เทคนิคเพาะลูกพันธุ์ปลาช่อนดี มีคุณภาพ เพียงเข้าใจวิธีการ แค่ 1 วัน ก็ได้ลูกปลา

การเพาะพันธุ์ปลาช่อนสมัยก่อนจะเน้นหาช้อนลูกปลาจากธรรมชาติมาเลี้ยง และที่สำคัญยังใช้น้ำจำนวนมากในการเลี้ยง และต้นทุนการใช้ปลาเป็ดตัวเล็กๆ จากทะเล เพื่อนำมาบดเป็นเหยื่อสดก็มีราคาที่ถูก แต่เนื่องจาก ณ ปัจจุบันนี้ สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ในหนอง คลอง บึง ก็มีปริมาณที่น้อยลงผิดกับสมัยเก่าก่อน จึงทำให้การช้อนลูกปลาช่อนแบบสมัยนี้ทำได้ยากอีกด้วย

“เมื่อมีการประกาศไม่ให้จับปลาเป็ด หรือปลาที่เป็นปลาทะเลสำหรับใช้เลี้ยงปลาช่อนได้น้อยลง จึงได้มีการทำการศึกษาให้ปลาช่อนได้กินอาหารเม็ด และทำให้ปลาช่อนที่เลี้ยงสามารถผลิตลูกปลาได้เอง เพื่อให้ปลาช่อนสามารถเลี้ยงได้ยั่งยืนถาวรต่อไป กรมประมง จึงมีการศึกษาวิจัย ซึ่งสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ก็ได้เลือกปลาช่อนที่เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง อย่างปลาช่อนแม่ลา มาศึกษาค้นคว้าวิธีการเพาะพันธุ์ ในปี 2544 เพื่อเป็นการศึกษาเบื้องต้น” คุณวินัย เล่าถึงที่มาของการเพาะพันธุ์ปลาช่อน

ผลักดันจากปลาธรรมชาติ ขึ้นเป็นปลาเศรษฐกิจ

คุณวินัย เล่าให้ฟังอีกว่า งานของกรมประมง คือ การนำปลาจากแหล่งธรรมชาติที่เพาะขยายพันธุ์ไม่ได้ มาทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้เป็นปลาเศรษฐกิจ ซึ่งปลาช่อนก็เป็นปลาที่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน เมื่อเล็งเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี สามารถทำได้จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้งานวิจัยประสบผลสำเร็จ

“ปลาช่อนที่เรานำมาทำการเพาะพันธุ์ จะเป็นปลาที่เราไปหามาจากแหล่งธรรมชาติ จากนั้นก็เลี้ยงให้เชื่อง และมีความเหมาะสมที่จะทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ พอลูกออกมาก็เลี้ยงเป็นรุ่นต่อไป ให้มีความเป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยฝึกให้อยู่ในที่กักขังได้ เพื่อเป็นปลาเลี้ยง ไม่ใช่เป็นปลาป่า” คุณวินัย บอกถึงแหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์

ปลาช่อนที่เหมาะสมนำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องมีอายุที่มากกว่า 8 เดือน ขึ้นไป จึงจะเป็นวัยที่เหมาะสมจะเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ซึ่งการเพาะพันธุ์ก็มีวิธีการคล้ายๆ กับปลาชนิดอื่นๆ แต่จะมีข้อแตกต่างก็คือ ในเรื่องของการอนุบาลที่เป็นรูปแบบเฉพาะของปลาช่อน

เพียงเข้าใจวิธีการ แค่ 1 วัน ก็ได้ลูกปลาช่อน

นำพ่อแม่พันธุ์มาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาด 50 ตารางเมตร อยู่ในโรงเรือนหลังคาสูง ใส่น้ำให้มีความสูง ประมาณ 60 เซนติเมตร จากนั้นปล่อยพ่อแม่พันธุ์ น้ำหนักเฉลี่ย 300-400 กรัม ความยาวเฉลี่ย 35-40 เซนติเมตร อัตรา 10 ตัว ต่อตารางเมตร เลี้ยงแบบรวมเพศ โดยปิดรอบปากบ่อด้วยตะแกรงกันปลากระโดดออกจากบ่อเลี้ยง อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นอาหารที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

เมื่อเลี้ยงปลาได้อายุตามที่กำหนดและอยู่ในช่วงฤดูเพาะพันธุ์ปลาช่อน จะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์โดยดูความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้และปลาเพศเมีย โดยเพศเมียมีลักษณะท้องจะอูมเป่ง ลำตัวสั้น ช่องเพศขยายใหญ่สีชมพูแดง ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวเรียวยาวกว่าเพศเมีย ครีบต่างๆ ยาว สีเข้ม การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ปลาเครียดหรือบาดเจ็บ เพราะความเครียดและความบอบช้ำ จะส่งผลต่อการยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนสังเคราะห์

การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์
การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์

เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ตรงตามที่ต้องการ จะนำมาจับคู่ จากนั้นฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับยาออกฤทธิ์ (domperidone) โดยแม่พันธุ์ใช้อัตราฮอร์โมนสังเคราะห์ 30 ไมโครกรัม ต่อกิโลกรัม และยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ในอัตราส่วน 20 ไมโครกรัม ต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณข้างตัวปลาหรือโคนครีบหู

อุปกรณ์สำหรับฉีดฮอร์โมน
อุปกรณ์สำหรับฉีดฮอร์โมน

จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงในถังพลาสติกทรงสูง ที่มีความจุ 70 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางถัง 30 เซนติเมตร ใส่น้ำลึก 60 เซนติเมตร จำนวน ถังละ 1 คู่ โดยคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกัน ก่อนปิดปากถังด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำ ให้ใส่เชือกฟางฉีกฝอยเป็นพวง จำนวน 1 พวง ให้ลอยอยู่ในถัง เพื่อแทนลังไข่ เมื่อครบระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ปลาจะรัดและผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ โดยปล่อยไข่ที่ผสมแล้วลอยบนผิวน้ำบริเวณรังไข่

ย้ายไข่ปลาช่อนจากถังที่ผสมพันธุ์ นำมาฟักรวมกันในถังไฟเบอร์กลาสทรงกลม ขนาดความจุ 2 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางปากถัง 2 เมตร ใส่น้ำให้มีความลึก 65 เซนติเมตร ใส่ไข่ฟัก 1-1.5 แสนฟอง ต่อถัง หลังฟักใช้กระชอนขนาดช่องตา 1 มิลลิเมตร เนื้อแข็งคอยตักไข่เสียทิ้ง

ถังสำหรับใส่พ่อแม่พันธุ์ 1 คู่
ถังสำหรับใส่พ่อแม่พันธุ์ 1 คู่

หลังจากไข่ฟักเป็นตัวปลาจะมีถุงไข่และติดอยู่ที่หน้าท้องใช้เป็นอาหารสำรอง ลูกปลามีขนาดเล็กสีดำ ลอยตัวเป็นกลุ่มนิ่งๆ ผิวหน้าน้ำ จากนั้นถุงไข่แดงจะยุบภายใน 3 วัน ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารและเริ่มว่ายน้ำรวมฝูงลงหาอาหารรอบถัง ซึ่งระยะนี้จะให้ไรแดงเป็นอาหาร โดยให้กินอิ่มอยู่ตลอดเวลา ดูแลลูกปลาอยู่อีกประมาณ 2 วัน จึงย้ายลงอนุบาลในบ่อดิน

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกจากไข่
ลูกปลาช่อนที่ฟักออกจากไข่

ก่อนนำลูกปลาช่อนลงอนุบาลในบ่อดิน ขนาด 200 ตารางเมตร จะต้องเตรียมบ่อให้สะอาดเสียก่อน ด้วยการตากดินทิ้งไว้ให้แห้ง โรยปูนขาว 15 กิโลกรัม กรองน้ำใส่ลงบ่อ ให้มีระดับ 40 เซนติเมตร แล้วเติมน้ำอามิ 12 ลิตร ปุ๋ยสูตร 16-20-0 1.2 กิโลกรัม ปุ๋ยสูตร 46-0-0 1.2 กิโลกรัม น้ำเขียว (Chlorella sp) 200 ลิตร ในส่วนของปุ๋ยให้บดละเอียดละลายปนกับส่วนผสมอื่น ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จนเกิดน้ำเขียวทั่วบ่อ จึงเติมเชื้อไรแดง 1 กิโลกรัม ซึ่งไรแดงจะขยายพันธุ์ขึ้นวันต่อมา จึงเติมน้ำให้สูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร เพื่อเจือจางปริมาณแอมโมเนียในน้ำ

จากนั้นปล่อยลูกปลาที่ได้จากถังกลมลงไปอนุบาลในบ่อดิน ให้อาหารเสริม ประกอบด้วย รำ ปลาป่น อัตรา 1 ต่อ 1 ละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น อนุบาลจนได้ลูกปลา ขนาด 2-3 เซนติเมตร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 17-20 วัน จึงลากอวน โดยจะทำในระยะที่ลูกปลาจับรวมฝูง เพราะจะจับได้ง่ายกว่าช่วงที่ปลาแตกฝูงแล้วเพื่อจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจต่อไป

ลูกปลาช่อน แข็งแรง เป็นที่ต้องการของผู้สนใจ

คุณวินัย เล่าว่า การเลี้ยงปลาช่อนในสมัยนี้ค่อนข้างง่ายกว่าสมัยก่อน ใช้เวลาเลี้ยง ประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถเจริญเติบโตจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้ และที่สำคัญสามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ของประเทศที่มีแหล่งน้ำจืด

ลูกปลาช่อน ขนาด 2-3 เซนติเมตร
ลูกปลาช่อน ขนาด 2-3 เซนติเมตร

“ลูกพันธุ์ปลาช่อนที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ ขนาดตัวไซซ์ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร อยู่ที่ตัวละ 20 สตางค์ ซึ่งต้นทุนนี้ค่อนข้างนานแล้วที่เคยตั้งไว้ ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจจะมีการปรับราคา อยู่ที่ตัวละ 80 สตางค์ ซึ่งผู้ที่สนใจเมื่อซื้อไป สามารถนำไปเลี้ยงได้เลย หรือถ้าเกษตรกรคนใดสนใจอยากนำไปอนุบาลต่อ ก็จะได้ราคาตกอยู่ที่ ตัวละ 2-3 บาท มีขนาดใหญ่กว่า 2-3 เซนติเมตร” คุณวินัย กล่าวถึงราคาจำหน่าย

ปลาช่อน เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย

หากใครที่กำลังมองอาชีพเกี่ยวกับประมงด้วยการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ ปลาช่อนอาจตอบโจทย์ให้กับหลายๆ คน ที่กำลังรวบรวมข้อมูลในการตัดสินใจอยากเลี้ยงปลาอยู่ในขณะนี้

“จากการเก็บข้อมูลจากผู้ที่ประสบผลสำเร็จ และผู้ที่มาอบรมที่ศูนย์นี้ ก็จะบอกกันว่า ปลาช่อน เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายกว่าปลาอื่นๆ และก็ใช้พื้นที่ไม่มาก และที่สำคัญใช้น้ำน้อย สามารถใช้น้ำบาดาลเลี้ยงได้ เมื่อเลี้ยงแล้วใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็โตจำหน่ายได้ อย่างใครที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพ ก็สามารถที่จะเลี้ยงได้ แต่ต้องดูความพร้อมเรื่องตลาดด้วย” คุณวินัย บอก

ทั้งนี้ คุณวินัย ยังให้ความเห็นส่วนตัวในเรื่องของอนาคตของปลาช่อนทิ้งท้ายไว้ให้ด้วยว่า “จากความคิดผม ที่เห็นได้จากมีคนเริ่มนิยมมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าปลาช่อนเป็นปลาคู่บ้านคู่เมืองของเราจริงๆ โดยมองย้อนจากสมัยก่อน แต่ตอนนี้ปลามันเริ่มมีจำนวนที่น้อยลงไปเรื่อยๆ จากธรรมชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดอื่นๆ อีก รวมทั้งการเลี้ยงแบบเดิมๆ ก็ทำได้ยากแล้ว อย่างเช่น การใช้ปลาเล็กมาทำเหยื่อสด และการช้อนจากธรรมชาติ มันค่อนข้างมีน้อย หากเราสามารถทำปลาช่อนกลับมาได้อย่างเดิม ก็จะทำให้ตลาดขยายได้มากขึ้น ทำให้ตลาดกว้างไปได้เยอะอีกด้วย” คุณวินัย กล่าวแนะ

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเข้าฝึกอบรมการเพาะพันธุ์ปลาช่อน และหาซื้อลูกพันธุ์ปลาที่มีความแข็งแรงนำไปเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด หมายเลขโทรศัพท์ 035-704-171       

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 8 ต.ค. 2016


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354