สับปะรดตราดสีทอง พืชทองของคนเมืองตราด

จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตราด ที่อยู่ปลายสุดแผ่นดินของประเทศไทย และมีพื้นที่ด้านหนึ่งติดฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ทำให้สภาพของอากาศ ความชื้นและสภาพดินเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชกลุ่มไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง

เกษตรกรที่นี่จึงทำสวนไม้ผลกันมายาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมีสับปะรดตราดสีทองที่เป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของเกษตรกรจังหวัดตราด เป็นพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรค่อนของสูง มีการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดปี ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ จัดเป็นสับปะรดบริโภคผลสดพันธุ์เดียวของไทย ที่ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ด้วยลักษณะเด่นที่รูปทรงผล สีผิวเหลืองส้ม รสชาติหวานมาก เนื้อเหลืองทองสม่ำเสมอ เนื้อแห้งกรอบและมีกลิ่นหอมกว่าสับปะรดทุกสายพันธุ์

จุดเด่นสับปะรดตราดสีทอง

แปลงสับปะรดตราดสีทองที่สมบูรณ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสับปะรดพันธุ์นี้ จัดเป็นสับปะรดกลุ่มควีน (Queen) ลักษณะเด่นภายนอก คือ ขอบใบที่ต้นและขอบใบที่จุกผลมีหนามสั้นๆ แหลมคม ทรงโค้งสีน้ำตาลแดง ผลเป็นรูปทรงกระบอก ผิวเปลือกเมื่อแก่สุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มหรือเหลืองส้ม ตาใหญ่ ร่องตาลึก เปลือกหนาตาลึก ทนทานต่อการขนย้าย

ลักษณะภายในนั้นมีความหวาน 16-20 บริกซ์ กลิ่นหอมมาก เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อและไส้กรอบ เนื้อแห้งไม่ฉ่ำน้ำ เนื้อมีเส้นใยอ่อนนุ่ม เคี้ยวไม่ติดฟัน สอบถามเกษตรกรและนักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดว่า สับปะรดตราดสีทองเข้ามาเมื่อไร เป็นเรื่องระบุได้ยากมาก เพราะไม่มีการบันทึกไว้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงแรกๆ เป็นการนำเข้ามาจากทางภาคใต้เป็นพันธุ์ภูเก็ต ต่อมามีการยกระดับขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ซึ่งสมัยนั้นเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอเขาสมิง จัดให้มีการประกวดสับปะรดตราดสีทอง ในงานเทศกาลผลไม้ประจำปีของดีจังหวัดตราด ทั้งที่ก่อนนั้นจัดประกวดเฉพาะสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียอย่างเดียว ในปีนั้นจึงได้จัดประกวดสับปะรดตราดสีทองอีกชนิดหนึ่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมสับปะรดตราดสีทองอย่างจริงจัง

สับปะรดผลสดสินค้าใหม่ตลาดโลก

ผลผลิตสับปะรดตราดสีทองขนาดจัมโบ้

จากข้อมูลด้านการส่งออกสับปะรดของไทยที่มีสัดส่วนการครองตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกมาตลอดมากกว่า 10 ปี แต่เป็นการส่งออกผลิตภัณท์สับปะรดแปรรูปเกือบทั้งสิ้น ส่วนสับปะรดผลสดนั้นส่งออกน้อยมาก เทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน และประเทศผู้ผลิตสับปะรดแถบอเมริกาใต้และแอฟริกา

ทั้งนี้เพราะขาดการส่งเสริมด้านการวิจัย การพัฒนาและการส่งเสริมที่จริงจัง และขาดความต่อเนื่อง ยังไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดใหม่ๆ ที่เป็นของไทยเอง ทั้งพันธุ์สับปะรดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และพันธุ์สับปะรดเพื่อบริโภคผลสด เกษตรกรและภาคโรงงานจึงไม่มีทางเลือก และไม่มีโอกาสแข่งขันการค้าในตลาดต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศที่ผลิตสับปะรดเป็นการค้า มีพันธุ์สับปะรดผลสดเป็นของตัวเอง การส่งออกสับปะรดผลสดทำเงินเข้าประเทศกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น พันธุ์ Tainung และHoney Gold ของไต้หวัน พันธุ์ Josapine ของมาเลเซีย

ผลผลิตตราดสีทองที่ล้ง

อีกวิธีหนึ่งคือ เขานำเข้าสับปะรดพันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นการค้า เช่น พันธุ์ MD-2 หรือพันธุ์ Gold เป็นสับปะรดพันธุ์ล่าสุดจากฮาวายที่ใช้ประโยชน์ได้ 2 อย่าง คือ เป็นสับปะรดบริโภคผลสดและอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ที่กำลังมาแรงแซงหน้าทุกพันธุ์ เนื่องจากเข้าครองตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย แม้จุดกำเนิดจะอยู่ที่ฮาวาย แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกมาจากหลายประเทศ เช่น คอสตาริกา ฮอนดูรัส กานา ไอวอรีโคสต์ เม็กซิโก เอกวาดอร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่ไทยเราคงมีแต่พันธุ์ปัตตาเวียเท่านั้นที่ใช้เป็นผลสด และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป แล้วก็ใช้กันมายาวนาน มากว่าประมาณ 40-50 ปี แต่ก็ไม่มีการพัฒนาสับปะรดพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น

ผลผลิตน้อยตลาดต้องการมาก

ข้อมูลการผลิตสับปะรดตราดสีทอง ปี 2553 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สรุปไว้ดังนี้

สับปะรดตราดสีทองที่ชนะเลิศการประกวด

พื้นที่ปลูก 8,947 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 6,180 ไร่ ผลผลิตรวม 24,700 ตัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ เขตอำเภอเมือง เขาสมิง บ่อไร่ และแหลมงอบ ตามลำดับ จากข้อมูลการบริโภคสับปะรดผลสดในประเทศตกประมาณ 400,000-500,000 ตัน ต่อปี เป็นสับปะรดปัตตาเวียเกือบทั้งหมด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้นำคาราวานผลไม้พวกเงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง จากจังหวัดระยองไปออกร้านประชาสัมพันธ์ของดีภาคตะวันออกที่ตลาดสดในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ระหว่าง วันที่ 17-19 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น โดยเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นทั้งแบบขายส่งและขายปลีกตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้เกี่ยวข้องและผู้มาใช้บริการประมาณ 20,000-30,000 คน ต่อวัน

ครั้งนั้นทีมคาราวานจากระยองได้นำผลไม้ 4 ชนิด คือ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ไปเปิดตลาด จึงนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียไปทดลองการตลาดด้วย จำนวน 2,000 กิโลกรัม ดูว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ตอนที่ไปเป็นช่วงที่เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง มีผลผลิตออกมากที่สุด ราคาก็ต่ำที่สุด ในวันที่เริ่มมีการซื้อขายผลไม้ ผู้คนที่มารออยู่นั้น ต่างกรูเข้าซื้อผลไม้ทุกอย่างกันแบบโกลาหล ปรากฏว่าสับปะรดปัตตาเวีย 2 ตัน (ประมาณ 1,500 ผล) ที่ขายกิโลกรัมละ 15-20 บาทนั้น ขายหมดเกลี้ยงในพริบตา

ผลสับปะรดตราดสีทองที่สมบูรณ์

จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าและผู้ที่มาซื้อของที่ตลาดแห่งนี้ ทราบว่าคนขอนแก่นชอบทานสับปะรดมาก โดยเฉพาะสับปะรดจากภาคตะวันออก เพราะมีรสชาติหวานกว่าสับปะรดจากจังหวัดหนองคาย ราคาในตลาดก็ซื้อขายกัน 15–20 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ไม่ค่อยเห็นสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองวางขายที่ตลาดเลย จึงขอยืนยันว่าสับปะรดตราดสีทองเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่มีศักยภาพด้านตลาดในประเทศที่ไม่จำกัดขอบเขตภูมิภาค เพียงแต่จัดการด้านการกระจายผลผลิต และการขนส่งสู่จุดจำหน่ายให้ดี จะช่วยส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรให้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น และควรดำเนินการพัฒนาเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง แม้มีรายงานผลการวิจัยที่ยังไม่สรุปแน่ชัดว่า มีการทดลองส่งไปประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือแล้วเกิดอาการไส้สีน้ำตาล (internal browning) ที่ยังแก้ไขไม่ได้ ขณะที่บางการทดลองสรุปว่า ไม่เกิดอาการดังกล่าวหรือเกิดขึ้นน้อยมาก และคุ้มค่ากับการลงทุนในการทำธุรกิจส่งออกไปญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้มาจากหลายส่วนสรุปได้ว่า สับปะรดตราดสีทอง เป็นสับปะรดบริโภคผลสดหนึ่งเดียวที่ยังโดดเด่นมาก แม้ระยะหลังจะมีการพัฒนาสับปะรดภูแล นางแลและห้วยมุ่นขึ้นมาเป็นทางเลือกของผู้บริโภคก็ตาม แต่ก็ยังมีปริมาณที่น้อยมากและมีจุดอ่อนบางอย่างเมื่อเทียบกับสับปะรดตราดสีทอง

การผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ กำไรสูง

การทำไร่สับปะรดอาจมองดูว่ามีการลงทุนที่สูงมากกว่าพืชชนิดอื่น นั่นเพราะมีการบริหารจัดการผลิตที่ไม่เหมาะสม แต่ชาวไร่ที่เป็นมืออาชีพกลับเห็นว่าสับปะรดเป็นพืชที่ดูแลไม่ยาก เมื่อเทียบกับไม้ผลจำพวกเงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หรือลำไย เพราะสับปะรดทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ฝนไม่มากเกินไป ความต้องการน้ำปานกลาง ไม่มากเท่าไม้ผล โรคแมลงศัตรูก็ไม่ค่อยมี ที่สำคัญสับปะรดเป็นพืชที่สามารถกำหนดแผนการผลิตได้ค่อนข้างแน่นอน จัดเป็น programe crop ได้จริง สามารถกำหนดวันปลูก เก็บเกี่ยวได้ กระจายการผลิตได้ตลอดปี มีความแน่นอน แผนการผลิตและเก็บเกี่ยวจะผิดพลาดไม่มาก

เนื้อสีเหลืองทองน่ารับประทาน

สับปะรดตราดสีทองยังมีอายุการเก็บเกี่ยวนับแต่วันที่บังคับการออกดอกเพียง 135 วัน ซึ่งเร็วกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย 15-20 วัน บังคับการออกดอกง่าย คือจะออกดอก 95-100 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้สารบังคับดอกเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น ให้จำนวนหน่อที่มากกว่า ซึ่งจะเป็นรายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ทรงผลของสับปะรดตราดสีทองยังมีความสม่ำเสมอทั้งขนาด ความยาวผล น้ำหนัก รูปทรงที่ดีมาก หากมีการดูแลและบำรุงตามข้อแนะนำที่ดี จะให้ความยาวของผล ระหว่าง 17- 20 เซนติเมตร ที่เรียกว่า ผลจัมโบ้ (ผลใหญ่) ขายได้ราคาหน้าฟาร์ม 8-14 บาทผ ต่อล ซึ่งปกติผลผลิตสับปะรดตราดสีทองช่วงเก็บเกี่ยว จะให้ขนาดของผลเป็นผลจัมโบ้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ผลขนาดกลาง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ผลเล็กและจิ๋ว 10 เปอร์เซ็นต์

ราคาขายที่ต่างกันแต่ละขนาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายแบบคละหรือขายเหมาเป็นไร่ เฉลี่ย 8-10 บาท ต่อผล เกษตรกรมีกำไรสุทธิจากการลงทุน 50-200 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น เดือนกรกฎาคม-กันยายน ราคาสับปะรดจะสูงมาก ส่วนเดือนเมษายน-มิถุนายน ราคาจะตกลงมาบ้าง เพราะเป็นฤดูกาลของผลไม้พวก ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ที่ออกสู่ตลาดมาก

ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกสับปะรดตราดสีทองแซมสวนยางพารา ใช้หน่อปลูกระหว่าง 4,000-6,000 ต้น/ไร่ แต่หากปลูกเป็นพืชเดี่ยวจะปลูกได้ 7,000- 8,000 ต้น/ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้และกำไรจากการลงทุนปลูกสับปะรดตราดสีทองค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชอื่น อย่างไรก็ตาม ราคาที่เกษตรกรขายได้จะสะท้อนผลกำไรหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเกษตรกรด้วยว่ามีการปฏิบัติอย่างไร ด้านการใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช สารบังคับการออกดอก ฮอร์โมน อาหารเสริม รวมทั้งแผนการปลูก การบังคับการออกดอกของสับปะรดด้วย สำหรับเกษตรกรที่มีประสบการณ์และเป็นมืออาชีพจะทำ

ต้นทุนการผลิตสับปะรดตราดสีทอง 3.50-4.00 บาท/ต้น แต่มีเกษตรกรหลายคนที่ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพและปุ๋ยขี้ไก่ ทดแทนปุ๋ยเคมีกลับมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า คือระหว่าง 2.80-3.00 บาท/ต้น เท่านั้น ลองคิดดูว่าเกษตรกรจะมีกำไรสุทธิต่อการลงทุนระหว่าง 20,000-30,000 บาท/ไร่ จึงเป็นพืชทองของคนเมืองตราดอย่างแท้จริง