เกษตรกรชาวกัมพูชา ปลูกลำไย ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตดี รสชาติอร่อยกว่าของไทย มีกำไรเกินร้อย

         “เมืองไพลิน” ในอดีตเคยเป็นค่ายอพยพของเขมรแดง เรียกว่า “ฐานภูลำเจียก” และเคยเป็นเหมืองพลอยสีน้ำเงิน (บลู แซฟไฟร์) หรือ “พลอยไพลิน” ที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก แต่ทุกวันนี้เมืองไพลินไม่เหลือพลอยให้ขุดอีกแล้ว  เมืองไพลินได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบภูเขาสูง มีแหล่งน้ำอุดมสมบรูณ์ มีสภาพภูมิอากาศที่ดี เอื้อต่อการเติบโตของไม้ผล ทำให้เมืองไพลินกลายเป็นแหล่งปลูกลำไยที่สำคัญของประเทศกัมพูชา

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ลำไยสดจะถูกส่งออกผ่านชายแดน ที่ด่านช่องพรม บ้านโอร์สะกรอม เพื่อนำมาขายล้งจีนที่ฝั่งไทย ผ่านทางด่านถาวรบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยใช้ระยะทางขนส่งสินค้า ประมาณ 17 กิโลเมตร หากใครมีโอกาสผ่านไปแถวด่านถาวรบ้านผักกาด คงจะเคยสังเกตเห็นรถบรรทุกจากฝั่งเขมรที่บรรจุสินค้าลำไยสด รวมทั้ง มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาส่งขายพ่อค้าในฝั่งไทยแทบทุกวัน  

%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%a2%e0%b8%a1

ลุงแยม หรือ “ซา จำเจริญ” เกษตรกรชาวกัมพูชา เจ้าของสวนลำไยสองพี่น้อง ในพื้นที่ฝั่งไทยที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และเป็นผู้ปลูกลำไยมากที่สุดในเมืองไพลิน เนื้อที่ปลูกลำไยมากกว่า 125 ไร่ ปัจจุบัน สวนลำไยในเมืองไพลินแห่งนี้ มีต้นทุนการผลิตลำไย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8-10 บาท ขายผลผลิตในราคาหน้าสวนกว่า 40 บาท/กิโลกรัม หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่าย ยังเหลือผลกำไรก้อนโต เรียกว่า โกยผลกำไรเกินร้อย มีรายได้สูงกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นๆ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเขมรจำนวนมาก หันมาสนใจอาชีพปลูกลำไยกันอย่างกว้างขวางในจังหวัดไพลินและจังหวัดพระตะบอง

dscf0511

สวนลำไยสองพี่น้อง ได้นำกิ่งพันธุ์ลำไยสายพันธุ์อีดอจากเมืองไทย มาปลูกที่เมืองไพลิน ในระยะห่าง 8×8 เมตร ทุกๆ 8 ปี จะตัดลำไยออก 1 ต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายกิ่งชนกัน ในปีที่ 15 จะมีต้นลำไยเฉลี่ย 32 ต้น ต่อไร่ ลำไยแต่ละต้นจะให้ผลผลิตมากกว่าต้นละ 150 กิโลกรัม สร้างรายได้มากกว่าต้นละ 10,000 บาท โดยมีพ่อค้าขาประจำจากฝั่งไทยเข้ามาเหมาซื้อผลผลิตถึงสวนอย่างต่อเนื่อง

 

%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%99

ลุงแยม การันตีคุณภาพลำไยเขมรว่า มีรสชาติอร่อยกว่าลำไยไทย เพราะสภาพดินในเมืองไพลินมีความอุดมสมบรูณ์ของแร่ธาตุมากกว่าฝั่งไทย ประกอบกับเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก จนโครงสร้างดินได้รับความเสียหาย ทำให้รสชาติลำไยไทยเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้จากเนื้อลำไยไทยจะกรอบน้อยกว่า และมีรสชาติหวานแหลม เนื้อฉ่ำน้ำ ขณะที่ลำไยเขมรจะมีรสชาติหวาน กรอบ เนื้อแน่นกว่าลำไยไทย

dscf0481

หลังจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ลุงแยม จะฟื้นฟูต้นลำไยให้มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ก่อนเร่งการแตกใบอ่อน โดยใช้สารกลูโคมิค อัตรา 10 ซีซี ผสมกับสารอินทรีย์ไก่ทอง ชนิดเข็มข้น 10 ซีซี และสินแร่ภูเขาไฟ 1 กิโลกรัม ผสมเข้าไปกับน้ำ 20 ลิตร และใช้สินแร่ภูเขาไฟ 10 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 10 กิโลกรัม หว่านรอบทรงพุ่ม ในสัดส่วน ต้นละ 1-2 กิโลกรัม เพื่อให้ต้นลำไยแตกใบอ่อนก่อน เว้นระยะห่างไป ประมาณ 7-15 วัน จึงเสริมด้วย จี-อะมิโน (กรดอะมิโนบริสุทธิ์) ในช่วงใบเพสลาด หากพบว่า มีการแตกใบอ่อน 3-4 ชุด ซึ่งเป็นระยะที่ใบของต้นลำไยเริ่มสะสมอาหาร ให้ใช้สูตรเดิมฉีดพ่นอีก 3 ครั้ง

sa-005

เมื่อต้นลำไยเริ่มแทงช่อดอกต้องคุมใบอ่อนที่แตกออกมาในช่วงแทงช่อ โดยฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน เพื่อช่วยให้ขั้วลำไยเหนียวไม่หลุดร่วง และติดผลดก การที่ใช้กลูโคมิคผสมกับแคลเซียม-โบรอน ฉีดพ่นก็เพื่อขยายขนาด ช่วยให้ผลลำไยใหญ่ขึ้น ช่อผลของลำไยติดดกและสม่ำเสมอทั้งช่อ ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 45 วัน จะใช้กลูโคมิคผสมกับจีแมกและแคลเซียม-โบรอน ฉีดพ่นทุก 10 วัน ฉีดต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง เน้นให้ปุ๋ยทางใบ ปุ๋ยตัว K  หรือธาตุโพแทสเซียม  เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ลำไยมีเนื้อแน่น กรอบ มีรสหวานสูง ผิวเปลือกสวย ตรงกับความต้องการของตลาด

 

ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-เขมร เพิ่มขึ้นทุกปี

คุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทย-กัมพูชา เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้า จากการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในอนุภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาตลาดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดไพลิน มีมูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างกันเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่าการค้ารวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท ประชากรกัมพูชาส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พลาสติก น้ำตาล ขนมที่ทำจากน้ำตาล เป็นต้น ส่วนสินค้ากัมพูชาที่ส่งมาขายไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเกษตร ประเภท ข้าวโพด มันสำปะหลัง ลำไย เป็นต้น

%e0%b8%94%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%94

ด้าน ดร. รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติขจร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับจังหวัดพระตะบอง จังหวัดไพลิน จัดงานแสดงสินค้าไทย ณ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา นับเป็นการเปิดประตูการค้าผ่านชายแดนบ้านแหลม และด่านผักกาด จังหวัดจันทบุรี สู่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ อันดับ 5 ของกัมพูชา และมีจำนวนประชากรมากเป็น อันดับที่ 4 ของประเทศ

จังหวัดพระตะบอง ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ชามข้าวแห่งกัมพูชา” เพราะที่นี่คือ แหล่งปลูกข้าวที่เลี้ยงคนกัมพูชาทั้งประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ อันดับ 5 ของกัมพูชา คนกัมพูชานิยมสินค้าที่ผลิตจากไทยมากที่สุด จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตไทย หากจะหันมาให้ความสำคัญกับตลาดเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะที่นี่แค่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้าไทย คนกัมพูชาก็พร้อมจะซื้อแล้ว ยิ่งถ้าของดีจริง คนกัมพูชายิ่งภักดีในแบรนด์และบอกต่อ จนเรียกได้ว่าถ้าสินค้าตัวไหนทำดีจนได้ใจคนกัมพูชา ก็จะได้ใจตลอดไปจนยากที่ใครจะมาแข่งได้เลยทีเดียว