มะม่วงโชคอนันต์สุโขทัย มีผลผลิตขายเกือบทั้งปี

คุณเจือ พุ่มทับทิม อยู่บ้านเลขที่ 48/4 หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำขุม อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงโชคอนันต์เป็นอาชีพ แม้พื้นที่ปลูกต้องรอน้ำในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรท่านนี้ก็ยังสามารถปลูกและสร้างเงินให้กับเขาได้เป็นอย่างดี           

คุณเจือ พุ่มทับทิม
คุณเจือ พุ่มทับทิม

คุณเจือ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่มาทำสวนมะม่วงเหมือนเช่นทุกวันนี้ ได้เน้นการปลูกพืชจำพวก ถั่วเหลือง ฝ้าย และทำนาข้าว ด้วยผลตอบแทนที่ได้รับของการเกษตรในรูปแบบนั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก จึงมีการคิดเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดอื่นขึ้นภายในใจ

“พืชล้มลุกพวกนั้น ปีหนึ่งปลูก 2 ครั้งเอง ได้เงินมาก็ยังไม่ถึง 5,000 ต่อไร่เลย นี่ยังไม่ได้หักต้นทุนด้วยนะ ก็เริ่มคิดแล้วว่าแบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาอะไรที่มันได้รายได้มากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องมีพื้นที่มากกว่าเดิม แต่รายได้ต้องมีมากกว่าเดิมที่เราทำ ก็ลองปลูกมาหลายอย่าง ช่วงนั้นโชคดีที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับมะม่วงโชคอนันต์ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำขึ้นมาในตอนนั้นเลย” คุณเจือ เล่าถึงความเป็นมาในสมัยก่อน

chok-5
พื้นที่ภายในสวน

ซึ่งสวนมะม่วงของเขาเป็นมะม่วงแบบระยะชิด เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่มากนัก ปลูกประมาณ 150-200 ต้น ต่อไร่ และเน้นตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ต้นมะม่วงโชคอนันต์สูงมากจนเกินไป ซึ่งสวนมะม่วงที่เขาทำทั้งหมดมีประมาณ 10 ไร่

คุณเจือ บอกว่า ในขั้นตอนแรกนำเมล็ดมะม่วงกะล่อนมาปลูก ใช้สำหรับเป็นต้นตอ ปลูกห่างช่วงประมาณ 3×4 เมตร เมื่ออายุต้นตอได้ประมาณ 1-2 ปี จึงนำยอดกิ่งพันธุ์ของมะม่วงโชคอนันต์มาเสียบยอด

“ช่วงที่เหมาะสมเสียบยอด ก็จะเป็นช่วงต้นตุลาคมจนถึงพฤศจิกายน ช่วงนั้นความเสียหายมันจะน้อยหน่อย เพราะว่าเราเสียบทีเป็นหลักพันต้น ประมาณปลายกุมภาพันธ์ไอ้ที่เราเสียบยอดไปก็เตรียมออกดอกมีลูกพอให้ติดลูกขายได้นิดหน่อย” คุณเจือ กล่าว

เนื่องจากการทำสวนมะม่วงของคุณเจือเป็นแบบปลูกเลี้ยงตามธรรมชาติ รอฝนตกตามฤดูกาล ไม่ได้มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ภายในสวน การดูแลจึงต้องเน้นฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันแมลง แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะเริ่มมีการใส่ปุ๋ย และต้นมะม่วงที่มีทรงพุ่มใหญ่ ขนาด 1 เมตร ก็จะมีการราดสารเพิ่มเข้ามาอีกขั้นตอนหนึ่ง

“สวนของผมจะใส่ปุ๋ยช่วงต้นฝน แล้วอีกครั้งจะเป็นช่วงใกล้หมดท้ายฝน เท่ากับว่าเราใส่ปุ๋ย ปีละ 2 ครั้ง ส่วนต้นที่เป็นพุ่มใหญ่ ประมาณ 1-2 เมตร เราก็จะมีการราดสารประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะว่ามะม่วงที่สวนปลูกต้นที่มีขนาดไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี่ถือว่าทำพร้อมกันเลย ทั้งตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ราดสาร” คุณเจือ อธิบาย

ปุ๋ยที่ใช้สำหรับใส่ต้นมะม่วงโชคอนันต์ที่สวนของคุณเจือ เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ใส่ในอัตรา 0.5 กิโลกรัม ให้กับต้นมะม่วงที่มีขนาดทรงพุ่ม 1 เมตร โดยดูให้เหมาะสมกับทรงพุ่ม ถ้าทรงพุ่มมากกว่า 1 เมตร อัตราการใส่ปุ๋ยก็มากตามไปด้วย

ช่อดอก ที่ดูแลอย่างดี
ช่อดอก ที่ดูแลอย่างดี

“หลังจากที่เราดูแลเสร็จ ทั้งตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ราดสาร หลังจากราดสารได้เดือนครึ่งถึง 2 เดือน ก็จะเริ่มมีช่อดอกออก การออกดอกก็จะขึ้นอยู่กับการตัดแต่งกิ่ง ถ้าตัดแต่งเยอะไปดอกก็จะออกช้า ต้องตัดแต่งให้พอดี คราวนี้พอออกดอกก็จะออกไม่ค่อยพร้อมกันเท่าไหร่ เราก็ต้องทยอยดูแลดอก แล้วก็เก็บผลกันทั้งปี เลยทำให้มะม่วงที่นี่สามารถขายได้ทั้งปี และก็แก้ไขไปตามสภาพปัญหาที่เจอแต่ละปี” คุณเจือ กล่าว

ปี 2540 โรงงานที่ทำมะม่วงแปรรูปยังเน้นใช้มะม่วงแก้วมากกว่ามะม่วงโชคอนันต์ ต่อมามะม่วงแก้วมีจำนวนน้อยลง แต่โชคอนันต์กลับสวนทางกลับกันคือมีปริมาณที่มากขึ้น ทำให้มะม่วงโชคอนันต์จากที่จำหน่ายให้แม่ค้าเพื่อนำไปทำเป็นยำประกอบอาหารเพียงอย่างเดียว สามารถตีตลาดเข้าโรงงานแทนมะม่วงแก้วอย่างดีเยี่ยม

 

ลูกมะม่วงโชคอนันต์
ลูกมะม่วงโชคอนันต์

“พอมะม่วงโชคอนันต์เป็นที่ต้องการของตลาด สรุปมะม่วงที่นี่ขายได้ทุกลูกไม่มีทิ้งเลย ไม่ว่าลูกเล็กลูกน้อย ก็สามารถขายได้ ถูกบ้างแพงบ้าง อยู่ที่ความพอใจของเรา โรงงานที่มารับซื้อก็มีอยู่หลายจังหวัดทางราชบุรี นครปฐม เขาก็จะให้ชาวบ้านแถวนี้เป็นที่รวบรวม ถึงเวลารถโรงงานก็มารับ ทางเราก็มีหน้าที่เก็บผลผลิตส่งให้คนรับซื้อในหมู่บ้านเอง” คุณเจือ เล่าถึงขั้นตอนการส่งจำหน่าย

คุณเจือ บอกว่า เรื่องราคาของมะม่วงโชคอนันต์ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล มีแพงบ้างถูกบ้างแล้วแต่ช่วง ราคาต่ำสุดที่จำหน่าย อยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท และช่วงที่ได้ราคาสูง อยู่ที่กิโลกรัมละ 24 บาท

“ช่วงที่มีมะม่วงออกเยอะ ราคาต่ำลงมา กิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็มี ส่วนที่ได้แพงก็จะเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้นที่ขายได้ แต่เอาง่ายๆ ว่า สามารถขายได้หมด ไม่ว่าจะช่วงมากช่วงน้อยไม่มีเหลือบนต้นเลย ยิ่งบางช่วงก็มีคนมารับซื้อไปขายที่มาเลเซียด้วย” คุณเจือ เล่าเรื่องกลไกการตลาด

chok-4

ทั้งนี้ คุณเจือ กล่าวเสริมให้แง่คิดว่า การทำสวนมะม่วงในปัจจุบันนี้อยากให้ผู้ที่กำลังทำสวนอยู่ หรือผู้ที่กำลังคิดเริ่มที่จะทำ ควรมีการศึกษาหาข้อมูลวิทยาการใหม่ๆ อยู่เสมอ จะผลิตแบบสมัยก่อนไม่น่าจะเป็นผลดีมากนัก เพราะระบบการค้าขายเริ่มมีการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ถ้าหากชาวสวนทำดีแบบมีมาตรฐาน ผลผลิตที่ได้ก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย นับว่าเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในอนาคต

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเจือ พุ่มทับทิม หมายเลขโทรศัพท์ (089) 566-6006

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 4 ก.พ. 2021