หนุ่มใหญ่ ใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์กว่าง เพื่อช่วยย่อยสลายเศษวัสดุทางการเกษตร

กว่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไป

            คุณบรรพต ปฐวี หรือ หนานติ้ง (ทางภาคเหนือ จะเรียกผู้ผ่านการบวชพระมาว่า “หนาน”) หนุ่มใหญ่แห่งบ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังถึงชีวิตครั้งก่อนว่า สมัยหนุ่มๆ มีโอกาสได้เข้าไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง เคยบวชเรียน และเดินทางไปเรียนยังประเทศอินเดีย หากไม่สึกออกมาเสียก่อน ปานนี้คงเป็นเจ้าคุณไปแล้ว เมื่อสิกขาลาเพศบรรพชิต ก็เลยได้ไปใช้ชีวิตในหลายๆ แง่มุม ทั้งบริษัทเอกชน และสวนนงนุช ที่โด่งดังในเรื่องการจัดสวน มีความรู้เหล่านี้ติดตัวมา

หนานติ้ง-คุณบรรพต ปฐวี ผู้อนุรักษ์พันธุ์กว่าง
หนานติ้ง-คุณบรรพต ปฐวี ผู้อนุรักษ์พันธุ์กว่าง

เมื่อพบรักกับภรรยา มีลูกด้วยกัน 2 คน ก็มีเหตุบังเอิญให้เลิกรากัน เบื่อหน่ายชีวิตเมืองกรุงจึงมุ่งกลับสู่ท้องนา นำความรู้ ประสบการณ์ มาใช้ที่บ้านบัวแห่งนี้ คิดว่ากลับมาอยู่ชนบทแล้วอากาศธรรมชาติจะดี กลับกลายเป็นว่ามาพบการเผาเศษวัสดุหรือตอซังข้าว เกิดอาการแพ้ จึงเริ่มรณรงค์ ให้งดการเผา เมื่อไม่ให้เผา ก็ต้องหาวิธีการที่ทำลายเศษวัสดุเหล่านั้น ครั้นจะรณรงค์หรือชักชวนผู้ใหญ่ก็เป็นไม้แก่ที่ดัดยากเสียแล้ว จึงหันไปรณรงค์ในกลุ่มของเด็กและเยาวชนแทน

สังคมในภาคเหนือมีวัฒนธรรมและประเพณีอย่างหนึ่งคือ การเล่นชนกว่าง ซึ่งตัวกว่างก่อนที่จะออกมาเป็นตัวเต็มวัย จะผ่านการเป็นหนอนและดักแด้ก ในช่วงดังกล่าวเขาจะใช้เศษวัสดุเป็นซากพืชเป็นอาหารโดยการกินจนย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับต้นพืช โดยชักชวนให้เด็กๆ ในหมู่บ้านออกหากว่าง เพื่อนำไปขายกับนักเล่นกว่าง ทำให้มีรายได้ เมื่อหมดฤดูกาลก็นำมาผสมพันธุ์แล้วปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ และปล่อยลงกองเศษวัสดุการเกษตรเพื่อช่วยย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยใช้ปลูกต้นไม้ได้อย่างวิเศษสุด เมื่อหมู่บ้านเข้าประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ต้นจนถึงระดับประเทศ เมื่อ ปี 2553 หนานติ้ง เป็นหนึ่งในทีมของหมู่บ้านที่ให้ได้รางวัลถ้วยพระราชทาน

เมื่อพูดถึงการชนกว่าง เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่นิยมเล่นกันมาเป็นเวลานานแล้ว จนกลายเป็นประเพณี แต่จะเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ ปัจจุบันยังมีการเล่นกันอยู่ แต่อาจจะไม่มากเท่ากับในอดีต การเล่นชนกว่างของชาวล้านนานิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เฉพาะในฤดูฝน คือประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พอออกพรรษาแล้วก็ค่อยๆ เลิกรา ปล่อยกว่างกลับสู่ธรรมชาติ เพื่อสืบลูกสืบหลานทำการเกิดใหม่ในปีหน้าตามวงจรของมัน
กว่าง เป็นชื่อเรียกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มี 6 ขา กว่างบางชนิดมีเขา บางชนิดไม่มีเขา

กว่างโซ้ง
กว่างโซ้ง

กว่าง จะชอบกินน้ำหวานจากอ้อย กว่างบางชนิดไม่นิยมนำมาเลี้ยง บางชนิดนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น เช่นกว่างซาง กว่างงวง กว่างกิ กว่างกิอุ และกว่างอี้หลุ้ม

วงจรชีวิตของกว่าง กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี คือช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม กว่างทั้งตัวผู้และตัวเมียจะขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งใช้วงจรชีวิตช่วงนี้ประมาณ 4 เดือน พอเข้าในฤดูหนาว กว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์ก็จะขุดดินแล้ววางไข่ ส่วนตัวเองก็จะตาย ไข่ก็ฟักเป็นตัวหนอน เป็นดักแด้อาศัยอยู่ใต้ผิวดินจนถึงต้นฤดูฝนก็จะขุดดินขึ้นมาผสมพันธุ์ ดำรงชีวิตสืบลูกหลานต่อไป

กว่างทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วเตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติ
กว่างทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้วเตรียมปล่อยสู่ธรรมชาติ

การจับกว่าง ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เป็นเวลาที่ชาวบ้านในสมัยก่อนมีเวลาว่าง เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง เมื่อว่างจากการงาน ผู้ชายจะสนุกกับการเล่นชนกว่างกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การหา กว่างหาได้จากตามสุมทุมพุ่มไม้หรือป่าในเขตของหมู่บ้านที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะในเวลาเช้าจะหาได้ง่ายกว่า เพราะกว่างยังไม่เข้าไปหลบอยู่ใต้พุ่มไม้

Advertisement

อีกวิธีหนึ่งคือ การตั้งกว่างหรือใช้กว่างล่อ โดยใช้กว่างที่มีขนาดเล็ก เช่น กว่างกิ กว่างแซม หรือจะใช้กว่างตัวเมียที่เรียกว่ากว่างแม่อีหลุ้มก็ได้ ผูกกว่างด้วยเชือกเส้นเล็กฟั่นจากฝ้ายโยงกับอ้อยที่ปอกครึ่งท่อน ใช้ไม้ขอเสียบส่วนบนหรือใช้กล้วยน้ำหว้าใส่ในตะกร้าเล็กๆ หรือในกะลา ผูกกว่างขนาดเล็กไว้เป็นกว่างล่ออยู่ข้างใน แล้วนำอ้อยหรือตะกร้าไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในตอนหัวค่ำ โดยหาทำเลที่เป็นชายป่าหรือในบริเวณที่ใกล้กับเนินดิน การแขวนไม่ให้สูงมาก ในตอนกลางคืน กว่างตัวล่อ จะบินมีเสียงดังดึงดูดให้กว่างที่บินเวลากลางคืนให้เข้ามาหา เพื่อติดกับโดยมีอ้อยที่เป็นอาหารที่ชอบหลอกล่ออยู่ ถ้าเป็นกว่างโซ้งก็นำไปเลี้ยงไว้เพื่อชนต่อไป ถ้าเป็นกว่างแซมก็เก็บไว้เป็นกว่างล่อ ถ้าเป็นกว่างตัวเมียที่เรียกว่ากว่างแม่อีหลุ้มก็เก็บใส่กระป๋องและใส่อ้อยข้างในเลี้ยงไว้ เพื่อใช้ล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน

กว่าง มีหลายชนิด เช่น กว่างก่อ กว่างชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ก่อ ลักษณะเด่นชัดของกว่างชนิดนี้คือ ตามตัวมีขน มีความแข็งแรงและอดทนมากกว่ากว่างที่ใช้กันโดยทั่วไป ทำให้บางคนใช้กระดาษทรายมาขัดกว่างชนิดนี้ แล้วนำไปชนกับกว่างชนซึ่งมักจะชนะทุกครั้ง โดยปกติแล้วกว่างก่อนี้ถือว่าเป็นกว่างป่าชนิดหนึ่งที่ไม่แพร่หลาย จึงไม่นิยมนำมาชนแข่งกัน
กว่างกิ หมายถึง กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น (กิ แปลว่า สั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียวกว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน กว่างกิมี 2 ชนิด คือ กว่างกิขี้หมู และกว่างกิทุ
กว่างงวง กว่างหน่อ กว่างงวงหรือกว่างหน่อ คือด้วงงวงของภาคกลาง กว่างชนิดนี้ชอบกินหน่อไม้หรือยอดอ่อนมะพร้าวมีขนาดเล็ก สีดำ ตรงปากจะมีส่วนยื่นเป็นงวงและไม่มีเขา กว่างชนิดนี้ไม่มีการนำมาเลี้ยงเพื่อชนกัน
กว่างซาง เป็นกว่างขนาดใหญ่ สีของปีกออกไปทางสีครีมหรือสีหม่น มีเขา 5 เขา ข้างบนมี 4 เขาเรียงกันจากซ้ายไปขวา ข้างล่างมี 1 เขา ไม่นิยมนำมาชนกัน เพราะอืดอาดไม่แคล่วคล่องว่องไว ชนไม่สนุก
กว่างโซ้ง ตัวผู้มีเขายาวและหนาทั้งข้างล่างข้างบน ลำตัวสีน้ำตาลแดงกว่า กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง “ซี่ๆ” ตลอดเวลา นิยมใช้ชนกัน
กว่างแซม มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาก็สั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อม หรือให้เด็กๆ เล่นกัน
กว่างฮัก หรือกว่างรัก กว่างฮักนี้ตัวมีสีดำเหมือนสีของน้ำรัก รูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับกว่างแซม กว่างชนิดนี้ไม่ค่อยใช้ชนกัน เพราะกล่าวกันว่าน้ำอดน้ำทนสู้กว่างโซ้งไม่ได้ ดังที่ว่า “กว่างฮักน้ำใส ไว้ใจ๋บ่ได้”
กว่างดอยหล่อ ดอยหล่อเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กว่างดอยหล่อมีชื่อเสียงในด้านความอดทน แข็งแกร่ง พูดกันว่าเป็นกว่างที่ผ่านความลำบากในการขุดหินขุดทรายขึ้นมา จึงมีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อใครได้กว่างดอยหล่อมาเลี้ยงไว้ชน จึงมั่นใจได้ว่ามีกว่างที่ดีและอดทน เมื่อถึงฤดูเล่นกว่างมาถึง นักเล่นกว่างจึงแสวงหากว่างดอยหล่อมาเลี้ยง บางคนถึงกับเดินทางไปที่หมู่บ้านดอยหล่อเพื่อหากว่างชนดอยหล่อก็มี
กว่างแม่อีหลุ้ม คือกว่างตัวเมียซึ่งไม่มีเขา กว่างชนิดนี้บางแห่งเรียก กว่างแม่อู้ด, กว่างแม่มูดหรือกว่างแม่อีดุ้ม กว่างตัวเมียนี้จะมีทั้งชนิดตัวเล็กและตัวใหญ่ มีทั้งสีน้ำตาลและสีดำ กินจุกว่ากว่างตัวผู้ ริมปากมีลักษณะเป็นฝาสำหรับขุด ซึ่งจะขุดอ้อยให้เป็นแอ่งเป็นขุยเห็นได้ชัด ปกติจะใช้กว่างแม่อีหลุ้มนี้เป็นตัวล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน กว่างตัวเมียนี้เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูลงดินเพื่อวางไข่แล้วจึงตาย
กว่างหนวดขาว ลักษณะเหมือนกับกว่างโซ้ง แต่ต่างกันที่ตรงหนวดจะมีสีขาว เชื่อกันว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดขาวนี้จะชนจะสู้กับกว่างทุกขนาด กว่างหนวดดำจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะเกรงกลัวอำนาจของพญา บางครั้งกำลังชนกันพอรู้ว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดดำหรือกว่างธรรมดาก็จะถอยหนี คือไม่ยอมเข้าหนีบด้วย มีนักเล่นกว่างบางคนหัวใส เมื่อได้กว่างหนวดขาวมาก็พยายามย้อมหนวดของกว่างให้เป็นสีดำเหมือนกับกว่างทั่วไป โดยใช้ยางไม้กับมินหม้อผสมกัน แต้มหนวดขาวให้เป็นดำเมื่อนำไปชนบางครั้ง สีที่ย้อมหนวดหลุดออกอีกฝ่ายจับได้ว่าใช้กว่างหนวดขาวปลอมมาชน เกิดทะเลาะกันก็มี
กว่างหาง มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือสีของน้ำครั่ง กว่างชนิดนี้ใช้ชนได้เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วคนมักจะกล่าวกันว่ากว่างหางจะไม่เก่งเท่ากว่างโซ้ง

Advertisement
ด้วงกว่างในดิน
ด้วงกว่างในดิน

การเลี้ยงกว่าง เมื่อได้กว่างโซ้งที่ถูกใจมาแล้ว นักนิยมกว่างจะเลี้ยงดูกว่างอย่างดี โดยหาอ้อยที่หวานจัดมาปอกเปลือกให้ ส่วนที่ตัวกว่างก็ใช้ด้ายสีแดงมาฟั่นยาว ประมาณ 1 คืบ มาผูกที่ปลายเขาด้านบนเพื่อกันกว่างบินหนี ที่โคนลำอ้อยมีตะขอกันไม่ให้จิ้งจกเลียตีนกว่าง เพราะถ้าจิ้งจกเลียตีนกว่างแล้ว กว่างจะเกาะคอนได้ไม่มั่นคง นอกจากนี้ ก็จะต้องหมั่นฝึกซ้อม การฝึกนี้จะใช้ไม้สี่เหลี่ยมเล็กๆ ปลายแหลม เรียกกันว่า “ไม้ผั่นกว่าง” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ตื่นนอนตอนเช้าก็จะนำกว่างไปออกกำลัง คือให้บินโดยใช้เชือกผูกจากเขากว่าง กว่างก็จะบินวนไปวนมา เมื่อเห็นว่าออกกำลังพอสมควรแล้ว จะนำกว่างไป “ชายน้ำเหมย” คือนำกว่างไปราดใบข้าวที่เปียกน้ำค้างในตอนเช้า หรือบ้างก็เคี้ยวอ้อยแล้วพ่นน้ำหวานใส่กว่าง ทำอย่างนี้ทุกวันกว่างจะแข็งแรง

การชนกว่าง อุปกรณ์การชนกว่าง ไม้คอน คือท่อนไม้กลมที่เป็นสำหรับให้กว่างชนกัน ทำด้วยต้นปอหรือท่อนไม้ฉำฉา ยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ตรงกลางเจาะรูสำหรับใส่กว่างตัวเมียจากด้านล่างให้โผล่เฉพาะส่วนหลังพอให้มี “กลิ่น” ส่วนด้านล่างใช้เศษผ้าอุดแล้วปิดด้วยฝาไม้ ที่ทำเป็นสลักเลื่อนเข้าอีกที เพื่อกันไม่ให้กว่างตัวเมียถอยตัวออก คอนชนิดนี้มีไว้สำหรับฝึกซ้อมให้กว่างชำนาญในการชน

ไม้คอนสำหรับเป็นสนามประลอง
ไม้คอนสำหรับเป็นสนามประลอง

ไม้คอนอีกรูปร่างหนึ่งทำด้วยแกนปอ หรือไม้ชนิดอื่นก็ได้ที่เนื้อไม้ไม่แข็งมาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนหัวและท้ายทำเป็นเดือย บางแห่งเดือยยาว 3 เซนติเมตร บางแห่ง 6 เซนติเมตร ตรงกลางด้านบนเจาะรู ขนาด 2 เซนติเมตร ด้านล่างตัดเป็นปาก ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ตัดลึกเข้าไปประมาณครึ่งหนึ่งของไม้คอน มีสลักทำให้ถอดออกได้เป็นฝาปิด ส่วนที่เหลืออีกครึ่งเจาะเป็นโพรงเข้าไปหารูเล็ก เพื่อเป็นช่องนำกว่างตัวเมียใส่ ให้หลังของกว่างตัวเมียโผล่ออกรูคอนด้านบน ด้านล่างอุดด้วยเศษผ้าแล้วใช้ฝาปิดไว้ แบ่งระยะจากรูตรงกลางออกไปข้างละเท่าๆ กัน ทำรอยเครื่องหมายกั้นไว้ ไม้คอนจะใช้เป็นที่ฝึกกว่างหรือให้กว่างนี้ชนกัน
ไม้ผั่น  ไม้ผั่นกว่าง ไม้ผัด ไม้แหล็ดหรือไม้ริ้ว ไม้ผัดนี้จะทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมปลายบัวหรือปลายแหลม ส่วนโคนเหลาให้เล็กเป็นที่สำหรับจับถือ ตรงใกล้ที่จับนั้นจะบากลงและเหลาให้กลมแล้วเอาโลหะมาคล้องไว้อย่างหลวมๆ เวลา “ผั่น” หรือปั่นให้ผั่นให้หมุนกับคอนนั้น จะมีเสียง “กลิ้งๆ” ตลอดเวลาไม้ผั่นนี้ใช้ผั่นหน้ากว่างให้วิ่งไปข้างหน้า เขี่ยข้างกว่างให้กลับหลังเขี่ยแก้มกว่างให้หันซ้ายหันขวา ถ้ากว่างไม่ยอมสู้ก็จะใช้เจียดแก้มกว่างให้ร้อนจะได้สู้ต่อไป ในขณะที่ต้องการให้กว่างคึกคะนองหรือเร่งเร้าให้กว่างต่อสู้กันนั้น ก็จะใช้ไม้ผั่นนี้ การผั่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางหมุนไปมากับคอนให้เกิดเสียงดัง

 

ฐานการเรียนรู้ “การอนุรักษ์เพาะพันธุ์กว่าง”
ฐานการเรียนรู้ “การอนุรักษ์เพาะพันธุ์กว่าง”

ลักษณะของกว่างที่จะนำมาชน ลักษณะกว่างโซ้งที่ดีนั้นต้องมีหน้ากว้าง กางเขาออกได้เต็มที่ เขาล่างจะยาวกว่าเขาบนนิดหน่อย ถ้าเขาล่างยาวกว่าเขาบน ก็จะเรียกว่า “กว่างเขาหวิด” ถือว่าหนีบไม่แรงไม่แน่นกว่างชนที่ดีนั้นส่วนหัวต้องสูง ท้ายทอยลาดลงเป็นสง่า แต่ถ้าท้ายทอยตรงโคนเขาบนเป็นปมไม่เรียบ ถือว่าเป็นกว่างไม่ดี กว่างที่ดีต้องเป็นกว่างที่ฉลาดสอนง่าย
ก่อนที่จะนำกว่างมาชนกันนั้น จะต้องนำกว่างมาเทียบขนาดและสัดส่วนที่เรียกว่า เปรียบคู่ กันเสียก่อน เมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริงๆ แล้ว เจ้าของกว่างจะต้องขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง
ในการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกัน เพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น กว่างที่ชนะก็ทำให้เจ้าของมีหน้ามีตา แต่ถ้ากว่างแพ้แล้วอยู่ที่เจ้าของว่าจะเลี้ยงต่อหรือปล่อยกว่างคืนสู่ธรรมชาติ กว่างเมื่อได้เกิดออกจากดินมาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนแล้ว ก็ใกล้จะหมดอายุขัยแล้ว ตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา เมื่อออกพรรษาแล้วจะนำกว่างตัวเมียมาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ มีกว่างตัวเมียอยู่กี่ตัวก็จะเอามาให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ทุกตัว แล้วนำทั้งกว่างตัวผู้และตัวเมียไปใส่ไว้ในตะกร้าที่มีกล้วยอ้อย นำไปแขวนไว้ตามชายคาบ้านหรือใต้ต้นไม้ ตกกลางคืนกว่างทั้งหลายก็จะผสมพันธุ์กันตามวิสัย แล้วกว่างตัวเมียจะบินไปสู่บริเวณที่เป็นเนินดินแล้วขุดลงไปไข่ไว้ในดิน หลังจากวางไข่แล้ว กว่างตัวเมียก็จะฝังตัวตายอยู่ในที่นั้น ไข่ก็จะฟักออกเป็นตัวหนอนและเป็นกว่างในปีต่อไป

ที่พูดถึงการชนกว่างนี้เป็นเพียงให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงวิถีประเพณีของคนภาคเหนือเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนให้มาเล่นเป็นการพนันไม่ หนานติ้ง ได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองพยายามนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคผลมากที่สุด และพยายามจะเผยแพร่ต่อไปยังบุคคลอื่นโดยเฉพาะเยาวชนที่เติบโตเป็นกำลังของชาติในอนาคต ได้เป็นวิทยากรให้กับนักศึกษาที่มาเรียนรู้มากมายจากหลายสถาบันการศึกษา และที่ไม่ลืมคือเยาวชนในหมู่บ้านเพื่อให้แนวทางดังกล่าวได้คงอยู่และขยายผลไปให้มากที่สุด

มีเรื่องราวอีกมากมายที่ได้ทำเกี่ยวข้องกับดิน น้ำ ป่าไม้ ที่เป็นส่วนสำคัญและเกื้อกูลในการทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และยินดีที่จะถ่ายทอดให้กับทุกคนได้มาเรียนรู้และนำกลับไปปฏิบัติ พบกันได้ที่บ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา หนานติ้ง ทิ้งท้ายไว้ว่าอยากเจอคนจริงใจที่จะขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วยกัน