“หว้า” ต้นไม้พยากรณ์อากาศ ปีไหนฝนฟ้าจะแล้งหรือน้ำจะมาก

หว้า เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีคำขวัญประจำจังหวัดดังนี้คือ “เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม”

ภาพชุดมุมสูง ‘เพชรบุรี’ โดยฝูงบิน 501 กองทัพอากาศ

แต่ละท่อนของคำขวัญมีความหมาย ดังนี้

เขาวังคู่บ้าน เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี อยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด เดิมเรียกว่า “เขาสมน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อย เมื่อ ปี พ.ศ. 2403 ได้พระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่า “เขาวัง” สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรี มีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมจีน

ขนมหวานเมืองพระ ขนมหวาน เป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับเพชรบุรี คนทั่วไปรู้จักขนมหม้อแกงเมืองเพชร ตลอดจนขนมหวานหลากหลายชนิด ส่วนเคล็ดลับของความอร่อยนั้นมาจาก “น้ำตาลโตนด” ผลผลิตจากต้นตาลซึ่งในอดีตปลูกกันมาก แต่ปัจจุบันนั้นการปลูกต้นตาลในเพชรบุรีลดลงไป ที่ยังพอเห็นอยู่ก็คือที่อำเภอบ้านลาด เมืองพระ เพชรบุรีมีพระเกจิชื่อดังหลายรูป หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ซึ่งเป็นที่ต้องการของเซียนพระหลายคน และรู้กันดีถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน นอกจากหลวงพ่อแดงแล้ว พระเกจิชื่อดังสายเมืองเพชรเองก็มีอยู่หลายรูป อาทิ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อตัด วัดชายนา เป็นต้น

เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ เพชรบุรีมีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะประชาชนในสมัยก่อนเมื่อมีเงินจะนิยมสร้างวัดเป็นการทำบุญ เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ วัดอื่นๆ เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม ภายในมีภาพเขียนเทพ-ชุมนุมที่มีอายุกว่า 300 ปี และศาลาการเปรียญอันสวยงาม วัดกำแพงแลง เดิมวัดนี้เป็นเทวสถานของขอม การก่อสร้างตั้งแต่กำแพงจนถึงตัวปรางค์ต่างๆ นั้นสร้างขึ้นจากศิลาแลง และยังคงสภาพที่สมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน และสิ่งที่อยู่คู่กับวัดก็คือสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และสกุลช่างเมืองเพชรเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ขึ้นชื่อในเรื่องความประณีต ไม่ว่าจะเป็นงานแทงหยวก งานแกะสลักหนัง งานแกะสลักไม้ งานปูนปั้น และงานลายรดน้ำ งานช่างเมืองเพชรได้มีการสืบสานและพัฒนากันมารุ่นต่อรุ่น

ทะเลงาม ชะอำ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในจังหวัดเพชรบุรี เป็นชายหาดติดทะเลฝั่งอ่าวไทย แต่เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่ง แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่า หาดชะอำ เป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน

สิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ “ต้นหว้า” ต่อไปนี้คือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับต้นหว้า

ชื่ออื่น : ห้าขี้แพะ (เชียงราย) ไม้ห้า
ชื่อสามัญ Jambolan Plum, Java Plum
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels
ชื่อวงศ์ : MYRTACEAE

ข้อมูลทั่วไป :

หว้า ชาวฮินดูเรียกว่า จามาน หรือ จามูน ชื่อภาษาอังกฤษคือ จัมโบลาน (Jambolan) เป็นพันธุ์ไม้พวกต้นชมพู่ มีมากทั้งในอินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย ตลอดจนฟิลิปปินส์ โดยมากหว้ามีผลเล็กสีม่วงดำ แต่ในบางแห่ง เช่น ฟิลิปปินส์มีลูกเท่าไข่นกพิราบ ในพม่านั้น ต้นหว้าถือว่าเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง

ต้นหว้า เป็นต้นไม้ที่บอกว่า ปีไหนฝนฟ้าจะแล้งหรือน้ำจะมาก ชมพูทวีป หมายถึง ประเทศอินเดียในปัจจุบัน สมัยพุทธกาลเรียกดินแดนแถบนี้ว่า ชมพูทวีป ชมพูแปลว่า ไม้หว้า ชมพูทวีปคือดินแดนแห่งไม้หว้า ปีไหนลูกหว้าออกลูกดก แสดงว่าปีนั้นฝนดี ปีไหนลูกหว้าไม่ดก แสดงว่าปีนั้นแล้ง คนอินเดียใช้ต้นหว้าในการพยากรณ์ฝนฟ้าเรื่องการเพาะปลูกมาแต่ครั้งพุทธกาล

หว้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าคือ ต้นหว้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่  2 เหตุการณ์ ได้แก่

1. ตอนตามเสด็จพระราชบิดา ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อครั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ8 ปีได้เสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าที่บรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวาย เพราะเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้มีความร่มรื่นและปลอดภัย

ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า ออก เป็นอารมณ์และก็ทรงบรรลุปฐมฌาน แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้วแต่เงาไม้หว้ายังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัยและเกิดความเลื่อมใสก้มลงกราบพระโอรส เพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์

2. ตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฐิมานะชฎิล ชื่ออุรุเวลกัสสปะ ดังข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงต้นหว้าไว้ดังนี้…ครั้นเมื่อถึงเวลาฉัน อุรุเวลกัสสปะได้ไปทูลพระพุทธเจ้าว่าถึงเวลาแล้วมหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้วลำดับนั้นพระพุทธเจ้าทรงถือเอาโอกาสนั้นที่จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ แล้วตรัสกับอุรุกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ ท่านไปก่อนเถิด เราจักตามไป” พระผู้มีพระภาคทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปะไปแล้ว เสด็จไปยังต้นหว้าประจำชมพูทวีป ทรงเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปนั้น แล้วเสด็จกลับมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสปะ อุรุเวลกัสสปะเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน รู้สึกแปลกใจจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่มหาสมณะท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ามาก่อนท่าน แต่ท่านมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน (ข้าพระเจ้า)”

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอุรุเวลกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วได้เก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้ว จึงมานั่งในโรงบูชาเพลิงนี้ก่อน ดูกรกัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ถ้าท่านต้องการเชิญบริโภคเถิด” อุรุเวลกัสสปะตอบว่า “อย่าเลย มหาสมณะท่านเก็บผลไม้นี้มา ท่านนั่นแหละจงฉันผลหว้านี้เถิด”

อุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้วยังเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้วมานั่งในโรงเพลิงก่อน แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนอย่างเราแน่”

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

1397206202

ลำต้น ไม้ต้นสูง 10-25 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาล

ใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 5-9 เซนติเมตร ยาว 9-15 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ

ดอก สีขาว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด ฐานรองดอกเป็นรูปกรวย กลีบดอก 4 กลีบ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ออกดอกและติดผลราวเดือนธันวาคม-มิถุนายน ผลอ่อนสีเขียว พอเริ่มแก่ออกสีชมพู สีม่วงแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปกระสวย สีม่วงแดง ฉ่ำน้ำ ผิวเรียบมัน ผลแก่ราวเดือนพฤษภาคม มีเมล็ด 1 เมล็ด รูปไข่

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และไทย ในไทยพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ดินอุดมสมบูรณ์หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำธาร หนอง คลอง บึง สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเลขึ้นไปถึงเขาสูงไม่น้อยกว่า 800 เมตร

 

สรรพคุณทางสมุนไพร:

เปลือกและใบ ใช้ทำยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย ลิ้นและคอมีเม็ด

ใบและเมล็ด ใช้แก้บิด มูกเลือด ท้องเสีย นำใบและเมล็ดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ในการชะล้างแผลเน่าเปื่อย หรือนำใบและเมล็ดมาตำแล้วใช้ทาแก้โรคผิวหนัง

เมล็ด ต้มหรือบด ใช้แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องร่วง ลดน้ำตาลในเลือด และใช้ถอนพิษ

ผลดิบ แก้ท้องเสีย

ผลสุก สีม่วงดำและมีรสเปรี้ยวฝาดอมหวาน ใช้ทำไวน์ได้ดี

ประโยชน์อื่น เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม เครื่องเรือนและเครื่องมือการเกษตร ผลสุก น้ำจากผลหว้า เป็น 1 ใน 8 น้ำปานะ ที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุ ส่วนผลสุกรับประทานได้ ใช้ทำเครื่องดื่ม ทำไวน์ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2559