ศิษย์ กศน. จดจำคำพ่อสอน “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ทำเกษตรผสมผสาน ปลดหนี้เงินล้านได้สำเร็จในเวลา 4 ปี

ธุรกิจสมุนไพรและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่เคยสร้างรายได้สะพัดวันละแสน หลังเจอปัญหาวิกฤตทางการเมืองปี 2554 สินค้าขายไม่ออก ขาดทุนสะสมจนกลายเป็นหนี้ก้อนโต แต่ “ศุภธิดา ศรีชารัตน์” ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค เธอปรับตัวสู้ชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จนสามารถปลดหนี้เงินล้านได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี

ศุภธิดา เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ในหมู่บ้านหนองกอง หมู่ที่ 3 อำเภอโดด อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เธอเห็นพ่อแม่ทำนามาตลอดชีวิตแต่ไม่รวยสักที หลังเรียนจบมัธยมศึกษา จึงตัดสินใจไปทำธุรกิจค้าขายที่กรุงเทพฯ โดยเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่ห้างเซ็นทรัล สาขาบางนา และอิมพีเรียลสำโรง ระยะแรกธุรกิจเติบโตดีมาก สร้างรายได้สูงถึงวัน 100,000-200,000 บาท

%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%98%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a

แต่การใช้ชีวิตในสังคมเมืองหลวงมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเช่าที่ ค่าจ้างคนงาน ฯลฯ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่เหลือผลกำไร ต่อมาเกิดวิกฤตทางการเมือง สินค้าขายไม่ดี เกิดหนี้สินก้อนโตกว่าล้านบาท ช่วงปลายปี 2554 เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดตามคำขอร้องของแม่

 เลี้ยงหมู ก็ขาดทุน

หลังกลับมาอยู่บ้าน เธอช่วยพ่อแม่ทำเกษตรผสมผสาน เริ่มจากเลี้ยงหมู 10 ตัว ได้ผลกำไรดี เธอจึงลงทุนซื้อหมูมาเลี้ยงเพิ่มอีก 40-50 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน จึงจับหมูขาย แต่อาชีพเลี้ยงหมู มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะราคาหมูปรับตัวขึ้นลงตามภาวะตลาดตลอดเวลา แต่ต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นทุกวัน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เธอขาดทุนจากการเลี้ยงหมูเกือบ 50,000 บาท

 อาชีพเพาะเห็ด สร้างผลกำไรก้อนโต

ปี 2555 ศุภธิดาไปเรียนรู้เรื่องการทำเห็ดฟางจากเพื่อนรายหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา เธอควักเงินก้อนแรก 5,000 บาท เพื่อลงทุนเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย จำนวน 8 แปลง ในแปลงนาของครอบครัว เมื่อเก็บผลผลิตออกขาย และหักต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเหลือผลกำไร 10,000 บาท ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เธอจึงตัดสินใจทำอาชีพเพาะเห็ดฟางอย่างเต็มตัว

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%9f%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b9%87%e0%b8%94

เนื่องจากอาชีพการเพาะเห็ดฟางใช้เงินลงทุนน้อย หักค่าใช้จ่ายเหลือผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ แถมได้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มในแปลงนาอีกต่างหาก เธอจึงร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชน จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ชื่อว่า “สวนเห็ดบ้านลุงจอม” โดยเธอรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม เธอและสมาชิกกลุ่มจะลงมือเพาะเลี้ยงเห็ดฟางกองเตี้ยบริเวณทุ่งนา หลังสิ้นสุดฤดูทำนา

ทางกลุ่มจะใช้เศษฟางข้าวที่เหลือจากการทํานา เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ จะมีเศษฟางข้าวประมาณ 3,000 กิโลกรัม สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางได้ถึง 300 กิโลกรัม ทางกลุ่มเก็บเห็ดฟางออกขายได้ในราคากิโลกรัมละ 50-90 บาท สร้างรายได้เข้ากลุ่มไม่ต่ำกว่า 15,000-27,000 บาท

พอเข้าฤดูทำนา เธอไม่สามารถเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยในแปลงนาได้อีก จึงตัดสินใจสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดที่บ้านแทน โดยโรงเรือนแห่งนี้ ใช้ถัง 200 ลิตร เป็นอุปกรณ์สำหรับต้มน้ำเพื่อทำไอน้ำ ใช้ไม้ฟืนต้มน้ำ เฉลี่ยวันละ 500 กิโลกรัม ต้องเผาฟืนต้มน้ำทั้งวันทั้งคืน ทำให้มีต้นทุนผลิตสูง สำนักงานพลังงานจังหวัดศรีสะเกษจึงเข้ามาช่วยสร้างเตาประหยัดพลังงานรูปแบบใหม่ ที่ประหยัดพลังงานจากเดิมที่เคยเผาฟืนตลอด 24 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 12 ชั่วโมง ช่วยประหยัดไม้ฟืนได้มากขึ้น โดยใช้เพียงวันละ 100 กิโลกรัม เท่านั้น ประหยัดเวลาและต้นทุน ทำให้เหลือผลกำไรมากขึ้น เธอแบ่งเวลาว่างไปสมัครเรียนกับ กศน.เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาอาชีพและรับหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมความรู้เรื่องการเพาะเห็ด ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วไป

ปลดหนี้เงินล้านได้ เพราะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ศุภธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันเธอปลดหนี้เงินล้านได้หมดแล้ว เพราะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินชีวิต สามารถขจัดความยากจนของตัวเอง เธอและครอบครัวดำเนินชีวิตแบบ “พออยู่ พอกิน แลกเปลี่ยน เหลือขาย” ทุกวันนี้ เธอมีรายได้หลักจากอาชีพเพาะเห็ดฟาง และขายวัสดุอุปกรณ์เพาะเห็ด นอกจากนี้ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำบ่อเลี้ยงปลา ทั้งปลาหมอเทศ ปลานิลแปลงเพศ และปลาดุก

%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b9%88

นอกจากขายปลาเป็นรายได้หลักแล้ว เธอยังมีรายได้เสริมในฐานะตัวแทนจำหน่ายพันธุ์ปลาให้กับฟาร์มปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบัน เธอขายพันธุ์ปลาหมอ ขนาด 3-4 เซนติเมตร ในราคาตัวละ 1.50 บาท โดยแนะนำให้เพื่อนบ้านที่รู้จักเลี้ยงปลาหมอ ประมาณ 5 เดือน โดยจับปลาออกขายได้เมื่อเลี้ยงได้น้ำหนักตัวประมาณ  4-5 กิโลกรัม ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่นตลอดทั้งปี

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a9

ประการต่อมา เธอใช้พื้นที่ว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปลูกไม้ผลรอบบ้าน เช่น เสาวรส ฟักข้าว มะม่วง แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ รวมทั้งปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้รอบบ้าน ปลูกกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ไว้ริมคันนา เพื่อเก็บเครือกล้วยและหน่อพันธุ์ออกขายในราคาต้นละ 50 บาท

เธอใช้ “เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าออกสู่ตลาด ช่วยให้มีฐานลูกค้ากระจายในวงกว้างทั่วประเทศ ขายสินค้าได้มากขึ้น รายได้ก็สูงขึ้น สามารถปลดหนี้เงินล้านได้หมดภายในระยะเวลา 4 ปี ผลงานของเธอเป็นที่ยอมรับในสังคม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จึงส่งผลงานของเธอเข้าประกวดในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ปรากฏว่า ผลงานของเธอได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เธอและครอบครัวเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน เธอเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดและการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถแวะเข้าชมกิจการได้ที่บ้านของเธอหรือพูดคุยกับเธอได้ที่ เบอร์โทร. (080) 707-4431 รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน