2 ลุงป้า แนะปลูกกล้วยไข่กำแพงเพชร ปลูกอย่างไรให้ได้ 2 ตัน ต่อไร่

คุณป้าพิมพ์ และ คุณลุงไพริน คำพวงวิจิตร

กล้วยไข่ เป็นอีกไม้ผลที่ไม่เพียงมียอดจำหน่ายในประเทศสูง ขณะเดียวกัน ในกลุ่มตลาดผลไม้ที่ไทยส่งออกต่างประเทศถือว่ากล้วยไข่มียอดสูงในระดับที่น่าพอใจด้วยเช่นกัน

ปัญหาประการหนึ่งของกล้วยไข่คือคุณภาพ ที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพกล้วยไข่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าคุณภาพกล้วยไข่จะไม่ได้สร้างปัญหาต่อตลาดในประเทศก็ตาม แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าชาวสวนปลูกกล้วยไข่ได้คุณภาพส่งขายต่างประเทศเพื่อจะได้ราคาสูง

“กำแพงเพชร” เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องกล้วยไข่มาช้านาน เนื่องจากชาวบ้านปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2465 ตลอดเวลานับแต่อดีตคุณภาพกล้วยไข่ของกำแพงเพชรสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัด จนพูดกันติดปากว่า “กล้วยไข่กำแพง” แล้วที่สำคัญผลไม้ประจำถิ่นชนิดนี้ยังผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นคือ งานเทศกาลสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2424 เป็นต้นมา

kk10-%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89-250-%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%97

เมื่อปี 2556 ทีมงานเทคโนฯ ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อจัดทำสกู๊ปพิเศษกล้วยไข่ ในคราวนั้นได้พูดคุยกับนักวิชาการเกษตรของจังหวัดพบว่า แต่เดิมมีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่นับหลายหมื่นไร่ แต่มาประสบปัญหาภัยธรรมชาติกับโรคพืชจึงทำให้พื้นที่การปลูกลดลงหลักพันไร่ จนทำให้ผลผลิตตกลงอย่างน่าใจหาย

นักวิชาการ ชี้ว่า ปัญหาแรกและเป็นปัญหาหลักสำคัญคือ ลมพายุ ซึ่งภายใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2 ช่วง ที่จะพัดเข้ามาทางจังหวัดกำแพงเพชร ช่วงแรก เป็นลมพายุช่วงฤดูแล้ง จะพัดผ่านมาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน โดยในช่วงนั้นกล้วยไข่กำลังเจริญเติบโต ความรุนแรงของลมทำให้ต้นกล้วยไข่หักและโค่นล้ม

ช่วงที่สอง เป็นลมพายุช่วงฤดูฝน จะพัดเข้ามาราวเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยในช่วงนั้นกล้วยไข่กำลังตกเครือ ขณะเดียวกัน เป็นช่วงที่ราคากล้วยไข่มีราคาสูง พอมีลมพายุพัดเข้ามา กล้วยไข่ได้รับความเสียหาย ฉะนั้น เหตุการณ์ทั้งสองช่วงจึงทำให้เกษตรกรชาวสวนเกิดความท้อแท้

ปัญหาประการต่อมาคือเรื่องโรคกล้วยไข่ ที่พบมากคือ โรคใบไหม้ เมื่อโรคนี้เกิดมีการระบาดมาก ขณะเดียวกัน เกษตรกรนำพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่ออีก จึงมีการแพร่ระบาดอย่างหนักขึ้น

และปัญหาประการสุดท้ายคือ เรื่องแรงงาน เพราะกล้วยไข่เป็นไม้ผลที่ต้องเอาใจใส่มากในทุกกระบวนการปลูก ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งหน่อ ทางใบ การดูแลเรื่องน้ำ เรื่องดิน และการบริหารจัดการในสวน ดังนั้น หากเกษตรกรมีจำนวนคนดูแลเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไปแล้วไม่สอดคล้องกับเนื้อที่ปลูก ก็จะส่งผลต่อการปลูกและผลผลิตที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดวิกฤตกล้วยไข่กำแพงเพชร มีบางจังหวัด อย่างจันทบุรี ชุมพร เพชรบุรี สามารถปลูกกล้วยไข่ได้อย่างมีคุณภาพ เป็นแหล่งที่ต้องยอมรับว่าปลูกกล้วยไข่ที่เน้นคุณภาพเพื่อการส่งออก แต่ถึงกระนั้นด้วยความมีเสน่ห์ในรสชาติของกล้วยไข่กำแพงเพชรที่มีความหวาน หอม เนื้อละเอียด เปลือกบาง มีขนาดผลที่พอเหมาะต่อการรับประทาน จึงทำให้กล้วยไข่กำแพงเพชรยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างไม่เสื่อมคลาย

สิงหาคม 2559 ทีมงานลงพื้นที่กำแพงเพชรอีกเพื่อติดตามดูสถานการณ์กล้วยไข่ แล้วพบว่าคนในจังหวัดกำแพงเพชรมีความเคลื่อนไหวรวมตัวกันเป็นกลุ่ม หาทางแก้ปัญหาเพื่อหวังจะกลับมาทวงแชมป์คุณภาพกล้วยไข่อีกคราว

หนึ่งในกลุ่มที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและอนุรักษ์กล้วยไข่ของจังหวัด มีชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนฟื้นฟูกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร” โดยมี คุณนพพล เทพประถม อยู่บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ที่ 2 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รับหน้าที่เป็นประธาน

คุณนพพล เทพประถม ประธานกลุ่ม (ขวาสุด) กับคุณป้าพิมพ์ คุณลุงไพริน และสมาชิกกลุ่ม
คุณนพพล เทพประถม ประธานกลุ่ม (ขวาสุด) กับคุณป้าพิมพ์ คุณลุงไพริน และสมาชิกกลุ่ม

คุณนพพล กล่าวถึงภาพรวมกล้วยไข่กำแพงเพชรขณะนี้ว่า มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านกลับมาปลูกกล้วยไข่กันใหม่ ทั้งนี้ เพราะตลาดผู้บริโภคหลายแห่งติดใจรสชาติกล้วยไข่กำแพงเพชร แล้วต้องการให้มีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม จากนั้นทางจังหวัดจึงมีการส่งเสริมจัดทำเป็นโครงการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นกล้วย GI หรือชูให้เป็นไม้ผลประจำถิ่น แล้วพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกันเพิ่มขึ้น

ประธานกลุ่มเผยถึงแนวทางการอนุรักษ์กล้วยไข่กำแพงเพชร ได้วางแผนพร้อมลงมือปฏิบัติกันมาเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นทำกันอยู่ในกลุ่มเล็กจำนวน 20 กว่าราย แล้วค่อยๆ ขับเคลื่อนจนกระทั่งได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2554

“วิสาหกิจชุมชนฟื้นฟูกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร” ถือเป็นกลุ่มแรกที่บุกเบิกการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ของจังหวัด โดยมีการแบ่งซอยออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้มีการทำงานแบบครบวงจร

คุณนพพลชี้ถึงสาเหตุที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผลผลิตกล้วยไข่กำแพงเพชรขาดความคงที่คือ เกิดจากภัยธรรมชาติ และรองลงมาคือ โรคใบไหม้ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดที่จะต้องมีลมพายุพัดเข้ามาในช่วงที่กล้วยกำลังมีผลผลิตหรือเป็นกล้วยสาวในทุกปี เป็นช่วงต้นฝน

โรคใบไหม้เกือบทั้งสวน
โรคใบไหม้เกือบทั้งสวน

ส่วนโรคใบไหม้ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทางเกษตรจังหวัดกำลังแก้ไขปัญหา ซึ่งมีชาวบ้านหลายคนชี้ว่าควรย้ายแปลงปลูกไปที่อื่น ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม แต่ในความเป็นจริงคงทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะแต่ละครัวเรือนมีที่ดินน้อย จำต้องปลูกอยู่ที่เดิม ดังนั้น ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาตัวเองด้วยการเลิกปลูกกล้วยไข่แล้วหันไปปลูกพืชไม้ผลอื่นแทน

“อย่างไรก็ตาม เคยอ่านงานวิจัยศึกษาโรคใบไหม้ว่า โรคชนิดนี้จะอยู่กับดินเดิมเป็นเวลานานถึง 3 ปี หากยังคงปลูกพืชชนิดเดิมอยู่ แต่ถ้าหยุดหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนบ้างโรคนี้ก็จะหายไป แล้วก็สามารถกลับมาปลูกกล้วยไข่ได้อีกต่อไปในพื้นที่เดิม ดังนั้น แนวทางแก้ไขคือพยายามชักชวนผู้ปลูกรายใหม่ที่สนใจปลูกกล้วยไข่และใช้พื้นที่จำนวนไม่เกิน 1 ไร่

 

แนวทางการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรมวางไว้อย่างไร?

ถ้ามองในเรื่องความคุ้มค่าในตัวเงินแล้ว การปลูกกล้วยไข่ถือว่าคุ้มค่า ขณะเดียวกัน ยังเป็นการรักษาชื่อเสียงของจังหวัดไว้ด้วย ดังนั้น ถ้าช่วยกันปลูกเพิ่มขึ้นทีละต้นหรือสองต้นถือว่ามีความหมายในทางที่ดี รวมทั้งยังถือว่าประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยไม่ต้องไปหวังว่าจะต้องปลูกเพิ่มขึ้นจำนวน 100-200 ไร่ หรือแม้แต่การคิดหวังไปถึงการส่งออกต่างประเทศก็ยังไม่จำเป็นต้องคิด

“ตอนนี้ เพียงแค่หวังไว้อย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านกลับมาปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้น หรือบางคนที่เลิกปลูกก็ให้หันกลับมาปลูกใหม่ แล้วไม่ต้องไปปลูกมาก ขอให้ใช้พื้นที่ปลูกขนาดเล็กแล้วปลูกแบบมีคุณภาพเต็มที่ จากนั้นให้แต่ละแปลงรวบรวมผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาด”

kk7%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89-%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%80

ประธานกลุ่ม บอกว่า ผลจากการที่กลุ่มได้สร้างคุณภาพผลผลิตตามแผนงานที่วางไว้ ทำให้ที่ผ่านมาเริ่มเห็นรูปธรรมที่ชัดเจน จนในขณะนี้หลายหน่วยงานได้เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มที่ มีการสนับสนุนงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ แต่ต้องเข้าใจว่าเวลานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และอย่าหวังเรื่องผลผลิตที่สูง คงต้องใช้เวลาค่อยๆ เพิ่มจำนวนไปทีละขั้นตอน

 

การวางแผนช่องทางการตลาด

มีการกำหนดผู้ปลูกออกเป็น 2 กลุ่มที่ชัดเจน กลุ่มแรกอาจเป็นผู้ปลูกที่มีเนื้อที่จำนวนมาก มีการบริหารจัดการที่ดี เน้นการสร้างคุณภาพเต็มที่ ดังนั้น กลุ่มนี้จะมีพ่อค้าจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่เป็นขาประจำวิ่งเข้าไปรับซื้อที่สวน อีกกลุ่มเป็นผู้ปลูกรายเล็กก็จะมีคนมารับซื้อไปวางขายตามแผงริมทาง หรืออาจนำไปขายบริเวณตลาดมอกล้วยไข่

ในช่วงแรกถ้าจำนวนผลผลิตทั้งหมดยังมีไม่มากพอ คงวางจำหน่ายเฉพาะภายในพื้นที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี S/P, แม็คโคร ที่แจ้งความต้องการขอรับซื้อผลผลิต แต่คงต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากยังไม่สามารถจัดหากล้วยตามฤดูกาลได้ รวมถึงยังต้องมาจัดให้เข้าเป็นระเบียบระบบเสียก่อน ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บผลผลิต เนื่องจากผู้รับซื้อรายใหญ่จะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่เคร่งครัดมาก

 

รูปแบบการขาย

คุณนพพล เผยว่า แต่เดิมการขายกล้วยของชาวบ้านใช้วิธีนับตั้ง และผู้รับซื้อแต่ละรายก็ไม่มีมาตรฐานในการกำหนดหวี ในแต่ละเครือบ้างกำหนดเป็น 3 หวี บ้างกำหนดเป็น 4 หวี ส่วนหวีขนาดเล็กหรือไม่สวยก็มักแถมไป ทั้งนี้ มักกำหนดราคารับซื้อหวีละ 20 บาท จึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้ 60-80 บาท ต่อเครือ ฉะนั้น จึงมองว่าการกำหนดราคาขายเช่นนี้ไม่เกิดมาตรฐานและไม่ยุติธรรมดีพอ

 

“แต่การกำหนดวิธีขายแบบใหม่ที่ผ่านการตกลงของกลุ่มมาแล้ว เห็นว่าควรมีการกำหนดราคาขายแบบชั่งเป็นกิโล ทั้งนี้ เนื่องจากไม้ผลพืชทั่วไปล้วนใช้หลักการชั่งเป็นกิโลทั้งนั้น และกล้วยไข่ควรใช้แนวทางเดียวกัน เพราะแนวทางนี้มีมาตรฐานที่กิโลซึ่งมีจำนวน 10 ขีดเท่ากันทุกแห่ง จึงไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และเท่าที่ทราบหลายแห่งได้ใช้วิธีเช่นนี้มานานแล้ว”

kk1-%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2

อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของน้ำหนักกล้วย 1 ตั้ง จะอยู่ประมาณ 9-11 กิโลกรัม เมื่อคำนวณต้นทุนแล้วจึงกำหนดราคาขายไว้ที่กิโลกรัมละ 18 บาท (25 สิงหาคม 2559) คุณนพพล ชี้ว่า วิธีการนี้เพิ่งนำมาใช้ และยังไม่ทั่วทุกแห่งในจังหวัด แต่จะค่อยๆ ปรับให้เป็นแนวทางเดียวกัน

สำหรับราคาขายในกรุงเทพฯ ประมาณหวีละ 70 บาท (25 สิงหาคม 2559) ราคานี้วางจำหน่ายทั่วไป แต่ในกรณีที่วางตามห้างหรือเป็นกล้วยไข่ออร์แกนิกจะวางขายในราคาหวีละ 100 บาท ส่วนราคาที่ส่งออกจากสวนเพียงหวีละ 20 กว่าบาทเท่านั้น

ความไม่แน่นอนเรื่องจำนวนผลผลิตกับคุณภาพผลผลิตในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สมาชิกกลุ่มมองเห็นว่ายังไม่ควรตั้งราคาขายให้สูงเกินไป ควรรอให้ทุกอย่างนิ่งเสียก่อน แต่ในอนาคตถ้าทุกอย่างปรับปรุงอย่างได้มาตรฐานในทางที่ดีขึ้นแล้ว เห็นว่าคงต้องขยับราคาเพื่อให้ชาวบ้านมีแรงจูงใจในการปลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ปรับคุณภาพการผลิตเข้าสู่ระบบ GAP แล้ว

ประธานกลุ่ม เผยว่า จังหวัดอื่นที่ปลูกกล้วยไข่ อย่างจันทบุรี ชุมพร เพชรบุรี เป็นแหล่งที่ต้องยอมรับว่าปลูกกล้วยไข่ที่เน้นคุณภาพเพื่อการส่งออก ขณะเดียวกัน ทางกำแพงเพชรก็ได้มีการไปศึกษาดูงานเพื่อกลับมาวางรูปแบบให้มีมาตรฐานเช่นนั้น แล้วคิดว่าในอนาคตหากกลุ่มมีการสร้างความเข้มแข็งได้อย่างสมบูรณ์ อาจผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออกบ้าง เพราะหลายหน่วยงานในจังหวัดเริ่มเห็นความสำคัญและได้ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนแล้ว

จึงทำให้ทางกลุ่มได้เร่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตกระทั่งสามารถสู่ระบบการผลิตแบบ GAP เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ มีสมาชิกกลุ่มที่ผ่านมาตรฐานแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทางกลุ่มมีจำนวนสมาชิกกว่า 50 ราย มีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ เฉลี่ยรายละ 3-5 ไร่ มีรายใหญ่ขนาด 70 ไร่ อยู่จำนวน 2 ราย

ส่วนแนวทางอนุรักษ์กำหนดไว้ว่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้พันธุ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งอาจกระทบปัญหาว่าขณะนี้เหลือคนที่ปลูกกล้วยไข่อย่างจริงจังน้อยมาก ผลผลิตยังไม่นิ่งทั้งคุณภาพและปริมาณ ดังนั้น หากจะบุกตลาดตอนนี้ยังคงไม่ได้เพราะพ่อค้าเองก็ยังไม่มั่นใจและไม่กล้าเสี่ยง

“ฉะนั้น ทุกอย่างจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ ปรับปรุงวิธีปลูก แก้ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติกับโรคให้ได้ก่อน แล้วจึงเริ่มปรับองค์กรให้เข้าสู่ระบบตามหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์หรืออะไรก็ตาม เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของมวลสมาชิกทุกคน รวมถึงยังวางแผนว่าโอกาสต่อไปจะสร้างพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับกล้วยไข่มาช้านาน เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นพืชประจำถิ่น”

kk3-%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%90%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88

คุณนพพล ชี้ว่า ความผูกพันของชาวบ้านกำแพงเพชรกับกล้วยไข่ดูเหมือนจะแยกกันไม่ออก ถึงแม้บางปีจะเกิดปัญหาหรืออุปสรรคกับการปลูก ทั้งภัยทางธรรมชาติและโรคพืช จนสร้างความเสียหายที่เกิดจากขาดทุน แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดที่จะปลูกต่อไปด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าความเป็นพืชไม้ผลประจำถิ่น ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากในจังหวัดมีการจัดตั้งกลุ่มการผลิตกล้วยไข่คุณภาพแยกกันหลายกลุ่ม แต่ละพื้นที่ต่างมีแนวทางวิธีการต่างกัน แต่ทุกแห่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างคุณภาพกล้วยไข่กำแพงเพชรให้ดีที่สุด

“พยายามผลักดันคนรุ่นใหม่ให้เป็น SMART FARMER เพื่อเตรียมวางรากฐานขยายตลาดในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น ถ้าพวกเขาเดินเข้ามาสู่กระบวนการปลูก ก็จะสร้างความมั่นคงให้แข็งแรงต่อไป” ประธานกลุ่ม กล่าว

 

ไปดูสวนกล้วยไข่คุณภาพ

จากนั้นทีมงานได้ลงพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ของสมาชิกกลุ่ม อย่าง คุณป้าพิมพ์ และ คุณลุงไพริน คำพวงวิจิตร เป็นเจ้าของสวน อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 1 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์ (063) 750-9275 ปลูกกล้วยไข่มานานกว่า 30 ปี ใช้เนื้อที่ปลูก 12 ไร่ จำนวน 2,000 กว่าต้น เป็นพันธุ์กล้วยไข่ดั้งเดิมของกำแพงเพชร

คุณป้าพิมพ์ บอกว่า การปลูกกล้วยไข่ที่กำแพงเพชรนับเป็นเรื่องยาก ต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องความสะอาดในแปลงปลูก อย่าให้รก ปุ๋ยที่ใช้ในตอนเริ่มปลูกใช้สูตรเสมอ 15-15-15 พอตกเครือจะใช้ปุ๋ยน้ำตาลสูตร 21-0-0 ใส่เพื่อเร่งผล

คุณป้าพิมพ์ และ คุณลุงไพริน คำพวงวิจิตร
คุณป้าพิมพ์ และ คุณลุงไพริน คำพวงวิจิตร

ส่วนปัญหาที่เกิดเป็นประจำคือ โรคใบไหม้ แล้วยังต้องเผชิญกับภัยจากพายุลมแรงที่พัดจนต้นกล้วยหักโค่นเสียหาย ซึ่งลมพายุดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงที่กำลังมีผลผลิต แล้วสังเกตทุกปีมักเกิดขึ้นหลังจากเข้าหน้าฝน ทั้งนี้ ถ้าตกเครือก็ยังช่วยให้ปลอดภัย แต่ถ้าเกิดในช่วงต้นขนาดเล็กตายอย่างเดียว ฉะนั้น เพียงแก้ไขในเรื่องโรคใบไหม้ได้ ก็จะทำให้กล้วยมีคุณภาพดีกว่าเดิม แล้วมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

ผลที่เกิดขึ้นจากปัญหา คุณลุงไพริน ชี้ว่า จากที่สมัยก่อนเคยเก็บหน่อไว้ถึงตอที่ 2-3 ได้ แต่ภายหลังทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะคอยจะขึ้นเหง้า ดังนั้น ในทุกปีจะต้องมีการขุดออกแล้วปลูกเป็นกล้วยรุ่นใหม่

คุณลุงไพรินเผยตัวเลขผลผลิตที่เกิดจากการปลูกกล้วยไข่ที่กำแพงเพชรในแต่ละปีคงไม่มีความแน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ภายหลังที่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มจึงตกลงมีการซื้อ-ขายผลผลิตกันเป็นกิโลกรัม แต่พื้นที่แถวสามเงาจะมีราคาขายกิโลกรัมละ 25 บาท สูงกว่าที่กำแพงเพชรที่มีราคาขายประมาณกิโลกรัมละ 18 บาท

การสะสมประสบการณ์ที่ยาวนานของคุณป้าพิมพ์และคุณลุงไพริน จนเกิดทักษะความชำนาญการปลูกกล้วยไข่ จึงทำให้สวนของพวกเขาได้ผลผลิตประมาณ 2 ตัน ต่อไร่ และถือเป็นจำนวนผลผลิตที่สูงได้มาตรฐานอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นเช่นนี้ทุกปี

ความจริงแล้วกล้วยไข่กำแพงเพชรมีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น มีชาวบ้านหลายรายพยายามนำหน่อกล้วยในพื้นที่ออกไปปลูกยังแหล่งอื่นที่ใกล้เคียงจังหวัดกำแพงเพชร แต่พบว่ารสชาติอร่อยน้อยกว่า แม้จะใช้หน่อเดิม ทั้งนี้ คุณลุงไพริน ชี้ว่า น่าจะเกิดจากคุณภาพดินของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งถ้าพ้นออกไปแล้ว รสชาติตลอดจนลักษณะผลมักเปลี่ยน

 

แวะแหล่งขายกล้วยไข่ริมทาง

ก่อนเดินทางกลับทีมงานแวะเยี่ยมเยียนแผงขายกล้วยไข่ที่ตั้งเรียงรายตลอดสองข้างทางถนนสายกำแพงเพชร-พิจิตร ซึ่งผู้ขายมีทั้งแบบมีสวนกล้วยตัวเองแล้วนำผลผลิตมาวางขาย กับอีกแบบคือไปรับซื้อกล้วยจากสวนโดยตรงเพื่อนำมาวางขาย

คุณวิน บุนนาค เจ้าของแผงขายกล้วยไข่รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า มีสวนกล้วยไข่ของตัวเองขนาด 3 ไร่ และทำอาชีพนี้มานานกว่า 30 ปี นอกจากนั้น ยังรับซื้อกล้วยไข่จากสวนของชาวบ้านที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง อย่างที่ ลำมะโกรก นครชุม และโพธิ์สวัสดิ์ อีกหลายราย

kk8%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%99-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%a5

ตลอดเวลากว่า 30 ปี กับการคลุกคลีกล้วยไข่ คุณวินพบว่าเป็นไม้ผลที่ปลูกและดูแลยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะหลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็ยิ่งทวีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ (2559) ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งที่มาเยือนตั้งแต่ต้นปี เลยทำให้ได้ผลผลิตน้อย ราคาจึงสูงกว่าปกติ

อีกทั้งยังพบว่าผลกระทบเช่นนี้จึงส่งผลต่อการขายกล้วยไข่ ซึ่งโดยปกติระยะทาง 10 กิโลเมตร ตั้งแต่ทางแยกจะมีร้านขายกล้วยไข่ตั้งเรียงรายมาตลอด แต่ปีนี้หายไปเกินครึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกำแพงเพชรบางรายสู้ไม่ถอยแล้วคิดจะปลูกต่อไป

หลายคนที่คุ้นกับลักษณะประจำของกล้วยไข่กำแพงเพชรมักทราบว่ามี รสหวานหอม เนื้อแน่น เปลือกบาง ตลอดจนขนาดผลมีความพอดี ซึ่งจุดเด่นเช่นนี้จึงเป็นเสน่ห์ของกล้วยไข่กำแพงที่ทำให้คนทั้งประเทศติดใจ แล้วมักแวะเวียนมาหาซื้อในช่วงที่มีผลผลิตซึ่งมักตรงกับเทศกาลสาร์ทไทย คุณวิน บอกว่า เคยรับกล้วยไข่จากแหล่งอื่นมาขายร่วมกับกล้วยไข่กำแพงเพชร ปรากฏว่าลูกค้าชิมแล้วชอบกล้วยไข่กำแพงเพชรมากกว่าเพราะมีรสหวาน หอม

ผลที่เกิดจากความแห้งแล้งจึงทำให้ในช่วงผลผลิตมีจำนวนกล้วยไข่ไม่มาก โดยมีการกำหนดราคาขายหน้าร้านอยู่ระหว่าง 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ ส่วนแบบขายยกเครือราคาตั้งแต่ 120-250 บาท คุณวิน ชี้ว่า ปีนี้ราคากล้วยไข่สูงกว่าที่เคยพบมาก่อน และคิดว่าราคานี้คงไม่ลดลงแล้วจนสิ้นฤดู เพราะผลผลิตจะทยอยออกมาตลอด จนทำให้ไม่ล้นตลาดจนต้องลดราคา

kk9-%e0%b8%96%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%a1

ผู้ขายกล้วยไข่รายนี้ชี้ว่า ความจริงแล้วตลาดกล้วยไข่กำแพงเพชรไม่มีปัญหาด้านราคา แต่ด้วยความที่การปลูกและการดูแลเป็นไปด้วยความยาก ประกอบกับเจออุปสรรคมากมายทั้งภัยจากธรรมชาติและโรคพืช จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนหลายรายถอดใจเลิกปลูก แล้วหันไปปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแทน ก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้ปลูกกล้วยลดลง ขณะเดียวกัน เมื่อมีกล้วยน้อยจึงทำให้ราคาสูงตามไปด้วย

ร้านขายกล้วยไข่ของคุณวิน ตั้งอยู่ริมถนนสายกำแพงเพชร-พิจิตร บริเวณหลัก กม.10 ร้านนี้ไม่ได้ขายแต่กล้วยไข่ แต่ยังขายหน่อกล้วยราคาหน่อละ 10-15 บาท แล้วยังมีกล้วยหอมทองที่ปลูกไว้นำมาขาย นอกจากนั้น ยังรับไม้ผลชนิดอื่นจากชาวบ้านมาวางขายด้วย

ถึงแม้ว่าผลจากภัยแล้งได้สร้างความเสียหายให้แก่ชาวกำแพงเพชรมากมาย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพการเกษตรไปปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงชีพ และการจับมือกันของชาวกำแพงเพชรเพื่อหาทางแก้ไขปัญหากล้วยไข่ในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนกลับมาปลูกกล้วยไข่ ผลไม้ประจำถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชาวกำแพงเพชรมายาวนาน

สอบถามรายละเอียดผลผลิตกล้วยไข่เพิ่มเติมได้ที่ คุณนพพล เทพประถม บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ที่ 2 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โทรศัพท์ (087) 592-6709