เพาะพันธุ์ปลากราย เป็นงานสร้างเงิน เน้นพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติ และจากเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นอาชีพ

หากเอ่ยถึงเมนูอาหารที่ทำจากเนื้อปลากราย สิ่งที่ทุกคนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้น ทอดมันปลากราย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเนื้อปลากรายนั้นสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นแกงป่า หรือแม้แต่แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ฯลฯ

การที่จะได้เนื้อปลากรายมาประกอบอาหารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ผู้เขียนเคยเห็นในสมัยก่อนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ภาพของหญิงชราที่ใบหน้าเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม ก็คือย่าของผู้เขียนเอง ท่านกำลังนั่งใช้ช้อนค่อยๆ ขูดเนื้อปลากรายออกจากหนังทีละแผ่น ซึ่งใช้เวลาเอาเรื่องเหมือนกัน

เนื่องจาก ปลากราย เป็นปลาที่มีเนื้อค่อนข้างน้อย ต้องผ่านการชำแหละให้ออกมาเป็นแผ่นทั้งแถบพร้อมหนัง เมื่อได้เนื้อมาแล้วความอร่อยที่เหนียวหนึบนุ่มละมุนในลิ้น ต้องผ่านการนำเนื้อปลาไปโขลกลงในครกหินเสียก่อน พร้อมทั้งดูก้างปลาออกไปด้วยพร้อมๆ กัน ใช้เวลาสักพักเนื้อปลาจะเริ่มเหนียวมีความหนึบ เมื่อนำไปแกงตามเมนูต่างๆ รสชาติของเนื้อปลาที่ได้ลิ้มรสนั้น แหม่! …พูดแล้วน้ำลายสอเลยทีเดียว

ปัจจุบัน ปลากราย เริ่มหาได้น้อยลงเต็มทีจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การที่จะได้ปลากรายมาขูดทำลูกชิ้นปลากรายหากินได้ยาก และที่สำคัญยิ่งมีราคาที่แพงขึ้นอีกด้วย ทำให้การกินลูกชิ้นปลากรายอาจกินได้ไม่บ่อยนัก

แต่ ณ เวลานี้ การหาเนื้อปลากรายที่ว่ายากไม่เป็นอุปสรรคเสียแล้ว เพราะได้มีการเลี้ยงเพื่อเป็นปลาเนื้อ และที่สำคัญสามารถเพาะพันธุ์ได้อีกด้วย จนทำให้จำนวนของปลากรายมีมากพอต่อความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบ

คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์
คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์

คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ อยู่บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่ชื่นชอบปลากรายมาตั้งแต่เด็ก จนทำให้สัตว์น้ำจืดชนิดนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ ที่อยากทดลองเพาะพันธุ์ด้วยสองมือของเขาเอง ซึ่งจากความพยายามไม่ได้นำมาแต่ความสำเร็จ แต่สามารถเป็นงานที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับเขาได้อีกด้วย

 

Advertisement

ทำอาชีพนี้ เพราะความชอบ

คุณวิทยา เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีตนมีอาชีพทำงานเกี่ยวกับเครื่องกลอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา ปี 2543 มีเหตุต้องย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงยึดอาชีพเพาะพันธุ์ปลาเพื่อเป็นอาชีพในขณะนั้นด้วย

Advertisement

“เหตุที่ต้องย้ายมาที่นี่ พอดีแม่ของภรรยาเสียชีวิต ก็เลยได้ย้ายมาอยู่ที่สุพรรณฯ ซึ่งเราเป็นคนที่ชอบปลากรายอยู่แล้วสมัยยังเด็ก ช่วงนั้นก็เลยลองเพาะพันธุ์ดู ก็ทดลองเพาะกับธรรมชาติก่อน คือใช้บ่อใช้คลองแบบธรรมชาติ เพราะช่วงนั้นเราไม่มีที่ ต่อมาเมื่ออะไรเข้าที่เข้าทางก็ขยับขยาย มาทำบ่อของตัวเอง ปรากฏว่าที่เพาะพันธุ์ทั้งหมดมันขายได้ เราก็เลยเริ่มมาทำบ่อเพาะอย่างจริงจัง เพราะว่าจะทำแบบธรรมชาติไม่ได้แล้ว ลูกปลามันได้จำนวนที่น้อยลง” คุณวิทยา เล่าถึงความเป็นมา

วิทยาการความรู้ของการเพาะพันธุ์ปลากรายนั้น คุณวิทยา เล่าว่า ได้ไปศึกษาที่สำนักงานประมงในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องการเพาะพันธุ์ปลากรายโดยเฉพาะ จึงเป็นผลทำให้เขาประสบผลสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจมาจนทุกวันนี้

 

เน้นพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติ และจากเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นอาชีพ

ช่วงที่ปลากรายวางไข่เพื่อการขยายพันธุ์จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนตุลาคม ซึ่งการผสมพันธุ์ปลากรายให้ลูกปลามีความแข็งแรง คุณวิทยา บอกว่า ต้องหาสายพันธุ์จากแหล่งอื่นมาผสมด้วย ลูกปลาจึงจะมีความแข็งแรง เพื่อให้ภายในบ่อมีพ่อแม่พันธุ์มีความหลากหลาย

“ปลากรายที่มีก็จะซื้อจากคนที่เขาไปหามาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มาครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ช่วงหลังก็จะขอซื้อจากคนที่รู้จัก ที่เขาเลี้ยงสำหรับขาย ก็จะขอซื้อเขามาบ้างเพื่อไขว้สายพันธุ์ เพื่อให้ลูกปลากรายที่ได้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งการนำปลามาเลี้ยงภายในบ่อก็ต้องทำเลียนแบบธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ให้เหมือนเขาอยู่ตามธรรมชาติ” คุณวิทยา เล่าถึงการได้มาของพ่อแม่พันธุ์

บ่อสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
บ่อสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

นำพ่อแม่พันธุ์ปลากรายมาใส่บ่อดิน ที่มีขนาดประมาณ 1-2 ไร่ ที่มีความลึก ตั้งแต่ 120-170 เซนติเมตร โดยให้พื้นบ่อมีตื้นลึกสลับกัน

“ปลากราย ที่สามารถวางไข่ได้ต้องมีอายุอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ประมาณต้นเดือนมีนาคม ปลากรายก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงวางไข่ ซึ่งช่วงนั้นจะนำไม้ที่เป็นแผ่นๆ มีความยาว 80-90 เซนติเมตร ใช้ประมาณ 100 แผ่น ปักลงภายในพื้นบ่อ หมั่นลงไปเช็กทุก 5 วัน ว่าปลามาไข่ติดไว้ที่แผ่นไม้ไหม ถ้ามีก็เอาขึ้นมาฟักต่อ แต่ถ้าไม่มีก็ปักลงไปเหมือนเดิม” คุณวิทยา บอก

ลูกปลากรายที่ฟักออกจากไข่
ลูกปลากรายที่ฟักออกจากไข่

อาหารสำหรับใช้เลี้ยงปลากราย จะเป็นอาหารเม็ดที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ โดยให้สลับกับเหยื่อสด วันละ 1 ครั้ง เนื่องจากปลากรายไม่ได้ส่งจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ แต่เลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ดังนั้น จะไม่เน้นให้ปลามีลักษณะที่อ้วนมากเกินไป

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเช็กแผ่นไม้ที่ปักในบ่อ ว่ามีปลามาวางไข่หรือไม่ คุณวิทยา บอกว่า จะปล่อยน้ำให้มีระดับลดลงประมาณ 50 เซนติเมตร เสียก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ปลากรายวางไข่อีกด้วย

“ช่วงแรกปลาจะให้ไข่ได้น้อยหน่อย ซึ่งช่วงที่เราไปงมดูแผ่นไม้ เราก็จะเอาน้ำในบ่อออกบ้าง พอเรางมไข่ขึ้นมาได้ ช่วงเย็นๆ จะปล่อยน้ำเข้ามาในบ่อให้เพิ่มขึ้นเท่าเดิม เพราะการทำแบบให้น้ำขึ้นน้ำลง มันก็เป็นการกระตุ้นให้ปลาไข่ได้ดีด้วย” คุณวิทยา อธิบาย

บ่อปูนสำหรับฟักไข่ ต้องเปิดออกซิเจนตลอดเวลา
บ่อปูนสำหรับฟักไข่ ต้องเปิดออกซิเจนตลอดเวลา

จากนั้นนำแผ่นไม้ที่มีไข่ปลากรายติดอยู่มาใส่ลงในบ่อปูน ขนาด 1.20×1.50 เมตร ความลึก 80 เซนติเมตร หรือถ้าใครมีภาชนะ เช่น โอ่งใหญ่ ก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยต้องมีเครื่องทำออกซิเจนอยู่ภายในบ่อตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ ซึ่งระยะนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกปลากรายยังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่หน้าท้อง อยู่ได้ประมาณ 3 วัน เรียกปลาขนาดไซซ์นี้ว่า ไซซ์ตุ้ม ก็สามารถจำหน่ายได้

การเพาะพันธุ์ปลากรายให้ได้ผลดี พ่อแม่พันธุ์ถือว่ามีความสำคัญมาก ต้องมีความสมบูรณ์ ยิ่งมีแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ต่อตัว อัตราการให้ไข่ก็ยิ่งดีตามไปด้วย และที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ สภาพแวดล้อมที่เลี้ยง ซึ่งหลังจากเก็บไข่ขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องจำลองภายในบ่อให้ปลาเหมือนอยู่กับธรรมชาติ เช่น การเปิดสปริงเกลอร์ช่วยให้คล้ายเหมือนฝนตกก็จะทำให้ปลายกรายวางไข่ได้เร็วขึ้น

คุณวิทยา ยังเล่าต่อไปถึงเรื่องอุปสรรคในการเพาะพันธุ์ปลากรายว่า น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากได้น้ำที่ไม่สะอาด เมื่อนำมาใส่ลงในบ่อจะทำให้เวลาที่ปลาวางไข่ ไข่ของปลากรายจะเสียและไม่มีความแข็งแรง

 

จำหน่ายไซซ์ตุ้ม เพื่อส่งต่อไปอนุบาล

จากความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลากรายด้วยสองมือของคุณวิทยา เขาเล่าว่าเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กันก็คือ เรื่องการตลาด เพราะเขาเป็นเจ้าใหม่ๆ ในสมัยก่อน ที่เข้าสู่วงการนี้จึงต้องสู้รบปรบมือกับคู่แข่งค่อนข้างมาก

“ช่วงแรกที่เรามีลูกปลาพร้อมจำหน่ายแล้ว บอกเลยว่าตลาดนี่ยังไม่แน่นอน โดนกดราคาบ้าง อย่างสมมุติตกลงราคากันอยู่ที่ 30 สตางค์ พอเขามาซื้อเราจริงๆ ก็บอกปลาตอนนี้เหลือตัวละ 10 สตางค์นะ เขาขายไม่ค่อยได้ เราก็เลยต้องจำยอม เพราะตลาดเรายังไม่กว้างพอ” คุณวิทยา เล่าถึงอุปสรรคของตลาด

kay-9

ต่อมาเมื่อเป็นที่รู้จักของคนที่สนใจอยากเลี้ยงปลากรายเป็นอาชีพมากขึ้น เรื่องตลาดจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขาอีกต่อไป จึงผลิตลูกปลากรายไซซ์ตุ้มเพื่อให้ลูกค้านำไปอนุบาลต่อ โดยจำหน่ายลูกปลากรายไซซ์ตุ้ม อยู่ที่ตัวละ 20-30 สตางค์ ซึ่งราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งต่อไปในอนาคตจะไม่ได้จำหน่ายแต่ปลาไซซ์ตุ้มอย่างเดียว แต่จะทำเป็นปลาไซซ์นิ้วอีกด้วย เพื่อตอบโจทย์กับลูกค้ามากขึ้น

สำหรับผู้ที่อยากเพาะพันธุ์ปลากรายเป็นอาชีพหรือเลี้ยง คุณวิทยา ให้คำแนะนำว่า

“ใครที่อยากทำเป็นอาชีพ มันมี 2 แบบ คืออย่างแรกเพาะพันธุ์แบบผม คือทำเป็นปลาไซซ์ตุ้ม ต้องบอกก่อนว่ามันทำไม่ยาก แต่ต้องมีตลาดที่แน่นอน อย่างช่วงที่ปลาขาดตลาด ถ้าเรามีปลายังไงก็ขายได้ ใครๆ ก็ซื้อ อีกอย่างการจะสำเร็จต้องมีใจรักที่จะทำด้วย เพราะไข่เราจะได้จากปลานี่ 7-8 เดือน ซึ่งช่วงที่ไม่ได้ให้ไข่เราก็ต้องดูแลเขาด้วย ก็ให้อาหารปกติเหมือนเดิม อย่าให้เขาอด”

“ส่วนคนที่อยากเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ ปัจจัยที่สำคัญต้องมีทุนที่ดี และที่สำคัญใจต้องหนักแน่น เพราะว่าใช้เวลาเลี้ยงนานหน่อยกว่าจะได้ขาย ซึ่งตอนนี้การเลี้ยงก็ง่ายใช้อาหารเม็ด ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน ที่เป็นเหยื่อสด ทุกอย่างขอให้มีใจรักพอ และก็ชอบทำจริงๆ ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินความพยายาม ใครที่สนใจก็สอบถามที่ผมได้ ยินดีให้คำปรึกษา” คุณวิทยา กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ หรือที่ลูกค้ารู้จักกันในชื่อ เอ๋ ปลากราย ที่หมายเลขโทรศัพท์ (086) 166-7873     

kay-2
การงมไข่ปลากรายขึ้นจากบ่อ

kay-8

ขั้นตอนการนับเพื่อส่งจำหน่าย
ขั้นตอนการนับเพื่อส่งจำหน่าย