หมากผู้หมากเมีย ไม้ประดับขึ้นชื่อ ของดี ที่บางกะเจ้า

เพชรประภัสสร

หมากผู้หมากเมีย จัดเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เป็นทรงพุ่ม ซึ่งมีลักษณะสีสันของใบสวยงามหลากหลายสีสัน ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร เป็นข้อถี่ๆ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น แผ่นใบมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ใบรูปหอกเรียวยาว แต่ที่เป็นจุดเด่นคือสีของใบที่มีสีสันสวยงามหลากหลาย เช่น สีม่วง สีน้ำตาล สีเขียวอ่อน สีแดง สีชมพู เป็นต้น

คนไทยสมัยโบราณมีคติความเชื่อที่ว่า หากบ้านใดปลูกหมากผู้หมากเมียไว้ประจำบ้านจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งหากต้องการให้มีความเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น ควรปลูกหมากผู้หมากเมียไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและปลูกในวันอังคาร

นอกจากจะปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตกแต่งบ้านเรือนแล้ว ยังนิยมตัดใบของหมากผู้หมากเมียใช้ในการประกอบในงานพิธีต่างๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องบูชาพระ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น

คุณณรงค์ สาลีรัตน์
คุณณรงค์ สาลีรัตน์

คุณณรงค์ สาลีรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่มีความรู้เรื่องหมากผู้หมากเมียตัวระดับตัวยงเลยก็ว่าได้ เพราะพื้นที่ในย่านนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดไม้ประดับชนิดนี้ เพราะมีทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ รวมๆ แล้วมากกว่า 200 สายพันธุ์เลยทีเดียว

 

เด็กทำสวนมะพร้าว ผู้ชื่นชอบหมากผู้หมากเมีย

คุณณรงค์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีในพื้นบริเวณในแถบนี้มีอาชีพทำสวน และที่สำคัญทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นหลักเพราะมีสวนมะพร้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการทำสวนของพ่อแม่ที่สืบทอดต่อกันมา จึงทำให้คุณณรงค์ได้รับวิทยาการความรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวด้วยเช่นกัน

“สมัยก่อนนี่ยอมรับเลยว่า ดิน ฟ้า อากาศ ดีมาก ไม่ว่าทำอะไรมันก็สำเร็จ น้ำในพื้นที่ก็ไม่เค็ม ไม่กร่อย เหมือนทุกวันนี้ หรือมีก็เดือนครึ่งเดือน การทำอะไรก็สะดวกไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องเพาะปลูกก็ได้ผลผลิตที่ดี เป็นอาชีพที่ทำกันมานาน ซึ่งผมเองก็เห็นก็ได้ทำสวนส่วนที่บ้าน พอเราไปทำสวน จากที่เราสังเกตมาตั้งแต่เด็กในพื้นที่นอกจากสวนที่ทำแล้ว ชาวบ้านแถวนี้ก็จะมีไม้ประดับ 3 ชนิด เรียกว่าเห็นมาตั้งแต่ผมเกิด ก็จะมีโกสน หมากแดง และก็หมากผู้หมากเมีย” คุณณรงค์ เล่าถึงความเป็นมา

Hot pink spot
Hot pink spot

ซึ่งหมากผู้หมากเมียที่อยู่ในบริเวณนี้ เปรียบเสมือนเป็นไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ภายในสวนมะพร้าว เพราะไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามที่ร่มรำไรชายคา จึงเจริญเติบโตได้ดีทางข้างร่องสวนมะพร้าว เมื่อชาวบ้านเห็นถึงความสวยงามที่เด่นของไม้ชนิดนี้ จึงได้นำมาปลูกใส่กระถางเพื่อตกแต่งบ้านเรือน

“หมากผู้หมากเมียพอมีมากขึ้น มันก็เกิดการผสมกันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ สีสันสวยงามชวนมองมาก ซึ่งผมเองช่วงนั้นประมาณอายุ 12 ปี ประมาณ พ.ศ. 2500 ก็เริ่มนำมาปลูกเก็บสะสมตั้งแต่เด็ก เรียกว่าเห็นสวยงามเก็บสะสมพันธุ์มาเรื่อยๆ เจอตามบ้านพี่ป้าน้าอาสวย ก็ขอเขามาตลอด เก็บสะสมมาจนมีเยอะแยะ เราก็เอากิ่งมาปักชำข้างบ้านมันขึ้นง่ายมาก ก็เลยมีกันแยะในพื้นที่นี้” คุณณรงค์ เล่าถึงที่มาของการสะสมหมากผู้หมากเมียของตนเอง

 

เป็นไม้ที่มีสีสันสวย สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เสือขาว
เสือขาว

คุณณรงค์ เล่าว่า การปลูกหมากผู้หมากเมียต้องยอมรับว่าปัจจุบันยากกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากดินที่ใช้ปลูกไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะสมัยก่อนดินที่อยู่ตามร่องสวนเกิดจากใบไม้ที่ทับทมกัน จึงมีธาตุอาหารที่พืชสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี

เพชรศรีปราการ
เพชรศรีปราการ

“ดินที่ใช้สำหรับปลูกสมัยก่อนมันเป็นดินเลนแม่น้ำจริงๆ เป็นดินที่มีประโยชน์มีคุณค่า มีสารอาหารเยอะมาก แต่ตอนนี้มันเสื่อมโทรมไปมาก ซึ่งการปลูกก็มี 2 แบบเพื่อใช้ประโยชน์ คือ หนึ่ง ตัดใบขาย เพื่อเอาไปกำดอกไม้ กับอีกจุดประสงค์ที่สอง คือ ปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งจากการได้ปลูกเลี้ยงเรียนรู้จนทำให้รู้ว่า หมากผู้หมากเมียสามารถขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่เหง้ายันยอดเลยที่มันขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก” คุณณรงค์ กล่าว

การขยายพันธุ์หมากผู้หมากเมียสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

  1. การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หากจะได้ไม้ที่แปลกใหม่สวยต้องใช้เวลานานนับปี ซึ่งในสมัยก่อนจะมีข้อเสียเมื่อเวลาที่ต้นอ่อนงอกจากเมล็ด แมลงศัตรูพืชมักรบกวนทำให้ไม้เกิดความเสียหาย ต่อมาเมื่อวิทยาการก้าวหน้ามากขึ้นจึงมีการพัฒนาในการปลูกมากขึ้น ทำให้ต้นอ่อนที่เพาะเมล็ดเกิดความเสียหายน้อยลง

“เราใช้เวลาช่วงเพาะเมล็ดประมาณ 1 ปี จากนั้นเราก็จะเอาต้นที่อายุครบ มาย้ายปลูกลงในกระถาง ดูแลอีกประมาณ 3 ปี มันจึงจะเห็นสีสันที่สมบูรณ์ ออกดอกออกลูก เห็นเด่นชัดว่ามันเด่นแบบไหน จะสวยประมาณใด และสามารถนำส่งเข้าประกวดได้ไหม” คุณณรงค์ กล่าว

  1. การขยายพันธุ์ด้วยการตอน การปักชำยอด และการชำข้อ ทำการตัดต้นให้มีข้อปล้องประมาณ 2 ท่อน แล้วนำไปชำ ซึ่งแม้แต่เหง้าก็สามารถนำมาปักชำได้ ซึ่งการปักชำทำให้เกิดการขยายพันธุ์มากขึ้น ใช้เวลาไม่นานเหมือนการเพาะเมล็ด

วัสดุที่ใช้สำหรับปลูกหมากผู้หมากเมียที่ดีที่สุดคือ ดินเลนที่ได้จากใบไม้ผุที่นำขึ้นมาจากร่องสวน สามารถนำมาปลูกกับไม้ที่มีความแข็งแรงได้เลย จากนั้นดูแลรักษาเรื่องโรคและแมลงด้วยการฉีดพ่นยาเป็นการดูแลรักษา

“ช่วงฝนชุกกับช่วงเข้าหนาว มันจะเกิดเชื้อรา เราก็ต้องป้องกันเรื่องน้ำให้ดี เพราะมันจะทำให้ยอดเสีย และที่สำคัญหากว่าวัสดุปลูกแฉะมากเกินไป ก็สามารถเกิดเชื้อราได้ ส่วนช่วงเข้าหนาว ราน้ำค้างและไรแดงต้องระวังให้ดี เพราะว่าช่วงนั้นมันจะมาพร้อมกับการทำลายยอดมะม่วง มันก็จะเข้ามากินใบหมากผู้หมากเมียเราเสียหาย ทำให้ใบเสียเป็นจุดดูไม่งามตา จะมีปัญหาได้เวลาที่เราส่งไม้เข้าประกวด” คุณณรงค์ อธิบาย

 

ปลูกเพื่อตัดใบจำหน่าย และเพื่อเป็นไม้ประดับ

คุณณรงค์ บอกว่า หมากผู้หมากเมียที่นำมาปลูกเลี้ยงนอกจากจะทำเพื่อเป็นไม้ประดับสวยงามแล้ว คนในพื้นที่ส่วนมากยังปลูกเพื่อตัดใบจำหน่าย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้สามารถส่งจำหน่ายได้ตกเดือนละแสนใบต่อเดือน ซึ่งมีใบออกมาเท่าไรก็สามารถส่งจำหน่ายได้หมด

“ใบที่เขานิยมตัดใบ จะเป็นสีเขียวขาว และก็ใบสีชมพู หรือก้านสีชมพู ที่ปากคลองตลาดนี่ต้องการตลอด เขาก็ให้ราคาอยู่ที่ใบร้อยละ 10-12 บาท อันนี้คือราคาที่มารับซื้อที่สวน เขาก็จะรับไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง” คุณณรงค์ กล่าว

ส่วนหมากผู้หมากเมียที่ปลูกเลี้ยงเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ คุณณรงค์ บอกว่า ที่อำเภอพระประแดงแห่งนี้มีสายพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 200 สายพันธุ์ อาจมากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นพันธุ์เก่าดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาให้เกิดขึ้นมา

เพชรประภัสสร
เพชรประภัสสร

“หมากผู้หมากเมียสำหรับเป็นไม้ประดับ ราคาจะแตกต่างกันมาก อย่างช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ หรือที่เรียกว่าปลายฝนต้นหนาว สีสันจะเริ่มออกเต็มที่ ซึ่งช่วงนี้เราจะเรียกว่าเป็นช่วงหมากผู้ มันจะมีความสวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือการออกดอกออกผล ส่วนในช่วงที่จะเป็นฤดูร้อนที่มันจะเจอแสงแดดจัดๆ มันก็จะเริ่มแสดงความเป็นหมากเมียออกมา มีการทำสีใบทึบๆ เพื่อที่ใบจะได้ไม่ไหม้แสงแดด ในช่วงนี้จะไม่มีความสวยงามเลย” คุณณรงค์ กล่าว

การจำหน่ายหมากผู้หมากเมียที่เป็นไม้เล็ก ราคาอยู่ที่กระถางละ 35 บาท ส่วนไม้ที่อยู่ขนาดไซซ์กลางอยู่ที่ราคากระถางละ 60-150 บาท และไม้ขนาดไซซ์ใหญ่อยู่ที่ราคาตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป จนถึงหลักพันบาท และบางต้นที่มีความสวยที่แสดงลักษณะพิเศษออกมาไม่เหมือนกัน ราคาอยู่ที่หลักหมื่นบาทเลยทีเดียว

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากปลูกเลี้ยงทำเป็นอาชีพ คุณณรงค์ ให้คำแนะนำว่า

“สำหรับคนที่สนใจอยากปลูกขยายเป็นไม้ประดับขาย ถ้ามีพื้นที่พอสมควรตั้งแต่ครึ่งไร่ขึ้นไปจนถึง 1 ไร่ ก็สามารถปลูกเลี้ยงขายได้ เพราะหมากผู้หมากเมียในวงการไม้ประดับมันก็ยังดีอยู่ ยังสามารถทำรายได้อยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งพันธุ์เองก็ยังหาซื้อได้ง่าย เป็นไม้ที่ไม่ต้องหาพันธุ์ยากนัก โดยเฉพาะที่บางกะเจ้าเรานี่มีเยอะแยะ และที่สำคัญไม้ชนิดนี้ยิ่งได้อากาศเย็น จะยิ่งมีสีสวย ปลูกง่าย ก็ถือว่าเป็นไม้ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน และที่สำคัญการลงทุนก็ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับไม้ตัวอื่นๆ ในเรื่องของการลงทุน” คุณณรงค์ กล่าวแนะนำ

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณณรงค์ สาลีรัตน์ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 344-5977