โครงการหลวง ร่วมสถาบันวิจัยฯ เสนอผลงานวิจัยเพื่อชุมชนบนที่สูง

พืชสมุนไพรต้มไก่เผ่าม้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดการประชุมและนำเสนอผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2559 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่างานวิจัยเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนางานของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อตอบสนองเป้าหมายสำคัญคือ ช่วยชาวไทยภูเขาเพื่อมนุษยธรรม ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น และการรักษาดินและการใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง ในปีนี้มูลนิธิโครงการหลวงมีผลงานวิจัย 14 สาขา งานวิจัยหลัก 50 โครงการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ดำเนินงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัย 5 แผนงาน 42 โครงการหลัก 95 โครงการย่อย ซึ่งผลงานที่ประสบผลสำเร็จ จะได้นำเสนอความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพันธมิตรงานวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ผู้เขียนขอนำเสนอผลงานศึกษาวิจัยบางส่วนที่เหมาะสมกับผู้อ่านรูปแบบแนวทางการนำเสนอของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน (เครือมติชน)

แกงแค ชาวปะหล่อง

ภายใต้หัวข้อ “พืชพื้นบ้าน อาหารเป็นยา” เป็นอาหารของชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ชนเผ่าดาราอั้ง ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาที่มีประชากรน้อยกว่าชนเผ่าอื่น แกงแคเองนั้นก็เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวเหนือมานานแล้ว แต่แกงแคของชาวปะหล่องนั้นจะแตกต่างกัน เนื่องจากพืชผักนานาชนิดที่หาได้ในป่าชุมชนของหมู่บ้าน จะนำมาทำเป็นแกงแค เรียกได้ทั้งรสชาติเอร็ดอร่อย และเป็นยาป้องกันรักษาโรคไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วยพริกแกง ที่มีพริกแห้ง ตะไคร้ กระเทียม กะปิ ปลาร้า ใช้พืชผักตามฤดูกาล เช่น ดอกต้าง ดอกลิงลาว ยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว จะค่าน ชะพลู ชะอม เห็ดลม ถั่วแปบ มะเขือพวง ผักเผ็ด ผักชีฝรั่ง ดอกงิ้ว พริกขี้หนู หน่อไม้ กระดูกหมูหรือเนื้อไก่ น้ำปลา น้ำมันพืช วิธีทำด้วยการนำเครื่องแกงมาโขลกให้ละเอียด นำไปผัดกับน้ำมันให้หอม นำกระดูกหมูหรือเนื้อไก่ลงไปผัดให้สุก เติมน้ำและตั้งหม้อให้เดือด เติมผักต่างๆ ลงไป ใส่ผักที่สุกยากลงไปก่อน เช่น มะเขือพวง ดอกงิ้ว ถั่วฝักยาว ถั่วแปป หน่อไม้ จากนั้นจึงใส่ผักอื่นๆ ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาตามชอบ ก่อนยกลงจากเตาใส่ยอดชะอมและใบชะพลู คนให้เข้ากัน

พืชผักท้องถิ่นใช้แกงแค
พืชผักท้องถิ่นใช้แกงแค

สรรพคุณของแกงแค ที่มีส่วนประกอบหลายอย่างในแกงหม้อเดียว พริก ช่วยบำรุงสายตา ขับเสมหะ ช่วยสร้างคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีต่อร่างกาย กระเทียม ช่วยลดคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ดอกลิงลาว มีฤทธิ์ต่อต้านสารก่อมะเร็ง บางพื้นที่นำรากมาต้มเป็นน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยร่างกาย ถั่วพู อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เป็นผักที่มีโปรตีนสูง เป็นตัวช่วยเสริมภูมิต้านทานในร่างกาย ผักเผ็ด มีฤทธิ์ทำให้ชาสามารถนำมาใช้อาการปวดฟันได้ ต้นสดนำมาตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แก้ฝีในลำคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ปวดฟัน จะค่าน ต้นและใบช่วยขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดและบำรุงธาตุ รากแก้ไข้ หอบหืด ชะอม ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากมีวิตามินเอสูง ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกาย ถั่วแปบ ช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ผักชีฝรั่ง เป็นพืชที่มีอนุมูลอิสระสูง ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ดอกงิ้ว แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง โดยใช้ดอกตากแห้งมาต้มดื่ม ช่วยยับยั้งและชะลอการเจริญของเซลล์มะเร็ง หน่อไม้ เป็นพืชที่ให้เส้นใยสูงจึงช่วยย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นการบิดตัวของลำไส้

 

ต้มไก่สมุนไพร เมนูเด็ดเผ่าม้ง

พืชสมุนไพรต้มไก่เผ่าม้ง
พืชสมุนไพรต้มไก่เผ่าม้ง

ต้มไก่สมุนไพรของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เป็นที่นิยมชมชอบ รับประทานกันมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลสำคัญ ประกอบด้วยพืชท้องถิ่นหลายชนิด มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย ช่วยบำรุงกำลัง พืชแต่ละชนิดที่มีชื่อเป็นภาษาถิ่นของชนเผ่าม้ง มีสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรค เช่น ฉ่อยู่จั๊วะ ใช้ใบนำมาต้มไก่ แก้ปวดเมื่อย ช่วยบำรุงร่างกาย โย้วเตรอเลียะ ใช้รากมาต้มไก่ ช่วยบำรุงร่างกายหรือแก้ช้ำใน ใบนำมาทุบประคบแผลเพื่อสมานแผล ซีเตอเนง ใช้ใบหรือรากนำมาต้มไก่ แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง ใบหรือรากนำมาต้มน้ำดื่มบรรเทาอาการปวดท้อง ซะฉี่ม้ง ใช้ใบนำมาต้มไก่ บำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อย ช่วยบำรุงกำลัง ใช้เหง้านำมาต้มน้ำดื่มรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยีแกร้ง ใช้หัวมาต้มไก่ แก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลัง รับประทานหัวสดแก้ปวดท้อง ดี้เม ใช้ประโยชน์จากใบ แก้ปวดเมื่อย ทำให้ต้มไก่มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายอย่างที่ใช้ในการต้มไก่และมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน เช่น กอเตอออ ปาปัวฃ๊วกอแก้ง ชะชัง จาเลียะ โย่วเครียเลียะ ซะฉี่ฉ่า ฉะฉี่ป้า ซะฉี่มะ ซีต้อ ดี๊ล่อ โย้วซื่อกู่ โหลวดู

 

การอนุรักษ์และฟื้นฟูเห็ดท้องถิ่น

หลายที่ที่ชื่นชอบการบริโภคเห็ด อาจนำไปทดลองทดสอบได้ด้วยตนเอง ทั้งเพื่อการศึกษา การหารายได้เป็นอาชีพ จากผลการศึกษาวิจัยเพื่อให้เห็ดท้องถิ่นเป็นอาหารของชุมชนบนที่สูงอย่างยั่งยืน ตามธรรมชาติแล้วพื้นที่ใดที่เคยมีเห็ดหลายชนิดเกิดขึ้น ในปีต่อไปก็จะเกิดขึ้นที่เดิมๆ เพราะเห็ดจะมีสปอร์เพื่อการขยายพันธุ์ อย่างเช่น เห็ดตับเต่า หรือบางท้องถิ่นอาจจะเรียกว่า เห็ดห้า นอกจากจะเกิดในที่เดิมแล้ว นับวันจะลดน้อยลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทุกปี อาจจะเกิดเห็ดพิษเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย จากการวิจัยพบว่า เราสามารถขยายพันธุ์เห็ดตับเต่าได้ด้วยตนเอง เพราะชอบขึ้นและเจริญเติบโตได้บริเวณใต้ต้นผักเฮือดตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีการเพาะก็ง่ายๆ โดยนำเห็ดตับเต่าที่แก่แล้วขยี้ในน้ำให้สปอร์กระจายอยู่ในน้ำ จากนั้นนำไปโรยบริเวณที่มีต้นผักเฮือดขึ้นอยู่ หลังจากนั้น จะให้ผลผลิตเมื่อเราหว่านเชื้อหรือสปอร์ของเห็ดตับเต่าไปแล้ว 3 ปี ส่วนการทดสอบเพื่อเพิ่มผลผลิตเห็ดในท้องถิ่นอื่นในสภาพธรรมชาติ เห็ดกลุ่มผู้ย่อยสลาย พบว่าเห็ดลมหรือเห็ดกระด้างที่เพาะในท่อนไม้ จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อเดือนที่ 11 หลังจากใส่เชื้อเห็ด การทดสอบเพาะเห็ดหูหนูรังผึ้งหรือเห็ดเหงือกควาย และเห็ดหูหนูดำ พบว่าเห็ดทั้งสองให้ผลผลิตค่อนข้างดี แต่การคงสภาพเห็ดหูหนูดำจะดีกว่า

 

เสาวรสหวาน

เสาวรส รับประทานผลสด
เสาวรส รับประทานผลสด

เสาวรสเป็นไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ผลสีม่วงแดงจนถึงน้ำตาล เหมาะสำหรับใช้บริโภคสด แต่ก่อนที่จะนำไปบริโภคนั้นจะต้องผ่านกระบวนการบ่มให้มีความหวานที่สูงสุด การวิจัยครั้งนี้จะทำหลายวิธี ทั้งที่ไม่บ่ม บ่มในอุณหภูมิห้องปกติ บ่มด้วยสารละลายเอทีฟอน และแคลเซียมคาร์ไบด์ โดยนำผลผลิตเสาวรสที่ปลูกในพื้นที่บ้านปางมะโอ บ้านห้วยเป้า บ้านปางแดงใน แต่ละพื้นที่มีระดับความสูงที่แตกต่างกัน โดยสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการผลเสาวรสหวาน ที่บ้านปางมะโอและบ้านปางแดงใน คือเก็บรักษาผลเสาวรสหวานที่อุณหภูมิห้องนาน 2-4 วัน ส่วนที่บ้านห้วยเป้าจะต้องบ่มผลเสาวรสหวานด้วยการใช้เอทีฟอน 6 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร บ่มนาน 4 วัน ผลที่ได้คือ ผลเสาวรสที่มีคุณภาพ มีความหวานที่ตลาดต้องการ

 

อะโวกาโด

อะโวกาโด สายพันธุ์แฮส
อะโวกาโด สายพันธุ์แฮส

อะโวกาโดเป็นไม้ผลทรงพุ่มขนาดกลาง มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูก ได้แก่ พันธุ์แฮส เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จึงได้ทดลองที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ฉีดพ่นสารควบคุมการเจริญเติบโตของอะโวกาโด จากการทดลองพบว่า การพ่นด้วยบราสซิน ทำให้ความกว้างของผล น้ำหนักเมล็ด ความหนาของเนื้อสูงที่สุด หากพ่นด้วยสารจิบเบอเรลลิน ทำให้มีเนื้อสูงสุด นอกจากนี้ การพ่นด้วยแม็กซ์ซิมทำให้น้ำหนักผลมากถึง 152.79 กรัม ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าวิธีอื่น

ท่านที่สนใจผลงานวิจัยอื่นๆ ของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (053) 328-496-8 หรือ www.hrdi.or.th