หนึ่งในพระราชดำริ เพื่อพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ลุ่มน้ำปากพนัง มีลักษณะพิเศษกว่าลุ่มน้ำอื่นๆ ในแถบชายทะเลภาคใต้ด้านอ่าวไทย กล่าวคือ แนวทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปากพนังมีแนวเกือบขนานกับแนวชายทะเล จากแหลมตะลุมพุกลงไปจนจดเขตอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำทางด้านตะวันตกเป็นเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ เริ่มจากเขาหลวง เขาวังหีบ ในเขตอำเภอลานสกา เขามุดและควนหิน ในเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีแนวเกือบขนานกับแนวชายฝั่งทะเล สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปลาดเทจากเขาลงสู่แนวชายทะเลทางทิศตะวันออก

              สภาพภูมิประเทศอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ตอนบนทางด้านตะวันตกเป็นภูเขาสูงมีความลาดชันมาก ประมาณ 1 : 200-1 : 400 ตอนล่างถัดจากเชิงเขาลงไปเป็นพื้นที่ควนสลับซับซ้อน และมีพื้นที่ราบสูงแปลงเล็กๆ สลับกันไปถัดจากพื้นที่ควนลงไปเป็นพื้นที่ราบลาดเทลงสู่แม่น้ำปากพนังฝั่งตะวันตก ส่วนตอนล่างพื้นที่ระหว่างแม่น้ำปากพนังกับสันทรายริมทะเลเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แอ่งที่ลุ่มอยู่ค่อนไปทางสันทรายและมีแนวเกือบขนานกับสันทราย พื้นที่ส่วนใหญ่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปากพนังในเขตอำเภอวิเชียรใหญ่ และอำเภอปากพนัง เป็นที่ราบลาดเทจากควนลงสู่แม่น้ำปากพนัง มีพื้นที่พรุเป็นแห่งๆ ในเขตอำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอร่อนพิบูลย์ ส่วนพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปากพนังกับสันทรายในเขตอำเภอปากพนังและอำเภอหัวไทรเป็นที่ราบลุ่ม ด้านที่ชิดกับสันทรายเป็นแอ่งน้ำซึ่งมีน้ำท่วมขัง มีน้ำเค็มรุกล้ำไม่สามารถทำการเกษตรได้

 

การบริหารโครงการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

การพัฒนาอาชีพทางการเกษตรในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ได้เริ่มจริงจังเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้โปรดพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ในเรื่องการป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและการเก็บกักน้ำจืดในลำน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและการอุปโภค บริโภค รวมทั้งการพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตนี้ให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปความได้ว่า งานที่จะต้องดำเนินการ มีอยู่ 2 ส่วน คือ

  1. งานด้านชลประทาน ซึ่งเป็นงานที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ควรมีการพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปากพนัง ณ จุดห่างจากอำเภอปากพนังไปทางทิศใต้ ประมาณ 3-5 กิโลเมตร อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอุปโภค บริโภค รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาของอำเภอปากพนัง พร้อมทั้งก่อสร้างระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมลงทะเลให้เร็วที่สุด
  2. งานด้านกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการประกอบอาชีพและพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ควรให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฝ่ายทหารร่วมช่วยกันพัฒนาให้เกิดผลควบคู่ไปกับการดำเนินการด้านแหล่งน้ำ

we001กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนองพระราชดำริ โดยเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในด้านการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่ ได้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตลอดมา แต่เนื่องจากความจำกัดของงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องกระจายการบริการให้ครอบคลุมเกษตรกรทั่วทั้งจังหวัด จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาและบริการแบบเน้นหนักเป็นการเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าวได้เท่าที่ควร

ดังนั้น เมื่อปัญหาในสภาพปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมีผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอันมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจำเป็นต้องปรับระบบการบริหารงานส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังใหม่ เพื่อให้การพัฒนาและการบริการถึงมือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพโดยดำเนินการ ดังนี้

  1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยสำนักงานตั้งอยู่ ณ สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคใต้ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับภาค และระดับจังหวัด
  2. จัดให้มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับนักวิชาการเกษตรในระดับนักวิชาการเกษตรปฏิบัติงานเน้นหนักร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับอำเภอเพิ่มขึ้น ในพื้นที่โครงการ อำเภอละ 1 คน
  3. จัดให้มีงบประมาณการส่งเสริมการเกษตรในเขตโครงการเป็นพิเศษ แยกออกจากงบฯ ปกติพื้นที่ทั่วไป
  4. จัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานในเขตพื้นที่โครงการอย่างเพียงพอ เพิ่มเติมจากงบฯ ปกติที่ส่วนภูมิภาคได้รับในแต่ละปีงบประมาณ
  5. จัดให้มีระบบการติดตามนิเทศ ประเมินผล และรายงานการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่โครงการในรูปคณะทำงานติดตามประเมินผล

ใน ปี 2537 ได้มีการผนวกพื้นที่โครงการพรุควนเคร็งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วย พรุควนเคร็งเป็นพรุน้ำจืดตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ตอนบนของทะเลน้อย ปกติพรุควนเคร็งมีลำน้ำถ่ายเทน้ำในบริเวณโดยรอบ 3 ทาง คือ ผ่านคลองแดนอ่าวไทย ผ่านคลองตะโคร่งสู่ทะเลน้อย และผ่านคลองควนไหลสู่แม่น้ำปากพนัง พื้นที่พรุครอบคลุมพื้นที่ 195,845 ไร่ จากการศึกษาพบว่า จากประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพรุควนเคร็งในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอชะอวด, หัวไทร, เชียรใหญ่) จังหวัดสงขลา (อำเภอระโนด) และจังหวัดพัทลุง (อำเภอควนขนุน) ประมาณ 22,990 คน ในบริเวณพื้นที่ราบๆ พรุทางด้านตะวันตกของพรุควนเคร็งในเขตอำเภอควนขนุน ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาอ่างเก็บน้ำและการเก็บกักน้ำในบริเวณพรุ และพื้นที่บริเวณพรุควนเคร็งทั้งหมด 195,845 ไร่

แนวทางการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรเพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริ บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานโดยยึดหลักการ ดังนี้

  1. หลักการ “การปฏิบัติงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร” ของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรพัฒนาแผนการผลิตที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความพร้อมของเกษตรกร เน้นการพัฒนาตัวเกษตรกร (Farmer Oriented) ให้พึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยกระบวนการกลุ่มเกษตรกร
  2. หลักการ “ทฤษฎีใหม่” ของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อปรับระบบการผลิตทางการเกษตรในเขตพื้นที่ ณ ลุ่มแม่น้ำปากพนังตามศักยภาพของพื้นที่ โดยจะใช้ “ทฤษฎีใหม่” ของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นแนวคิดและต้นแบบ (Model) ในการพัฒนาการผลิตในระดับครัวเรือนเกษตรกรในแต่ละชุมชน
  3. หลักการ “ความสมัครใจของเกษตรกร” เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมที่เคยปฏิบัติและประสบปัญหา โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเลือกการเกษตร จากข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำเพื่อประกอบการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปสู่กิจกรรมการผลิตใหม่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และตัวผลตอบแทนต่อการลงทุนดีกว่ากิจกรรมเดิม
  4. หลักการ “พัฒนาการมีส่วนร่วม” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันทำแผนการผลิตในลักษณะการพัฒนาพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้านหรือของกลุ่ม รวมทั้งการร่วมดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการต่างๆ เพื่อให้บรรลุผลตามแผนการผลิต โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อมการใช้ที่ดินต้นน้ำลำธารให้เหมาะสมกับศักยภาพ และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
  5. หลักการ “ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลทางเลือกการเกษตรแก่เกษตรกร และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกรวางแผนพัฒนาพื้นที่ และทำแผนการผลิตอย่างเหมาะสม โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานตามความจำเป็น
  6. หลักการ “สนับสนุนของรัฐ” เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการดำเนินงานปรับระบบการผลิตในระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้าน ตลอดจนสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม

 

               ขั้นตอนการดำเนินงาน

เพื่อแก้ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีอาชีพการทำนา ร้อยละ 75.17 ที่ประสบปัญหาจากการผลิตข้าว ให้มีการปรับระบบบการผลิตโดยเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนจากการผลิตข้าวไปดำเนินกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ ตามความเหมาะสม กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

  1. การวิเคราะห์พื้นที่และชุมชน ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ทางด้านการผลิต การตลาดและสภาพสังคมแล้วจัดทำแนวทางการพัฒนาอาชีพการเกษตร ตามข้อมูลศักยภาพของพื้นที่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่
  2. การจัดทำทางเลือกของเกษตรกร ดำเนินการวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการประกอบอาชีพที่เหมาะสมของพื้นที่ เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตของตนเอง โดยกำหนดประเภทและกิจกรรมที่เหมาะสม เหตุผล เงื่อนไข ต้นทุนและผลตอบแทนที่ควรจะได้รับเมื่อดำเนินกิจกรรมแต่ละประเภท
  3. การจัดทำทะเบียนครัวเรือนเกษตรกร ใช้วิธีการพบปะเกษตรกรเป็นรายครัวเรือน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรและปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วจำแนกระดับฐานะของเกษตรกรเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนตามความจำเป็น รวมทั้งดำเนินการจัดกลุ่มเกษตรกรที่มีลักษณะการผลิตที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน เพื่อสะดวกในการให้การแนะนำสนับสนุนและการดำเนินการในรูปกลุ่ม
  4. การนำเสนอทางเลือกแก่เกษตรกร ใช้ข้อมูลวิชาการและผลของการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาอาชีพเสนอแก่เกษตรกร เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตของเกษตรกรในการปรับโครงสร้างการผลิตที่เหมาะสม
  5. การช่วยเกษตรกรทำแผนการผลิต สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการวางแผนการผลิต โดยแนะนำให้เกษตรกรจัดทำรายละเอียดแผนการผลิตที่ชัดเจน ตั้งแต่ขนาดของกิจกรรมที่จะดำเนินการ ขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินตามกิจกรรม ทุนและปัจจัยการผลิตจะใช้ในแต่ละขั้นตอน
  6. การสนับสนุนแผนการผลิตของเกษตรกร ดำเนินการรวบรวมแผนการผลิตของเกษตรกรในโครงการแล้ว ดำเนินการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในทางวิชาการเพื่อให้คำแนะนำ สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการผลิตและเพื่อเตรียมการประสานงานในด้านการตลาดในระยะต่อไป

จากการประเมินผลสำเร็จเบื้องต้นของโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  1. การปรับระบบการผลิตการเกษตร

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาเสีย 15.3 ไร่ พื้นที่ถือครองการเกษตรส่วนใหญ่เป็นของตนเอง มีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 5 คน และสมาชิกทำการเกษตรเฉลี่ย 3 คน ร้อยละ 84.0 ใช้เงินทุนตนเองในการทำการเกษตร รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรโดยมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 54,475.37 บาท การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรร้อยละ 74 คาดว่าจะมีรายได้ดีขึ้น ร้อยละ 66.7 ต้องการเปลี่ยนระบบการเกษตรจากเดิมไปสู่กิจกรรมอื่น

การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เกษตรกรทุกรายได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจัยการผลิตที่ได้รับเพียงพอและทันเวลา เกษตรกร ร้อยละ 92.0 ได้รับการถ่ายทอดความรู้ โดยเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและฝึกอบรม

การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการเกษตร เกษตรกรมีการทำกิจกรรมการเกษตรเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ร้อยละ 82.3 ทำกิจกรรมการเกษตรเพียง 1 กิจกรรม เป็น 2 กิจกรรม ร้อยละ 75.4 และ 3 กิจกรรม ร้อยละ 6.9 รูปแบบการทำฟาร์มของเกษตรกร ร้อยละ 79.8 ปลูกไม้ผลร่วมกับพืชผัก โดยไม้ผลที่ปลูกเป็นพืชหลักเรียงตามลำดับ คือ กระท้อน มะม่วง และส้มโอ

สำหรับพืชผักที่ปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ เรียงตามลำดับ คือ พริก ถั่ว หรือผักพื้นบ้าน แตงกวา ผักชี และผักเสี้ยน

เกษตรกร ร้อยละ 13.2 มีการขยายพื้นที่เพิ่ม ร้อยละ 46.2 คิดจะขยายเพิ่ม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกษตรกรมีความสนใจและมีแนวโน้มที่จะปรับระบบการผลิตด้วยตนเอง และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 93.8 ระบุว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ใช้ระยะเวลาการทำงานในฟาร์มเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้จากแปลงไร่นาสวนผสมสูงกว่าเดิมที่เคยปลูกข้าวถึง 3.1 เท่าตัว โดยมีรายได้เฉลี่ย 13,221.25 บาท และเมื่อคิดเป็นกำไร (รายได้-รายจ่าย) เกษตรกรมีกำไรมากกว่าเดิมถึง 3.5 เท่าตัว กล่าวคือ ก่อนเข้าร่วมโครงการมีกำไรเฉลี่ย 2,786.06 บาท และเมื่อเข้าร่วมโครงการ มีกำไรเฉลี่ย 9,861.15 บาท ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของเกษตรกร ส่วนใหญ่ระบุว่า รายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการ

  1. การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต

2.1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว พื้นที่ทำนาปีส่วนใหญ่เป็นของตนเอง เฉลี่ย 13.7 ไร่ ร้อยละ 16.2 มีพื้นที่นาปรังเป็นของตนเอง เฉลี่ย 2.9 ไร่ เกษตรกร ร้อยละ 83.1 ที่เข้าร่วมโครงการต้องการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้เป็นพันธุ์ดี และทุกรายได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ร้อยละ 60.6 ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้ารับการอบรมความรู้ และเทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว สำหรับการปฏิบัติของเกษตรกรไม่มีความแตกต่างกันระหว่างก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ ในเรื่องการใส่ปุ๋ย การป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว แต่มีแนวโน้มการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อไร่ หลังเข้าร่วมโครงการใกล้เคียงกับอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ตามคำแนะนำของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งนี้ เนื่องมาจากได้มีการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าวได้เพียงปีเดียวและเกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาแมลงศัตรูข้าวระบาด และประสบกับภาวะน้ำท่วม

2.2 การปรับปรุงสวนเดิม สวนไม้ผลที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นสวนส้มโอ ซึ่งมีลักษณะเป็นสวนไม้ผลเศรษฐกิจ เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกรายได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 และสารเคมีกำจัดวัชพืช เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรม ร้อยละ 61.1 ต้องการความรู้และเทคนิคในการผลิตไม้ผล รองลงมาคือ ต้องการปัจจัยการผลิต การปฏิบัติปรับปรุงสวนไม้ผลของเกษตรกรระหว่างก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องการใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันกำจัดศัตรูไม้ผลและการคัดเกรดไม้ผลก่อนการจำหน่าย แต่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่งไม้ผลเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 63.2 ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม เป็นร้อยละ 94.4 ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากได้มีการส่งเสริมการปรับปรุงสวนไม้ผลเป็นปีแรก จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการปฏิบัติที่ชัดเจน

  1. การเสริมรายได้

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้ง ใน ปี 2539 โดยสมาชิกกลุ่มเฉลี่ย 24 ราย และกลุ่มที่เริ่มดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ครั้งแรก ใน ปี 2539 มีทุนเรือนหุ้นโดยเฉลี่ย 2,361.11 บาท และทุนให้เปล่าหรือเงินยืมปลอดดอกเบี้ย เฉลี่ย 8,666.67 บาท ทุกกลุ่มได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนได้รับการสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มดำเนินการผลิต มีจำนวน 12 ชนิด มีรายได้เฉลี่ย 104,163.3 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้สูงสุด ได้แก่ การสานเข่งปลาทู รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากกระจูด ขนมทองม้วน และปลาร้า และผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตได้จำหน่ายในตลาดท้องถิ่น หมู่บ้าน และที่ทำการกลุ่ม

ใน ปี 2542 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาระบบตลาดของผลผลิตการเกษตรในพื้นที่โครงการด้วยการสร้างศูนย์รวบรวมผลผลิตเพื่อให้เป็นจุดนัดพบระหว่างพ่อค้าคนกลาง กับเกษตรกรผู้ปลูกผัก ผลไม้ ได้ซื้อขายคัดเกรด ต่อรองราคา รวมทั้งการให้ข้อมูลในการวางแผนการผลิตล่วงหน้าแก่เกษตรกร ทั้งสิ้น 11 ศูนย์ ด้วยงบประมาณ 2.40 ล้านบาท นอกจากนั้น ในแปลงไร่นาสวนผสมเดิมซึ่งได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นามาปลูกไม้ผลเป็นพืชหลักนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้การสนับสนุนในการจัดทำแปลงสาธิต การจัดระบบน้ำในสวนผลไม้ทั้งสิ้น 135 แปลง ในวงเงิน 2.84 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในการปรับปรุงการผลิตไม้ผลในเขตโครงการให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่ง

                   การดำเนินงานในระยะต่อไป หลังจากการก่อสร้างประตูระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตร มีแผนที่จะขยายการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าวทั้งโดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ดี และสาธิตเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวปีละ 40,000 ไร่ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงดิน การใช้ระบบ IPM ในการบริหารจัดการศัตรูข้าวพันธุ์ดีจากกรมส่งเสริมการเกษตร จะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ทำพันธุ์และขยายพันธุ์ที่ปลูกไปได้อีกไม่น้อยกว่า 3 ฤดูปลูก ซึ่งจะสามารถทำให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตข้าวในลุ่มแม่น้ำปากพนังได้มากยิ่งขึ้น สมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งด้ามขวานทอง ดังเช่นที่เคยเป็นมาแต่อดีตกาล

 

ข้อมูลจาก : อมรศรี ตุ้ยระพิงค์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร