สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย จัดการอย่างถูกวิธี ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี ผู้ดำเนินรายการ

นวัตกรรมใหม่ๆ จากไผ่เกิดขึ้นมากมายในเวลาที่รวดเร็ว หากติดตามข่าวสารพบว่ามนุษย์สามารถนำไผ่มาใช้เป็นปัจจัย 4 ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาคือ ด้านพลังงาน

เนื้อหาการสัมมนาไผ่ในตอนนี้จะเริ่มปูพื้นให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบถึงพันธุ์ไผ่ชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานทางด้านต่างๆ เนื่องจากแต่ละสายพันธุ์มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ด้วยเหตุนี้ผู้ปลูกหรือผู้ที่จะนำไผ่ไปใช้ประโยชน์จึงควรเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายที่ตามมา สำหรับวิทยากรในการบรรยายครั้งนี้ ได้แก่

รศ. ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก
รศ. ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก

รศ. ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศูนย์รังสิต) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณประสาน สุขสุทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว

คุณเฉลิม ยานะวงษ์ เกษตรผู้ปลูกและแปรรูปไผ่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดยมี อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี ผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี ผู้ดำเนินรายการ

รศ. ธัญพิสิษฐ์ กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าพันธุ์ไผ่ทั่วประเทศมีจำนวนมาก ทั้งสายพันธุ์และปริมาณ แต่ว่าจะเลือกพันธุ์ไหนมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เหมาะสมมากที่สุด และคุ้มที่สุด ไม่ว่าจะนำมาแปรรูป สร้างมูลค่า อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปลูกพันธุ์ใดเพียงอย่างเดียว ควรปลูกไว้หลายพันธุ์ขออนุญาตเปิดเผยข้อมูลของ ดร. รุ่งนภา ที่ได้มีการค้นพบไผ่จำนวน 15 สกุล 82 ชนิด และที่บ้านเรารู้จักดีมีจำนวน 22 ชนิด ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งพันธุ์ไผ่ออกเป็นด้านตามการใช้ประโยชน์คือ พันธุ์ที่ใช้หน่อ ใช้เนื้อไม้ ใช้ลำ และใช้เป็นพลังงานในรูปชีวมวล ซึ่งเป็นที่สำคัญมากในขณะนี้ เพราะไม้ไผ่เป็นพืชที่โตเร็วที่สุดในโลก จึงสามารถนำมาตอบโจทย์ในเรื่องพลังงานได้อย่างดี คือถ้าปลูกไผ่สัก 5 ล้านไร่ อันนี้เท่ากับที่จีนปลูกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ประเทศไทยคงไม่ขาดไฟฟ้า แถมยังมีสิ่งอื่นจากไผ่ตามมาอีก

อย่างแรกที่ขอนำเสนอคือ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง จากสวนไผ่เพชรน้ำผึ้ง ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ที่รับประทานหน่อได้ สามารถรับประทานดิบได้ ทั้งนี้ ไผ่บงหวานมีต้นกำเนิดมาจากทางจังหวัดเลย

ไผ่บงหวาน
ไผ่บงหวาน

นอกจากนั้น ไผ่พันธุ์นี้ยังใช้เป็นถ่านแกลบที่เรียกว่า ไบโอชาร์ ต่อไปจะทำจากถ่านไม้ไผ่ ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นปุ๋ย ดังนั้น เมื่อนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วยังได้ปุ๋ยตามมาอีก พันธุ์นี้หน่อดก ขายหน้าสวนกิโลกรัมละ 60 บาท ใครสนใจต้องไปชิมในสวนหรือหาพันธุ์มาปลูกก็ดี

รศ. ธัญพิสิษฐ์ บอกต่อว่า ถ้าเป็น ไผ่บงป่า มีรสขมมาก เพื่อนบอกว่าต้ม 3 น้ำ ยังไม่หายขม ดังนั้น ถ้าต้องรับประทานควรต้มให้มากสักหน่อย อีกชนิดเป็น ไผ่บงหวาน มีหน่อใหญ่ขนาดหน่อละ 1 กิโลกรัม และเป็นของทางจังหวัดเลยเช่นกัน อีกชนิดเป็น ไผ่หวานหนองโดน ของ คุณเกรียงไกร สามารถรับประทานดิบได้โดยมีการวิเคราะห์แล้วไม่พบสารไซยาไนด์

ไผ่เลี้ยงหวาน ที่เป็นพันธุ์ไผ่ดังของทางบึงสามพัน เพชรบูรณ์ มีดอกออกแล้ว และมีความพยายามที่จะคัดพันธุ์ขึ้นมาใหม่เพื่อต้องการให้มีหน่อดก พันธุ์นี้ทำทะวายได้ดี ยิ่งได้น้ำมากในช่วงต้นฤดูจะมีความสมบูรณ์มากและทำให้หน่อราคาดีมาก

ส่วน ไผ่เลี้ยงที่หนองดู บ้านนาเชือก มหาสารคาม ก็พบว่ามีพันธุ์เฉพาะในพื้นที่ ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงพบว่าไผ่เลี้ยงในแต่ละแห่งจะเป็นสายพันธุ์เฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้ ถ้าต้องการนำไปใช้ประโยชน์ควรต้องคัดเลือกก่อน พร้อมกับต้องตัดแต่งด้วย มิเช่นนั้นจะออกดอกเร็ว

คราวนี้มาดูพันธุ์ไผ่ที่มีหน่อขนาดกลางที่พบจะเป็น ไผ่ซางหวาน ของทางจังหวัดน่าน มีขนาดหน่อละ 1 กิโลกรัม สามารถรับประทานดิบได้ อีกชนิดเป็น ไผ่กิมซุ่ง มักพบมากในเฟซบุ๊ก และนิยมขายพันธุ์กัน มีราคาอยู่ระหว่าง 30-35 บาท ต่อกิ่งพันธุ์ ถือว่าเป็นไผ่ที่ให้หน่อดก แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์จึงจะให้ผลผลิตได้ดีมาก

คุณสมบัติของกิมซุ่งคือ มีลำตรงที่ดีกว่าไผ่ตงลืมแล้ง ทั้งนี้ มีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายกัน จนมีบางคนบอกว่าเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่ว่าไม่ใช่ สำหรับไผ่ตงลืมแล้งจะมีหน่อดกกว่ากิมซุ่ง

สำหรับพันธุ์ที่มีขนาดหน่อใหญ่มาก ได้แก่ ไผ่จีนปักกิ่ง หรือ เม่งซุ่น ทั้งนี้ ไผ่ปักกิ่งสมัยก่อนที่สุพรรณบุรีขายกันต้นละ 3,000 บาท แต่ตอนนี้เหลือร้อยเดียว พันธุ์นี้หน่ออร่อยที่สุดเท่าที่ลองรับประทานมา มีสีดำ คนไทยปลูกกันน้อย เพราะต้นพันธุ์หายาก

ต่อมาเป็น ไผ่ไจแอ้นท์ เป็นพันธุ์ไผ่ที่กำลังดังของกาญจนบุรี ลองไปค้นประวัติพบว่าเป็นพันธุ์ที่เกิดในท้องถิ่น ขึ้นระหว่างเขตรอยต่อของอำเภอทองผาภูมิ กับไทรโยค มีขนาดลำใหญ่ หน่อดก แต่รสชาติสู้ปักกิ่งไม่ได้ ทั้งนี้ มีลักษณะลำต้นคล้ายกัน แล้วยังนิยมนำมาแปรรูปหลายชนิด

ส่วนที่กำลังมาแรงสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ ไผ่แม่ตะวอ หรือ ไผ่เป๊าะยักษ์ พันธุ์นี้ให้หน่อดกทั้งในและนอกฤดู ทั้งยังให้เร็ว มีรสชาติดี ยิ่งถ้าได้น้ำสมบูรณ์จึงเหมาะกับการทำเป็นการค้า

คราวนี้มาพูดถึงการใช้ประโยชน์จากลำ เพราะขณะนี้นิยมนำลำไผ่มาใช้ในวงการก่อสร้าง ทั้งนี้ เนื้อไม้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับต้นสัก ถ้าเป็นไผ่ลำใหญ่ ซึ่งได้แก่ พันธุ์ซางหม่น ยักษ์น่าน เป๊าะเขียว ตงยักษ์ ไผ่มันหมู ไผ่เก้าดาว (อันนี้พันธุ์ใหม่มีขายในเน็ต ต้นละ 200 บาท)

ซางหม่น เป็นไผ่ทางภาคเหนือ ซึ่ง คุณลุงสมจิตต์ ได้คัดแยกไว้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์และสร้างบ้าน ถือว่าเป็นพันธุ์ไผ่ที่ดีของไทย มีเนื้อหนา มีลำตรง และแข็งแรงมาก ดังนั้น ถ้าใครอยากมีบ้านราคาถูกก็ควรปลูกไผ่ซางหม่นไว้เพื่อใช้ไม้ปลูก ไผ่ชนิดนี้โตจากเมล็ด จึงไม่เหมือนกันทุกต้น จึงทำให้คุณลุงสมจิตต์ต้องมาคัดลำต้นที่สวยเท่านั้น แต่ข้อเสียของซางหม่นคือ ออกดอกตาย จึงทยอยตายไปเรื่อยๆ

ไผ่ฟ้าหม่น เป็นอีกพันธุ์ของซางหม่น ให้หน่อดก เป็นพันธุ์ที่นำมาคัดใหม่ที่น่าน หน่อมีรสชาติดี มีประมาณ 10 กว่าหน่อ ถ้าทำนอกฤดูอาจโชคดีขายได้ถึงราคาหน่อละ 50 บาท

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีไผ่ซางหม่นอีกชนิดคือ แม่ปิง มีขนาดลำเล็ก แต่มีหน่อดกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไผ่ซางหม่นเป็นพันธุ์ไผ่ที่มีอายุยืน แต่ต้องคอยตัดเพื่อให้แตกใหม่ ดังนั้น ขอย้ำว่าถ้าคิดจะปลูกบ้านควรใช้ซางหม่นเพราะเนื้อไม้สวย มีความแข็งแรง

ตามธรรมชาติแล้วเมล็ดไผ่ซางหม่นที่ออกมามักจะร่วงนับหมื่นแสนเมล็ด แต่พบว่าส่วนใหญ่ฝ่อ ใช้ไม่ได้ มีผู้พยายามนำเมล็ดไปเพาะแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จและหายาก ฉะนั้น ถ้ามีการเสนอขายต้นพันธุ์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะพันธุ์ที่เก็บเมล็ดหายากมาก

ต่อมาเป็น ไผ่พยัคฆ์น่าน ขายต้นละ 400 บาท มักเกิดตามดอย มีขนาดลำใหญ่ เนื้อบริเวณโคนต้นจะตันและหนา มีขนาดหน่อใหญ่กว่า 10 กิโลกรัม ถึงกับต้องช่วยกันแบกหน่อ

ไผ่เป๊าะเขียว หรือ แม่ตะวอ เป็นพันธุ์ที่นำเมล็ดมาจากพม่า แถวลุ่มน้ำสาละวิน มีคุณสมบัติใช้ลำและหน่อ โตเร็ว หน่อดก และชอบน้ำมาก มักนำไปใช้ทำตะเกียบหรือไม้เสียบลูกชิ้น

ไผ่มันหมู เป็นไผ่ชื่อดังของทองผาภูมิ รสชาติหน่อปานกลาง ถ้าต้องการไปหาพันธุ์มาปลูกต้องมีการคัดเพราะเกิดจากเมล็ดจึงปะปนกัน

และที่ใหม่คือ ไผ่เก้าดาว ที่มาจากประเทศโคลัมเบีย ถือว่าเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงบริเวณข้อ ข้อเสียคือ มีหนาม นำไปปลูกที่โคราช 2 ปียังไม่โตเต็มที่ เลยทำให้ยังไม่มีข้อมูล ทั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะทางธรรมชาติด้วย ตอนนี้เห็นว่ามีซื้อ-ขายกันในเน็ตอยู่ ถ้าคิดจะปลูกแนะว่าควรสัก 1-2 ต้นก่อน เพราะโตช้า ส่วนลำมีขนาดไม่ใหญ่ นิยมนำมาดัดเป็นรูปทรง

ไผ่นวลราชินี เป็นพันธุ์ซางหม่นที่มีขนาดเล็ก ให้ผลผลิตสูงและหน่อดก ลำมีขนาดกลาง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทางภาคกลาง

ไผ่บงใหญ่ เป็นของเมืองกาญจน์ แต่สำหรับแถวเขาใหญ่ และนครนายก เรียก ไผ่หก รสชาติหน่อดี มีลำสวย ลำเหมาะกับใช้ก่อสร้างบ้านบางชนิด สำหรับไผ่ขนาดเล็ก เช่น ไผ่รวก อย่าง ไผ่รวกดำ ของน่าน เหมาะกับการนำไปใช้ในทะเล

bb205%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%ab%e0%b8%81%e0%b8%a2%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b9%8c
ไผ่หกยักษ์

มีคำถามว่าปลูกไผ่ยากหรือไม่ อยากจะบอกว่าไม่ยากเลย เพราะไผ่เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะในดินมีอินทรียวัตถุอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการปลูกเพื่อหวังผลผลิตเชิงธุรกิจ คงต้องมีวิธีปลูกแบบขั้นตอน มีแบบแผนเช่นเดียวกับการปลูกไม้ผล อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นถ้าจะคิดปลูกแบบธุรกิจการปลูกไผ่แบบขายลำน่าจะดีกว่า รวมถึงยังสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ และแนะให้ปลูกในที่ดินที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ แล้วค่อยขยับต่อยอดไปเรื่อยๆ

นอกจากนั้น ยังมีไผ่อื่นอีกหลายชนิดที่คิดว่าหลายท่านอาจยังไม่รู้จักดี จึงอยากจะให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักเพิ่มเติม อย่าง ไผ่หางช้าง เป็นไผ่จากเมืองกาญจนบุรีแถวไทรโยค ทองผาภูมิ หรือสังขละบุรี เป็นไผ่ตามธรรมชาติที่ไม่นิยมปลูก มีประโยชน์มากถ้านำไปใช้ในทะเล มีเนื้อหนา ลำตรง หน่อรับประทานได้ ชาวบ้านนิยมนำมาต้มรับประทาน

ต่อมาเป็น ไผ่ลำมะรอก ไผ่ชนิดนี้มีหน่อขม รับประทานไม่ได้ และมีไซยาไนด์มาก แต่ลำมีความแข็งแรง ตรง เหมาะกับการนำไปใช้ในการก่อสร้าง ปลูกบ้านหรือทำนั่งร้าน ข้อดีคือ กอไม่แน่น ลำห่างกัน มอดไม่กิน แนะนำให้ใช้ปลูกบ้านได้ มักพบแถวฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี

ผลิตภัณฑ์สำหรับแขวนผ้าที่ทำจากลำไผ่
ผลิตภัณฑ์สำหรับแขวนผ้าที่ทำจากลำไผ่

ในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงานที่นิยมใช้ลำเพื่อนำไปทำพลังงานชีวมวล ทำเพียวเร็ต ทำถ่านไม้ไผ่ โดยไผ่ที่นำไปใช้ ได้แก่ ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่กิมซุ่ง แต่ทั้งสองชนิดนี้ควรปลูกในบริเวณที่มีน้ำสมบูรณ์

การจะปลูกไผ่อะไรต้องถามตัวเองก่อนว่าจะทำอะไร รวมถึงยังต้องดูสภาพพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับพันธุ์ชนิดนั้นด้วย อย่างภาคกลางเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมไม่ควรปลูกไผ่รวก แต่ควรเป็นไผ่ตงลืมแล้งหรือกิมซุ่งจะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าอยู่บนที่สูงหรือบนเขา แห้งแล้ง ควรปลูกไผ่รวก หรือไผ่ซางนวล เพราะมีความทนแล้งดีมาก

สำหรับแหล่งที่ไปหาต้นพันธุ์ไผ่ควรไปที่กรมป่าไม้ เพราะที่นั่นเป็นสถานที่สำหรับเก็บเมล็ดไผ่ไว้ทุกปี อีกทั้งมีความแม่นยำในเรื่องพันธุ์และการปลูก แต่สำหรับรายใดที่ต้องการทำเป็นการค้าควรจะเพาะเมล็ดเองดีกว่า

ไผ่รวกถ้าปลูกเชิงธุรกิจต้องปลูกให้มีระยะถี่ ประมาณ 2 คูณ 2 เมตร ปลูกสัก 2-3 แถว แล้วเว้นเพื่อทำเป็นถนนให้รถวิ่งเข้า-ออกสำหรับเก็บผลผลิต ยิ่งเป็นการปลูกเพื่อต้องการทำพลังงานชีวมวล ไผ่รวกให้พลังงานความร้อนดีมาก หรือนำไปทำเป็นเส้นใยอย่าง คุณถาวร ที่ BEDO เป็นเสื้อผ้าและของใช้มักนิยมใช้ไผ่ปักกิ่ง กิมซุ่ง ไจแอนท์

คราวนี้มาถึงงานจักสาน หรือทำกระบอกข้าวหลาม ทำตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น หรือไปตกแต่งสถานที่เป็นไม้ประดับ แนะนำให้ใช้ ไผ่ตา-ยาย เป็นไผ่ที่ทองผาภูมิ มีหน่ออร่อย มีคุณสมบัติเหมาะกับงานจักสานเพราะมีความเหนียว ลักษณะคล้ายไผ่ลำมะรอกของทางภาคกลาง ส่วนทางเหนือใช้ ไผ่บงทราย สำหรับงานจักสาน แต่พบว่าเหลือน้อยแล้วเพราะออกดอกแล้วตาย อีกชนิดที่เหมาะกับงานจักสานคือ ไผ่ซี้ ทางจันทบุรีและตราด

ส่วนไผ่ที่นิยมทำกระบอกข้าวหลามก็มี ไผ่กาบเหลือง กาบแดง แต่คงจะพบน้อยลงเพราะมีดอกแล้วตายเช่นกัน แต่ถ้าแถวนครปฐม ใช้ไผ่ที่กาญจนบุรี ส่วนหนองมนมักเป็นไผ่แถวเขมรหรือสระแก้ว

“นอกจากไผ่ที่นำมาใช้เป็นเครื่องใช้แล้ว ยังมีไผ่ประดับที่ได้รับความนิยม อย่าง ไผ่ด่าง ไผ่เลี้ยง ไผ่เงิน และไผ่ประดับนี้มีอยู่จำนวนมากที่บ้านดงบัง ปราจีนบุรี ความนิยมของไผ่ประเภทนี้เกิดจากความสวยงามของลำต้น สีสันจากลำและใบ หรือบางคนนิยมปลูกตามความเชื่อโบราณ” รศ. ธัญพิสิษฐ์ กล่าว

มาถึงตรงนี้หลายท่านที่รับทราบข้อมูลจาก ท่าน รศ. ธัญพิสิษฐ์ พอจะเห็นภาพของพันธุ์ไผ่ในมิติต่างๆ อย่างชัดเจนขึ้น แล้วถ้าต้องการใช้งานด้านอะไรคงเลือกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นด้วยเช่นกัน

คราวหน้าบุคคลที่คร่ำหวอดกับไผ่อีกคนคือ คุณประสาน สุขสุทธิ์ ซึ่งท่านไม่ได้เป็นเพียงนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว เท่านั้น แต่ยังคลุกคลีอยู่ในวงการไผ่ ศึกษาเรื่องราวของไผ่นานาชนิด รวมถึงยังปลูกไผ่ แล้วต่อยอดไปจนเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำไผ่วางจำหน่ายแล้ว จะมาถ่ายทอดมุมมองการปลูกตลอดจนการแปรรูปกระทั่งทำได้เป็นธุรกิจ

เพราะฉะนั้น อย่าลืม อย่าพลาดที่จะติดตามกันต่อในฉบับหน้า

ไผ่รวกหวาน จากจังหวัดเลย ที่รับประทานสดได้ทันที
ไผ่รวกหวาน จากจังหวัดเลย ที่รับประทานสดได้ทันที