ปลูกหอมแป้น อย่างพอเพียง เลี้ยงชีพได้ในวัยชรา

หอมแป้น เป็นผักชนิดหนึ่งที่คนทางภาคเหนือใช้เรียกผักที่คล้ายต้นหอม มีใบเรียวยาว แต่ใบแบน บาง เป็นการเรียกตามลักษณะของมันที่แบน บาง เช่น ไม้แป้น หมายถึง ไม้กระดานเป็นแผ่นบาง หอมแป้น จึงหมายถึง กุยช่าย ที่คนเมืองเหนือเคยชินกับการเรียก หอมแป้น มากกว่าเรียก กุยช่าย ถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยมบริโภคกันมากนักก็ตาม ส่วน ขนมกุยช่าย จะไม่เรียกว่า ขนมหอมแป้น

กุยช่าย พืชผักที่มีกลิ่นฉุน มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายสูงด้วยสรรพคุณทางยาหลายด้าน กุยช่ายนำมาประกอบอาหารได้ไม่กี่อย่าง กุยช่ายเป็นที่ต้องการของตลาดมาตลอด แม้บางช่วงราคาจะไม่สูงเหมือนผักอื่นก็ตาม มักนำกุยช่ายผัดกับเต้าหู้ ใส่กับผัดไทย และขนมกุยช่าย การนำกุยช่ายมาประกอบอาหารอยู่ในวงจำกัด

แปลงปลูก
แปลงปลูก

การปลูกกุยช่ายมักปลูกร่วมกับผักชนิดอื่น แหล่งปลูกกุยช่ายอยู่ที่ราชบุรี นครปฐม ในบางพื้นที่ปลูกแต่กุยช่ายเพียงชนิดเดียวเป็นแปลงใหญ่ การปลูกกุยช่ายเป็นการลงทุนลงแรงเพียงครั้งแรกอยู่ได้นานหลายปี เป็นพืชผักอายุยืน ต่างจากผักชนิดอื่นอยู่ได้เพียงฤดูเดียว หลังจากปลูกกุยช่ายแล้วการดูแลรักษามีให้ทำน้อย ให้ผลผลิตได้เร็ว เก็บเกี่ยวได้ตลอดปี การเก็บเกี่ยวใช้เวลาน้อยไม่เปลืองแรงงาน โรคแมลงศัตรูมีน้อย สามารถทำงานอยู่กับกุยช่ายได้อย่างสบายๆ และเบาแรง จึงเป็นงานเบาที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ดังเช่นกับ โกแป๊ะ หรือ ลุงแป๊ะ ชื่อจริง คุณบุญผ่อง ฉิมพุก เกษตรกร วัย 65 ปี หันมาปลูกกุยช่ายเลี้ยงตัวมา 10 กว่าปี

คุณบุญผ่อง ทำแปลงกุยช่ายบนพื้นที่ 2 ไร่ อยู่ หมู่ที่ 6 บ้านห้วยยาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง คุณบุญผ่อง ไม่ใช่ชาวลำปางโดยกำเนิด มาอาศัยอยู่ลำปางได้ 40 ปี จนกลายเป็นชาวลำปาง บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ชีวิตของเขาผ่านการสู้ชีวิตมาหลายอย่าง หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 (เมื่อครั้งยังเรียน ชั้น ป.7) ได้บวชเณรและบวชพระอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ที่อำเภอบ้านเกิดจนสอบได้นักธรรมโท สึกออกมาแล้วได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2516 มาอยู่กับพี่สาว ช่วยพี่สาวทำเต้าหู้ และได้ใช้เวลาว่างสมัครเรียนที่โรงเรียนฝึกวิชาชีพ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น จนสำเร็จหลักสูตร สามารถออกมารับจ้างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ วันหนึ่งได้มาซ่อมเครื่องปรับอากาศให้กับคลินิกทำฟันแห่งหนึ่ง พบรักกับลูกจ้างสาวที่คลินิกแห่งนี้เป็นสาวชาวลำปาง ในปี พ.ศ. 2519 จึงได้ชักชวนกันมาสร้างครอบครัวที่บ้านเดิมของฝ่ายสาวคือบ้านห้วยยาง ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซื้อที่ริมคลองชลประทาน ทำสวนผัก ตามที่ตนเองมีความถนัดมาแต่เดิมเมื่อครั้งอยู่ที่นครปฐม พ่อแม่มีอาชีพทำสวนผัก ได้ช่วยพ่อแม่ทำตั้งแต่เด็กจึงมีประสบการณ์ติดตัวมา ในปี พ.ศ. 2527 ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน จึงรับจ้างติดตั้งไฟฟ้าตามบ้าน ทั้งยังรับจ้างเจาะน้ำบาดาล

คัดใบ
คัดใบ

ปี พ.ศ. 2532 ได้ทำฟาร์มไก่กระทง ประมาณ 6,000-7,000 ตัว เลี้ยงเรื่อยมาจนถึง ปี พ.ศ. 2545 เข้ามาพักอยู่ในเมืองลำปางอาศัยกับคนรู้จัก ได้นำประสบการณ์จากการที่ได้อยู่กับพี่สาวทำเต้าหู้ส่งตลาดเทศบาล (หลักเมือง) และตลาดอัศวิน ด้วยเต้าหู้มักเป็นของคู่กับถั่วงอก กุยช่าย จึงคิดจะปลูกกุยช่ายเพื่อขายคู่กับเต้าหู้ ได้เดินทางกลับไปบ้านเกิดที่นครปฐมเพื่อนำเหง้ากุยช่ายกลับมาจำนวนหนึ่ง มาขยายกอกุยช่าย

เรื่องตลาดนั้น การจะแทรกตัวเข้าไปขายให้กับผู้รับซื้อกุยช่ายรายใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละรายมีเจ้าประจำส่งกุยช่ายให้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงอาศัยคนรับเต้าหู้ให้ไปเจาะตลาด เมื่อผู้รับซื้อกุยช่ายรายใหญ่กุยช่ายขาดมือ คนรับเต้าหู้ได้แนะนำให้เอากุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะมาแทน กุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและค่อยๆ ขยายวงออกไป

กิจการการขายเต้าหู้กับกุยช่ายดำเนินไปด้วยดี ซึ่งช่วงนี้ต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างในตัวเมืองกับบ้านห้วยยางเพื่อดูแลทั้ง 3 กิจการ (ไก่ เต้าหู้ และกุยช่าย) เมื่อลูก 2 คน เรียนจบกันแล้ว จึงเลิกเลี้ยงไก่ ในปี พ.ศ. 2549 ได้ซื้อที่ดินใกล้กันเพิ่มอีก 2 ไร่ อยู่หน้าโรงเรียนบ้านห้วยยาง เพื่อปลูกกุยช่ายและไผ่เป๊าะ ไผ่กิมซุ่ง และไผ่ตง ไว้ด้านข้าง กว่า 30 กอ แต่การทำเต้าหู้ต้องมาสะดุดในปี พ.ศ. 2553 เมื่อทางเทศบาลต้องรื้อตลาดเก่าเพื่อสร้างตลาดใหม่ ทำให้บรรดาแม่ค้าพ่อค้าต้องย้ายไปขายหน้าศาลากลางหลังเก่าเป็นการชั่วคราว การส่งเต้าหู้ไม่สะดวกเหมือนก่อน จึงเลิกทำเต้าหู้ ขนเครื่องมืออุปกรณ์ทำเต้าหู้กลับบ้านห้วยยาง ปลูกแต่กุยช่ายอย่างเดียว

ให้น้ำระบบสปริงเกลอร์
ให้น้ำระบบสปริงเกลอร์

การปลูกกุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ ปลูกห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร เป็นช่องทางเดิน สามารถเดินเข้าทำงานได้สะดวก ปลูกบนพื้นเรียบไม่มีการยกร่อง ใส่ปุ๋ยมูลไก่ 3 เดือน ต่อครั้ง โรยบางเต็มหน้าแปลงและโรยเมล็ดผัก เช่น ขึ้นฉ่าย ผักกาด ตามไปด้วย สลับการพ่นด้วยฮอร์โมน ปีละ 3 ครั้ง ไม่มีการใช้สารเคมี มีบ้างที่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะหญ้าระหว่างแถวเป็นบางครั้ง น้ำหมักชีวภาพจะใช้ฉีดพ่นเมื่อมีเวลาว่าง กุยช่ายที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นแรง ต้นเล็ก โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ บอกว่า ชาวจีนนิยมมากกว่ากุยช่ายที่ลำต้นใหญ่และไม่มีกลิ่น

การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ ปั๊มจากน้ำบาดาลไปตามท่อ พีวีซี 4 หุน ยังหัวสปริงเกลอร์ วางไว้ 4-5 หัว หัวสปริงเกลอร์อยู่บนแป้นไม้กระดาน ถูกยึดแน่นที่วางไว้หัวแปลง เมื่อให้น้ำพื้นที่นั้นจนชุ่มแล้ว จะลากแป้นไม้กระดานเพื่อย้ายตำแหน่งให้น้ำจุดที่ยังไม่ให้น้ำจนถึงท้ายแปลง ซึ่งเป็นการประหยัดจำนวนหัวสปริงเกลอร์ที่ไม่จำเป็นต้องวางไว้ทุกจุดทั่วพื้นที่

โรคที่พบในช่วงต้นฤดูฝนเป็นโรคใบเน่า เกิดจากเชื้อรา ปลายใบจะแห้ง ใบคล้ายใบไหม้ สาเหตุมาจากความชื้นในดินไม่พอ ฝนตกลงมาน้อยสลับกับอากาศที่ร้อน แก้ไขใช้ปูนขาวโรยรอบกอ

การตัด ปกติจะเริ่มตัดกุยช่ายหลังจากปลูกแล้วเมื่ออายุได้ 4 เดือน และตัดครั้งต่อไปทุกๆ 2 เดือน แต่ของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ เริ่มตัดหลังจากปลูกอายุได้ 2 เดือน ตัดชิดกับพื้นดิน ตัดรุ่นแรกได้ต้นที่ใหญ่ อวบ ต้นสูง ตัดครั้งต่อไปเมื่ออายุได้ 27-30 วัน ขนาดของต้นเริ่มเล็กลง ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นแยกดึงเอาใบเหลือง ใบแห้งออก บรรจุถุงรอแม่ค้ามารับ ยิ่งตัดกอยิ่งขยายใหญ่ สามารถตัดต่อไปได้เรื่อยๆ จนเห็นว่าลำต้นเล็กลงมาก จึงจะรื้อกอ เปลี่ยนมาปลูกระหว่างแถวที่เป็นช่องทางเดิน เหง้า 1 กอ แยกมาปลูกใหม่ได้ 5 กอ

1กุยช่ายที่ปลูกเป็นพันธุ์ตัดใบ แต่จะให้ดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนกุยช่ายพันธุ์ตัดดอกจะให้ดอกตลอดปี ซึ่งต้องมีการดูแลรักษาใส่ปุ๋ยตลอด ดอกกุยช่ายได้ราคาดีแต่มีจำนวนน้อย การทำกุยช่ายขาว โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ เคยทำแต่ต้องหยุด เพราะสู้ราคาตลาดกุยช่ายขาวของสวนกุยช่ายรายใหญ่ไม่ไหว ที่ราคาถูกกว่ามีจำนวนมากกว่า จึงเลิกทำกุยช่ายขาว ตัดอย่างน้อย วันละ 10 กิโลกรัม ส่งในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ยืนพื้น ไม่ว่าราคาในตลาดจะขึ้นหรือลงเท่าไรก็ตาม

งานบริการสังคม…เมื่อ 10 ปีก่อน โกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ  ช่วงที่เลี้ยงไก่ได้เป็นวิทยากรการเลี้ยงไก่ให้กับนักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ที่มาฟังการบรรยายที่ฟาร์ม เป็นวิทยากรการปลูกผักให้นักเรียนชั้นมัธยมฯ โรงเรียนเสด็จวนาชยางค์กูล ตำบลบ้านเสด็จ เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยยางอยู่ระยะหนึ่ง

การปลูกหอมแป้นหรือกุยช่ายของโกแป๊ะ หรือลุงแป๊ะ จึงเป็นงานเหมาะกับสภาพร่างกายในวัยชรา ไม่ต้องใช้แรงมาก ไม่เหนื่อย ไม่ต้องใช้สารเคมี ทำคนเดียวได้ รายได้จากกุยช่ายสามารถอยู่อย่างพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้อย่างไม่ขัดสนในวัยชรา…

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2559