ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ วันนี้ “หญ้าแฝก” คือพืชมหัศจรรย์

เมื่อ เวลา 17.58 น. ของวันที่ 5 กันยายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เนื่องในโอกาสนำคณะเข้าเฝ้าฯ ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช    

ซึ่งในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเลือกชนิดพืชเพื่อปลูกในพื้นที่สูงหรือบนภูเขาว่า

“ควรพิจารณาเรื่องของดินถล่มด้วย เพราะเมื่อดินถล่มลงมาแล้ว จะทำให้หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านเสียหายไปหมด เป็นปัญหาที่หนักมาก เพราะมีคนเสียชีวิต เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระบี่ก็มีถล่ม ที่สตูลก็หนักหน่วงมาก ที่กระบี่หล่นลงมาทำให้เสียชีวิตหลายราย เพราะไปปลูกยาง คนค้าขายยาง เพราะเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว แข็งแรง มันโตเร็วก็จริง แต่ทำให้ดินถล่มมากมาย ที่ภาคอีสานไปปลูกยางนึกว่าเป็นผลที่ดี แต่ดินถล่มเยอะ ที่ภาคเหนือก็มี เหตุการณ์ดินถล่มทำให้ชาวบ้านเสียหายมาก ต้องปลูกพืชที่รักษาดินให้ดี ต้องเลือกต้นที่จะปลูก ถ้าปลูกต้นไม้ที่มีรากแก้ว อาจโตช้า ก็ต้องเลือก อย่างเอาหญ้าแฝกที่มีรากลงลึกเหมือนเป็นรากแก้วมาร่วมปลูกก็อาจจะแก้ได้

ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวอย่างไร ต้นไม้ที่เป็นต้นไม้มีรากแก้ว หรือต้นไม้ที่โตเร็ว ต้องสลับกันดีๆ อาจจะแก้ปัญหาดินถล่มได้ อันที่น่ากลัวที่สุด สมัยนี้อาจทำอะไรเร็ว ให้ต้นไม้โตเร็ว การเลือกต้นไม้มาปลูกควรทำสลับกัน เพราะตั้งแต่ทำโครงการเกี่ยวกับต้นไม้โตเร็ว ทั่วทั้งประเทศมีดินถล่มและเกิดมากขึ้น ภาคใต้ก็มากขึ้น ภาคเหนือก็เกิดแถวๆ อุตรดิตถ์ ภาคอีสานก็ยังเป็นมากขึ้น เป็นผลตรงข้ามที่ต้องการ ประชาชนต้องเจอกับการถล่มของภูเขา ปลูกต้นไม้โตเร็วแล้วต้นไม้เหล่านั้นก็ถูกพัดพาถอนรากจนถล่มลงมาทับบ้านทลาย จึงต้องศึกษาให้ดี”

02

จึงนับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเรื่องการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ต่อการอนุรักษ์หน้าดิน และแก้ไขปัญหาการพังทลายของหน้าดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรไทย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้น และทรงเล็งเห็นศักยภาพของหญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชที่จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินได้ จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก เพื่อใช้ป้องกันและแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน โดยนำแนวทางพระราชดำริมากำหนดเป็นนโยบาย มีงานวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์เกิดความสัมฤทธิผลในพื้นที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีการจัดทำแปลงและช่วยเผยแพร่ผลงานหญ้าแฝก

ดังพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546

“ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดินและฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม ดำเนินการขยายพันธุ์ ทำให้เกิดมีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝกและแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้พอเพียง”

จากการดำเนินงานที่ทุกหน่วยงานได้ร่วมแรงร่วมใจในการสนองพระราชดำริ นับแต่วันแรกที่มีพระราชดำรัสจวบจนปัจจุบัน ความสัมฤทธิผลของหญ้าแฝกได้ปรากฏให้เห็นแล้วอย่างมากมาย อาทิ ช่วยป้องกันการพังทลายของดินขอบถนนบนพื้นที่สูง เช่น เส้นทางไปโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ช่วยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดินที่โครงการพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี และดินดานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น