รับซื้อโคจากประเทศเพื่อนบ้าน ขุนขาย ต้นทุนค่าอาหารต่ำ สร้างรายได้งาม

โคขุน หมายถึงการเลี้ยงวัวเพื่อให้มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ในเวลารวดเร็ว เนื่องจากเลี่ยงปัญหาการลงทุน ฉะนั้น ตัวแปรสำคัญคือคุณภาพอาหาร เพราะถ้าได้อาหารที่มีคุณภาพอย่างดี จะทำให้วัวเจริญเติบโตเร็ว มีน้ำหนัก สามารถขายได้ในราคาสูง

คุณวิชิต อำพลรุ่งโรจน์ เป็นชาวบ้านที่ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ยึดอาชีพเลี้ยงโคขุนมาได้สักกว่า 2 ปี

คุณวิชิต อำพลรุ่งโรจน์
คุณวิชิต อำพลรุ่งโรจน์

คุณวิชิต ให้รายละเอียดเรื่องงานประจำว่า บทบาทและหน้าที่ในตำแหน่งการงานขณะนี้จะต้องดูแลทุกข์ สุข ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านผ่านประชาคม และชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านรวมไทยพัฒนาส่วนมากมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวกันคือ การทำไร่ข้าวโพด

ด้วยความพร้อมทั้งเรื่องดิน ฟ้า อากาศ และน้ำของพื้นที่ในหมู่บ้านแห่งนี้ จึงทำให้สามารถปลูกพืชผักชนิดต่างๆ อย่างพริก ผักเมืองหนาว หรือแม้แต่ดอกกุหลาบ ได้อย่างมีคุณภาพ แล้วในบางคราวหากว่างเว้นจากงานประจำ ทางหน่วยงานก็มักจะหาอาชีพเสริมอีกหลายอย่างให้แก่ชาวบ้านทำเพื่อสร้างรายได้หลังเสร็จสิ้นอาชีพหลัก

สำหรับธุรกิจที่คุณวิชิตทำอยู่เป็นอาชีพส่วนตัวคือ การเลี้ยงโคขุน ทำมาได้ประมาณ 2 ปี โคที่นำมาเลี้ยงเพื่อขายเป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่ซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนที่ซื้อมามีรูปร่างโทรม เมื่อซื้อมาแล้วจะนำมาให้อาหารอย่างเต็มที่ โดยมีระยะเวลาเลี้ยงไว้ประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้อ้วนและมีสุขภาพดี จากนั้นจึงขายต่อให้พ่อค้า

ภายในโรงฟาร์มที่กว้าง สะอาด ไม่แออัด
ภายในโรงฟาร์มที่กว้าง สะอาด ไม่แออัด

คุณวิชิต เผยถึงลักษณะการซื้อ-ขาย ว่าเมื่อคราวที่รับซื้อวัวจะเหมาเป็นฝูง ซึ่งแต่ละฝูงที่ซื้อมีจำนวนไม่เท่ากัน แต่จะอยู่ระหว่าง 40-90 ตัว ทั้งนี้ เพราะมีพื้นที่เลี้ยงไม่มาก อีกทั้งอายุวัวก็ต่างกัน โดยเฉลี่ยแล้วจะเลือกซื้อวัวที่มีอายุระหว่าง 5-6 ปี ที่เป็นวัวตอนหรือวัวเปลี่ยว เนื่องจากเป็นวัยที่เมื่อนำมาเลี้ยงอย่างดีแล้วจะให้น้ำหนักดีแถมยังมีสุขภาพดีด้วย สำหรับราคารับซื้อนั้นผู้ขายจะตีราคาให้ และราคาขายที่พ่อค้ากำหนดอาจไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านการตลาด

ครั้นเมื่อตกลงราคาเป็นที่น่าพอใจกันแล้ว วัวทุกตัวจะต้องผ่านการตรวจโรคจากปศุสัตว์ที่ด่านชายแดนก่อนที่จะนำวัวข้ามเข้ามาในไทยทุกครั้ง

ทางด้านอาหารที่ใช้เลี้ยงวัว ได้แก่ หญ้าเนเปียร์ ที่เขาปลูกไว้ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ โดยนำหญ้ามาผสมด้วยอาหารสำเร็จรูป รวมถึงข้าวโพดด้วย สัดส่วนในการผสมอาหารคือ หญ้าเนเปียร์ 2 ส่วน อาหารสำเร็จรูป 1 ส่วน ให้อาหารอย่างเต็มที่วันละ 2 ครั้ง แล้วในบางครั้งอาจแถมมื้อเที่ยงด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นอาหารวัว คุณวิชิตบอกว่าใช้น้อยมาก ถือว่าลงทุนต่ำมาก เพราะในเขตพื้นที่ตำบลรวมไทยพัฒนามีวัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้เป็นอาหารวัวครบทุกชนิด โดยไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อจึงทำให้ประหยัดต้นทุนได้มาก แล้วยังระบุว่า วัวกินอาหารประมาณ 5-6 กิโลกรัม ต่อวัน ต่อตัว และวัวตัวหนึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อตัวประมาณ 6,000-10,000 บาท

หญ้าเนเปียร์ที่ใช้เป็นอาหารวัว
หญ้าเนเปียร์ที่ใช้เป็นอาหารวัว

ลูกค้าที่มาซื้อวัวจากคุณวิชิตส่วนมากมักมาจากเวียดนาม จีน มาเลเซีย เพื่อนำไปใช้ทำอาหาร ทั้งนี้ มีการกำหนดราคาขายวัวจะชั่งเป็นกิโล กำหนดราคาไว้กิโลกรัมละ 90-100 บาท เมื่อขายแล้วหักค่าใช้จ่ายจะได้กำไรเฉลี่ยตัวละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

เจ้าของธุรกิจรายนี้เผยถึงปัจจัยที่นำมาเป็นตัวกำหนดราคาว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรคือความต้องการของตลาดและจำนวนวัวในตลาด เพราะถ้ามีจำนวนวัวน้อยแล้วความต้องการมากราคาจะสูง แต่ในทางกลับกันถ้าวัวมีมากเกินไป ถึงแม้ความต้องการของตลาดสูง แต่ก็ไม่มีผลทำให้ราคาสูง เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นทุกแห่งในตลาดค้าวัว ดังนั้น ปัญหาที่พบคือความไม่แน่นอนในเรื่องราคา เพราะอย่างบางคราวขุนวัวไว้อย่างดีมีความสมบูรณ์มาก แต่โชคร้ายในช่วงนั้นราคาวัวตกก็จะทำให้ได้ราคาไม่สูง

ปัจจุบันฟาร์มวัวขุนของคุณวิชิตเลี้ยงวัวไว้จำนวน 40 ตัว ในอนาคตเขาตั้งเป้าว่าจะเลี้ยงไว้ถึงจำนวน 100 ตัว พร้อมกับต้องขยายพื้นที่ออกไปด้วย พร้อมระบุว่า การซื้อวัวฝูงใหม่เข้ามาจะต้องถ่ายเทฝูงเดิมที่เลี้ยงไว้ออกไปเสียก่อน ด้วยการพิจารณาวัวที่เลี้ยงไว้พร้อมขายได้ก็จะไปติดต่อพ่อค้าไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยปกติพ่อค้าเหล่านั้นจะนำวัวเข้ามาเขตไทยทุกอาทิตย์ ทั้งฝูงเล็ก-ใหญ่

cw-5-%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2

ฟาร์มคุณวิชิตใช้คนงานประมาณ 3-4 คน มีหน้าที่ในการทำความสะอาดบริเวณที่วัวอยู่ ให้อาหาร ดูแลทั่วไป มีการนำขี้วัวมาตากแห้งแล้วบรรจุในกระสอบขายราคากระสอบละ 30 บาท (ประมาณ 15 กิโลกรัม) มีคนมารับซื้อถึงฟาร์ม

คุณวิชิต บอกว่า มีชาวบ้านทำอาชีพกันอยู่บ้าง แต่เลี้ยงวัวไม่กี่ตัวแล้วมักเลี้ยงไปเรื่อยๆ พอใจขายเมื่อไรก็ขาย ต่างจากของเขาเพราะทำเป็นลักษณะธุรกิจที่ต้องกำหนดเวลาให้แน่นอน มิเช่นนั้นกระทบต่อต้นทุนถ้านานเกินไป

“อาชีพเลี้ยงวัวขาย ไม่ยากอย่างที่คิด ในระยะแรกอาจต้องใช้เงินลงทุนมากสักหน่อย แต่ถ้าชาวบ้านใส่ใจกับการเลี้ยงอย่างเต็มที่ก็จะสามารถทำให้มีรายได้อย่างดี แล้วยังเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงที่ราคาพืชผลตกต่ำ หรือหากประสบปัญหาภัยแล้ง การหันมาเลี้ยงวัวขายก็อาจเป็นอีกแนวทางที่ช่วยเหลือได้” เจ้าของฟาร์มโคขุน กล่าว

สอบถามรายละเอียดหรือต้องการซื้อโคขุนติดต่อ คุณวิชิต อำพลรุ่งโรจน์ ได้ที่ โทรศัพท์ (092) 736-3214

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559