นกแสก สัตว์เลี้ยงเชิงอนุรักษ์ มก. กำจัดศัตรูพืช สวนปาล์ม-นาข้าว

ด้วยความเชื่อที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน เกี่ยวกับ “นกแสก” ว่าเป็นนกผี หากบินผ่านบ้านใครและส่งเสียงร้อง จะทำให้บ้านนั้นมีคนเสียชีวิต กระแสความเชื่อที่ผสมกลมกลืนมากับวัฒนธรรม ยากที่จะเลือนหาย ส่งผลให้นกแสกถูกทำร้ายมากมาย และลดจำนวนลง ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง

ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น เพราะ นกแสก เป็นนกที่กินสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กจำพวกหนูเป็นอาหาร โดยสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กเหล่านี้ มักอาศัยอยู่ตามสวน โดยเฉพาะสวนปาล์ม ซึ่งมีหนูเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญ หรือแม้กระทั่งท้องนา ที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้คอยทำลายต้นอ่อนของพืช ซึ่งการกำจัดของเกษตรกร ที่เห็นได้ทั่วไป คือการใช้ยาเบื่อหนู เมื่อนกแสกกินหนูเป็นอาหาร ยาเบื่อจึงออกฤทธิ์กับนกแสกด้วย

น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์

วงจรเช่นนี้เองที่ทำให้ “นกแสก” ลดจำนวนลงทุกขณะ กระทั่งระบบนิเวศเริ่มปรวนแปร ทำให้กลุ่มอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นความสำคัญ จึงเริ่มก่อตั้งโครงการแหล่งเรียนรู้และฟื้นฟูนกแสก มก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ขึ้น

รองศาสตราจารย์ วรวิทย์ วัชชวัลคุ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการแหล่งเรียนรู้และฟื้นฟูนกแสก เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า เริ่มจากการได้รับฟังข้อมูลจากคุณเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ นักสัตววิทยาปฏิบัติการ สำนักวิจัยพัฒนา การอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมนักวิจัย “โครงการใช้นกแสกควบคุมประชากรหนูในสวนปาล์มน้ำมัน” ในงานสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวคิดนำนกแสกที่มีอยู่ภายในโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน

“ระหว่างนั้นเริ่มมีนกแสกที่บาดเจ็บหรือถูกทำร้ายเข้ามารักษาจำนวนมาก ซึ่งนกแสกเป็นสัตว์คุ้มครอง และเป็นสัตว์ตามความเชื่อว่าเป็นทูตแห่งความตาย ผู้ที่เก็บนกแสกเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บมาส่งให้กับโรงพยาบาล จึงไม่ต้องการรับกลับไปเลี้ยง ทำให้มีนกแสกถูกทิ้งอยู่ที่โรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง”

รองศาสตราจารย์ วรวิทย์ ระบุว่า จำนวนนกแสกที่ถูกทิ้งที่โรงพยาบาลเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะนกแสกที่พิการจากการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ จึงมีแนวคิดเพิ่มจำนวนประชากรนกแสก และนำนกแสกที่ได้จากการเพาะเลี้ยงหรือถูกทิ้ง กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยการปล่อยเข้าสวนปาล์มหรือทุ่งนาที่ประสบปัญหาหนูระบาด

แม้ว่า โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปี แต่ปัจจุบัน ความคล่องตัวของโครงการกลับยังไม่ดีพอ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก ชาวสวนปาล์มหรือเจ้าของที่นา “ใจไม่แข็งพอ”

น.สพ. เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ หัวหน้าหน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อธิบายว่า ที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้เจ้าของสวนปาล์มหรือเจ้าของที่นาที่ประสบปัญหาหนูระบาด มารับนกแสกไปช่วยกำจัดหนูที่ระบาดให้ลดจำนวนลง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีข้อแม้ว่า ขอให้เจ้าของสวนหรือที่นาดักหนูเป็นให้กับนกแสกที่นำไปปล่อย เพื่อให้นกแสกเรียนรู้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีแหล่งอาหาร เมื่อคุ้นชินจึงปล่อยให้ล่า ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ระบบนิเวศจะกลับคืนสู่ปกติ ปัญหาเรื่องการระบาดของหนูก็หมดไป

“ที่บอกว่าใจไม่แข็งพอ เพราะระยะแรกดักหนูเป็นให้เป็นเหยื่อของนกแสกจับกิน ต่อมาเริ่มใจไม่แข็งพอเปลี่ยนจากดักหนูเป็นมาเป็นเนื้อหมูหรือเนื้อไก่แทน เมื่อนำอาหารไปให้กินจนชิด นกแสกก็จะไม่ล่าเหยื่อ หากปล่อยให้ล่าเหยื่อในสวนหรือนาข้าวก็จะทำไม่ได้ และในที่สุด นกแสกเหล่านั้นก็จะหายไป ไม่อาศัยอยู่ในพื้นที่สวนปาล์มหรือท้องนา ส่วนหนึ่งไม่ได้ช่วยลดจำนวนประชากรหนู อีกทั้งยังทำให้การติดตามการอยู่รอด การเพิ่มจำนวนนกและการอนุรักษ์นกแสกทำได้ยากยิ่งขึ้น”

แต่ถึงอย่างไร น.สพ. เบญจพล ก็ยังยืนยันต้องการปล่อยนกแสกกลับคืนสู่ธรรมชาติ และตั้งใจดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้และฟื้นฟูนกแสก มก. โดยขอให้ผู้ที่ประสบปัญหาหนูในสวนปาล์มหรือนาข้าว มาติดต่อขอรับนกแสกไปกำจัดหนูในพื้นที่ได้ แต่ขอให้เข้าใจวิถีชีวิตของนกแสก รวมทั้งการล่าเหยื่อ ซึ่งต้องฝึกให้จับหนูด้วยการดักหนูเป็นให้กับนกแสกก่อนปล่อยให้ล่าเหยื่อเองตามธรรมชาติ

ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ วรวิทย์ และ น.สพ. เบญจพล ทำรังนอนให้กับนกแสก และนำไปติดตั้งไว้ในสวนปาล์มในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยหวังให้นกแสกใช้รังนอนที่ทำขึ้นเป็นที่อาศัย ผสมพันธุ์และออกไข่ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรนกแสก ซึ่งความคาดหวังในการเข้ารังนอนของนกแสกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการสร้างความคุ้นชินสำหรับสัตว์ต้องใช้เวลา

สำหรับการดูแลนกแสกพิการ ซึ่งยังไม่ถูกคืนสู่ธรรมชาติ ภายในโรงพยาบาลสัตว์ น.สพ.เบญจพล กล่าวว่า โดยธรรมชาติของนกแสกจะกินหนูวันละ 2 ตัว แต่สำหรับนกที่อยู่ระหว่างการฝึกล่าหรือนกพิการที่ต้องได้รับการดูแล โดยไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้นั้น ในทุกวันจะไม่ได้เคลื่อนไหวมาก จึงให้อาหารเพียงวันละครั้ง โดยให้เศษเนื้อหมูผสมแคลเซียม ในบางครั้งจะให้ลูกไก่หรือลูกเจี๊ยบที่ตายหลังจากฟักไข่ ซึ่งขอจากฟาร์มเลี้ยงไก่ในบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“การให้อาหารควรให้ที่ปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ยกเว้นนกที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตหรือนกเด็กจะให้มากกว่า 1 ครั้ง และพิจารณาจากการกิน หากวันนี้นกกินอาหารที่ให้เหลือ พรุ่งนี้ควรงดการให้อาหาร เพื่อให้นกมีความกระหายในการกิน อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูหนาวนกจะไม่ค่อยกินอาหาร เพราะนกจะไม่เคลื่อนไหว”

น.สพ.เบญจพล ให้ข้อมูลอีกว่า ธรรมชาติของนกแสกจะดุ แต่วิธีการต่อต้านศัตรู คือ หนี นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรม Camouflage คือ พฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น การยืนทำตัวลีบให้สีขาวหรือสีน้ำตาลของปีกกลืนไปกับขอนไม้หรือกำแพง เป็นการพรางตัว

พฤติกรรมต่อต้านศัตรู เมื่อนกแสกอยู่ในกรง คือ ถอยหลัง ยืนตัวลีบ หากเข้าใกล้มาก จะเริ่มพองตัวและส่ายหัวไปมา หากเข้าใกล้มากขึ้นอีก นกแสกจะใช้ปากกระทบกันเสียงดัง “ปั๊ก ปั๊ก ปั๊ก” เพื่อไล่ศัตรู แต่เมื่อศัตรูเข้าประชิดตัวแล้ว นกแสกจะบินชนกรงไปมา หรือนอนลงแล้วยกขาขึ้น เพื่อใช้เล็บที่แหลมคมขย้ำศัตรู

สนใจข้อมูลโครงการ หรือ ต้องการมีส่วนในการอนุรักษ์นกแสก ติดต่อสอบถามได้ที่ น.สพ. เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ โทร.089-765-7652 หรือ www.facebook.com/Barnowlproject.ku