แก้วมังกรที่หนองย่างเสือ สระบุรี 40 ไร่ ลงทุน 2 ล้าน ปีที่ 3 ให้ผลเต็มที่ โกยรายได้ 2-3 ล้าน/ปี

เรื่องและรูป/องอาจ ตัณฑวณิช

แก้วมังกร เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Cactaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับตะบองเพชร มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน มีบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในประเทศแถบเอเชียแห่งแรกคือเวียดนามก่อน มีการปลูกแพร่หลายตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อน แล้วจึงแพร่หลายมาในประเทศไทย

1-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b9%84%e0%b8%96%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2

ในสมัย 10 กว่าปีก่อน แก้วมังกรมีราคาซื้อขายกันในตลาด กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก แต่คนมีกะตังค์ก็ยังนิยมซื้อกิน เนื่องจากเป็นของโก้เก๋ แต่จริงแล้วรสชาติของแก้วมังกรไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสสมกับราคา และอีกประการหนึ่งแก้วมังกรขยายพันธุ์ได้ง่าย มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ราคาของแก้วมังกรในเวลาต่อมามีราคาตกต่ำลง แต่เหมือนมีอัศวินม้าขาวมาช่วย เนื่องจากสังคมไทยเริ่มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือ ชช. ผู้เชี่ยวชาญชีวิต โรคถาวรต่างๆ ที่ต้องติดตัวเราจนตาย เช่น ความดัน ไขมัน และเบาหวาน เป็นโรคฮิตสำหรับท่านเหล่านี้ เผอิญคนไทยนิยมบริโภคอาหารรสจัดจ้าน รวมถึงผลไม้ด้วย เช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง เป็นต้น ผลไม้รสจัดเหล่านี้เป็นผลไม้ต้องห้ามสำหรับโรคดังกล่าว โดยเฉพาะเบาหวาน หันไปหันมาเหลือแต่ลูกตะขบ กะทกรก ชำมะเลียง ซึ่งการนำมาบริโภคอาจจะเป็นที่อุจาดตาและตลกขบขันสำหรับคนเมืองเป็นยิ่งนัก จึงมาลงเอยที่แก้วมังกรผลไม้ต่างชาติต่างศาสนา ซึ่งมีความหวานน้อยและรสไม่จัดจ้าน จนกลายเป็นผลไม้สำหรับสุขภาพไป

2-%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81-768x768

สรรพคุณมากมาย

สรรพคุณของแก้วมังกรพอสดับได้ดังนี้ คือ ช่วยดับกระหายคลายร้อน ซึ่งแหงๆ อยู่แล้ว ผลไม้ที่มีน้ำเยอะๆ เช่น แตงโม สรรพคุณพื้นฐานคือดับกระหาย เพราะมีน้ำเยอะ แก้วมังกรสามารถช่วยควบคุมระบบน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาโรคโลหิตจาง เพิ่มธาตุเหล็กและช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง นอกจากนี้ แก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง ซึ่งมีสารไลโคปีนอยู่เป็นจำนวนมาก จะมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

ส่วนสุขภาพด้านอื่นๆ สำหรับคนที่รักสุขภาพแล้ว แก้วมังกร เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะที่เป็นผลไม้สำหรับลดน้ำหนัก กินแล้วอิ่มนานไม่หิวบ่อย และวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อผิว ทำให้ผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง อยากจะต่อว่า ดูมีน้ำมีนวลเหมือนกินยาสตรีอะไรก็ว่าไป พอดีเขาไม่ได้ว่าไว้ ส่วนเมล็ดของแก้วมังกรสามารถดูดซับสารพิษที่ค้างอยู่ในร่างกายได้อีกด้วย สรรพคุณมากมายอย่างนี้ สาวๆ ถึงอยากกินแก้วมังกร

6-%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7-768x768

แถบบริเวณตำบลหนองย่างเสือของอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี และตำบลหนองอีเหลอ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ชาวบ้านนิยมปลูกแก้วมังกร เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม มีพื้นที่ดินส่วนหนึ่งที่เป็นดินลูกรัง เหมาะสำหรับปลูกแก้วมังกร มีโอกาสได้เจอกับ ป้าศรี หรือ คุณบุญศรี จันทบุญ ซึ่งมีที่ทางอยู่ทั้งสองแหล่งที่ว่านี้ และได้ปลูกแก้วมังกรมาหลายปีแล้ว ทำให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ป้าศรีเล่าให้ฟังว่า “เริ่มปลูกแก้วมังกรตั้งแต่ ปี 2549 เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ครั้งแรกปลูกที่บ้านไว้กิน 70 ต้น เนื่องจากเป็นคนชอบกินแก้วมังกร ต่อมาเห็นว่าปลูกเลี้ยงได้ง่าย จึงขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยเอากิ่งจากน้องเขยมาปลูก ประมาณ 40 ไร่ ลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท ปีที่สามเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ ก็จะมีรายได้ปีละประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยยังไม่หักค่าใช้จ่าย

9-%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5-768x768เสาหลักต้องแข็งแรง

แก้วมังกร เป็นพืชที่พันขึ้นกับหลัก โดยหลักแก้วมังกรไม่ควรที่จะสูงมาก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติจะใช้หลักปูนเพื่อความคงทนแข็งแรง เนื่องจากแก้วมังกรมีอายุหลายปีและมีน้ำหนักกิ่งมาก จึงควรที่จะใช้เสาปูนหน้าสี่ ซึ่งจะรองรับน้ำหนักได้ดี ความยาวของเสาปูน 2 เมตร ก็เพียงพอ ฝังลงไปในพื้น 50 เซนติเมตร จะเหลือความยาวของเสา 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด ในอดีตที่เคยใช้เสาไม้หรือเสารั้วปูนหน้าสามจะมีปัญหาหักโค่นได้ง่ายเมื่อแก้วมังกรมีอายุหลายปีและจำนวนกิ่งมาก ด้านบนของเสาปูน จะเจาะรูทะลุด้านซ้ายขวา จำนวน 1 รู และด้านหน้า-หลัง จำนวน 1 รู รูทั้งสองจะอยู่ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสอดเหล็ก เหล็กที่ใช้ จะมีขนาด 4 หุน เป็นเหล็กปล้องอ้อยเพื่อความแข็งแรง แล้วจึงใช้ล้อยางจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นยางรถยนต์ที่ตัดมาเฉพาะขอบ ความยาวของเหล็ก 2 เส้น ที่ตัดเส้นละประมาณ 60 เซนติเมตร จะรองรับล้อพอดี แล้วจึงใช้ลวดผูกเหล็กผูกยึดกับล้อ

การปลูกและดูแลรักษาแก้วมังกร

ในพื้นที่ 1 ไร่ จะฝังเสาได้ประมาณ 200 ต้น ซึ่งจะใช้ต้นแก้วมังกร จำนวน 800 ต้น ระยะห่างของหลัก บางสวนใช้ 2.5×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร แล้วแต่ชอบ แต่การที่มีพื้นที่ขนาดกว้างจะสามารถใช้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก หลังจากฝังหลักเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำต้นแก้วมังกรมาปลูก ต้นที่ปลูกยิ่งมีขนาดยาวใกล้หัวเสามากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะให้ผลผลิตได้เร็ว จำนวนต้นที่ปลูกต่อหลัก จะใช้จำนวน 4 ต้น โดยปลูกทุกด้านของเสาทั้ง 4 ด้าน ในการปลูกจะต้องใช้เชือกมัดต้นให้ติดกับเสา ส่วนโคนฝังลงไปแค่เล็กน้อยก็เพียงพอ เมื่อต้นมีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ จะต้องใช้เชือกมัดและคอยจัดให้ยอดแก้วมังกรสอดเข้าไปในวงล้อและพาดห้อยออกมา การปลูกในต้นฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องรดน้ำเลย นอกจากเกิดฝนทิ้งช่วงไปนานๆ แก้วมังกรเป็นพืชทะเลทราย ดังนั้น จึงไม่ชอบน้ำแฉะ เพราะจะเกิดโรคเน่าโคนได้ง่าย

10-%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b9%84%e0%b8%8b%e0%b8%84%e0%b9%8c-768x768

ป้าศรี เล่าประสบการณ์เรื่องการปลูกแก้วมังกรว่า “แก้วมังกร เป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่โล่ง จึงต้องทำโคนให้เตียนสะอาดอยู่ตลอดเวลา รากแก้วมังกรจะอยู่บริเวณโคนไม่ลึกสานต่อกันหมด รอบโคนจะใช้คนถากหญ้าออก ส่วนทางเดินจะใช้รถไถ เมื่อหญ้าที่ถากแห้งค่อยนำมาใส่โคนเป็นปุ๋ย โดยปกติจะใช้ปุ๋ยขี้วัวแห้งใส่แก้วมังกร ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 1 หลัก ใช้ครึ่งถุง ปุ๋ยขี้วัวเราสามารถใส่ติดโคนได้เลย แต่ถ้าเป็นขี้ไก่ควรใส่ห่างโคน เพราะจะทำให้โคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมี จะใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 เพื่อบำรุงทุกส่วน แก้วมังกรไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเร่งอย่างอื่น ใช้สูตรเสมอก็เพียงพอแล้ว เพราะแก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเยอะอยู่แล้ว ปุ๋ยเคมีที่ใช้จะให้ช่วงติดผล ปีละ 2-3 ครั้ง ถ้าติดลูกมากก็ให้มากหน่อย ปริมาณที่ใช้ประมาณ 2-3 ขีด ต่อ 1 หลัก” ดอกของแก้วมังกรจะบานตอนกลางคืน ประมาณ 2-3 วัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 กว่าวันแก้วมังกรก็จะสามารถเก็บผลได้ ช่วงที่อากาศร้อนแดดจัดแก้วมังกรจะสุกเร็ว ช่วงไหนแดดน้อยอากาศไม่ร้อนแก้วมังกรจะสุกช้ากว่าปกติ

ผลผลิตของแก้วมังกรจะทยอยออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนกันยายน เป็นเวลาถึง 5 เดือน เป็นเวลาที่ให้ผลผลิตนานมากถ้านับเป็นรุ่น ได้เกือบ 10 รุ่น แต่ละรุ่นมากน้อยต่างกัน โดยปกติจะสลับกัน รุ่นแรกมาก รุ่นสองก็น้อย รุ่นสามมาก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลผลิตของต้นที่สมบูรณ์จะอยู่ระหว่าง 40-50 กิโลกรัม ต่อฤดูการผลิต แก้วมังกรควรเก็บผลผลิตเมื่อสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บต่อได้อีกหลายวันกว่าจะถึงผู้บริโภค ถ้าเก็บก่อนรสชาติจะไม่อร่อย

11-%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99-768x768

การตัดแต่งกิ่ง

เมื่อแก้วมังกรหยุดให้ผลผลิตประมาณเดือนกันยายน เดือนตุลาคมก็จะสามารถตัดแต่งกิ่งได้แล้ว กิ่งที่ตัดแต่งจะเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตในปีนี้ เนื่องจากกิ่งของแก้วมังกรจะให้ผลผลิตแค่ครั้งเดียวจึงจำเป็นต้องตัดกิ่งออก และในช่วงนี้เริ่มหมดฝนจึงเป็นฤดูที่เหมาะสมที่จะตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งควรตัดแต่งให้ชิดโคนกิ่ง เพื่อไม่ให้มีรอยแผลขนาดใหญ่ การตัดกลางกิ่งอาจเกิดเชื้อราที่รอยแผลได้ หรือหลังจากการตัดแต่งกิ่งจะฉีดยากันราเพื่อป้องกันโรคจะเป็นการดี ในช่วงที่มีผลผลิตการฉีดยากันราเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกลายเกิดขึ้นมาก

ราคาของแก้วมังกรจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่จำนวนของผลผลิตที่ออกสู่ตลาด แก้วมังกรของที่นี่มักจะออกดอกพร้อมๆ กัน จึงทำให้วันเก็บเกี่ยวเป็นวันเดียวกัน ถ้าผลผลิตออกมาเยอะมากจะทำให้มีราคาค่อนข้างต่ำ แต่ราคาโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรก็ยังมีกำไร ถ้าสวนไหนมีผลผลิตไม่ตรงกับสวนอื่นก็จะได้ราคาดี การปลูกพืชเพื่อจำหน่ายเกษตรกรควรคิดเรื่องตลาดเป็นหลัก ไม่ควรปลูกกันตามกระแส เพราะจะทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนกลายเป็นขาดทุนไป