ซ้ำรอย”จัสมินไรซ์” ฝรั่งชิงจดสิทธิบัตร ไม้ประดับ”ลิ้นมังกร”

สมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย กระทุ้งกระทรวงเกษตรฯ เร่งยื่นคัดค้านต่างชาติฉกจดสิทธิบัตร”ลิ้นมังกร” เป็นพันธุ์พืชในสหรัฐ-อียูซ้ำรอย “จัสมินไรซ์” ผู้ประกอบการหวั่นไทยสูญเสียตลาดส่งออกไม้ประดับเบอร์ 2

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งดำเนินการปกป้องสิทธิพันธุ์พืช “ต้นลิ้นมังกร” (Sansevieria cylindrica “Boncel”) ซึ่งพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปของไทย หลังจาก Johannes Wilhelmus Maria Scheffers ชาวเนเธอร์แลนด์ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชนี้ที่สำนักงาน Community Plant Variety Office (CPOV) ในสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 จากก่อนหน้านี้ที่บุคคลดังกล่าวได้ยื่นจดคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชนี้ไปแล้วในสหรัฐ (Sansevieria cylindrica “SAN201202”) เมื่อเดือนกันยายน 2557 ส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งออกลิ้นมังกรไปยังตลาดสหรัฐได้ ขณะที่การเพิกถอนสิทธิบัตรทำได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูงทำให้ไทยต้องเสียตลาดส่งออกพันธุ์พืชดังกล่าวไปเช่นเดียวกับที่เคยเสียตลาดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิพันธุ์จัสมินไรซ์

“สมาคมได้ยื่นขอให้กรมวิชาการเกษตร เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องมาหลายครั้ง โดยภาครัฐรับจะช่วยดูแลกระบวนยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรนี้ให้ เพราะตามหลักการของสหภาพยุโรปจะต้องใช้หน่วยงานที่มีถิ่นฐานในสหภาพยุโรปเป็นตัวแทนในการยื่นค้าน ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะมอบหมายให้ทูตเกษตรประจำสหภาพยุโรป เป็นผู้แทนในการดำเนินการยื่นค้าน ซึ่งควรจะต้องดำเนินการโดยเร็ว ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาพันธุ์ เกษตรกร และผู้ส่งออกไทย”

ทั้งนี้ สมาคมเห็นว่า การยื่นขอสิทธิบัตรพันธุ์พืชในยุโรป ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะต้องยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาต่างชาติแอบใช้พันธุ์พืชของไทย อีกทั้งยังขัดกับกฎระเบียบอียู เรื่อง COUNCIL RECGULATION (EU) No. 2100/94

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ส่งออกลิ้นมังกร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการส่งออกต้นลิ้นมังกร ถือเป็นไม้ประดับที่มีการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากกล้วยไม้ โดยตลาดส่งออกหลักคือ สหภาพยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในส่วนการผลิตผู้ประกอบการ 40-50 ราย และผู้ส่งออก 20 ราย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ถือว่าเป็นสินค้าใหม่ในตลาดส่งออก

โดยที่ผ่านมาผู้ส่งออกได้ร้องเรียนผ่านสมาคม ให้เป็นตัวแทนในการยื่นค้านการจดสิทธิบัตร ซึ่งทางสมาคมได้ส่งหนังสือคัดค้านไปทางอีเมล์ที่ CPOV แต่ไม่มีน้ำหนัก และได้ประสานผู้นำเข้าในการยื่นค้าน แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการค้า ดังนั้น ความหวังเดียวที่จะยื่นคัดค้าน จึงอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นว่าจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะหากปล่อยให้จดสำเร็จอย่างในกรณีของสหรัฐ ซึ่งเป็นเหมารวมคุ้มครองพืชที่มีลักษณะตามคำอธิบาย (Description) ที่ยื่นจดทั้งหมด ไทยจึงถูกบล็อกไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐได้เลยนับจากปี 2557 เพราะมีกรณีที่เคยส่งออกไปจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า Sansevieria แต่จะมีหน่วยงานตรวจสอบ เมื่อพบว่าลักษณะเช่นเดียวกับรหัสพืชที่จดคุ้มครองไว้ ทำให้ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับผู้จด

“แต่กรณีการยื่นจดสิทธิบัตรที่สหภาพยุโรปจะรุนแรงกล่าวที่สหรัฐ เพราะสหภาพยุโรปเป็นภาคี UPOV หากยุโรปรับจด จะมีผลความคุ้มครองไปยังประเทศสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) อื่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และผู้ส่งออกเกรงว่าหากรับจด จะมีผลการจดสิทธิบัตรย้อนหลังหรือไม่”

นายปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง นักพัฒนาพันธุ์ลิ้นมังกร และชมรมผู้ปลูกเลี้ยงลิ้นมังกร กล่าวว่า ลิ้นมังกรสายพันธุ์งาช้างแคระที่มีการนำไปจดสิทธิบัตรดังกล่าว ถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดส่งออกสหรัฐและสหภาพยุโรป เพราะมีลักษณะลำต้นกะทัดรัด และมีความทนทานสูง ซึ่งพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากอินโดนีเซียแต่ไทยนำเข้ามาพัฒนาเมื่อ 10 ปีก่อน จนในปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศผู้พัฒนาพันธุ์ ซึ่งภาพรวมกลุ่มพืชนี้มีเป็น 100 สายพันธุ์ และพันธุ์ผสมที่พัฒนาเพิ่มเติมมีเป็น 10,000 สายพันธุ์ ทั้งนี้กลุ่มนักปรับปรุงพันธุ์มองว่า สายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปซึ่งไม่ควรจะมีใครไปจดสิทธิบัตรเป็นเจ้าของได้