผลด้วย เพราะหากผลแน่นเกินไปเกิดการเบียดกัน ทำให้ลูกมีขนาดเล็กไม่สวย ไม่สมบูรณ์ อย่าเสียดายถ้าต้องการปลูกเพื่อคุณภาพ การตัดแต่งผลจะทำในช่วง 1-2 เดือน หลังติดผล

อย่างไรก็ตาม การกำหนดจำนวนผลต่อช่อเพื่อให้ได้ผลที่มีคุณภาพนั้น คุณประทิน บอกว่า ถ้าใน 1 ทะลาย ที่มีจำนวนร้อยกว่าสาย ควรตัดออกให้เหลือไม่เกิน 45 สาย (ใน 1 สาย มี 15-20 ผล)

ศัตรูพืช ที่สร้างปัญหาให้กับสวนอินทผลัมของคุณประทินที่น่ากลัวที่สุดคือ ด้วงแรด และด้วงงวง เพราะพวกมันจะเจาะเข้าลำต้น เขาเผยว่าก่อนหน้านี้แมลงวันทองยังไม่เข้ามา แต่นับจากนี้เริ่มทยอยเข้ามากันแล้ว และจะส่งผลเสียต่อต้นและผล ดังนั้น จึงต้องมีการห่อผลผลิตเพื่อป้องกัน ดังนั้น แนวทางในการป้องกันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การนำสารเคมีมาใช้ โดยไม่ได้ใช้มาก และมักใช้เฉพาะในช่วงหลังเก็บผลผลิตแล้ว ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-เมษายน โดยใช้เป็นยาฆ่าแมลงแบบดูดซึม เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชที่จะเข้ามาทำลายต้น จะใส่เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น

สำหรับตลาดอินทผลัมของคุณประทิน เสนอขายที่ ราคากิโลกรัมละ 50 บาท คุณประทิน ชี้ว่า เมื่อมีราคากิโลกรัมละ 500 บาท แห่ปลูกกันจนทำให้ราคาลดลง แต่ความจริงแล้วการขายที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็สามาราอยู่ได้ ขณะนี้มีห้างสรรพสินค้าดังหลายแห่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อ แต่ยังไม่กล้ารับปาก เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องสภาพอากาศ จึงทำให้คุณภาพผลผลิตยังไม่คงที่

 

ตั้งสมมุติฐานเพศด้วยการดูจากต้น

ถึงแม้ข้อดีของการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดคือ การได้จำนวนต้นมากในเวลารวดเร็ว แล้วมีราคาไม่สูงนัก แต่กว่าจะรู้ว่าต้นใดเป็นเพศผู้-เพศเมีย นั้น จะต้องรอไปจนกระทั่งแทงจั่นออกดอก หรือราว 3-4 ปี ฉะนั้น โอกาสเสี่ยงจึงมีมาก ด้วยเหตุนี้ผู้ปลูกบางรายจึงตัดสินใจหาซื้อต้นเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากทราบเพศที่แน่นอนและมีคุณภาพดีเท่ากับต้นแม่ที่คัดพันธุ์ แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้เงินลงทุนมาก

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 4-5 ปี การได้คลุกคลีอยู่กับอินทผลัมของคุณประทินทำให้ได้สังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างต้นตัวผู้-ตัวเมีย ในระหว่างการเจริญเติบโต ดังนั้น เพื่อเป็นการทดสอบตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ จึงทำให้คุณประทินคัดเลือกต้นที่คาดว่าน่าจะเป็นเพศเมีย จำนวน 160 ต้น แยกออกมาปลูกไว้ต่างหาก

และในเวลาอีก 2-3 ปี ข้างหน้า หากสมมุติฐานของเขาเป็นความจริง แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าต้นที่นำมาปลูกเป็นตัวเมียทุกต้น ก็จะลดความเสี่ยงจากการเลือกเพศได้มาก อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานของคุณประทินขอสงวนสิทธิ์ที่ไม่ให้ข้อมูลรายละเอียด

ปัจจุบัน สวน ‘KDP’ (KORAT DATE PALM) ของคุณประทินปลูกอินทผลัมอยู่ จำนวน 60 ไร่ แล้วเตรียมไว้อีก 20 ไร่ มีต้นพันธุ์จำหน่ายตลอดทั้งปี ทั้งเพาะเมล็ดและเนื้อเยื่อ แต่ต้องสั่งจองล่วงหน้า นอกจากนั้น ยังต้อนรับคณะที่ต้องการเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานอีก แล้วได้เปิดสวนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559

สอบถามรายละเอียด หรือสั่งจองต้นพันธุ์ได้ที่ สวน ‘KDP’ (KORAT DATE PALM) โทรศัพท์ (089) 583-5855 www.koratdatepalm.com