หลง-หลิน ลับแล เลือกอย่างไร? จึงอร่อย

เมื่อเข้าสู่หน้าฝนเป็นช่วงที่ทุเรียนหลง-หลิน ลับแล แห่งเมืองอุตรดิตถ์ สุกพร้อมออกสู่ตลาด นับเป็นช่วงเวลาที่รอคอยของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดทุเรียน เทศบาลตำบลหัวดง ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ในฤดูกาลผลผลิตนี้คึกคัก เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเลือกซื้อทุเรียนเพื่อไปรับประทาน รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้ามาเลือกซื้อทุเรียนเพื่อนำส่งสู่ผู้บริโภคทั่วไทย

ทุเรียน “หลงลับแล” ต้นเดิมปลูกโดย นายลม-นางหลง อุประ ชาวบ้านหัวดง ตำบลแม่พูล ซึ่งได้นำเอาเมล็ดทุเรียนไม่ทราบพันธุ์ไปปลูกจนต้นโตติดผลดก ณ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ต่อมา ปี 2520 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “ทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ด” ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จากการประกวดของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร จึงจดทะเบียนรับรองพันธุ์ ในชื่อ “ทุเรียนหลงลับแล” ในปี 2521 โดยลักษณะเด่น ผลกลม ร่องพูไม่ชัดเจน เมล็ดลีบ เนื้อในสีเหลืองจัด รสชาติหอมมัน กลิ่นอ่อน

ทุเรียนหลงลับแล
ทุเรียนหลงลับแล

ทุเรียน “หลินลับแล” ต้นเดิมปลูกโดย นายหลิน บันลาด ชาวบ้านผามูบ ซึ่งนำเอาเมล็ดทุเรียนไม่ทราบพันธุ์ไปปลูก ณ บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ต่อมาออกผล เกิดการกลายพันธุ์ มีรูปทรงแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน เช่น มีร่องพูชัดเจน คล้ายผลมะเฟือง เนื้อในละเอียดมากและมีสีเหลืองอ่อน รสชาติหอมมัน กลิ่นอ่อน  เมล็ดลีบ ปี 2520 เจ้าของได้ส่งพันธุ์นี้ประกวดในครั้งเดียวกับที่ทุเรียนหลงลับแลได้รับรางวัล

ทุเรียนหลินลับแล
ทุเรียนหลินลับแล

แม้ไม่ได้รางวัลในครั้งนั้นก็ตาม หลินลับแลก็ยังได้รับความนิยมไม่น้อยกว่าทุเรียนหลงลับแล และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ปลูก จึงตั้งชื่อพันธุ์ว่า “ทุเรียนหลินลับแล” และยังมีชื่อเรียกตามพื้นที่ปลูกเดิมอีกชื่อหนึ่งว่า “ผามูบ 1”

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมตลาดกลางผลไม้ เทศบาลตำบลหัวดง และเยี่ยมชมสวนทุเรียนเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลับแล ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปัญหาดังกล่าวทำให้มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์แนะนำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดหนอนทุเรียนที่จะมาพร้อมกับฤดูฝน โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดอบรมให้ความรู้การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พร้อมสนับสนุนชุดกับดักแสงไฟแก่เกษตรกร โดยใช้งบประมาณจังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เกี่ยวกับการใช้กับดักแสงไฟ เพื่อป้องกันและรักษาทุเรียนในพื้นที่อำเภอลับแล มีผลผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ท้องตลาด

กับดักแสงไฟ
กับดักแสงไฟ

กับดักแสงไฟ เป็นการดักผีเสื้อกลางคืน ด้วยกลวิธีทางกายภาพ โดยใช้แสงไฟอยู่ในช่วงรังสีเหนือม่วง (Ultra-violet Light) ล่อผีเสื้อกลางคืนให้มาติดในกับดัก เพื่อป้องกันไม่ให้ผีเสื้อไปวางไข่บนผิวเปลือกทุเรียน ลดการระบาด แพร่พันธุ์ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะวางไข่ 100-200 ฟอง ต่อตัว  ในขณะที่ผลอ่อน ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ถ่ายมูล ทำให้ทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย

ส่วนการเลือกทุเรียนหลงลับแลที่มีคุณภาพ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์แนะนำว่า จะต้องดูจากผลผลิตจะมีสติ๊กเกอร์ บอกแหล่งที่มาของทุเรียน ข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูก มีตราสัญลักษณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ หรือโลโก้การันตีคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานที่ให้การรับรอง นอกจากนั้น การเลือกทุเรียนสุก ต้องสังเกตที่ขั้วจะมีรอยต่อ หรืออาจเรียกว่าปากปลิงจะพองออก และรอยต่อหลุดออกจากกัน จะมีรสชาติดีมาก ซึ่งทุเรียนหลงลับแล เกรด A จะต้องมี 4 พู ขึ้นไป และมีเมล็ดในลีบ

พร้อมกันนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ขอเชิญชวนท่านผู้ที่สนใจ อยากท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวสวนทุเรียนและสวนผลไม้ สไตล์ท่องเที่ยวเกษตรอุตรดิตถ์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (055) 411-769 หรือ โทร. (055) 440-894 และช่องทาง Facebook : ท่องเที่ยวเกษตรอุตรดิตถ์

คุณอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมงานเทศกาลทุเรียนฯ
สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมงานเทศกาลทุเรียนฯ

………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่