บทพิสูจน์ศักดิ์ศรี สุดยอดมะม่วงมันทองเอก เมื่อได้ชิมต้องติดใจ ยืนเรียงคิวซื้อเป็นปรากฏการณ์

“บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”  เป็นคำกล่าวที่มีมานานตั้งแต่โบราณ เนื่องจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์บางพระองค์มีพระตำหนักเรือกสวนอยู่ที่แขวงบางช้าง จึงเรียกสวนที่บ้านนอกในแขวงบางช้างว่า “บางช้างสวนนอก” ส่วนบางกอกนั้นก็ทรงมีเรือกสวนอยู่ชั้นในใกล้กับวังของเจ้านาย ท่านจึงเรียกว่า “บางกอกสวนใน” จากคำกล่าวเปรียบเปรยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณของทั้งสองสวน บางช้างสวนนอกอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ดินแดนที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย

อัมพวา มีผลไม้รสชาติดีมีชื่อเสียงมาแต่โบราณ ในอดีตเมื่อฟังข่าวการประกาศราคาพืชผักจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ มักได้ยิน คำว่า “พริก หอม กระเทียม บางช้าง” อยู่ด้วยเสมอ นอกจากนี้ อัมพวา ยังมีผลไม้ดีมีชื่อเสียงอีกหลายอย่าง เช่น มะพร้าว มะม่วง ส้มโอ ส้มแก้ว ลิ้นจี่ และอัมพวา (มะเปรียง) เป็นต้น มะม่วงเขียวเสวย เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดที่อัมพวา เช่นเดียวกับ “มะม่วงมันทองเอก” และ “เหนียงนกกระทุง” ก็น่าจะเชื่อกันได้ว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่อัมพวา โดยเฉพาะ “มะม่วงอกร่องบางช้าง” แล้วคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นมะม่วงจากอัมพวา มะม่วงอกร่องบางช้างไม่เป็นรองในการทำเป็น ข้าวเหนียวมะม่วง  แม้ว่าปัจจุบันแม่ค้าขายข้าวเหนียวมะม่วงต่างหันมาใช้มะม่วงน้ำดอกไม้กันเป็นส่วนมากก็ตาม แต่ “มะม่วงอกร่องบางช้าง” ยังคู่ควรกับข้าวเหนียวมะม่วงมากกว่า เพราะความหวาน ความหอม ที่ไม่มีมะม่วงไหนมาเทียบได้ สาเหตุที่ มะม่วงอกร่องบางช้าง มีจำนวนน้อยลง เนื่องมาจากต้นเก่ามีอายุมากให้ผลผลิตน้อย ล้มตายไปก็มาก การปลูกทดแทนชาวสวนมะม่วงรุ่นใหม่ในพื้นที่บางช้าง ดำเนินสะดวก เลือกที่จะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ตามๆ กัน แต่ก็ยังมี มะม่วงอกร่องบางช้าง หลงเหลืออยู่ ดังนั้น ดินแดนอัมพวาจึงมีสายพันธุ์มะม่วงโบราณดีๆ ที่ไม่คุ้นหูและแปลกหลายพันธุ์ที่น่าจะเชื่อว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่นี่จริง ซึ่งยังมีมะม่วงอีกหลายสายพันธุ์แต่ยังหาไม่พบหรือเจ้าของหวงพันธุ์คงปิดบังไว้ไม่ยอมเปิดเผย

มันทองเอก ของดียังมีอยู่

มะม่วงมันทองเอกบนต้น ที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
มะม่วงมันทองเอกบนต้น ที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่

มะม่วงมันที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีรสชาติดีหวานมันก็คือ มันขุนศรี เมื่อเอ่ยถึงมะม่วงมันหรือมะม่วงที่รับประทานดิบก็จะนึกถึง เขียวเสวย หนองแซง ฟ้าลั่น แรด ทะวายเดือนเก้า เพชรบ้านลาด และ มันขุนศรี จากนั้นความนิยมในบางสายพันธุ์ก็ลดลงไปบ้าง โดยเฉพาะ หนองแซง แรด ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงกัน มันขุนศรีรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก เปลือกหนาเหนียวมีปริมาณเนื้อมาก ผลดิบเป็นสีเขียวมีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานตอนผลแก่จัด เนื้อละเอียด กรอบ ฉ่ำน้ำ หวานมัน ส่วนผลสุกมีเนื้อสีเหลือง เนื้อค่อนข้างเหนียวนุ่ม แต่ไม่เละ รสหวานแหลมอมเปรี้ยวบ้างนิดหน่อย วัดความหวานได้ถึง 25 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ไม่มีเสี้ยน มันขุนศรีมีผลคล้ายเขียวเสวย รูปทรงกลมยาวรี ส่วนหัวมน ส่วนท้องอ่อนโค้งไม่มาก ปลายผลเรียวงอนและมน น้ำหนักของผลเมื่อโตเต็มที่ เฉลี่ยต่อผล 350-450 กรัม เมล็ดแบนลีบ มะม่วงมันขุนศรีขายได้ราคาดี สร้างรายได้งามให้กับผู้ปลูกแม้จะมีพื้นที่ปลูกไม่มากก็ตาม ใช้ปลูกเป็นการค้าได้พันธุ์หนึ่ง

ส่วน มะม่วงเหนียงนกกระทุง นั้นหายากจริงๆ แต่ชาวสวนอัมพวาบอกว่ายังพอมีอยู่ในพื้นที่อัมพวา แถบตำบลสวนหลวง แควอ้อม เหมืองใหม่ ปลายโพงพาง วัดประดู่ มะม่วงเหนียงนกกระทุง มีผลค่อนข้างใหญ่ เป็นมะม่วงใหญ่พันธุ์หนึ่ง แปลกตรงที่ผลมีรูปทรงส่วนท้องยื่นออกมามากหรือส่วนกลางอกกว้างหนา ส่วนหัวและก้นแหลม แต่บางคนก็มองผลของมันคล้ายกับกระจับ ที่มาของชื่อมาจากรูปลักษณะคล้ายเหนียงใต้ปากล่างของนกกระทุงที่ห้อยยานลงมา เมื่อจับมะม่วงขึ้นในแนวนอนให้ส่วนท้องที่ยื่นออกมาลงอยู่ด้านล่าง จะมองคล้ายปากของนกกระทุง  รสชาติพอรับได้ ผลดิบรสเปรี้ยวจัด จึงเหมาะที่จะรับประทานผลสุกเสียมากกว่า โดยผลที่สุกยังมีสีเขียวแกมสีเหลืองช่วงนี้จะให้รสชาติดี เนื้อสีเหลืองอ่อนๆ หวานอมเปรี้ยว มีเสี้ยนบ้าง เมล็ดลีบ มีกลิ่นหอมคล้ายๆ มะม่วงอกร่อง หากปล่อยให้ผลสุกจัดจนงอมเป็นสีเหลืองจัด รสชาติจะไม่ค่อยอร่อยเท่าไร เหนียงนกกระทุงเป็นมะม่วงที่ออกล่ากว่าอีกพันธุ์หนึ่ง และเป็นพันธุ์ที่ผู้ที่ชอบสะสมพันธุ์มะม่วงไทยโบราณต่างแสวงหากัน

ผลมะม่วงมันทองเอก ที่สูงเม่น
ผลมะม่วงมันทองเอก ที่สูงเม่น

มะม่วงมันทองเอก หรือ มะม่วงทองเอก เป็นมะม่วงที่มีอยู่ติดในสวนผลไม้แซมกับไม้ผลอื่น เช่น อยู่ตามสวนมะม่วง สวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ ของชาวสวนอัมพวาในบางพื้นที่ พบมากที่ตำบลเหมืองใหม่ ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงต้นแก่มีอายุมาก มีมาแต่เดิม ต้นปลูกใหม่ไม่ค่อยมี ยังพบมะม่วงมันทองเอกในเขตติดต่อกับอำเภออัมพวาที่อำเภอเมืองกับอำเภอบางคนที และที่จังหวัดราชบุรีในอำเภอมีเขตติดต่อกับอำเภออัมพวาที่อำเภอวัดเพลง อำเภอปากท่อ และอำเภอดำเนินสะดวก มะม่วงมันทองเอกมะม่วงคู่อำเภออัมพวามาแต่ดั้งเดิม เป็นส่วนหนึ่งของตำนานมะม่วงอัมพวา

มะม่วงมันทองเอกจัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงอกร่อง ใบป้อมปานกลาง หรือรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ลักษณะทรงผลรี (Elliptical) รูปทรงของผลมีส่วนคล้ายกับมะม่วงยายกล่ำ ส่วนหัวนูนใหญ่ ส่วนท้องกว้างหนา ส่วนก้นป้านเรียวลง น้ำหนักของผลแก่ อยู่ระหว่าง 3-4 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ผลโตจะได้ 2 ผล 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 50-60 บาท เมล็ดไม่ใหญ่มาก ผลเมื่อยังอ่อนมีรสเปรี้ยว เหมาะที่จะรับประทานขณะยังแก่พอห่ามๆ ใกล้จะแก่จัด ไม่ถึงกับสุก เนื้อสีเหลืองเข้มหรือสีเหลืองทอง เป็นมะม่วงมันไม่กี่ชนิดที่มีเนื้อสีเหลือง จึงเป็นที่มาของชื่อทองเอกที่มีเนื้อเหลืองดั่งสีทองเพียงชนิดเดียว

ทองเอกยังเป็นชื่อของขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง มะม่วงมันส่วนมากเมื่อผลแก่ (รับประทานผลดิบ) มักมีเนื้อสีขาว มะม่วงมันทองเอกมีรสชาติหวานมัน มีเปรี้ยวปนบ้าง เนื้อกรอบแน่น รสชาติอร่อยมาก เมื่อได้รับประทานกันแล้วจะติดใจ รับประทานกันจนเพลินไม่อยากวางมือ สามารถรับประทานได้เรื่อยๆ ถ้ายังไม่เบื่อ ความหวานของมันบางคนเปรียบเปรยว่า น้ำตาลยังอาย ควรรับประทานหลังจากเก็บไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ลืมต้น 2-3 วัน เพราะรสชาติจะไม่อร่อยเหมือนตอนสดๆ มีกลิ่นหอมของยางบ่งบอกถึงความมันต่างจากมะม่วงมันพันธุ์อื่น กระตุ้นให้อยากรับประทาน ผลสุกมีกลิ่นบ้างแต่ไม่หอมเหมือนพวกมะม่วงอกร่อง และไม่นิยมรับประทานผลสุกกัน มะม่วงมันทองเอกจึงมีครบทุกรส มีความสมบูรณ์ในรสชาติที่มะม่วงมันน้อยพันธุ์จะเหมือนได้ พบมีวางขายน้อยมาก

ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมจะพบมะม่วงมันทองเอกได้บ้างที่ตลาดอัมพวา ตลาดน้ำท่าคา ตลาดแม่กลอง และบริเวณหน้าวัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดหลวงพ่อบ้านแหลม) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แต่เป็นมะม่วงที่ไปจากสวนตำบลเหมืองใหม่ ที่กรุงเทพฯ มีผู้นำไปจำหน่ายบ้างแต่เป็นส่วนน้อย มีขายแถวสะพานพุทธ

คล้อยต้นปี 2559 มาได้ช่วงหนึ่ง ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมสวนของ คุณสถาพร อร่ามดี หนุ่มใหญ่ในวัยต้นๆ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 9 ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คุณสถาพรมีสวนผลไม้อยู่เยื้องๆ กับวัดแว่นจันทร์ (วัดตาด้วง) คนละฝั่งใกล้สวนลิ้นจี่ครูอี๊ด เพื่อไปติดต่อขอแบ่งกิ่งพันธุ์มะม่วงมันทองเอกแท้ การเดินทางไปสวนค่อนข้างลำบากสำหรับผู้ที่ไม่เคยไปและเคยชินกับถนนกว้างๆ เพราะเส้นทางวกวน เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามถนนคับแคบในสวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ สวนกล้วย และผ่านรีสอร์ตที่รุกล้ำคืบคลานเข้ามาอยู่ในสวนผลไม้หลายแห่ง จึงต้องโทร.ถามตลอดทางกว่าจะถึงสวนของเขา แม้ไปลำบากแต่บรรยากาศร่มรื่นตลอดเส้นทางด้วยร่มเงาของไม้ผลต่างๆ

คุณสถาพร ไม่มีพื้นฐานทางด้านการเกษตรมาก่อน เขาจบ ชั้น ปวช. อีเล็กทรอนิกส์ ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จบชั้น ปวส. อีเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยเอกชนที่กรุงเทพฯ และไปจบปริญญาตรี วิชาเอกการจัดการการผลิตพืช จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยใช้เวลาว่างเรียนระหว่างทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกในกรุงเทพฯ เขาใช้เวลาเรียนนานกว่าเพื่อน เพราะต้องเก็บวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับเกษตรหลายวิชา    จากนั้นอยากศึกษาต่อระดับปริญญาโท จึงสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในวิชาเอกการจัดการทรัพยากรการเกษตร แต่เรียนไม่จบ เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบจึงหยุดพักการเรียนและต้องลาออกจากงานมารักษาตัว เมื่ออายุได้ 40 ปี หลังจากรักษาตัวจนดีขึ้นแล้วจึงกลับมาบ้านอัมพวาอยากทำสวน

คุณสถาพร ล้มมะพร้าวในสวนของปู่ลง เป็นมะพร้าวที่ปลูกมาเนิ่นนาน เพื่อจะปลูกลิ้นจี่และทุเรียนแทน ประมาณ 10 ไร่ เนื่องจากตัวเองเป็นหลานคนโตของปู่และอยู่กับปู่ย่ามาตลอด จึงเป็นที่รักของปู่และย่า การโค่นมะพร้าวลงจึงไม่ค่อยมีใครกล้าขัด หลังจากปู่เสียชีวิตแบ่งที่ดินกันแล้ว เขาเหลือสวนลิ้นจี่และทุเรียน 5 ไร่ เขาให้ความสนใจกับทุเรียนพันธุ์โบราณที่เคยมีแต่ดั้งเดิมในพื้นที่อัมพวามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ พวงมณี และ บาตรทองคำ เขาสืบจนพบว่า ทุเรียนบาตรทองคำ อายุประมาณ 100 ปี มีอยู่ที่อัมพวา ทุเรียนบาตรทองคำ (อีบาตร) เป็น 1 ใน 3 พันธุ์ (ทองสุข และการะเกด) ของทุเรียนโบราณที่เคยกล่าวถึงในช่วงตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงคาบเกี่ยวกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

โดยเขาไปเจอ ทุเรียนบาตรทองคำ ที่สวนของ หมอเคลือบ พูลสวัสดิ์ (เป็นหมอยาพื้นบ้าน) สวนอยู่หลังโรงเรียนวัดบางนางลี่ใหญ่ (โรงเรียนประถมที่ผู้เขียนเคยเรียน) อยู่ตำบลสวนหลวง เขาได้ติดต่อกับทายาทคือ ครูอุบล และ ครูอุทุมพร พูลสวัสดิ์ สองพี่น้อง เพื่อขอพันธุ์ไปขยาย โดยบอกจุดประสงค์เพื่อจะอนุรักษ์ทุเรียนเก่าแก่ของอัมพวาไว้ เขาได้ไปทาบกิ่งไว้หลายขนาดโดยที่ทายาทไม่คิดค่าพันธุ์แต่อย่างใด

จากนั้นได้นำกิ่ง ทุเรียนบาตรทองคำ รวมกับทุเรียนอื่นมาปลูก 200 ต้น จนบางต้นสูงถึง 6 เมตร ใช้ไม้ค้ำต้นกำลังตกลูก แต่เกิดเหตุการณ์เอลนินโย่ติดต่อกัน ในปี พ.ศ. 2558 ทุเรียนบาตรทองคำ ที่ประคบประหงมตายไปเกือบหมด เหลือแค่ 4 ต้น และจนมาเหลือต้นเดียว เป็นต้นที่เกิดจากการเพาะด้วยเมล็ด สูงประมาณฟุตกว่า แต่ยอดด้วน เพราะเขาตัดยอดไปให้หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งช่วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ แต่หน่วยงานนั้นไม่สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ เขารู้สึกผิดหวังอย่างมากแทบหมดกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป

ทุเรียนบาตรทองคำ ได้ถูกรวบรวมพันธุ์ไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เป็นทุเรียนขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับทุเรียนหมอนทอง น้ำหนักได้ 6-7 กิโลกรัม ผลสุกเนื้อมีสีเหลืองทอง หวานอร่อย ผิดปกติต่างจากทุเรียนอื่น กลิ่นไม่ฉุนหรือแทบไม่มีกลิ่นเลย แต่จะมีกลิ่นหอมคล้ายน้ำอ้อย เนื้อบางมาก เมล็ดใหญ่ รสชาติใกล้เคียงกับทุเรียนหลงลับแล

ในสวนลิ้นจี่และทุเรียนของเขามีต้นมะม่วงมันทองเอกอยู่ต้นเดียว ปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ ต้นอยู่หน้าบ้านพักของเขา เป็นบ้านหลังเล็กๆ เขาอาศัยอยู่เพียงคนเดียว ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ส่วนภรรยาทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ การล้มต้นมะพร้าว ทำให้ชาวสวนหลายคนที่เห็นคิดว่า เขากำลังทำสิ่งที่ผิดปกติที่ไม่มีใครเขาทำกัน

การโค่นต้นมะพร้าวไม่ต่างกับการทิ้งรายได้ก้อนใหญ่ที่จะได้จากมัน แต่เขาตั้งใจจะทำมัน เพราะเชื่อว่าลิ้นจี่และทุเรียนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แม้จะเสี่ยงดวงกับการติดดอกออกผลในแต่ละปีก็ตาม ส่วนมะม่วงมันทองเอกนั้น เขาบอกว่ามะม่วงมันทองเอกต้นนี้รสชาติดีมาก อร่อย หวาน มัน กรอบ แน่น จะต้องอนุรักษ์มันไว้และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมันต่อไป เขาบอกว่าชาวอัมพวาสามารถประกันความอร่อยได้ว่าอร่อยกว่ามะม่วงเขียวเสวย ที่สวนของเขาปลูกต้นทองหลางตามริมร่องสวน เพื่อจะใช้ประโยชน์จากใบของมัน แม้มีมะม่วงมันทองเอกประจำสวนเหลืออยู่เพียงต้นเดียว แต่มันก็ทำเงินให้เขาพอสมควร

เมื่อมะม่วงมันทองเอกขึ้นห้าง

คุณสถาพร ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 คุณสถาพร ได้นำลิ้นจี่พันธุ์ค่อมลำเจียกและสำเภาแก้ว ขึ้นไปขายที่ห้างดังในกรุงเทพฯ ในราคาค่อนข้างสูงมาก ลิ้นจี่สำเภาแก้ว กิโลกรัมละ 400 บาท (399 บาท)  ขณะเดียวกันก็นำมะม่วงมันทองเอกติดไปด้วย 3 ลัง เนื่องจากเป็นช่วงที่มะม่วงมันทองเอกแก่พอดี ได้คัดเอาแต่ผลใหญ่เต็มมือ ขนาด 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ระหว่างที่ประชาชนรุมซื้อลิ้นจี่กันอยู่นั้น เขาได้นำมะม่วงมันทองเอกขึ้นมาขายคู่กัน พร้อมกับปอกให้ได้ชิม ส่วนมากเมื่อได้ชิมแล้วต่างติดใจในรสชาติ ยืนเรียงเข้าคิวเพื่อรอซื้อมะม่วงมันทองเอก มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับการขายมะม่วง เขาขึ้นป้ายขายมะม่วงมันทองเอก ในราคากิโลกรัมละ 159 บาท เมื่อผู้จัดการฝ่ายการตลาดเห็นประชาชนยืนเข้าแถวยาวเช่นนั้น จึงคิดว่าประชาชนรุมซื้อลิ้นจี่กัน ได้เข้ามาสอบถามเห็นเป็นมะม่วง ก็สงสัยถามว่า มะม่วงอะไร ราคาสูงเกินความจริง ในเมื่อมะม่วงที่อื่นขายกันในราคา กิโลกรัมละ 35 บาท พูดทำนองจะให้ลดราคา

มะม่วงมันทองเอกขึ้นห้าง
มะม่วงมันทองเอกขึ้นห้าง

คุณสถาพร คิดในใจเอาไว้ว่าเขาจะไม่ยอมลดราคามันและจะไม่ยอมลดศักดิ์ศรีความเป็นสุดยอดมะม่วงของอัมพวาลงอย่างเด็ดขาด ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบอกต่อไปว่า เขาทำผิดเงื่อนไข ตอนที่ลงทะเบียนไว้ว่า จะจำหน่ายลิ้นจี่ แต่นำมะม่วงมาขายด้วยจึงผิดสัญญา ขอให้เลิกขายมะม่วงเสีย เขายอมรับผิดแต่โดยดี มะม่วงมันทองเอกเพิ่งขายไปได้ 2 ลัง เหลืออีก 1 ลัง จากนั้นคุณสถาพรได้แจกจ่ายมะม่วงมันทองเอกให้กับประชาชนที่ยืนเข้าคิวที่เหลือจนหมด

สร้างความงุนงงให้กับประชาชนอย่างมาก ว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จึงแจกมะม่วงราคาแพงกันง่ายๆ เช่นนี้ เขาทราบดีว่ามีมะม่วงจากจังหวัดอื่นมาขายที่ห้างนี้เช่นกัน แต่ไม่มีมะม่วงมันทองเอกอย่างแน่นอน การกระทำของเขาอาจเป็นการขัดผลประโยชน์คนอื่นก็ได้ เนื่องจากมีประชาชนแห่มาซื้อมะม่วงมันทองเอกจากเขาเป็นจำนวนมาก แทนที่จะไปซื้อมะม่วงจากจังหวัดนั้น

เขาใช้เวลาขายมะม่วงมันทองเอกไม่ถึง 1 ชั่วโมง หมดไป 2 ลัง ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่คนอัมพวาแล้ว ด้วยการกอบกู้ศักดิ์ศรีของมะม่วงอัมพวาไว้ไม่ให้ต่ำลง มะม่วงรสชาติดี จะขายราคาถูกๆ มันคู่ควรกันหรือไม่ คุณค่าของมันพลอยลดต่ำลงไปด้วย เขามีส่วนช่วยยกระดับมะม่วงมันทองเอกขึ้นมา

แม้ว่าแม่ค้ารายอื่นๆ ที่อัมพวาจะขายราคาต่ำก็ตาม แต่ถ้าหากพวกแม่ค้าเหล่านั้นได้ทราบการยกระดับราคามะม่วงรสชาติดีหายาก ก็คงจะต้องขยับราคาให้สูงขึ้นตามอย่างแน่นอน ใครได้ชิมมะม่วงมันทองเอกจากห้างในครั้งนั้น คงซาบซึ้งในรสชาติของมันดี หลังจากนั้น ก็ไม่มีมะม่วงมันทองเอกปรากฏในห้างนั้นอีกเลย

ก่อนจะจากสวนของคุณสถาพร ผู้เขียนขอแบ่งกิ่งมะม่วงมันทองเอกพันธุ์แท้ 1 กิ่ง กับยอดอีกหลายยอด ผู้เขียนได้นำกิ่งทาบให้กับสวนลุงเล็ก (เสน่ห์ ลมสถิตย์) อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ให้แกขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนกิ่งพันธุ์เพื่อให้มันได้แพร่กระจายออกไปทั่วประเทศ ในอนาคตคนไทยจะได้รู้จัก ได้ลิ้มรสชาติของมัน ในนาม มะม่วงมันทองเอกจากอัมพวา

มะม่วงมันทองเอก ที่ภาคเหนือ  

พบ มะม่วงมันทองเอก ที่จังหวัดแพร่ ในอำเภอเด่นชัย อำเภอสูงเม่น ที่สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง เลขที่ 91 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ได้ปลูกมะม่วงมันทองเอกพร้อมกับมะม่วงอื่นไว้หลายปีแล้ว จนให้ผลผลิต   โดยได้กิ่งมาจากสถานีอบใบยาสูบเด่นชัย ซึ่งไม่ทราบว่าทางสถานีอบใบยาสูบได้พันธุ์มะม่วงมันทองเอกมาจากไหน น่าจะได้มาจากภาคกลาง  ทุกปีทางสวนจะเก็บผลผลิตมาขายหน้าสวนในราคาย่อมเยา

มะม่วงมันทองเอก มะม่วงมีเอกลักษณ์ในตัวต่างจากมะม่วงอื่น มันได้พิสูจน์ตัวมันเองแล้วว่า มันควรจะโดดเด่นกว่ามะม่วงมันด้วยกัน จะกดราคาให้มันต่ำเหมือนกับมะม่วงมันทั่วไปคงไม่สมควร ศักดิ์ศรีของสุดยอดมะม่วงมันทองเอกต้องคงไว้ ถ้าหากท่านต้องการหามะม่วงมันทองเอกแท้ดั้งเดิมเป็นต้นตำนาน ต้องมาที่อัมพวาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ ทุเรียนบาตรทองคำ และ มะม่วงมันทองเอก ให้เข้าไปหาที่เฟซบุ๊ก  Nawan Tropical Garden หรือ โทร.ไปสอบถามกับ คุณสถาพร อร่ามดี โดยตรงที่เบอร์โทร.(081) 697-8763