“นวลจันทร์ทะเล” ปลาของพ่อ เลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดรวมถึงน้ำเค็ม รสชาติที่อร่อย นำไปประกอบอาหารได้หลายประเภท เป็นที่ต้องการของตลาด

            “ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬเขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเล เรียกว่า ปลานวลจันทร์ทะเล เขาจับปลานวลจันทร์เล็กๆ ที่อยู่ในทะเลเอามาขาย และสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อน้ำมันจืดลง ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่าจะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้าน ไปซื้อมา เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อให้ไป ซื้อเอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ และเมื่อปล่อยแล้วมันก็เติบโต เติบโตดีปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เป็นเงิน เป็นหลายแสน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจ จึงเลิกปลานวลจันทร์ทะเลมันไม่ มันไม่เติบโต เอ้อมันไม่แพร่พันธุ์ในบ่อ ในอ่างมันจะแพร่พันธุ์ได้แต่ในทะเล แต่ก็ยังไงก็จับได้และขายได้ ซึ่งถ้าสมมติว่าไปซื้อมาแล้วมาปล่อยแล้วก็ดูแล และถึงเวลาก็ขาย ก็เป็นอาชีพที่ดี”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2544

              ปลานวลจันทร์ทะเล เป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งน้ำจืดรวมถึงน้ำเค็ม สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างมากมาย ทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย นำไปประกอบอาหารได้หลายประเภท ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทั้งจากตลาดภายในประเทศเองรวมถึงต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีผู้เพาะเลี้ยงน้อย จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้เป็นช่องทางเพาะเลี้ยงทำเงินได้

              คุณธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากอดีตผู้บริหารกรมประมงมีวิสัยทัศน์เห็นว่าปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลากินพืช เป็นปลาที่มีความสำคัญ สามารถที่จะเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรเอาไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังใช้เงินทุนเลี้ยงไม่มาก จึงสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาทะเลชนิดนี้

สำหรับปลานวลจันทร์ทะเลนั้น เป็นปลาที่เลี้ยงดูง่าย กินผัก กินพืช กินแมลง กินอาหารได้หลายชนิด ในประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว มีการพัฒนาเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ถือว่าปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาประจำชาติ เรียกตามภาษาตากาล็อก ว่า บังงุส (Bungus) หรือภาษาอังกฤษ เรียกปลาชนิดนี้ว่า Milk Fish หรือปลาน้ำนม ด้วยลักษณะที่มีสีขาวเป็นเงินยวง บางประเทศเลี้ยงเป็นอาหารให้กับประชาชน ทำรายได้ดีมากคือ ประเทศไต้หวัน

ผอ. ธเนศ กล่าวต่อว่า แรกเริ่มเลยนั้นกรมประมงต้องการที่จะเสาะหาว่าปลานวลจันทร์ทะเลนั้นมีอยู่ในท้องทะเลอาณาเขตประเทศไทยหรือไม่ ท่านอธิบดีกรมประมงในสมัยนั้นก็ได้มีการสั่งการให้ประมงจังหวัดทุกจังหวัดเสาะหาว่ามีพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลอยู่หรือไม่ โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดแรกที่สำรวจพบ โดย คุณรบ นิลคูหา เป็นประมงจังหวัดในสมัยนั้น เป็นผู้สำรวจพบ

เนื่องจากว่าลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอ่าว 3 อ่าว มาบรรจบกัน ปลาก็จะว่ายวนอยู่ในอ่าว สามารถหลบคลื่นลมได้ เมื่อปลาโตขึ้นก็ออกไปหากินในทะเลลึก ส่วนลูกก็ถูกคลื่นซัดกลับมาอยู่ในอ่าว ชาวบ้านจึงเก็บรวบรวมนำมาเพาะเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสันแต่อย่างใด เนื่องจากปลาชนิดนี้มีก้างมาก ไม่นิยมบริโภค จึงเป็นการเพาะเลี้ยงแบบไม่จริงจังเท่าที่ควร

ในปี พ.ศ. 2496 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์เรื่องปลานวลจันทร์ทะเลโดยเฉพาะ โดยใช้ชื่อว่า สถานีประมงน้ำกร่อยประจวบคีรีขันธ์ แต่ด้วยความนิยมในตัวปลานวลจันทร์ทะเลยังมีไม่มากนัก รวมถึงจังหวัดชายทะเลสามารถหาปลาทะเลชนิดอื่นที่เป็นที่ต้องการของตลาด ที่ก้างไม่เยอะได้ เช่น ปลากุเรา ปลาอินทรี ปลาทู ปลากะพงขาว ปลานวลจันทร์ทะเลจึงไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการเลี้ยงลูกปลานวลจันทร์ทะเล ที่สถานีประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันคือ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดหาปลานวลจันทร์ทะเลไปปล่อยเลี้ยง ณ อ่างเก็บน้ำ บ้านเขาเต่า อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2540 กรมประมง ได้เพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงเป็นปฐมบทแรกทำให้ศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ เป็นศูนย์วิจัยแห่งเดียวที่พัฒนารวมถึงเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลจำหน่าย รวมถึงส่งเสริมความรู้ในการเพาะเลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลของศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ

              คุณศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ โทร. (089) 563-3079 กล่าวว่า การจัดการปลานวลจันทร์ทะเลที่เลี้ยงโดยศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งคลองวาฬนั้น ในส่วนของพ่อแม่พันธุ์ได้มีการเลี้ยงไว้ในบ่อคอนกรีต ที่มีความจุ 150 ตัน ในบ่อพ่อแม่พันธุ์จะมีการถ่ายน้ำ บ่อละ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ โดยใช้อัตราการถ่ายน้ำ ประมาณ 80% ของบ่อ โดยขณะที่พ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลถูกเลี้ยงอยู่ในบ่อปูนนั้น จะมีการให้อาหารเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นโปรตีน ประมาณ 30% ให้ปริมาณ 1% ของน้ำหนักตัวปลา

ถ้าในช่วงที่ปลาไม่ผสมพันธุ์ จะให้ 2 มื้อ คือช่วงเช้ากับเย็น ส่วนในช่วงที่ปลามีการผสมพันธุ์กัน จะลดจำนวนของอาหารลงอีก เหลือ 0.5% ของน้ำหนักตัว แล้วให้แค่มื้อเดียว เนื่องจากไขมันอาจไปสะสมในตัวปลามาก เมื่อปลาฟักไข่แล้วปริมาณไขมันที่ไปแทรกตัวอยู่ในไข่อาจทำให้ไข่เสียได้

 

               วิธีการขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล

คุณศุภกานต์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยจะนำพ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลที่ได้ขนาดจากบ่อดินย้ายมาไว้ในบ่อพ่อแม่พันธุ์ โดยใช้อัตราส่วน ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 3 ตัว หรืออัตราส่วน 1:3 โดยใน 1 บ่อ จะมีอยู่ประมาณ 50 ตัว เป็นตัวผู้ 10 กว่าตัว ที่เหลือเป็นตัวเมียทั้งหมด โดยจะปล่อยให้มีการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ ฤดูผสมพันธุ์ของปลานวลจันทร์ทะเลนั้นจะอยู่ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม ซึ่งปลานวลจันทร์ทะเลจะเกี้ยวพาราสีแล้วปล่อยน้ำเชื้อกับไข่เข้ามาผสมกัน

โดยในบ่อพ่อแม่พันธุ์นี้จะมีถุงเก็บไข่ เป็นถุงไนลอนครอบไว้ตรงปากท่อลม ซึ่งถุงจะเป็นตัวกรองไข่ของปลานวลจันทร์ทะเล เมื่อถึงช่วงเช้าพนักงานจึงมาเก็บไข่ไปฟัก เนื่องจากปลาชนิดนี้จะไข่ในช่วงกลางคืนจนถึงเช้ามืด ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้ถุงกรองไข่ปลาแทนการลากอวนกรองไข่ปลานั้น เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว หากนำอวนไปลากอาจทำให้ปลาว่ายหนีชนขอบบ่อเกิดบาดแผล ทำให้ปลาติดเชื้อโรคได้

สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษในบ่อพ่อแม่พันธุ์คือ คุณภาพของน้ำ โดยเฉพาะแอมโมเนียความเค็ม ต้องอยู่ในระดับ 30-35 ppt ในช่วงหน้าร้อนน้ำจะมีความเค็มขึ้นสูงถึง 38 ppt จะมีการใช้น้ำจืดเติมลงไปในบ่อ เพื่อช่วยเจือจางความเค็ม แต่ในช่วงฤดูฝนหากฝนตกหนักมาก จะมีการถ่ายน้ำบ่อยขึ้น เพื่อไล่น้ำจืดออกจากบ่อ ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นเป็นปลาที่สืบพันธุ์ในทะเลลึก จึงต้องมีการรักษาระดับความเค็มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามระดับที่ปลาสามารถสืบพันธุ์ได้

 

             อนุบาลปลานวลจันทร์ทะเล ทำได้อย่างไร

คุณศุภกานต์ กล่าวว่า ลูกปลานวลจันทร์ทะเลเมื่อฟักออกจากไข่ได้ระยะ 1-2 วัน จนถึง 10 วัน จะมีการให้ไรน้ำเค็ม (โรติเฟอร์) เมื่ออายุได้ 10 วัน ขึ้นไปแล้ว จึงมีการให้อาร์ทีเมียแรกฟักแทน จนปลามีอายุถึง 1 เดือนครึ่ง จึงเริ่มปรับให้ปลากินอาหารสำเร็จรูปแทน โดยการลดปริมาณอาร์ทีเมียแรกฟักลง

สำหรับเวลาการให้อาหาร จะให้ในเวลาช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งอาหารสำเร็จรูปนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยมีชื่อว่า อาหารอนุบาลลูกปลาทะเล ให้ในปริมาณโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลาโตได้ 3 เดือน จึงปรับให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปปลากินพืชต่อไป ปลานวลจันทร์ทะเลเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ปลาฟักตัว เมื่อถึงต้นเดือนมีนาคมปลาจึงเริ่มมีการผสมพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง ลูกปลาที่นำมาฟักในบ่ออนุบาลเมื่อมีอายุครบ 40 วันแล้ว จึงสามารถจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้ ปลานวลจันทร์ทะเลที่สามารถนำไปลงในบ่อดินได้นั้นจะต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 1.5-2 เซนติเมตร โดยจำหน่ายในราคาอ้างอิงจากกรมประมง ในราคา ตัวละ 1 บาท 20 สตางค์ ซึ่งระยะนี้เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงแล้ว มีอัตรารอดสูงถึง 80% หากมีการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลให้มีขนาดใหญ่ในบ่อปูนแล้ว อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้

คุณศุภกานต์ กล่าวถึง ต้นทุนที่ศูนย์วิจัยต้องรับผิดชอบอยู่นั้น มีต้นทุนสำหรับปลาขนาดเล็ก อยู่ที่ตัวละ 80 สตางค์ จึงต้องขายในราคา 1 บาท 20 สตางค์ เนื่องจากเวลาขายอาจมีต้นทุนในการแพ็ก รวมถึงการขนส่งปลา ส่วนปลานวลจันทร์ทะเลขนาดใหญ่ที่เลี้ยงในบ่อดินที่ศูนย์วิจัย เมื่ออายุประมาณ 7-8 เดือน จึงสามารถที่จะเริ่มจับจำหน่ายได้ โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ ตัวละ 40-50 บาท

สำหรับตลาดรับซื้อปลานวลจันทร์ทะเลในปัจจุบัน จะนิยมรับซื้อปลาในขนาด 7-8 ขีด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลานวลจันทร์ทะเลถอดก้าง หรือปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ส่วนปลานวลจันทร์ทะเลที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัม ขึ้นไป จะนิยมขายเป็นตัว โดยไม่มีการถอดก้างหรือควักไส้ปลาออก ห่อด้วยพลาสติกห่ออาหาร ส่งห้องเย็นเพื่อส่งขายในต่างประเทศต่อไป

ปลานวลจันทร์ทะเล หากนำไปแปรรูปแล้วจะช่วยเพิ่มราคาที่สูงขึ้นได้ สำหรับปลานวลจันทร์ทะเลที่ขายได้ในราคามากที่สุด ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท แต่เกษตรกรบางรายที่ซื้อลูกปลาไปจากศูนย์วิจัยเมื่อนำไปเลี้ยงแล้วจะขายในระยะประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งปลาจะมีน้ำหนักประมาณ 2 ขีด เกษตรกรจึงนำไปแปรรูปหรือทำปลาทอดกรอบจำหน่าย

คุณศุภกานต์ กล่าวต่ออีกว่า ปลานวลจันทร์ทะเลเมื่อซื้อไปจากศูนย์วิจัยแล้ว เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงต่ออีกประมาณ 7-8 เดือน ก็เริ่มจับปลาขายได้แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจากศูนย์วิจัยไปเลี้ยงนั้นจะให้อาหารเป็นอาหารปลาตะเพียนหรืออาหารปลากินพืช

สำหรับโรคที่พบในปลานวลจันทร์ทะเลนั้น จะพบในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากมีการอนุบาล โดยโรคที่พบมีการติดเชื้อไวรัสเนื่องจากมีการว่ายน้ำควงสว่าน ส่วนปรสิตนั้นไม่มีการพบในปลานวลจันทร์ทะเล

คุณศุภกานต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปลานวลจันทร์ทะเลหากนำไปเลี้ยงในน้ำที่มีความเค็ม ประมาณ 25 ppt ลักษณะน้ำกร่อย ซึ่งจะเป็นความเค็มที่ปลานวลจันทร์โตได้สมบูรณ์ที่สุด เมื่อลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อปลานวลจันทร์ทะเลนั้น จะมีการสอบถามจากทางศูนย์วิจัยว่ามีความเค็มอยู่ในช่วงไหน หากมีความเค็มน้อย ศูนย์วิจัยจะมีการปรับน้ำให้ก่อนโดยเลื่อนวันรับปลาออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับปลานวลจันทร์ทะเลมากที่สุด ติดต่อสั่งซื้อลูกพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลได้โดยตรงตามเบอร์โทร. (089) 563-3079

 

             ไปดูบ่อเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ของเกษตรกร

             คุณคเชน เลขะสิทธิ์ เกษตรกรเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล อยู่ที่ เลขที่ 449/3 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. (092) 651-3438 กล่าวว่า ได้ซื้อลูกพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลมาจากศูนย์วิจัย โดยได้เริ่มเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลมาได้ประมาณ 6 เดือนแล้ว เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งในช่วงแรกนั้นไม่ได้คิดจะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล แต่ต้องการที่จะเลี้ยงปูดำ เมื่อภายหลังได้รับคำแนะนำจากภรรยาให้ไปรับปลานวลจันทร์จากที่ศูนย์วิจัยมาเพาะเลี้ยง เนื่องจากยังมีผู้เพาะเลี้ยงน้อยและเป็นที่ต้องการของตลาด จึงตัดสินใจซื้อลูกพันธุ์มา

โดยใช้วิธีการเลี้ยงในรูปแบบธรรมชาติ ซื้อลูกปลามาทดลองเลี้ยง จำนวน 78,000 ตัว เป็นเงิน 21,000 บาท ช่วงที่เอามาลงในช่วงแรกนั้นใช้น้ำเค็มในการเลี้ยง โดยมีการกั้นบ่อเล็กๆ ไว้สำหรับพักลูกปลาก่อน โดยให้รำเป็นอาหารในตอนช่วงปลาเล็ก เมื่อได้ระยะ 15 วัน จึงเปิดให้ปลาลงสู่บ่อใหญ่ ใช้รำข้าวให้ในช่วงเช้าและช่วงเย็น วันละ 2 รอบ รวมระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้น จึงให้เป็นอาหารปลาดุกเม็ดเล็ก โดยให้ในช่วงเย็นเพียงอย่างเดียว

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลของคุณคเชนนั้น เป็นบ่อกุ้งกับบ่อเลี้ยงปลากะพงเก่า มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน มีค่าใช้จ่ายในช่วง 2 เดือนแรกนั้นไม่มากนัก เนื่องจากใช้รำเพียงแค่เดือนละ 2 กระสอบ ซึ่งมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ กระสอบละ 600 บาท ส่วนอาหารปลาดุกเม็ดเล็กนั้น มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 360 บาท

สำหรับปัญหาที่พบสำหรับปลานวลจันทร์ทะเลที่เลี้ยง ในช่วงฝนตกเนื่องจากมีน้ำจืดลงมากแล้ว ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อย จนส่งผลให้ปลาลอยคอในบ่อ แต่คุณคเชนแก้ปัญหาโดยการเปิดใบพัดตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

ส่วนปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบในการเลี้ยงคือ ปัญหาปลามากเกินไป จะทำให้ปลาแย่งอากาศกัน จึงมีการใช้ใบพัดตีอากาศโดยเฉพาะในช่วงเวลาฝนตก

ฟาร์มเลี้ยงของคุณคเชนมีการเปิดถ่ายน้ำ 2 วัน ต่อครั้ง เพื่อความสะอาดภายในบ่อ รวมถึงปลาจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่เครียด โดยเวลาที่มีการดูดน้ำใส่ในบ่อเลี้ยงนั้น มีปลาชนิดอื่นเข้ามาด้วย จึงเป็นการเพิ่มรายได้ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง สำหรับปลานวลจันทร์ทะเลที่คุณคเชนเลี้ยงนั้นจะจับขายในประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยคาดว่าจะจับได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 กิโลกรัม

คุณคเชน กล่าวทิ้งท้ายว่า ต่อไปจะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลเพิ่มอีก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เลี้ยงน้อย รวมถึงหายาก จึงมีการมองช่องทางการตลาดไว้ว่า ภายในอนาคตปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงผู้บริโภค จึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลต่อไปอีก

 

             แปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ทำได้อย่างไร

  คุณนิออน พันธ์แก้ว ประธานกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล บ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ อยู่เลขที่ 323 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77000 โทร. (082) 364-4087, (086) 975-0913 กล่าวว่า กลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลเริ่มมีการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 นี้ โดยรับซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจากเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงไว้ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รวมถึงในเขตคลองวาฬ

กลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลนั้น มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 8 คน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวคลองวาฬ รวมถึงเป็นข้าราชการภายในศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งคลองวาฬ โดยรับซื้อจากเกษตรกร ครั้งละ 500 กิโลกรัม เนื่องจากมีแรงงานไม่มาก ใช้ระยะเวลาในการทำ ประมาณ 2 วัน มีราคารับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 65-70 บาท หรือตามขนาดของตัวปลา

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนั้น มีทั้งปลาสดถอดก้าง ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเลรมควันก้างนิ่ม ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็มขิง ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็มผักกาดดอง สมาชิกของกลุ่มนั้นจะได้รายได้แบ่งแยกตามส่วน เช่น พนักงานถอดก้าง มีรายได้ ตัวละ 10 บาท พนักงานขอดเกล็ดควักไส้ปลา มีรายได้ตัวละ 4 บาท ซึ่งจะมีการกระจายรายได้ให้กับทุกคนภายในกลุ่ม รวมถึงช่วงสิ้นปีมีการปันผลกำไรให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม

สำหรับตลาดปลานวลจันทร์ทะเล ปัจจุบันถือว่าไปได้ดี เนื่องจากถูกยกให้เป็นปลาประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงมีการติดต่อจากประเทศฟิลิปินส์ในการขอซื้อปลาไม่ถอดก้าง นำไปแปรรูปต่อ รวมถึงร้านอาหารในจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีมีความต้องการ นำไปทำเมนูต่างๆ มากมาย เนื้อของปลานวลจันทร์ทะเลนั้นมีความอร่อยมาก มีรสชาติคล้ายคลึงกับปลาสำลี โดยเฉพาะส่วนท้องของปลานวลจันทร์นั้นมีความมันเป็นอย่างมาก สามารถนำไปทำได้ทั้งเมนูปลานวลจันทร์ทะเลทอดแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ปลานวลจันทร์ทะเลนึ่งมะนาว หรือเมนูนอกเหนือจากนี้ปลานวลจันทร์ทะเลก็สามารถที่จะนำไปประกอบเป็นอาหารได้เช่นกัน

                 ติดต่อขอทราบรายละเอียดสั่งซื้อปลานวลจันทร์ทะเลได้ตามเบอร์โทร. (082) 364-4087, (086) 975-0913