เก็บผักกระเฉด ผักบุ้ง ส่งขาย งานสร้างรายได้ที่มีความสุข

คุณพิพิธ จันทร์เรือง

คำกล่าวที่ว่า “สายน้ำ คือ ชีวิต” คงเป็นสิ่งที่ยังหนีไม่พ้นไปจากวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งสมัยก่อนนั้นการเดินทางสัญจรหรือแม้แต่การขนส่งสินค้าจะเน้นทางเรือเป็นหลัก จึงทำให้คนในสมัยนั้นนิยมปลูกบ้านริมฝั่งแม่น้ำเป็นหลัก

เมื่อบ้านเมืองเกิดการพัฒนามาถึงยุคปัจจุบัน วิถีเหล่านั้นเริ่มจางหายลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ยังไม่ละทิ้งสายน้ำที่เป็นดังสายธารชีวิต กลับหาใช้ทำประโยชน์เพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว เช่น การจับปลาในแม่น้ำ การเลี้ยงปลากระชัง ตลอดจนใช้พื้นที่แนวชายตลิ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืช

คุณพิพิธ จันทร์เรือง อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 1 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี สาววัยเกษียณที่เติบโตมากับลุ่มแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่เธอจำความได้ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กจนมาถึงปัจจุบันก็อยู่บ้านมาตลอด มีการทำเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกกล้วยพืชผักสวนครัว แต่พืชเหล่านั้นต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโต อาจจะมีรายได้ที่ต้องรอเวลา เธอจึงใช้ประโยชน์จากแม่น้ำท่าจีนที่อยู่หลังบ้านปลูกผักกระเฉดกับผักบุ้งเสริมอีกทาง

“ผักกระเฉด กับผักที่อยู่หน้าท่าน้ำนี่ ก็ไม่ต้องไปลงทุนหาจากที่ไหนเลย วันดีคืนดีมันก็ลอยมาติดที่หน้าท่าน้ำเรา เราก็จะเอาต้นพวกนี้มาปักลงในดินไว้ มันก็เหมือนกับปลูกพืชบนดินประมาณนั้น พอมันลอยอยู่แบบนั้นสัก 3 อาทิตย์ เดี๋ยวก็จะแตกยอดใหม่ออกมา เราก็เก็บเป็นกำๆ ส่งขายที่ตลาดได้เลย” คุณพิพิธ เล่าถึงที่มา

เมื่อผักกระเฉดและผักบุ้งแตกยอดออกมาเรื่อยๆ ก็เท่ากับทำให้เธอสามารถเก็บขายได้ หมุนเวียนแบบนี้ได้ตลอด ซึ่งเธอยังบอกอีกด้วยว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องการรดน้ำและใส่ปุ๋ย เพราะพืช 2 ชนิดนี้ อยู่ในน้ำอยู่แล้วทำให้ง่ายต่อการดูแล

“เวลาน้ำในแม่น้ำลดลง ก็จะมีการบำรุงใส่ปุ๋ยยูเรียบ้าง เพื่อเป็นการให้ต้นมันแข็งแรงดี ก็หว่านลงไปได้เลย มันก็จะโตดี แต่ส่วนมากไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย เพราะน้ำในแม่น้ำจะเต็มตลอด ทำให้ยากต่อการใส่ปุ๋ย ผักพวกนี้ก็หาอาหารกินเองได้ โดยที่เราไม่ต้องดูแลให้มากเรื่อง” คุณพิพิธ อธิบาย

ผักที่เธอเก็บมา จะเน้นส่งขายตามตลาดนัด หรือมีแม่ค้าที่ทำข้าวแกงขายตลาดเช้ามาสั่งซื้อถึงที่บ้าน โดยที่เธอไม่ต้องไปตระเวนขายที่ไหน

“คนก็นิยมกินทั้งผักกระเฉด ผักบุ้ง เขาก็จะมารับไปขาย เราก็ทำเป็นกำให้เขาไป ซึ่งผักบุ้งที่คนทำกับข้าวชอบไปทำขาย ก็จะเป็นแกงหมูเทโพ การเก็บก็อยู่ที่คนสั่ง ซึ่งอาทิตย์หนึ่งก็จะเก็บขายประมาณ 2-3 ครั้ง ไม่ได้เก็บทุกวัน เพราะว่าเราต้องรอให้มันแตกยอดใหม่บ้าง แต่ถ้าเราได้ต้นมาเยอะก็สามารถทำให้เป็นแพใหญ่ๆ เราก็จะเก็บได้มากขึ้น เงินเราก็จะได้มากขึ้น” คุณพิพิธ กล่าว

ราคาผักกระเฉดและผักบุ้ง ขายอยู่ที่ กำละ 10-15 บาท ซึ่งราคาสามารถปรับเปลี่ยนไปตามช่วงฤดูกาล ว่าช่วงนั้นผักชนิดนี้ขาดตลาดมากหรือน้อย

ซึ่งการทำเกษตรในแนวนี้ คุณพิพิธ บอกอีกด้วยว่า เป็นงานที่มีความสุขมากสำหรับเธอ พอตกบ่ายหลังจากเก็บผักบุ้งก็จะพายเรือไปตกปลา เพื่อนำมาเป็นอาหาร หรือถ้าได้ปลามาจำนวนมากพอก็จะขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้จ่ายภายในบ้าน และวันว่างๆ ที่รอเก็บผักกระเฉดและผักบุ้งเธอก็มีเวลาไปดูแลพืชผักสวนครัวได้อีกด้วย

“เราโตมาจากที่นี่ ก็คงจะอยู่ที่นี่ไปตลอด จริงๆ แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน เรื่องเกษตรนี่ทำได้หมด ขอเพียงหาสิ่งที่อยากทำให้ได้เท่านั้นพอ ชีวิตคนเราไม่ต้องไปอยากได้อยากมีให้วุ่นวายใจ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เก็บเล็กผสมน้อย เดี๋ยวเราก็มีได้เอง แต่ขอให้ทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ทำแบบมีความสุข ชีวิตก็จะไม่น่าเบื่อ” คุณพิพิธ กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิพิธ จันทร์เรือง หมายเลขโทรศัพท์ (093) 963-2348