ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีตัวอย่างข้าวมากกว่า 2 หมื่น ฝนแล้ง โรคระบาด ช่วยได้

ประเทศไทย อยู่ในบริเวณของศูนย์กลางแหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าว จึงมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ทั้งในข้าวปลูกพันธุ์พื้นเมืองและข้าวป่า แต่ในปัจจุบันพันธุ์ข้าวจำนวนมากได้เสื่อมพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไป เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูงแทนข้าวพันธุ์พื้นเมือง และจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมการสูญหายของพันธุ์ข้าวเป็นการสูญเสียแหล่งพันธุกรรมไปโดยไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อรักษาทรัพยากรพันธุกรรมข้าวให้คงอยู่ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดไป

การรวบรวมพันธุ์ข้าวในประเทศไทยเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2450 ที่เมืองธัญบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 2453 และ 2454 ได้มีการจัดการประกวดพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ ผลที่ได้จากการประกวดพันธุ์ข้าว คือ ทางราชการสามารถรวบรวมพันธุ์ข้าว แล้วนำมาปลูกคัดเลือกจนได้พันธุ์ที่ดี แนะนำสู่เกษตรกร

ดร. อภิชาติ ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2524 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น สร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ตึกเย็น) ขึ้นที่สถานีทดลองข้าวรังสิต (ปัจจุบัน คือ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไว้มิให้เสื่อมหรือสูญพันธุ์ไป และได้มีการรวบรวมอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา

“ก่อนที่ผมจะเริ่มมาทำงานที่นี่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นตึกเย็นก่อตั้งมา 2-3 ปีแล้ว เหตุที่เรียกกันว่าตึกเย็น เพราะภายในห้องนั้นจะมีอุณหภูมิที่เย็น เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีอายุได้ยืนยาว ซึ่งภายในห้องนี้ก็จะเก็บข้าวประมาณ 24,000 ตัวอย่าง ซึ่งรวมทั้งสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและสายพันธุ์ที่รัฐบาลรับรอง ซึ่งตัวอย่างข้าวที่เราเก็บรักษาไว้ เมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชีย ประเทศเราถือว่ายังติด 1 ใน 10 โดยปัจจุบันนี้ในเมืองไทยเราแบ่งข้าวออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวขาว ข้าวเหนียว และข้าวสี ซึ่งข้าวหอมมะลิถือว่าเป็นข้าวที่มีมูลค่าดี ถึงแม้กำลังผลิตจะน้อย แต่มูลค่าก็ยังสูงอยู่ ส่วนข้าวหอมปทุม ข้าวขาว ข้าวเหนียว ราคาคงที่ ส่วนข้าวสีถือได้ว่าเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ จะมีมูลค่าสูง ก็จะมีการจัดจำหน่ายเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้บริโภค และก็ทำให้เกษตรกรที่ปลูกสามารถมีทางเลือก เพื่อปลูกข้าวที่ได้มูลค่าสูง” ดร. อภิชาติ กล่าว

ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ถือว่ามีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป การที่จะนำเมล็ดข้าวออกมาส่งเสริมให้เกษตรกรนั้น จะต้องรู้ถึงปัญหาและสภาพแวดล้อมของที่นั้นๆ เสียก่อน เพื่อที่จะได้นำข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมมาให้กับเกษตรกรได้ปลูกให้มีอาชีพทำนาที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งข้าวที่เก็บไว้ทั้งหมดเรียกว่า สามารถนำออกมาใช้ได้กับทุกปัญหาและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

โดยศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ตึกเย็น) อยู่ในสังกัดศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เป็นอาคารชั้นเดียว มีพื้นที่ใช้สอย 1,285 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นห้องเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์และห้องปฏิบัติการเมล็ดเชื้อพันธุ์

ห้องเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ ประกอบด้วยห้องอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ 3 แบบ คือ

  1. ห้องอนุรักษ์ระยะสั้น (ประมาณ 3-5 ปี) เป็นห้องขนาด 315 และ 592 ลูกบาศก์เมตร ควบคุมอุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-60 เปอร์เซ็นต์ สามารถอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวได้มากกว่า 30,000 ตัวอย่าง
  2. ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง (ประมาณ 20 ปี) เป็นห้องขนาด 250 ลูกบาศก์เมตร ควบคุมอุณหภูมิที่ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-60 เปอร์เซ็นต์ สามารถอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 30,000 ตัวอย่าง
  3. ห้องอนุรักษ์ระยะยาว (ประมาณ 50 ปี) เป็นห้องขนาด 187.5 ลูกบาศก์เมตร ควบคุมอุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-60 เปอร์เซ็นต์ สามารถอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 25,000 ตัวอย่าง

นับได้ว่าเป็นความโชคดีของพสกนิกรไทยที่มีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงห่วงใยในเรื่องเกษตรกรรม เพื่อให้พสกนิกรได้อยู่เย็นเป็นสุข ให้สมกับคำที่ว่า “เมืองไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นและมีพระราชดำริมากมายในทางเกษตรกรรมสู่พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดแห่งการครองราชย์ 70 ปี

จึงขอเชิญพสกนิกรไทยร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พระราชบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ในงาน มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ

พบกับไฮไลต์ที่น่าสนใจ

– 9 เรื่องราวข้าวกับพระเจ้าอยู่หัว

– 9 พันธุ์ข้าวพระราชทาน ในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

– การสาธิตเมนูพระราชทานจากข้าวและพืชผลในโครงการหลวง

– แจกเมล็ดพันธุ์ข้าวมงคลของพ่อ

– การจัดแสดงพันธุ์ข้าวหายากจากทั่วประเทศ กว่า 199 สายพันธุ์

ในวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00-20.00 น. ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ