เกษตรฯ จับมือภาคเอกชน ตั้งเป้า 2 ล้านไร่ ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ ซี.พี.301 ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวไว ขายฝักสด

กระทรวงเกษตรฯ ชวนภาคเอกชนทำ MOU สานพลังประชารัฐส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60 ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด เพื่อให้ชาวนาปรับระบบการผลิตในช่วงฤดูแล้งและมีรายได้เพิ่มขึ้นทดแทนการปลูกข้าวนาปรังที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐได้มีนโยบายจัดระบบการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขปัญหาข้าวมีสภาวะเกินความต้องการของตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 รอบที่ 2 หรือข้าวนาปรัง จำนวน 6.86 ล้านไร่ ผลผลิต 4.38 ล้านตันข้าวเปลือก และมีเป้าหมายปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น หรือกิจกรรมอื่นจำนวน 3 ล้านไร่ ประกอบกับปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีความต้องการใช้ในประเทศกว่า 7.2 ล้านตัน ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น ๆ เข้ามาเสริมชดเชยส่วนที่ขาด ดังนั้น จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขตชลประทาน หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำทั่วไปที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดผลผลิตข้าว โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่นาในฤดูแล้งเขตชลประทาน พบว่า พื้นที่ความเหมาะสมดินในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) รวมกันมีกว่า 8 ล้านไร่ และได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทดลองนำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวรอบที่ 2 หรือข้าวนาปรังในปีที่ผ่านมา 9 จังหวัด พบว่า เกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรจากการผลิตไร่ละ 2,000 – 4,000 บาท

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ยังไม่เคยเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่มีความรู้ในด้านการผลิตและการตลาด จึงทำให้ไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวที่ตนเองมีความชำนาญและคุ้นเคยมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ที่มีศักยภาพในเขตชลประทานใน 31 จังหวัด พื้นที่รวม 2 ล้านไร่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีโอกาสในการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำนาข้าวรอบ 2 ควบคู่กับการตลาดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร

       ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในวันที่ 21 ตุลาคม 2559 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือสานพลังประชารัฐในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ปีการผลิต 2559/60) ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพื้นที่และผลผลิตข้าว เพิ่มพื้นที่และผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้เรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี อันจะนำไปสู่การปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้องมั่นคง ยั่งยืน และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการปลูกข้าว

เป้าหมายดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากข้าวนาปรังเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) ในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ใน 31 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560

สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกร (ทบก.01) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 และเคยปลูกข้าวนาปรังมาไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2559) พื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย มีความสมัครใจพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. และต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสม (F1) ของภาคเอกชน หรือราชการที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร ไม่เผาตอซังหรือฟางข้าวก่อนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการจะประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมการปกครอง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการค้าภายใน ในการวิเคราะห์คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมระดับอำเภอและตำบล โดยมุ่งเป้ารวมกลุ่มเกษตรกรตามหลักการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ การถ่ายทอดความรู้ การผลิต และการตลาด การจัดทำเวทีชุมเพื่อรับสมัครเกษตรกร และส่งรายชื่อเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. พิจารณาสนับสนุนสินเชื่อตามเงื่อนไข ไร่ละ 4,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิต จากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับทราบคำแนะนำตลอดฤดูการเพาะปลูก ส่วนการรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดย ธ.ก.ส. และภาคเอกชน จะจ่ายในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ตามมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดฯ ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ณ โรงงานอาหารสัตว์ในเขตจังหวัดของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ

“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯ นี้ คือ 1. ช่วยลดผลผลิตข้าวนาปรัง แก้ปัญหาผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาดได้ ไม่น้อยกว่า 1.25 ล้านตัน 2. เพิ่มอุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพได้ราว 1.44 ล้านตัน เกิดความมั่นคงในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ 3. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนาปรัง ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 2,000 บาท และ 4. เกษตรกรได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ นำไปสู่การจัดระบบการปลูกข้าวตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน”

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 02-579-5519

อีเมล์ : [email protected]