โรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ

พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส และพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยนั้น มีมากมายมหาศาล ทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ท่าน ได้มีให้เพื่อปวงชนชาวไทย และที่อีกนานาประเทศนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” (Agriculture-Monarch) พระองค์ท่าน ทรงให้แนวทางการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้านวิธีการดำเนินงาน กระบวนการที่จะทำให้เกษตรกรมีการพัฒนาตนเอง คือการพัฒนาคน ต้องมีการจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม มีแบบอย่าง ผู้ที่มีหน้าที่ในการ ถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัตินั้น ต้องได้รับการฝึกฝน เชี่ยวชาญรอบด้าน ทั้งด้านวิชาการ และกระบวนการถ่ายทอด ดังเช่น “โครงการโรงเรียนเกษตรกร”

“มีแปลงนาเป็นอาจารย์ ประสานกับผู้รู้ ที่นี่ไม่มีครู เรียนรู้จากการทำจริง” ซึ่งเป็น ตีม หรือธีม (Theme) ที่เป็นคำจำกัดความ กระบวนการที่มุ่งพัฒนาเกษตรกรที่ทำนา หรือชาวนา ให้ทำนาปลูกข้าวได้ คุณภาพดี ผลผลิตสูงตามศักยภาพ มีการรวมกลุ่ม ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมลงมือทำด้วยกัน มุ่งสู่ความสำเร็จผล ตามที่กลุ่มร่วมกันวางแนวทาง ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวนาเท่านั้น เกษตรกรที่ปลูกผัก ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ปลูกพืชไร่ ทำไร่นาสวนผสม ใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เป็นรูปแบบดำเนินการทั้งสิ้น

แนวทางกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกร โดยเน้นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกษตรกร คิดเป็น ทำเป็น โดยดำเนินการในสถานที่ปลูกพืชของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาล การเพาะปลูก เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยกันคิดวิเคราะห์ หาทางเลือก และตัดสินใจร่วมกัน เกษตรกรมีโอกาสเรียนรู้วิธีการ และขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ตลอดจนรับข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งโรงเรียนเกษตรกรนี้ เกษตรกรทั้งชาย หญิง เด็กเยาวชน มีโอกาสเรียนรู้เท่าเทียมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ช่วยให้เกิดความร่วมมือ ความเชื่อถือจากเกษตรกร อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจ และสร้างคุณค่าของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานยิ่งขึ้น เกษตรกรมีโอกาสร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจในการประกอบอาชีพการเกษตร มีส่วนช่วยให้เกิดความรัก ความสามัคคีในกลุ่มคน มีความรู้ มีคุณธรรม ตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โรงเรียนเกษตรกร เป็นการให้การศึกษาเรียนรู้ที่ให้แก่ประชาชนรูปแบบหนึ่ง เป็นการศึกษาเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งเกิดจากสมมุติฐานคือ เชื่อว่าเกษตรกรต่างก็มีภูมิปัญญา มีประสบการณ์ในการทำการเกษตรระดับหนึ่ง สามารถพัฒนาขึ้นได้ จากการนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปผสมผสานกับสิ่งที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม อย่างกลมกลืน โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร และเกษตรกรมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมกันเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยใช้ปัจจัยการผลิตในระดับที่เหมาะสม กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรนี้ เกษตรกรจะได้รับการพัฒนา โดยบางกรณีเกษตรกรอาจไม่รู้ตัวว่า กำลังเรียนรู้หรือถูกสอน เกิดการยอมรับโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนสำหรับเกษตรกรเอง

การถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร ในอดีตส่วนใหญ่เกษตรกรถูกจัดให้เป็นผู้รับเทคโนโลยี โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้บรรยายวิชาการ และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต วิธีนี้อาจไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ เป็นการยัดเยียดความรู้สู่เกษตรกร มากกว่ากระตุ้นให้เกษตรกรได้รับความรู้ตามที่เกษตรกรต้องการ จึงต้องจัดกิจกรรมเพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะในการตัดสินใจโดยตัวเกษตรกรเองด้วย จึงเน้นกระบวนการให้การศึกษา โดยเกษตรกรร่วมกันศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่การวางแผน ศึกษา วิเคราะห์ ทดลอง และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีการพบปะกัน ระหว่างเกษตรกร กับเจ้าหน้าที่ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ตั้งแต่เริ่มปลูกพืช เพื่อให้เรียนรู้ถึง ความเจริญเติบโตของพืชในแต่ละช่วง ระยะเวลาการเจริญเติบโต ความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ดิน น้ำ และพืช แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เป็นการฝึกให้เกษตรกรคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตนเอง โดยอาศัยคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หรือความรู้จากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น มาฝึกทำอย่างง่ายๆ เพื่อพิสูจน์เปรียบเทียบผล แบ่งกลุ่มเรียนรู้ นำผลมาอภิปรายกลุ่ม มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนอย่างใกล้ชิด เป็นผู้อำนวยความสะดวก(facilitator)

โรงเรียนเกษตรกร (Farmers Field School) เป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้สำหรับผู้ใหญ่แบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่สูงนัก แต่มีประสบการณ์ในการทำการเกษตรมาเป็นเวลานาน เมื่อมารวมกลุ่มกัน กระจายความคิด ความรู้ ประสบการณ์ แบ่งปันกัน และร่วมกันวิเคราะห์ วิจารณ์ ตัดสินใจทดลอง และยอมรับ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือเป็นวิทยากรกระบวนการ เป็นผู้ให้คำปรึกษาในบางเรื่อง ที่กลุ่มไม่รู้ เช่น วิชาการเกษตรใหม่ๆ เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ การประยุกต์ใช้ความรู้ภูมิปัญญา ฯลฯ

การดำเนินการตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรนี้ เป็นแนวทางตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นคือแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เป็น โครงการในพระราชดำริ แยกเป็นรายกลุ่มอาชีพ ได้แก่ โรงเรียนเกษตรกรข้าวในพระราชดำริ โรงเรียนเกษตรกรพืชผักในพระราชดำริ โรงเรียนเกษตรกรไม้ผลในพระราชดำริ เป็นต้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ดำเนินการโครงการนี้ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งทุกพื้นที่ต่างเห็นผลสำเร็จในการดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริดังกล่าว และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้