โครงการ “แกล้งดิน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ “หลอกให้ดินหลงธรรมชาติ แก้ดินเปรี้ยวจัด”

“เราสมควร…แกล้งดิน…โดยทำให้มันเปรี้ยว แล้วเราจะได้ทำวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลดินประเภทนี้ในอนาคต”

จากกระแสพระราชดำรัสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ “แกล้งดิน” ในพื้นที่พรุให้เปรี้ยวที่สุด โดยใช้เวลา 2 ปี หลังจากนั้น ให้ทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด และพืชผัก ถ้าพืชดังกล่าวขึ้นไม่ได้ ก็แสดงว่า ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุดแล้ว จากนั้นให้หาทางปรับปรุงพื้นที่ดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจให้จงได้ และเมื่อได้ผลให้นำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาดินเปรี้ยวจัดที่พบในพื้นที่พรุ หรือพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลของประเทศสืบต่อไป

ด้วยเหตุที่ดินในพื้นที่พรุ หรือพื้นที่ราบลุ่มตามชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวที่มีชั้นดินและสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบไพไรต์ (สารประกอบเหล็กซัลไฟต์) รองรับอยู่ข้างล่าง เมื่อดินเปียกดินนี้จะไม่ค่อยเปรี้ยว แต่ถ้าปล่อยให้ดินแห้ง สารประกอบไพไรต์จะทำปฏิกิริยากับอากาศและปลดปล่อยกรดกำมะถัน และมีจุดประสีเหลืองเหมือนฟางข้าวออกมา ทำให้ดินมีฤทธิ์เป็นกรดจัด หรือดินเปรี้ยวจัด การเกิดปฏิกิริยาทางเคมีดังกล่าว หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลานานนับหลายๆ ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับสั่งให้ระบายน้ำออกและทดน้ำเข้าสลับกันไป เพื่อให้ดินแห้งและเปียกเป็นระยะๆ ทำให้เร่งปฏิกิริยาทางเคมีให้เกิดขึ้นโดยสะดวก ซึ่งผลของการดำเนินงานตามพระราชดำริ ทำให้สามารถ “แกล้งดิน” จนเปรี้ยวถึงที่สุดภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

5876_390092647765786_377085143_n

การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดโดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่ในระดับเหนือดินเลน ที่มีสารประกอบไพไรต์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทำให้กรดถูกล้างออกไปจากดิน ด้วยวิธีการระบายน้ำออกแบบง่ายๆ ในขณะเดียวกัน การควบคุมน้ำดังกล่าว จะช่วยป้องกันไม่ให้ดินแห้งและเกิดกรดขึ้นมาอีก ซึ่งถือว่าเป็นแก้ไขปัญหาอย่างถาวรและทำได้ง่าย แต่การใช้น้ำชะล้างดินต้องใช้เวลานาน 2-4 ปี จึงชะล้างกรดออกไปได้มากพอที่จะใช้ปลูกพืชไดh

ดังนั้น เพื่อร่นระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาให้ปลูกพืชได้เร็วขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริโดยการใช้วัสดุปูนใส่ลงไปในดินก่อน ประมาณ 1-3 ตัน ต่อไร่ วัสดุปูนควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ทางภาคใต้ให้ใช้หินปูนฝุ่น ทางภาคกลางให้ใช้ปูนมาร์ล จากนั้นจึงใช้น้ำล้างความเป็นกรด ซึ่งจากการทดลองพบว่า หลังจากการไถพรวนแล้วหว่านวัสดุปูน แล้วใช้น้ำชะล้างกรด หรือปล่อยน้ำให้แช่ขัง แล้วระบายน้ำออกก็สามารถปลูกพืชต่างๆ ได้ทันที และให้ผลผลิตคุ้มกับการลงทุน