อนุบาลลูกพันธุ์ปลาช่อน จากแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างรายได้ดี เพาะไม่ทันขาย

หากนึกถึงภาพสมัยอดีตในชนบทต่างจังหวัด เมื่อเอ่ยถึงบึงหรือคลองที่เป็นแหล่งน้ำที่เงียบสงบ หลายๆ คน อาจจะเคยเห็นภาพฝูงลูกปลาช่อนที่ว่ายน้ำกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีสายตาของแม่ปลาช่อนที่คอยดูแลลูกอยู่ไม่ห่างเลยทีเดียว เรียกว่าคอยบ่มสอนการใช้ชีวิตให้กับลูกปลา เมื่อวันที่ต้องจากลาเมื่อลูกโตขึ้น

จากฝูงลูกปลาเหล่านั้นทำให้นิยามได้ว่า แหล่งน้ำในพื้นที่นั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตให้สัตว์น้ำน้อยใหญ่ได้อาศัย

ซึ่งปัจจุบันภาพฝูงลูกปลาช่อนอาจเหลือน้อยเต็มที เพราะเกิดจากการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่เมืองมากขึ้น อาจทำให้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นถูกทำลายไปบ้าง จึงทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนน้อยลง รวมทั้งปลาช่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย

แต่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีลูกปลาช่อนจากแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่อีกไม่น้อย ที่ทำให้คนในพื้นที่หารายได้ ด้วยการช้อนลูกปลาช่อนเหล่านั้น มาส่งจำหน่ายให้กับฟาร์มที่รับซื้อ เพื่อมาอนุบาลให้เป็นปลาไซซ์นิ้ว จึงเป็นงานที่สร้างรายได้แบบส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ

คุณชาญ บัววิเชียร หรือที่ทุกคนเรียกแกว่า ลุงชาญ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 150 หมู่ที่ 1 ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่เพาะพันธุ์ปลาช่อนมามากกว่า 20 ปี โดยรับซื้อลูกพันธุ์จากชาวบ้านที่ไปช้อนมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในอำเภอสองพี่น้อง และลุงชาญก็นำมาอนุบาลต่อเป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกด้วย

คุณชาญ บัววิเชียร และภรรยา
คุณชาญ บัววิเชียร และภรรยา

จากอาชีพบริการ สู่ชีวิตเกษตรกร

ลุงชาญ ชายผู้มากด้วยรอยยิ้มและมีอารมณ์ขัน เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีตนมีอาชีพเป็นช่างตัดผมอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อทำมาได้ระยะหนึ่งรายได้ที่หาได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงได้หยุดอาชีพนั้นกลับมาทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัด คือ สุพรรณบุรี

“ช่วงนั้นเป็นช่างตัดผมอยู่แถวรามคำแหง เงินที่ได้รับไม่ค่อยพอ เลยตัดสินใจจากช่างตัดผม กลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัดน่าจะดีกว่า ก็มาเป็นลูกจ้างทั่วไป ยิงนกตกปลาตามแต่จะทำอะไรของชนบทที่ทำได้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รู้จักกับคนที่เลี้ยงปลาช่อน เราก็ได้ศึกษาการเลี้ยงและทดลองเลี้ยง ก็ประสบผลสำเร็จดีมาก ปลาได้น้ำหนักดีกว่าที่คิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มายึดอาชีพด้านนี้” คุณชาญ บอก

ต่อมาประมาณ ปี 2533 ได้มีแนวคิดริเริ่มทดลองผลิตเพาะลูกปลาช่อนขึ้น โดยนำลูกปลาช่อนมาฝึกให้กินอาหารเม็ด เกิดจากเหตุบังเอิญ คือญาติได้ซื้ออาหารปลาที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาสวยงามไว้ แต่ปลาที่เลี้ยงไว้เกิดตายทั้งหมด ทำให้อาหารยังเหลืออยู่ จึงได้ลองนำมาให้ลูกปลาช่อนทดลองกิน

“วันแรกๆ มันไม่ยอมกินเลย อาหารเม็ดที่เราเอามาโรย ก็เลยเอาไปบดผสมกับอาหารที่เราบดเป็นเหยื่อสดน้ำให้กินไปด้วย เพื่อให้คุ้นชิน ปรากฏว่ามันก็มากินบ้าง เราก็ให้เรื่อยๆ คราวนี้พอปลาช่อนเริ่มชินกลิ่น พอเราเทอาหารเม็ดลงไป มันก็เริ่มมากินเลย ทำให้เราคิดว่าปลาช่อนนี่สามารถฝึกให้อาหารเม็ดได้ คราวนี้เราก็ฝึกเลยตั้งแต่นั้นมา” ลุงชาญ เล่าถึงเหตุการณ์สมัยก่อน

 

ลูกปลาช่อนส่วนใหญ่ ได้จากลูกพันธุ์ธรรมชาติ

ลุงชาญ ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า ลูกปลาช่อนที่นำมาอนุบาลเพื่อจำหน่ายให้คนที่ซื้อไปเลี้ยงนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกปลาช่อนที่ชาวบ้านในพื้นที่ออกไปช้อนจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วนำมาส่งจำหน่ายให้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งลุงชาญจะเป็นคนเลี้ยงให้เป็นลูกปลาช่อนขนาดไซซ์นิ้ว ด้วยการฝึกให้กินอาหารเม็ด

ลูกปลาช่อน
ลูกปลาช่อน

“เกษตรกรทั่วไปเขาก็จะหาช้อนมาให้เรา เขาก็จะไปตามห้วย หนอง คลอง บึง ก็จะได้ไซซ์ประมาณก้านธูป จากแหล่งน้ำธรรมชาติรวบรวมเยอะๆ เสร็จแล้วเขาก็มาส่งให้ที่ฟาร์มเรา ทางเราก็จะมาคัดเศษต่างๆ ที่ไม่ใช่ปลาช่อนออกไป รวมทั้งลูกปลาช่อนที่ตายด้วย เสร็จแล้วเราก็เอาลูกปลาทั้งหมดขึ้นชั่งกิโล ราคาก็อยู่ที่ กิโลกรัมละ 500-600 บาท เพื่อเลี้ยงอนุบาลต่อไป” ลุงชาญ กล่าว

เมื่อได้ลูกปลาช่อนจากแหล่งธรรมชาติมาทั้งหมดแล้ว จะนำมาใส่เลี้ยงในมุ้งเขียว ขนาด 3×4 เมตร ความลึก 1.50 เมตร ปล่อยลูกปลาช่อนประมาณ 60,000 ตัว เมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะ ลูกปลาจะเหลืออยู่ที่ประมาณ 30,000 ตัวโดยประมาณ เพราะจะมีการตายเกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย

อาหารเม็ดที่ให้ลูกปลาไซซ์นิ้ว
อาหารเม็ดที่ให้ลูกปลาไซซ์นิ้ว

“อาหารของลูกปลาช่วงนี้ ก็จะเป็นอาหารที่เหลวๆ หน่อย จะเป็นอาหารบด หรือว่าเป็นไข่แดงต้มก็ได้ โดยต้องค่อยๆ ให้กิน จนกระทั่งกินอาหารเป็นแล้ว ตัวปลามีลำตัวเท่ามวนบุหรี่ ก็จะเป็นอาหารเม็ดเล็ก พอกินจนคุ้นชินก็จะเปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 1 ต่อไป” ลุงชาญ อธิบาย

อาหารที่ให้ลูกปลากินว่าบ่อยแค่ไหนนั้น จะดูตามความเหมาะสมที่เกิดจากความชำนาญที่สั่งสมมา ซึ่งการเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรต่างๆ จะดูตามขนาดไซซ์ของลูกปลา เมื่อเลี้ยงได้อายุประมาณ 45 วัน จึงนำลูกปลาช่อนทั้งหมดมาจับแยกขนาดไซซ์

ลูกปลาช่อน ขนาดไซซ์ 2-3 นิ้ว
ลูกปลาช่อน ขนาดไซซ์ 2-3 นิ้ว
ลูกปลาช่อน ขนาดไซซ์ 3 นิ้วขึ้นไป
ลูกปลาช่อน ขนาดไซซ์ 3 นิ้วขึ้นไป

su-9

“พอได้เวลาที่กำหนด เราก็มาคัดไซซ์ ตัวไหนที่มีขนาดประมาณ 2-3 นิ้ว ก็จะเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ ก็จะเริ่มจำหน่ายอยู่ที่ไซซ์นี้ขึ้นไป ซึ่งช่วงนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ได้ขนาดเราก็จำหน่ายไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องโรคก็นานๆ เกิด เราเพาะเลี้ยงในคลองสองพี่น้อง บางทีโรคมันก็จะมากับน้ำ เราไม่สามารถควบคุมได้ เกิดโรคขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะแก้ปัญหาตามอาการที่เป็น โดยเราเป็นคนเลี้ยง เราจะรู้ได้จากประสบการณ์โดยตรง” ลุงชาญ กล่าว

ลูกปลาช่อน ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

สมัยก่อนที่เริ่มอนุบาลลูกปลาช่อนใหม่ๆ ลุงชาญ เล่าว่า ตลาดมีความต้องการแบบจำหน่ายไม่ทันเลยทีเดียว แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันจะมีคู่แข่งมากขึ้น แต่ลูกปลาช่อนที่ฟาร์มแห่งนี้ก็ยังจำหน่ายได้อยู่เรื่อยๆ แม้กาลเวลาจะแปรเปลี่ยนผันไป แต่คุณภาพลูกปลาช่อนของที่นี่ไม่ได้ผันเปลี่ยนไปกับเวลาด้วย

พื้นที่ภายในฟาร์ม
พื้นที่ภายในฟาร์ม
ลูกปลาช่อนพร้อมจำหน่าย
ลูกปลาช่อนพร้อมจำหน่าย

“เราก็จะไปส่งตามที่ลูกค้าต้องการ เขาก็จะสั่งมาว่า เอาวันไหน จำนวนเท่าไหร่ เราก็เอาไปส่งให้เขา ราคาที่จำหน่ายอยู่ก็มีหลายขนาดไซซ์ ถ้าขนาด 2-3 นิ้ว อยู่ที่ราคา ตัวละ 2 บาท ถ้าเป็นขนาด 3-4 นิ้ว ก็อยู่ที่ ตัวละ 3 บาท ซึ่งลูกค้าก็มีสั่งหลายพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พม่า สิงคโปร์ จีน มีทั้งเราไปติดต่อส่งจำหน่ายเอง และก็มีคนมารับซื้อไปส่งจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง” ลุงชาญ กล่าวถึงเรื่องการตลาด

ซึ่งลูกปลาช่อนทั้งหมดของฟาร์มแห่งนี้สามารถส่งไปไกลถึงต่างประเทศได้ ลุงชาญ บอกว่า เกิดจากการทำตามมาตรฐาน จีเอพี (GAP) โดยลูกปลาช่อนทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าเป็นลูกปลาที่เลี้ยงรุ่นไหน และมีวิธีการจัดการอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ ลุงชาญ ยังให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจ อยากเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพสร้างรายได้อีกด้วยว่า

“คนที่จะเลี้ยงปลาช่อนได้ประสบผลสำเร็จ ต้องรู้ให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เลี้ยง ตลอดจนที่อยู่ให้ถูกสุขลักษณะ เมื่อเลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จดีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการจับ ต้องทำให้ถูกวิธี เพื่อให้ปลาเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งลุงชาญเองจะคอยบอกลูกค้าตลอดที่มาซื้อลูกปลาเราไปเลี้ยงว่า ควรทำอะไรบ้าง โดยให้ความรู้กับเขาอย่างจริงใจและจริงจัง เขาเลี้ยงประสบผลสำเร็จ เราก็อยู่ได้ นี่คือ สิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอ ซึ่งใครสนใจอยากเลี้ยงอยากศึกษา มาหาลุงได้เลย ลุงยินดีบอกสอน ให้อยู่คู่ฟ้าดินไปนานๆ” ลุงชาญ กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชาญ บัววิเชียร ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 981-3292

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2559