ตะลุย “กำปงสปือ” แหล่งใหญ่มะม่วงแก้วขมิ้น สำรวจเส้นทางขนส่ง 230 กม.ป้อนไทย

ชื่อของ “กำปงสปือ” จังหวัดทางตะวันตกของพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา อาจเคยคุ้นหูคนไทยมาบ้าง ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ไม่ไกลจากประเทศไทยนัก มีพื้นที่ติดกับ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับจังหวัดตราด ประเทศไทย คือ จังหวัดโพธิสัตว์และจังหวัดเกาะกง แต่สิ่งที่โดดเด่นขณะนี้ กำปงสปือกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นมากที่สุดในกัมพูชาถึง 60% พื้นที่ปลูก 243,750 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 600,000-700,000 ตัน ส่งออกมาประเทศไทย 30% และเวียดนาม 70%

ที่ผ่านมาเส้นทางการค้ามะม่วงแก้วขมิ้นจะผ่านเข้ามาประเทศไทยทางจังหวัดจันทบุรี แต่ภายหลังจากกรมวิชาการเกษตรได้ประกาศให้สามารถนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นได้ตลอดชายแดนกัมพูชาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทำให้มีการนำสินค้าผ่านจุดผ่านแดนอื่นๆอย่างคึกคักโดยเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งติดกับจังหวัดเกาะกง ถูกหมายตาจากบรรดาผู้นำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นทั้งในจังหวัดตราดและที่อื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากเส้นทางนี้ขนส่งสะดวกสบายที่สุด เนื่องจากเป็นถนนลาดยางตลอดทางจากเกาะกงไปจนถึงกำปงสปือ

14778911551477891204l

เส้นทางลำเลียง 230 กม.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ติดตามคณะ “ดร.ประธาน สุรกิจบวร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่ได้นำขบวนตัวแทนภาครัฐและเอกชน ไปสำรวจเส้นทางขนส่งมะม่วงแก้วขมิ้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

การเดินทางเริ่มต้นจากถนนหมายเลข 48 จากเกาะกงแยกเข้าสู่ถนนหมายเลข 4 ก่อนถึงพนมเปญ 48 กิโลเมตร ถึงกำปงสปือรวมระยะทางเพียง 230 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ถือว่าสะดวกและรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับเส้นทางการค้าเดิมทางจังหวัดจันทบุรีที่มีระยะทางถึง 500-600 กิโลเมตร

นอกจากสำรวจเส้นทางแล้ว การบุกเมืองกำปงสปือแหล่งผลิตมะม่วงแก้วขมิ้นแหล่งใหญ่ที่สุดในกัมพูชาในครั้งนี้ ยังได้พบปะตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก และจัดจำหน่ายมะม่วง พร้อมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับประธานพาณิชย์กัมพูชาในคราวเดียวกันด้วย

กัมพูชาแจงส่งออกไทย 30%

“เนียน แซมโป” (Nhel Sambo) ประธานพาณิชย์กำปงสปือ อธิบายถึงเรื่องการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จากองค์กรอารักขาพืช (National Plant Protection Organization) หรือ “NPPO” และใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D) จากกระทรวงพาณิชย์นั้น ขณะนี้ดำเนินการได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนการซื้อขายต้องทำข้อตกลงกับสหกรณ์กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงจังหวัดกำปงสปือที่มีเพียงแห่งเดียวล่วงหน้า โดยทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดตราดและจังหวัดกำปงสปือ กำหนดราคาซื้อขายที่หน้าสวน หรือราคาขนส่งมาชายแดนหน้าด่านจังหวัดตราด เพราะผลผลิตมะม่วงสดต้องส่งตลาดอย่างช้าไม่เกิน 20 วัน

ด้าน “อุน ไชวาน” (In Chayvan) ประธานสมาคมมะม่วงกำปงสปือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ส่งมะม่วงเข้าทางจังหวัดจันทบุรี มีระยะทาง 500-700 กิโลเมตร ประมาณ 70% เป็นมะม่วงเบอร์ 2-4 จากกำปงสปือ แต่ถือเป็นการดีที่ต่อไปสามารถส่งไปยังจังหวัดตราดระยะทางใกล้ขึ้น การขนส่งสะดวกสบายขึ้น สอดคล้องกับพื้นที่ปลูกมะม่วงจะมากขึ้น เบื้องต้นสามารถเจรจาซื้อขายกันก่อน และต้องชัดเจนเรื่องพื้นที่ขนถ่ายสินค้า เรื่องการอนุญาตให้รถบรรทุกเข้าไปในพื้นที่ประเทศไทย ขณะที่เรื่องใหม่อย่างเอกสารใบรับรองนำเข้าจากกัมพูชายังต้องศึกษาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาเราค้าขายแบบมิตรภาพ ซึ่งการค้ากับเวียดนามก็ไม่มีเอกสารแต่อย่างใด

ขณะที่ “พลัม พอลลา” รองประธานสหกรณ์กลุ่มผู้ผลิตมะม่วง กำปงสปือ เล่าว่าสหกรณ์กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงมีสมาชิกประมาณ 300 ราย มาจากแหล่งปลูกมะม่วงหลายแห่ง อาทิ กำปงสปือ กำปงชนัง กำปงธม กำปอต โดยมะม่วงจะออกไม่พร้อมกัน และมีปริมาณต่างกัน แต่ละรายจะปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นเฉลี่ยรายละ 300-400 ไร่ ใช้ปุ๋ย 2 ชนิด คือ ปุ๋ยขี้ไก่และปุ๋ยเคมี ส่วนการซื้อขายต้องผ่านกลุ่มสหกรณ์ เกษตรกรเป็นผู้ผลิต โดยการขายจะคัดไซซ์ตามขนาดและความสวยงาม แบ่งเป็น 4 เกรด คือ เบอร์ 1-4 โดยปริมาณมะม่วงที่เก็บแต่ละวัน แบ่งเป็นเบอร์ 1 วันละ 300 ตัน เบอร์ 2-3 วันละ 200 ตัน และเบอร์ 4 วันละ 100 ตัน

สำหรับการซื้อขายกับประเทศเวียดนามนั้น จะทำข้อตกลงกับกลุ่มสหกรณ์ และจ่ายเงินล่วงหน้าส่วนหนึ่งให้เกษตรกรไปก่อนเพื่อซื้อปุ๋ย ดูแลสวน เสมือนเป็นการผูกมัด เมื่อผลผลิตออกต้องขายให้เวียดนาม

“มะม่วงเบอร์ 1 นั้น จะซื้อขายกับประเทศเวียดนาม 70% โดยทำข้อตกลงกับกลุ่มสหกรณ์ ใช้วิธีจ่ายเงินล่วงหน้าส่วนหนึ่งให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ย ดูแลสวน เหมือนเป็นการผูกมัดว่าหากผลผลิตออกต้องขายให้เวียดนาม ซึ่งเวียดนามจะขายส่งไปให้ชาวจีน เกาหลี เพื่อบริโภคผลสุก ส่วนมะม่วงเบอร์ 2-4 จะส่งตลาดประเทศไทยอีก 30%”

14778911551477891216l

ไทยรุกคืบแปรรูปอบแห้งส่งจีน

ด้าน “วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์” ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด ประธานกรรมการสหกรณ์แปรรูปจังหวัดตราด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดมะม่วงแก้วขมิ้นมีโอกาสเติบโตมาก และช่องทางนำเข้าทางจังหวัดตราดสะดวกมากขึ้น ขณะนี้โรงงานได้เตรียมติดตั้งเครื่องอบปรับตัวแปรรูปมะม่วงอบแห้งเพื่อส่งตลาดจีน ที่มีความต้องการสูงและไม่กำหนดสเป็กยุ่งยาก ที่สำคัญมีออร์เดอร์ไม่อั้น โดยจะเป็นสินค้าที่มาทดแทนทุเรียนในช่วงที่หมดฤดูกาล ซึ่งขณะนี้เป็นโอกาสเหมาะที่จะนำเข้าวัตถุดิบได้จำนวนมากอย่างสะดวก มองว่าอนาคตถ้าพัฒนาคุณภาพได้ เรายังมีช่องทางตลาดต่างประเทศ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่นที่ยังเปิดกว้าง

“ตราดอยู่ใกล้ตลาดแรงงาน ขนส่งสะดวก มีไม้ฟืนที่เป็นพลังงานราคาถูก เชื่อว่าผู้ประกอบการโรงงานขนาดใหญ่ภาคอื่น ๆ จับจ้องการนำเข้าช่องทางชายแดนด้านจังหวัดตราดเช่นกัน ขณะเดียวกันโรงงานในจังหวัดตราด 2-3 แห่งที่นำเข้ามาผลิตอยู่แล้วควรจะเตรียมโรงงานรองรับ เพราะมีวัตถุดิบ ตลาดพร้อม” นายวุฒิพงศ์กล่าว

ตอกย้ำความนิยมของมะม่วงแก้วขมิ้น ที่ไม่เพียงการบริโภคผลสดเท่านั้น วันนี้ผู้ประกอบการไทยยังได้หมายมั่นปั้นมือให้มะม่วงแปรรูปเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดตราดอีกด้วย