แปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่วิถีพอเพียง ปลูกเองปลอดสาร เคยได้ผลผลิตสูงถึง 70 ถังต่อ 1 ไร่

โรงเรียนบ้านสระเตย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีคุณครู 13 คน นักเรียน 183 คน ผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากร ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดีผ่านการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยเช่นกัน ที่สำคัญในฐานะที่ต้องดูแลรับผิดชอบชีวิตนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด จึงปรารถนาให้เด็กๆ ได้รับอาหารที่ดี มีคุณค่า ปราศจากสารพิษตกค้าง จึงศึกษาหาความรู้ แสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรต่างๆ และภูมิปัญญาชาวบ้าน หากระบวนการได้มาซึ่งอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปราศจากสารเคมีตกค้าง ก่อนได้ข้อสรุปให้สร้างแปลงเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารพิษบริเวณแปลงนาข้างโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งอาหารของเด็กๆ

หลังได้ข้อสรุป โครงการ “ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่” ของโรงเรียนเกิดขึ้น ปรากฏว่าโครงการได้รับความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์ ความรู้ และคำแนะนำเป็นอย่างดีจากศูนย์เรียนรู้ และพัฒนาชาวนารุ่นใหม่ จังหวัดชัยนาท กำลังทหารจากศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมเป็นวิทยากร และความร่วมมือจากคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง กระบวนการเพาะปลูกตั้งแต่เริ่มต้นเพาะ หว่านกล้า ไปจนถึงเก็บเกี่ยว ใช้เวลาเพียง 120 วัน มีพื้นที่เพาะปลูก 2 ไร่ เน้นเกษตรอินทรีย์ ใช้กระบวนการธรรมชาติดูแลและบริหารจัดการแปลงนา ต้นทุนน้อย แต่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม

สำหรับการเพาะปลูกข้าว เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวทิ้งไว้ 15 วัน ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ระหว่างรอกล้าข้าวเจริญเติบโต ก่อนลงมือเพาะปลูก 7 วัน เตรียมแปลงนาด้วยการไถนาและใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ย่อยตอซัง 5 ลิตร ต่อไร่ สาดให้ทั่วหรือปล่อยพร้อมน้ำเพื่อย่อยตอซังได้เร็วขึ้น ลดสารพิษในดิน หว่านแหนแดงเพื่อควบคุมหญ้า พอถึงเวลา 15 วัน ตีตารางปาเป้าเพื่อปลูกข้าวเพียงต้นเดียว ต่อ 1 ช่องตาราง ด้วยเครื่องมือตีตาราง ระยะหว่าง 30×30 เซนติเมตร เพื่อให้ข้าวแตกกอดี หลังจากนั้นต้นข้าวค่อยๆ เจริญเติบโต เมื่อมีอายุได้ 20 วัน หลังการปกเป้า จะปล่อยน้ำออกจากนาเพื่อแกล้งข้าวให้ข้าวแตกกอมากกว่าเดิมและแข็งแรง กระทั่งต้นข้าวอายุ 40 วัน จึงเปิดน้ำเข้าแปลงนา ระหว่างนั้นจะเทจุลินทรีย์ฯ ระหว่างวิดน้ำ ไร่ละ 2 ลิตร ทิ้งไว้ 7 วัน จึงปล่อยน้ำออกจากนา เมื่อข้าวอายุครบ 70 วัน จึงปล่อยน้ำเข้านาอีกครั้ง และใส่จุลินทรีย์ฯ เพื่อบำรุงรวงข้าวอีก ไร่ละ 1 ลิตร ทิ้งไว้ก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน จะได้ข้าวต้นแข็ง กอใหญ่ ใบตั้ง รวงยาว ข้าวเต็มเมล็ด จากข้อมูลสถิติศูนย์เรียนรู้และพัฒนาชาวนารุ่นใหม่ จังหวัดชัยนาท เคยปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ได้ผลผลิตสูงสุด 70 ถัง ต่อ 1 ไร่ สูงกว่าปกติถึง 5 เท่า ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง

ที่สุดเวลาที่ทุกรนรอคอยมาถึง เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยว ปรากฏว่ามีทั้งชาวบ้าน ทหาร ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ทีมงานวิทยากร ตลอดจนคณะครูและนักเรียน ร่วมกับเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ร่วมกันปลูกและเลี้ยงดูมาอย่างดีตลอด 4 เดือน อย่างมีความสุข แม้เหงื่อไคลโซมกาย แต่ใบหน้ายังฉาบด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข ที่เด็กๆ จะมีข้าวคุณภาพดีจากกระบวนการเพาะปลูกด้วยวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงรับประทานตลอดทั้งปี

นายปัญญา แก้วเหล็ก ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 รู้สึกยินดีที่โรงเรียนบ้านสระเตยนำเกษตรอินทรีย์เข้ามาสู่แปลงนา ได้ผลผลิตน่าพอใจ คนปลูกปลอดภัย คนกินปลอดภัย ทำให้นักเรียนรู้สึกรักและภาคภูมิใจในอาชีพของบรรพบุรุษมากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน