ชาวบันนังสตา ยะลา ทำแพะแปลงใหญ่ ส่งขายมาเลเซีย

อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ตอนกลางของจังหวัดยะลา

ชื่อของอำเภอ เป็นภาษามลายูปัตตานี มีความหมายว่า ที่นาที่มองเห็นต้นมะปราง ผนวกกับคำขวัญของอำเภอบันนังสตา ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถิ่นนามะปราง” นั่นอาจจะหมายถึง ในอดีตมีต้นมะปรางอยู่กลางท้องนามาก เป็นที่เข้าใจของคนในท้องถิ่นว่ามีต้นมะปรางและมีท้องนา อันเป็นอาชีพของเกษตรกรที่นี่

อย่างที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก การบริโภคแพะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวไทยมุสลิม เพราะใช้ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ทำให้อัตราการบริโภคแพะ การซื้อขายแพะในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงมีสูง

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านป่าหวัง หมู่ที่ 1 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด สวนยางพารา เป็นพืชไร่มากกว่าพืชสวนและท้องนา รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านมาก็มีเพียงรายเล็กๆ เท่านั้น

เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ชาวบ้านป่าหวัง หมู่ที่ 1 ประสบปัญหาทำการเกษตรแล้วขาดทุน จึงเริ่มมองหาอาชีพอื่น เพื่อเสริมรายได้อีกทาง เล็งเห็นว่าตลาดแพะมีความต้องการสูง จึงขอคำปรึกษาไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา และได้รับคำแนะนำว่า ให้รวมกลุ่มกันเลี้ยงแพะ เพื่อทำในรูปแบบของเกษตรแปลงใหญ่ โดยแต่ละบ้านเลี้ยงจำนวนไม่มาก แต่นำมารวมกันเพื่อต่อรองการซื้อขายให้ได้ราคาที่ต้องการ

ด้วยพื้นที่อำเภอบันนังสตา มีส่วนหนึ่งที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย ทำให้ คุณมะสุกรี มะแตหะ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง และ คุณมะกอยี ยูโซะ รองประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง ในขณะนั้นยังไม่ได้รวมกลุ่มกัน เล็งเห็นว่า การรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงแพะ แล้วขายให้กับชาวมุสลิมในมาเลเซียหรือชาวไทยมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง ก็น่าจะสร้างรายได้ให้ไม่น้อย

แปลงหญ้าเนเปียร์

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เราจะทำผลผลิตแพะให้มีคุณภาพได้อย่างไร เพราะหากต้องการส่งขายให้กับคนมาเลเซีย ก็ต้องทำคุณภาพให้ได้ตามที่ตลาดมาเลเซียต้องการ”

ระยะแรก การรวมกลุ่มเกิดขึ้นเพียง 31 คน จากทุกครัวเรือน เลี้ยงแพะครัวเรือนละ 2-3 ตัว แต่เป้าหมายในระยะแรกที่ต้องพัฒนาคือ ที่ดินที่มีอยู่ของแต่ละครัวเรือน ราว 20-30 ไร่ ควรนำมาพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้พื้นที่ที่มีอยู่ สามารถเลี้ยงแพะได้จำนวนมาก เช่น ที่ดิน 20-30 ไร่ ควรเลี้ยงแพะให้ได้มากถึง 200 ตัว และควรคำนึงถึงอาหารแพะที่ลดต้นทุนการเลี้ยง โดยการปลูกหญ้าเนเปียร์ พันธุ์ปากช่อง 1 ที่ให้โปรตีนมากพอสำหรับการขุนแพะเนื้อเพื่อจำหน่าย

นำไปหั่นให้ละเอียด

เมื่อมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น เกษตรกรที่ต้องการหารายได้เสริมและเข้าร่วมกลุ่มครั้งนี้ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายการเป็นสมาชิก เสมือนการลงหุ้นร่วมกัน รายละ 500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ นำไปซื้อแพะพันธุ์ให้กับสมาชิกที่ลงหุ้นกลับไป เมื่อแพะตกลูก ก็ให้นำลูกแพะกลับมาคืนให้กับกลุ่ม

การเลี้ยงแพะให้มีคุณภาพ ให้ตรงตามตลาดต้องการนั้น คุณมะสุกรี บอกว่า ชาวมุสลิมมาเลเซีย จะซื้อเฉพาะแพะที่เลี้ยงไว้ในคอก ไม่เลี้ยงปล่อยปะปนกับสุนัข ซึ่งเป็นความเชื่อ

ขนาดคอกเลี้ยงแพะต่อตัว 1.5×1.5 เมตร สำหรับเลี้ยงแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

แต่หากเลี้ยงรวมคอกละ 10 ตัว ขนาดคอกที่เหมาะสม คือ 4×4 เมตร

หญ้าเนเปียร์ที่หั่นละเอียดแล้ว

การลงทุนสร้างโรงเรือนสำหรับแพะ อาจจะเป็นการลงทุนในระยะแรก แต่เป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว อาจมีการซ่อมแซมบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ถือว่าคุ้ม เมื่อต้องการแพะแบบไม่เลี้ยงปล่อย เพื่อให้ได้ราคาและตรงความต้องการของผู้บริโภค

“ในบางวัน หากต้องการให้แพะได้ออกกำลังกาย ออกมานอกโรงเรือนเลี้ยง ต้องใส่สายจูง เพื่อไม่ให้แพะเดินไปปะปนกับสุนัข เป็นการคัดคุณภาพแพะอย่างหนึ่ง”

ระยะแรกที่เริ่มเลี้ยง มีชาวมาเลเซียมาดูถึงโรงเรือนเลี้ยง เพื่อให้แน่ใจว่า เลี้ยงได้ถูกต้องตามความเชื่อของชาวมุสลิมหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องตามหลักความเชื่อที่เหมาะสม จึงเริ่มสั่งซื้อแพะจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง

อายุแพะที่ต้องการขุนให้ได้เนื้อ อยู่ที่ 2 เดือน น้ำหนักแพะประมาณ 15 กิโลกรัม และไซซ์ที่ตลาดต้องการอีกไซซ์คือ ไซซ์ใหญ่ หรือน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ซึ่งต้องเลี้ยงแพะไว้นานถึง 2 ปี แต่ราคาจะดีกว่าและมีตลาดรองรับแน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าต้องการเลี้ยงแพะเพื่อขายในช่วงเวลาใด

สำหรับพันธุ์แพะที่เลี้ยงไว้ขุนเนื้อขายคือ พันธุ์บอร์ และพันธุ์แองโกล นูเบียน เพราะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วและน้ำหนักดี

ส่วนอาหาร เริ่มนำหญ้าเนเปียร์ พันธุ์ปากช่อง 1 เข้ามาปลูก เพื่อเป็นอาหารแพะ ตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยแรกเริ่มซื้อมาจากจังหวัดใกล้เคียงด้วยราคากิโลกรัมละ 4 บาท โดยใช้พื้นที่นาร้างลงปลูก เมื่อเห็นว่าผลผลิตที่ได้ดี จึงเริ่มขยายพื้นที่ปลูกออกไป โดยเน้นพื้นที่ร้าง ไม่ใช้ประโยชน์ กระทั่งปัจจุบันใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ร้าง น้ำท่วมซ้ำซาก มีการปรับพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์ ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง โดยเช่าพื้นที่ต่อจากชาวบ้านด้วยกัน

ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ของสมาชิก รวม 150 ไร่

ลูกค้ามาขอซื้อ ขนขึ้นรถไป

ผลผลิตหญ้าเนเปียร์ที่ได้ นอกจากนำมาเป็นอาหารให้แพะ เนื่องจากมีโปรตีนสูงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ตรงความต้องการของแพะแล้ว เมื่อผลผลิตมีมากก็จะนำมาทำเป็นอาหารหมัก เพื่อเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 1 ปี การหมักหญ้าเนเปียร์เป็นอาหารแพะ ประกอบด้วย เกลือ 1 กิโลกรัม กากน้ำตาล 300 กรัม และหญ้าเนเปียร์ 100 กิโลกรัม หากนำไปเป็นอาหารแพะ ไม่ต้องใส่ยูเรีย แต่ถ้านำไปใช้เป็นอาหารวัว ต้องใส่ยูเรียเข้าไปด้วย ระยะเวลาในการหมัก 22 วัน สามารถนำไปให้แพะหรือวัวกินได้ โดยเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี

“หญ้าเนเปียร์ เราปลูกไว้ให้แพะเรากิน เราหมักไว้ให้แพะเรากิน และเรายังขายได้ เพราะมีเกษตรกรจากพื้นที่ใกล้เคียงต้องการซื้อหญ้าเนเปียร์หมัก นำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน กลุ่มเราจึงขายในราคากิโลกรัมละ 3.50 บาท เป็นรายได้ให้เกษตรกรของกลุ่มเราด้วย”

เมื่อได้ผลผลิตของแต่ละครัวเรือนที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม จะนำหญ้าเนเปียร์มารวมกัน เพื่อขายให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อ เมื่อเหลือจึงนำไปแปรรูปเป็นอาหารหมัก โดยมีสมาชิกด้วยกันเองรับจ้างตัดหญ้าเนเปียร์ และหมักหญ้าเนเปียร์ ซึ่งสมาชิกที่ลงแรงก็จะได้ค่าจ้างเป็นค่าแรงงานต่อวัน ทั้งยังได้ปันผลจากการนำหญ้าเนเปียร์มาขายผ่านกลุ่มอีกด้วย

ถังหมักอาหารหญ้าเนเปียร์

การให้อาหารแพะ ทำได้ไม่ยาก เพราะแพะเป็นสัตว์กินง่าย มีเพียงหญ้าที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่เหมาะสม ก็เจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับสายพันธุ์ที่เลือกมาเลี้ยงมีความเหมาะสมก็จะทำให้แพะเจริญเติบโตได้เร็วตามระยะเวลาการขาย

อัตราการให้อาหารแพะ ให้คำนวณที่น้ำหนักแพะ หากเป็นกลุ่มของแพะที่ต้องการทำน้ำหนักให้ได้ 15 กิโลกรัม ก็ให้อาหาร 2 กิโลกรัม ต่อวัน หรืออัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ส่วนแพะที่มีน้ำหนักตัวจัดอยู่ในกลุ่มของแพะใหญ่ น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ควรให้อาหารอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หรือ 3 กิโลกรัม ต่อวัน

การจำหน่ายแพะของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง ในปัจจุบัน มีลูกค้าในพื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงชาวมาเลเซียที่ต้องการแพะเพื่อบริโภคติดต่อซื้อแพะจากกลุ่ม ทำให้จำนวนแพะที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อของผู้บริโภค

แม้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง จะเริ่มก่อตั้งมาได้เพียง 2-3 ปีก็ตาม แต่ความเข้มแข็งของเกษตรกลุ่มนี้ จัดอยู่ในระดับที่ดีทีเดียว หากต้องการสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณมะสุกรี มะแตหะ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง โทรศัพท์ (081) 098-8845 และ คุณมะกอยี ยูโซะ รองประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ (แปลงใหญ่) บ้านป่าหวัง โทรศัพท์ (093) 660-4390