ชาวไร่รุ่นใหม่ คิดต่าง ปลูกอ้อยอินทรีย์ ต้นทุนต่ำ ตลาดกว้าง

การปลูกอ้อยโดยทั่วไปของเกษตรกรพืชไร่ ยังคงดำเนินไปตามกระบวนการและขั้นตอนการปลูก เก็บเกี่ยว และซื้อขาย หากไม่ทำการเกษตรให้ต่าง ก็ยังคงดำรงอาชีพเกษตรกรรมอยู่ได้ แต่เมื่อเกิดความคิดทำเกษตรที่แตกต่าง โอกาสที่จะพบเทคนิค กลยุทธ์ และต่อยอดการเกษตรที่ดำรงอยู่ให้ได้รับการพัฒนาก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

คุณวงศกร ชนะภัย
คุณวงศกร ชนะภัย

เช่น คุณวงศกร ชนะภัย เกษตรกรหนุ่มไฟแรง ชาวหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ที่บ่มเพาะการเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่เล็ก ด้วยพื้นเพเดิมของครอบครัวทำไร่อ้อย เมื่อว่างเว้นจากการเรียน คุณวงศกร ก็โดดเข้าไร่ เรียนรู้ทุกขั้นตอนและกระบวนการมาด้วยตนเอง หลังจบการศึกษาจึงเปิดกิจการเล็กๆ และทำไร่อ้อยกับครอบครัวพ่วงกันไปด้วย

การทำไร่อ้อย ของครอบครัวชนะภัย ยังคงดำเนินมาลักษณะเดียวกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วไป กระทั่ง 5 ปีก่อน คุณวงศกร มีแนวคิดการทำไร่อ้อยอินทรีย์ เขาเริ่มศึกษาแนวทาง และเริ่มทดลองในไร่อ้อยเดิมที่มีอยู่ 60 ไร่

“ผมชอบเกษตรอินทรีย์มานานแล้ว เมื่อตัวเองทำไร่อ้อยก็อยากทำไร่อ้อยอินทรีย์บ้าง ตอนที่เริ่มทำ ก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือ ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ จะคิดจะทำจริงจัง ครอบครัวก็ไม่ว่าอะไร จึงแบ่งพื้นที่เริ่มทำอินทรีย์ 60 ไร่ ตามความรู้เท่าที่มี ทั้งที่ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงตลาดอ้อยอินทรีย์เลย ว่ามีโรงงานรับซื้อหรือไม่ แต่สิ่งที่มั่นใจว่าต้องได้จากการทำอินทรีย์คือ การลดต้นทุนที่ถาวร”

คุณวงศกร บอกว่า ตลอดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยปกติเป็นอ้อยอินทรีย์ นานถึง 3 ปี ซึ่งระหว่างนี้การปลูก การดูแล การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย ทุกอย่างจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ปริมาณผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ได้ลดน้อยลงกว่าเดิม แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ ลดการจัดการภายในไร่ลงหลายขั้นตอน

แปลงอ้อยอินทรีย์ของคุณวงศกร ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 140 ไร่ แต่ยังคงทำไร่อ้อยปกติอีกเกือบ 100 ไร่ เหตุที่ไม่ทำแปลงอ้อยให้เป็นอินทรีย์ในทุกแปลง คุณวงศกร บอกว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะแปลงไม่ได้อยู่ติดกัน อีกทั้งแต่ละแปลงอยู่ติดกับแปลงของเพื่อนบ้าน ซึ่งการทำอินทรีย์จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากพื้นที่ปลูกที่ใช้สารเคมีอย่างน้อย 4-5 เมตร โดยรอบแปลง หรือปลูกไม้อื่นเป็นแนวกันชน จึงจะเป็นอินทรีย์อย่างแท้จริง แต่การที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงอ้อยทั้งหมดเป็นอินทรีย์ถือเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันคุณวงศกรทำไร่อ้อยทั้ง 2 แบบ เพื่อการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต และเพื่อเป็นแปลงสำหรับผู้สนใจเข้ามาศึกษา โดยไม่หวงความรู้แต่อย่างใด

ไร่อ้อยอินทรีย์
ไร่อ้อยอินทรีย์

การเปลี่ยนจากไร่อ้อยทั่วไปมาเป็นแปลงอ้อยอินทรีย์ คุณวงศกร บอกว่า เพราะเขาไม่มีเวลามาก การเริ่มต้นด้วยการปลูกพืชปรับปรุงดิน เช่น ปอเทือง หรือพืชตระกูลถั่ว จึงเลือกวิธีการปลูกอ้อยปกติไปก่อน แต่ไม่ใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ไม่เผาใบ ค่อยๆ เติมปุ๋ยอินทรีย์ และปั่นใบอ้อยป่นคลุกหมักในไร่ไปพร้อมกันแทน แต่ถ้าเกษตรกรท่านใดต้องการทำแปลงอินทรีย์ คุณวงศกร แนะนำว่า หากมีเวลาควรปลูกพืชปรับปรุงดินก่อน จะเป็นการดี

Advertisement

“ต้นทุนอ้อยอินทรีย์มีเพียงค่าปลูก ค่าอ้อยตอ ปุ๋ยอินทรีย์ ทำรุ่น บำรุงดิน ค่าแรงงานคน ค่าน้ำมันรถขนส่ง รวมทั้งสิ้นแล้ว พื้นที่ 140 ไร่ ต้นทุนไม่เกิน 150,000 บาท”

3

Advertisement

ต้นทุนของการทำอ้อยอินทรีย์สูงสุดคือ ค่าแรงงานคนที่ใช้ในการตัดอ้อยสด ดายหญ้า ถอนหญ้า ค่าตัดอ้อยสดเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่สูงที่สุด เพราะแต่ละครั้งของการตัดอ้อยสด ใช้แรงงานคนประมาณ 30 คน ค่าตัด ต่อมัด 2.50 บาท มัดละ 15 ลำ ในการตัดอ้อยสดต่อวัน แรงงาน 1 คน สามารถตัดอ้อยสดได้มากถึง 400 มัด ซึ่งการจ้างแรงงานในปัจจุบันถือเป็นปัญหามากที่สุด ผู้จ้างจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองจ่ายให้กับแรงงานก่อนถึงเวลาทำงาน มิฉะนั้น จะไม่มีแรงงานมารับจ้าง

ราคาซื้อขายอ้อย ผันผวนตามราคาตลาดโลก เช่น ปี 2558 ที่ผ่านมา ราคารับซื้ออ้อย ตันละ 808 บาท สำหรับอ้อยอินทรีย์ ราคารับซื้อแม้จะเป็นราคาเดียวกับการรับซื้ออ้อยทั่วไป แต่อ้อยอินทรีย์ยังมีรายได้จากส่วนต่างเพิ่มให้ (100 บาท ต่อตัน) โดยไม่นับรวมจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า จึงแน่นอนว่า ทุกรอบการผลิตของการปลูกอ้อยอินทรีย์ มีรายได้ที่สูงกว่าการปลูกอ้อยทั่วไปแน่นอน

คุณวงศกร ยอมรับว่า การทำไร่อ้อยไม่ว่าจะเป็นอ้อยปกติทั่วไปหรือแปลงอ้อยอินทรีย์ เกษตรกรจำเป็นต้องมีเครื่องจักรกลการเกษตรผ่อนแรง เพราะหลายขั้นตอนหากมีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย จะลดค่าใช้จ่ายไปได้มากกว่าการจ้างแรงงานคน อีกทั้ง ยังได้ความสะดวกรวดเร็วอีกด้วย

ปัจจุบัน ผลผลิตจากแปลงอ้อยอินทรีย์ทั้ง 140 ไร่ ส่งตรงเข้าโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที. เอ็น. โรงงานในกลุ่มวังขนาย ซึ่งตั้งอยู่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ระยะห่างจากไร่ของคุณวงศกรเกือบ 100 กิโลเมตร แต่เพราะเป็นโรงงานเดียวที่อยู่ใกล้ และคุณวงศกร เห็นว่ามีข้อตกลงร่วมกันเมื่อเกษตรกรเข้าโครงการอ้อยอินทรีย์ตรงไปตรงมา ไม่เอาเปรียบเกษตรกรมากที่สุด

7

8

แต่ขณะเดียวกัน การคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนาย ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมีระบบระเบียบและวิธีพิจารณาที่เข้มงวด หากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เช่นกัน

ขั้นตอนการปลูกอ้อยอินทรีย์ คุณวงศกร แสดงความเห็นว่า ไม่ได้แตกต่างจากการปลูกอ้อยโดยทั่วไป โดยมีวิธีปลูกและปฏิบัติ ซึ่งได้รับคำแนะนำมาจากศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ดังนี้

 

การวางแผนการจัดการ

ทำแนวป้องกันการปนเปื้อนทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ ได้แก่ การปลูกพืชในกลุ่มของไม้ยืนต้น โตเร็ว เป็นแนวกันชนรอบแปลง หรือพืชอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อป้องกันลมพัดสารพิษเข้ามาสู่แปลง การทำคันดินหรือร่องน้ำกั้นระหว่างแปลง ป้องกันการไหลบ่าของน้ำข้างนอกเข้ามาในแปลง รวมถึงการกันพื้นที่รอบแปลง ระยะห่าง 4-5 เมตร จากแปลงปลูกอื่น

ควรมีการเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ เพื่อการปรับปรุงดิน ในการปรับปรุงดินควรทำก่อนปลูกพืชปุ๋ยสด หากพบว่าดินเป็นกรด ค่า PH ต่ำกว่า 5.5 ให้ใส่ปูนโดโลไมท์ ตามอัตราที่แนะนำจากผลการวิเคราะห์ดิน หลังจากใส่ปูนแล้ว ประมาณ 10 วัน จึงปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน และอินทรียวัตถุในดิน เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า โสน หรือพืชตระกูลถั่วอื่นๆ แล้วไถกลบในช่วงที่พืชปุ๋ยสดเริ่มออกดอก หรืออายุประมาณ 50-60 วัน หลังการไถกลบพืชปุ๋ยสดแล้ว ประมาณ 15 วัน จึงปลูกอ้อย แต่ถ้าต้องการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารโพแทสเซียม ให้ใส่ขี้เถ้าจากโรงงานน้ำตาล ไถคลุกเคล้ากับดิน อย่างน้อย 2 ตัน ต่อไร่ ไถคลุกเคล้ากับดินพร้อมกันในช่วงที่ใส่ขี้เถ้า

 

การปลูกอ้อย

  1. หลังจากไถยกร่องแล้ว รองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สูตรอ้อยออร์แกนิก ตรามดเขียว อัตรา 50-100 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยใต้แถวท่อนพันธุ์อ้อย
  2. สับท่อนพันธุ์ให้มีความยาวสม่ำเสมอ ประมาณ 30 เซนติเมตร หรือประมาณ 3-4 ข้อตา
  3. ในการปลูกอ้อยปลายฝน ควรกลบท่อนพันธุ์ให้แน่นและหนา ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าปลูกอ้อยต้นฝนหรืออ้อยน้ำราด ควรกลบดินให้สม่ำเสมอ หนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร

 

การดูแลรักษา

ควรปลูกพืชคลุมดินระหว่างแถวอ้อย เช่น ถั่วพร้า เพื่อป้องกันและควบคุมการงอกของวัชพืช และช่วยคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น โดยหว่านเมล็ดถั่วพร้าระหว่างร่องอ้อย หลังจากปลูกอ้อยเสร็จ จากนั้นฉีดพ่นด้วยสารสกัดชีวภาพ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตเสริมความแข็งแรงและเพิ่มความหวานของอ้อย ทุกๆ 15-20 วัน นอกจากนี้ จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน หรือเครื่องทุ่นแรงตามความเหมาะสม

การให้ปุ๋ยน้ำ
การให้ปุ๋ยน้ำ

ในการกำจัดแมลงศัตรูอ้อย ให้ใช้ชีววิธี เช่น ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมม่า ในการควบคุมหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย ปล่อยแมลงหางหนีบกำจัดหนอนกออ้อย เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนเพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว เพิ่มเชื้อราเมตาไรเซียม เพราะมีประสิทธิภาพในการควบคุมด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นอ้อย

หากมีปุ๋ยคอก เช่น ขี้ไก่ ขี้เป็ด ขี้วัว ขี้ควาย ที่เลี้ยงแบบปล่อย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ สามารถนำมาใส่ในแปลงอ้อยอินทรีย์ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของอ้อยได้

เมื่อเข้าฤดูฝน ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โรยข้างแถวอ้อยเป็นปุ๋ยแต่งหน้า แต่หากใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินที่ใช้ในแปลงอ้อยอินทรีย์ ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานก่อน

ในการเก็บเกี่ยว เมื่อถึงเวลาตัดอ้อย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะแจ้งเวลาการตัดอ้อยอินทรีย์เข้าหีบ โดยเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวอ้อยสด ตัดโคนให้ชิดดิน สางใบอ้อยให้สะอาด ไม่เป็นอ้อยยอดยาว หลังจากตัดแล้วให้ส่งเข้าหีบ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนาย มีจำนวน 800 ราย คิดเป็นพื้นที่ได้รับการรับรองออร์แกนิกแล้ว 30,000 ไร่ ซึ่งแปลงอ้อยอินทรีย์ของคุณวงศกร เป็นหนึ่งในเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์นั้น อีกทั้งยังเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลปีล่าสุด (2559) จากรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น ผลิตอ้อยอินทรีย์ ขอคำแนะนำปรึกษาจาก คุณวงศกร ชนะภัย เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงได้ ที่ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี หรือโทรศัพท์ (086) 130-6888

10

ไร่อ้อยอินทรีย์
ไร่อ้อยอินทรีย์

4