ทำไมต้อง “เงาะโรงเรียน”

ที่บ้านต๊ำพระแล อำเภอเมืองพะเยา มีเกษตรกรได้นำเงาะพันธุ์โรงเรียนมาปลูก เพราะผลผลิตที่ออกมามีความอร่อย เนื้อล่อนแห้ง ไม่แฉะ หวานกรอบ อาจจะเป็นเพราะดินแถวบ้านต๊ำพระแล มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่ทำการเกษตร มีคนบอกว่าดินแถวนี้เคยเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่า ประกอบกับพื้นที่ของบ้านต๊ำพระแล อยู่บริเวณ เชิงเขาหลวงยังมีความอุดมสมบูรณ์ น้ำที่ใช้รดต้นเงาะและทำการเกษตรจะไม่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากเป็นต้นน้ำ และตอนนี้ที่ดินเขตพื้นที่บ้านต๊ำพระแลนอกจากจะเลี้ยงปลานิล ยังสามารถปลูกมังคุด ทุเรียน และลองกอง ที่มีรสชาติอร่อยมาก

ผู้ใหญ่อดุลย์ อ้อยหวาน เจ้าของสวนเงาะโรงเรียนกับผลผลิตที่ได้
ผู้ใหญ่อดุลย์ อ้อยหวาน เจ้าของสวนเงาะโรงเรียนกับผลผลิตที่ได้

โดยเฉพาะ คุณอดุลย์ อ้อยหวาน อายุ 35 ปี ผู้ใหญ่บ้านต๊ำพระแล บ้านเลขที่ 309/1 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา มีพื้นที่เพาะปลูกเงาะ จำนวน 4 ไร่ จำนวน 60 ต้น และมีเกษตรกรรายอื่นๆ ปลูกอีก รวมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ การจำหน่าย จะจำหน่ายให้กับผู้ที่เคยชิมก็สั่งซื้อจากเกษตรกรชาวสวนโดยตรง ในส่วนของผู้ใหญ่อดุลย์จะขายส่งให้กับผู้ค้าตลาดมณีรัตน์ ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา

อันที่จริงแล้วเงาะก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ และหารับประทานได้ไม่ยาก แต่ถ้าพูดถึงเงาะที่อร่อย หลายๆ คนถูกปาก และเป็นเงาะที่เนื้อหวาน กรอบ อร่อยแล้ว ทุกคนก็ต้องนึกถึง “เงาะโรงเรียน” เป็นอันดับแรก

เงาะ เป็นไม้ผลเมืองร้อน มีอายุนานหลายปี เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ ระหว่าง 22-35 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝน 2,000-3,000 มิลลิเมตร/ปี มีการกระจายตัวของฝนสม่ำเสมอ สภาพพื้นที่มีความชื้นสูง 75-85 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องการสภาพแห้งแล้งก่อนออกดอกติดต่อกัน 21-30 วัน แหล่งปลูกไม่ควรสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 650 เมตร ไม่ชอบสภาพพื้นที่หนาวเย็น โดยเฉพาะบริเวณที่มีหิมะตก เงาะชอบดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ความลึกของหน้าดินไม่ควรน้อยกว่า 1 เมตร ค่าความเป็นกรด-เป็นด่างของดิน 5.0-6.5 มีการระบายน้ำดี ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนเริ่มให้ผลผลิตมีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป

1

เงาะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่ ใช้เวลาประมาณ 130-160 วัน และเงาะสามารถนำมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น รับประทานผลสด ทำเงาะแช่น้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง ทำแยม ไขของเงาะสามารถนำมาทำเป็นสบู่และเทียนไขได้ นอกจากนี้ รากและเปลือกของเงาะยังสามารถนำมาทำยาสมุนไพรได้ด้วย

ที่มาของเงาะโรงเรียน เป็นผลไม้ของดีขึ้นชื่อของบ้านนาสาร อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อำเภอบ้านนาสาร เป็นพื้นที่ที่มี “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” ใต้พื้นดินประกอบด้วยแร่บนดิน มีผลไม้เงาะพันธุ์ต้นแรกของประเทศไทย

4

ประวัติความเป็นมาของเงาะพันธุ์อร่อยเลื่องชื่อนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 นายเคหว่อง เป็นชาวปีนัง ได้เดินทางมาทำกิจการเหมืองแร่ดีบุก ที่อำเภอบ้านนาสาร โดยทำเหมืองที่บ้านเหมืองแกะและที่บ้านขุนทองหลาง พักอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ (ซึ่งปัจจุบัน เป็นโรงเรียนนาสาร) นายเคหว่อง ได้นำเงาะพันธุ์พื้นเมืองของปีนังมานั่งรับประทานแล้วได้ทิ้งเมล็ดไว้ (เงาะปีนัง ผลใหญ่ ลักษณะทรงรี เปลือกหนา มีผลสีแดงเข้ม ไม่หวาน) ด้วยเหตุของดินที่ดีและมีความชุ่มชื้น อุณหภูมิพอเหมาะ ทำให้เมล็ดที่ถูกทิ้งไว้ งอกขึ้นมาประมาณ 3 ต้น

เมื่อนายเคหว่อง เลิกกิจการเหมืองแร่ ได้ขายบ้านพักพร้อมที่ดินให้กับทางราชการ สมัยนั้นราคาประมาณ 1,200 บาท ต่อมาทางราชการได้ตั้งเป็นโรงเรียน ชื่อโรงเรียน “นาสาร” โดยมี ครูแย้ม พวงทิพย์ เป็นครูใหญ่ ต้นเงาะทั้ง 3 ต้น ได้เจริญงอกงาม ใหญ่โตขึ้นจากดินที่อุดมสมบูรณ์และต่อมาได้ออกดอกติดผล จำนวนต้นเงาะทั้ง 3 ต้น มีอยู่ต้นหนึ่ง ผลของเงาะมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิม ต่อมาได้มีการนำไปให้กับพี่น้องชาวนาสารปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ และได้ขยายพันธุ์ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิด คือโรงเรียนนาสาร จึงใช้ชื่อว่า “เงาะโรงเรียน”

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัช อุตตมางกูร ผู้นำชาวสวนเงาะได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายผลเงาะโรงเรียน และขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้เสียใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า “ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว” ตั้งแต่นั้นมา เงาะพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า เงาะโรงเรียน อย่างเป็นทางการ

สนใจ อยากชิมรสชาติเงาะโรงเรียนของจังหวัดพะเยา เชิญได้ที่ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา แล้วท่านจะติดใจ