จบประถม 4 ทำฟาร์มเห็ด เกษตรกรรมเห็ดครบวงจร ที่คลองหอยโข่ง

เห็ด น่าจะเป็นพืชอันดับต้นๆ หากมีการจัดอันดับพืชเศรษฐกิจ เพราะเมื่อไรเมื่อนั้น ความนิยมในการทำการเกษตรอย่างง่าย ทำเงิน ไม่ยุ่งยาก การเรียนรู้ก็ไม่ซับซ้อน แต่อาจจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลดี ก็ยังคงนึกถึง “เห็ด” อยู่เสมอ

และเชื่อหรือไม่ว่า เห็ด ทำให้คนที่เริ่มต้นด้วยเงินเพียง 5,000 บาท ในปี 2536 กลายเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ด ทั้งยังมีธุรกิจเล็กๆ ต่อยอดจากเห็ดที่ปลูกไว้อีกหลายชนิดในวันนี้

คุณสมสิน จุลจินดา

คุณสมสิน จุลจินดา หนุ่มวัยกลางคน จบการศึกษาเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ต้องย้ำบ่อย เพราะตัวคุณสมสินเอง ก็ย้ำกับผู้เขียนตั้งแต่แรกว่า เขาจบการศึกษาเพียงเท่านี้ เพื่อเน้นให้รู้ว่า สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จในวันนี้คือ ความตั้งใจและความอดทน ใฝ่รู้ อยู่ตลอดเวลา

คุณสมสิน ออกจากบ้านไปรับจ้างหางานทำ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำงานทุกอย่างที่มีคนจ้าง ตั้งแต่ ขับรถแบ๊กโฮ ขับรถสิบล้อ เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งรู้ว่า ควรกลับบ้าน เริ่มต้นทำงานอิสระที่บ้าน เพราะบ้านเกิดหรือภูมิลำเนา เป็นที่ที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุด ก็หันหน้ากลับบ้าน และนำทุนเท่าที่พอมีเปิดร้านขายของชำเล็กๆ และขี่รถจักรยานยนต์เร่ขายของชำ

“ผมเห็นคนแถวบ้านเพาะเห็ดขาย แล้วได้เงินง่าย เลยคิดอยากจะทำบ้าง ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการเกษตรเลย แต่เพราะไม่มีความรู้ ผมจึงไม่ได้คิดว่า เป็นเรื่องยากหรือง่าย แค่เราคิดจะทำก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว”

ปี 2536 คุณสมสิน เริ่มลองผิดลองถูกกับการเพาะเห็ด ด้วยเงินที่สะสมไว้ จำนวน 5,000 บาท

แรงงานคนก็ยังจำเป็น

ตลอดเวลาที่ลองผิดลองถูก ก็พยายามเข้าหาเกษตรกรหลายราย เพื่อขอความรู้ ซึ่งก็ได้ความรู้มาเป็นทฤษฎีที่พอจะลงมือทำได้ แต่คุณสมสินเข้าใจดีว่า เทคนิคของการประกอบอาชีพ ไม่มีใครให้กันง่ายๆ เขาจึงใช้เวลาเท่าที่มีเดินทางไปอบรมทุกที่ที่เปิดให้การอบรม เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากพอจะเพาะเห็ดขายให้ได้ดีเช่นเกษตรกรรายอื่น เริ่มแรก เพาะเห็ดภูฏาน เหมือนเกษตรกรรายอื่นในหมู่บ้าน เพราะรู้ดีว่าตนเองเริ่มจากครูพักลักจำ และเห็นตัวอย่างของการเพาะ การขายเห็ดภูฏาน จึงไม่ได้มองเห็ดชนิดอื่นในเชิงการค้า กระทั่งการลองผิดลองถูก 3-4 ปีผ่านมา ทำให้คุณสมสิน มองการเพาะเห็ดเชิงพาณิชย์ออกว่า เห็ดชนิดที่เป็นการค้าในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้มีเพียงเห็ดภูฏานเท่านั้น เขาจึงเริ่มมองหาเห็ดชนิดอื่นที่สามารถเพาะและจำหน่ายได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้เพิ่มมากขึ้น

คุณสมสิน บอกว่า เงินทุนเริ่มต้น 5,000 บาทที่มี หมดไปกับอุปกรณ์จำเป็นเท่านั้น โรงเพาะเห็ดใช้โรงเรือนไก่ วัตถุดิบที่ใช้เพาะเห็ดก็นำของเหลือทิ้งจากโรงงาน เช่น ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา เชื้อเพลิงที่ต้องใช้ก็เก็บหรือหาจากป่า เพื่อนำมาทำก้อนเห็ด ส่วนหัวเชื้อในระยะแรกยังคงซื้อ เพราะยังไม่มีประสบการณ์ไม่สามารถผลิตหัวเชื้อได้เอง

แรกเริ่มด้วยโรงเรือนไก่เล็กๆ เพียงโรงเดียว ค่อยๆ ขยับ เมื่อมองเห็นช่องทางการตลาด จากเห็ดภูฏานเพียงชนิดเดียว ก็เพิ่มชนิดเห็ดและโรงเรือนมากขึ้น

“ประมาณ 3-4 ปี ที่ผมพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้น และขายผลผลิตจากเห็ดภูฏานที่ได้ในชุมชน หมู่บ้าน ขี่รถจักรยานยนต์เร่ขายตามบ้าน เมื่อผลผลิตเพิ่มมากขึ้นก็เข้าไปตัวอำเภอหาดใหญ่ เพื่อฝากแม่ค้าขาย ระยะแรกมีปัญหา เพราะต้องเจอกับพ่อค้าแม่ค้าเห็ดรายอื่นที่เข้าตลาดมาก่อนเรา มีเจ้าประจำฝากขาย หรือแม้กระทั่งนำเห็ดไปขายเองก็ขายไม่ได้ เพราะแม่ค้าพ่อค้าที่มาก่อนมีลูกค้าประจำ แต่ก็ถือเป็นความโชคดีของผม ที่ยังมีลูกค้าจำนวหนึ่ง ต้องการเห็ดในเวลาที่พ่อค้าแม่ค้ารายอื่นไม่สามารถนำเห็ดขายให้ได้ เช่น ตลาดเที่ยงคืน และตลาดเย็น”

ตลาดหาดใหญ่ เป็นตลาดศูนย์กลางที่มีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายจังหวัดโดยรอบ เข้ามาซื้อผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่าย รอบเที่ยงคืนและรอบเย็น เป็นรอบที่พ่อค้าแม่ค้าเห็ดเกือบทั้งหมดไม่ได้นำเห็ดมาขาย แต่มีพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจำนวนมากต้องการซื้อ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ตรงนี้เองจึงเป็นไอเดียและช่องทางการขายใหม่ของคุณสมสิน

“ผมตัดสินใจเปลี่ยนเวลาขาย การนำเห็ดมาขายตอนเที่ยงคืนและตอนเย็น เราก็แค่ปรับเวลานำมาขายให้เร็วขึ้น กับช้าลง กว่าพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ซึ่งสิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากปรับเวลาทำงานแล้ว จำเป็นต้องตัดดอกเห็ดก่อนบานพร้อมเก็บ หรือยอมที่จะนำเห็ดดอกไม่ใหญ่นักมาจำหน่าย เพื่อให้เห็ดได้มีระยะเวลาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตบนแผงค้าได้นานกว่าปกติ”

การสังเกตและพร้อมปรับเปลี่ยนของคุณสมสิน จึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ มากกว่าพ่อค้าแม่ค้าเห็ด หรือเกษตรกรที่เพาะเห็ดรายอื่น จากเดิมที่ไม่สามารถจำหน่ายเห็ดได้ กลับกลายเป็นเห็ดของคุณสมสิน เป็นที่ต้องการมากกว่าพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น

ยุคที่ใครต่อใครต้องการผลผลิตจากฟาร์มเห็ดของคุณสมสิน คุณสมสินเพิ่มโรงเรือนเพื่อผลิต นำผลกำไรที่ขายเห็ดได้มาทำโรงเรือนให้มีความมั่นคงแข็งแรง สะอาด และเริ่มทำหัวเชื้อเห็ดเอง เพิ่มชนิดเห็ดที่เพาะให้หลากหลายมากขึ้น จากก้อนเห็ดที่ผลิตเพียงวันละ 400-500 ก้อน เพิ่มจำนวนก้อนขึ้นเป็นวันละหลายหมื่นก้อน เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ทุกวัน เพราะแต่ละวันจำหน่ายเห็ดได้มากถึง 200-300 กิโลกรัม

ตอนนั้นน่าจะเป็นจุดพีกที่สุดของฟาร์มเห็ด คุณสมสินจึงตั้งชื่อฟาร์มเห็ดให้เป็นที่รู้จักว่า ฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง และเพราะคุณสมสินเริ่มจากคนที่ไม่มีอะไร ไม่รู้อะไรมาก่อน จึงต้องการให้ความรู้ที่มีเป็นวิทยากร ทำให้ปัจจุบันคุณสมสินเป็นวิทยากรสอนการเพาะเห็ดให้กับสำนักการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และเปิดฟาร์มเห็ดให้เป็นสถานที่เรียนรู้ให้กับนักศึกษาของ กศน. และชุมชน

เพิ่มจากเห็ดภูฏาน เป็นเห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดนางรมฮังการี ซึ่งเป็นเห็ดตลาด เมื่อกระแสสุขภาพมาแรง จึงเพิ่มเห็ดหลินจือ เข้ามาอีกชนิด

ปัจจุบัน นอกจากส่งตลาดหาดใหญ่แล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อเห็ดถึงฟาร์ม ทำให้แนวคิดการเพาะเห็ดสดเพื่อส่งขายเพียงอย่างเดียวไม่น่าไปได้ดีตลอด เพราะก้อนเชื้อเห็ดที่เคยผลิตวันละหลายหมื่นก้อน ปัจจุบันลดจำนวนลงมาเหลือเพียงวันละ 1,400 ก้อน เพื่อให้มีผลผลิตออกจำหน่ายได้ในทุกวันเท่านั้น

สิ่งที่คุณสมสินคิดได้คือ การแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและควรเป็นการแปรรูปที่มีความแตกต่าง เพื่อการตลาดที่ไม่เหมือนใคร

“เราเคยทำข้อตกลงกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ในการวิจัยการเปลี่ยนสภาพของเห็ดสดเป็นอาหารในรูปแบบของวัตถุดิบสำหรับปรุง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น”

คุณสมสิน บอกว่า ปัจจุบันเรามีเห็ดสดจำนวนหนึ่งออกสู่ท้องตลาด แต่อีกส่วนหนึ่งเรานำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำเห็ด โดยเฉพาะน้ำเห็ดหลินจือ กาแฟผสมเห็ดหลินจือ เห็ดหลินจืออบแห้ง และชาเขียวเห็ดหลินจือ ส่วนเห็ดชนิดอื่นก็นำไปทำเป็นลูกชิ้นเห็ด น้ำพริกเผาเห็ด เฉาก๊วยเห็ดหูหนู ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

ปัจจุบัน โรงเรือนเพาะเห็ดมีเกือบ 20 โรง มีเครื่องจักรสำหรับบรรจุก้อน เครื่องจักรผสมวัตถุดิบทำก้อน ส่วนแรงงานคนยังคงให้ความสำคัญ แม้ว่าจะมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตแทนแรงงานคนก็ตาม แต่เพราะต้องการให้แรงงานในชุมชนมีรายได้ เมื่อมีแรงงานคนผลิตก็จะให้ความสำคัญกับแรงงานคนมากกว่า เป็นการกระจายรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ในท้ายที่สุดของการทำฟาร์มเห็ดท่าหรั่งแห่งนี้ คุณสมสิน บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า เพราะเขาได้รับความช่วยเหลือจากการประสานของ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง จึงทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนามาถึงปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่เขาสามารถคืนกำไรให้กับสังคมได้ จึงตอบแทนผ่าน กศน.คลองหอยโข่ง ด้วยการรับเป็นวิทยากรสอนเพาะเห็ดให้กับ กศน. เปิดฟาร์มเห็ดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชน และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชน เพื่อชุมชนหรือนักศึกษา กศน. นักศึกษาทุกสถาบันต้องการ

สอบถามเพิ่มเติมหรือเยี่ยมชมฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง ติดต่อได้ที่ คุณสมสิน จุลจินดา ฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง เลขที่ 54 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เฟซบุ๊ก : โกสิน ฟาร์มเห็ดท่าหรั่ง โทรศัพท์ (081) 098-3084