ปลูกสับปะรดแนวใหม่ ให้ได้คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ใช้ผ้าพลาสติกคลุมดิน ใส่หมวกป้องกันแดดให้สับปะรด

ป้องกันแสงแดดด้วยเศษแผ่นไวนิล

เกษตรกรรุ่นใหม่เมืองรถม้า ใช้ภูมิปัญญาผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดคุณภาพ พร้อมดัดแปลงอุปกรณ์การเกษตรหลากหลาย ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับภาคเหนือ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง นำโดย คุณประวีณ์นุช สันพะเยาว์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลงานของเกษตรกรดีเด่นและเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ประเภทต่างๆ ในจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานของเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จได้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติในไร่นาของตนเอง

Web

จุดแรกคือ เทคนิคการปลูกสับปะรดให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรหนุ่ม วัย 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

คุณกฤษณะ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตมีการปลูกสับปะรดเช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วๆ ไป ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือปลูกปีละ 1 ครั้ง เต็มพื้นที่ 50 ไร่ เมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวก็เก็บครั้งเดียวหมดทั้งแปลง ต้องลงทุนปลูกใหม่ทุกครั้งทุกปี ต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ใช้สารเคมีเร่งการออกดอก ห่อหุ้มผลสับปะรดเพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดเผาไหม้ผิวของผล และการปฏิบัติการต่างๆ ในสวน ทำให้ต้นทุนการปลูกสูงขึ้นทุกปี ตนเองได้จดบันทึกค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด อย่าง เช่น เมื่อปี 2553 ต้นทุนการปลูกสับปะรด อยู่ที่กิโลกรัมละ 4.00 บาท แต่พ่อค้ารับซื้อสับปะรด กิโลกรัมละ 2.20 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนสับปะรดในตำบลบ้านเสด็จขาดทุนเป็นจำนวนมาก มีการเดินขบวนขอให้ทางราชการเข้ามารับซื้อพยุงราคา ตนเองจึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาการปลูกสับปะรดให้มีคุณภาพและมีต้นทุนต่ำ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากขึ้นทุกขั้นตอน และมีสับปะรดให้ผลผลิตตลอดทั้งปี จึงเริ่มต้นตั้งแต่หาวิธีการปลูกโดยการใช้ผ้าพลาสติกปูคลุมพื้นดินเป็นแปลง เว้นระยะทางเดินระหว่างแปลงเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานและเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นในแปลง เป็นการรักษาความชื้นในดินด้วย แต่การปลูกโดยผ่านแผ่นพลาสติกนั้นจะต้องมีเครื่องมือในการเจาะให้เป็นรูที่มีราคาแพง จึงคิดค้นใช้กระแสไฟจากแบตเตอรี่ผ่านไปยังขดลวดให้ร้อน สามารถเจาะเป็นรูได้ ขนาด 7 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 35 เซนติเมตร เว้นระยะสำหรับทางเดินเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย

การปลูกแบบใช้พลาสติกคลุมแปลง
การปลูกแบบใช้พลาสติกคลุมแปลง

จากนั้นก็หาวิธีการปลูกสับปะรดในหลุมด้วยการดัดแปลงหัวฉีดน้ำที่ใช้กระแสน้ำแรงฉีดพ่นลงในรูหรือหลุมที่เจาะไว้ให้ดินอ่อนนุ่ม จากนั้นจึงนำหน่อสับปะรดลงปลูก ใช้เวลา 10-15 วัน หน่อสับปะรดก็จะออกรากและตั้งตัวได้แล้ว รอเวลาจนต้นสับปะรดเจริญเติบโตเต็มที่ ประมาณ 10 เดือน เริ่มที่จะออกดอกและติดผลอ่อน หากปลูกแบบเดิมจะต้องใช้เวลานานถึง 12 เดือน ระยะนี้เองเกษตรกรจะต้องห่อผลด้วยการใช้ใบสับปะรดของต้นตัวเองห่อผล แล้วใช้ตอกมัดรวบยอดคล้ายกับการรวบเป็นจุก ต้องใช้แรงงานเหมาทั้งสวนห่อ และแรงงานก็หายาก จึงคิดค้นหาวิธีที่จะห่อผลให้รวดเร็วกว่าแบบเดิมๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วคือไม่ต้องการให้แสงแดดส่องสาดที่ผล ทำให้ผิวไม่สวยงาม หรือเรียกว่าไหม้แดด จึงทดลองใช้เศษจากแผ่นป้ายโฆษณา ที่เรียกกันทั่วไปว่า แผ่นป้ายไวนิล ที่ใช้งานแล้ว มาตัดเป็นแผ่นเล็กๆ เจาะรูตรงกลางใช้สวมที่ดอกเล็กๆ ก่อนที่จะโตเป็นผลสับปะรด หรือเรียกว่าเป็นการใส่หมวกให้สับปะรด พบว่าสามารถห่อผลได้เร็ว และห่อได้วันละ 5,000 ต้น ต่อคน ต่อวัน มากกว่าการจ้างแรงงานคนห่อผลแบบเดิม คือ 1,000 ต้น ต่อคน ต่อวัน เท่านั้น

วิธีใส่หมวกป้องกันแสงแดด
วิธีใส่หมวกป้องกันแสงแดด
เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า และรถขนผลผลิต
เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า และรถขนผลผลิต

นอกจากจะใช้เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดดังกล่าวแล้ว คุณกฤษณะ ยังได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือทางการเกษตรอื่นๆ เช่น เครื่องพ่นปุ๋ย พ่นสารเคมี ขนาด 60 ลิตร ใช้กระแสไฟจากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ติดตั้งบนรถเข็นขนาดเล็กโดยไม่ต้องแบกหรือสะพายหลังเวลาใช้งาน เพียงแต่เข็นล้อเลื่อนไปตามพื้นดินพร้อมกับการฉีดพ่น สามารถใช้ได้กับพื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป มีการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าที่เป็นแบบสะพายข้างใช้ใบมีดตัดหญ้า ดัดแปลงโดยใช้เครื่องตัดหญ้าวางบนรถเข็นขนาดเล็ก แล้วใช้เส้นลวดแทนใบมีด ทำให้ตัดหญ้าได้เร็วและไม่มีอันตรายต่อคนใช้และต้นไม้ที่ปลูก นอกจากนี้ ยังได้ดัดแปลงรถเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เก็บระหว่างแปลงสับปะรด แทนที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวหัวสับปะรดแล้วใส่ตะกร้าแบกออกไปใส่รถบรรทุกอีกครั้งหนึ่ง ดัดแปลงใบมีดตัดหญ้าให้สะดวกต่อการใช้ ฯลฯ

ป้องกันแสงแดดด้วยเศษแผ่นไวนิล
ป้องกันแสงแดดด้วยเศษแผ่นไวนิล

ผลจากความขยันขันแข็ง จากความมุ่งมั่นทางการเกษตร พัฒนาการปลูกสับปะรดในพื้นที่ได้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรายอื่น ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับจังหวัดลำปางและเกษตรกรดีเด่นระดับเขตภาคเหนือ ประจำปี 2558

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง โทร. (054) 356-677-9 หรือ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ โทร. (084) 042-9847

 

ดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าระหว่างแปลง
ดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าระหว่างแปลง
เครื่องเจาะให้เป็นหลุมปลูก
เครื่องเจาะให้เป็นหลุมปลูก