กรมการข้าว เปิดตัวพันธุ์ข้าวใหม่ 4 สายพันธุ์ ประจำปี 2559 เลือกปลูกได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่

กข 65-เมล็ดข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว

แนวโน้มที่รุนแรงขึ้นทุกขณะจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรทุกภูมิภาค โดยเฉพาะการทำนาที่ต้องอาศัยฟ้าฝนเป็นหลัก กรมการข้าว มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาที่ต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ทั้งปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด ปัญหาดินฟ้าอากาศแปรปรวน ต้นทุนการผลิตสูง ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่

คุณอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในส่วนของกรมการข้าวเองก็ได้พยายามศึกษาวิจัย พัฒนา และปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์กรมการข้าว ร่วมกับหน่วยงานด้านข้าวที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กรมวิชาการเกษตร สมาคมชาวนาไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมค้าข้าวไทย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณารับรองพันธุ์ข้าว จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้า พันธุ์ กข 65, กข 67, กข 69 และข้าวเหนียว กข 22

4กข 65-ต้นข้าวเจ้า สายพันธุ์ กข 65 ระยะออกดอก
 กข 65-ต้นข้าวเจ้า สายพันธุ์ กข 65 ระยะออกดอก
กข 65-เมล็ดข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว
กข 65-เมล็ดข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว

ข้าวเจ้า สายพันธุ์ IR77954-28-36-3 เสนอเป็นพันธุ์รับรอง “กข 65” โดย คุณปิยพันธุ์ ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ลักษณะกอตั้ง สูงประมาณ 117-149 เซนติเมตร ลำต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว มุมปลายใบตั้งตรง รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว จัดเป็นข้าวเมล็ดยาว รูปร่างเรียว คุณภาพการสีดีมาก สีได้ข้าวเต็มเมล็ด ให้ผลผลิตเฉลี่ยในนาเกษตรกรภาคเหนือตอนบน 634 กิโลกรัม ต่อไร่ ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ระยะกล้าในภาคเหนือตอนบน เป็นข้าวเจ้าหอมไวต่อช่วงแสง อายุสั้นกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 5-7 วัน ความสูงน้อยกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 10 เซนติเมตร ลดปัญหาข้าวหักล้มระยะเก็บเกี่ยว เมล็ดยาวเรียว คุณภาพการสีดี คุณภาพการบริโภคคล้ายขาวดอกมะลิ 105

พื้นที่ที่แนะนำ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่นาดอนภาคเหนือตอนบน ที่ฝนหมดเร็ว และเป็นพื้นที่ที่มีโรคไหม้ระบาดอยู่เป็นประจำ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของโรคขอบใบแห้ง แมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

กข 67-ลักษณะการออกรวงของ ข้าว กข 67
กข 67-ลักษณะการออกรวงของ ข้าว กข 67
กข 67-ลักษณะเมล็ดทางกายภาพของข้าวสายพันธุ์
กข 67-ลักษณะเมล็ดทางกายภาพของข้าวสายพันธุ์

ข้าวเจ้า สายพันธุ์ PSL04106-28-R-1-R-2-R-1-R-1-1 เสนอเป็นพันธุ์รับรอง “กข 67”  โดย คุณพงศา สุขเสริม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ลักษณะทรงกอตั้ง ทรงต้นเตี้ย สูงประมาณ 125 เซนติเมตร ลำต้นมีความแข็งมาก ใบสีเขียว มุมใบธงตั้งตรง รวงแน่นปานกลาง ระแง้ถี่ ให้ปริมาณอะมิโลสปานกลาง มีความหอมเล็กน้อย ต้านทานต่อโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 749 กิโลกรัม ต่อไร่ มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เหมาะสำหรับพื้นที่นาน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง แต่มีข้อควรระวังคือ ความไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคขอบใบแห้ง

กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะรวงและความยาวรวง
กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะรวงและความยาวรวง
กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะลำต้นและทรงกอ
กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะลำต้นและทรงกอ
10กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะทางกายภาพของเมล็ด
 กข 69 (ทับทิมชุมแพ)-ลักษณะทางกายภาพของเมล็ด

อีกพันธุ์หนึ่งที่กรมการข้าวภูมิใจนำเสนอ คือ ข้าวเจ้า สายพันธุ์ SRN06008-18-1-5-7-CPA-20 เสนอเป็นพันธุ์รับรอง “กข 69” (ทับทิมชุมแพ) โดย คุณรณชัย ช่างศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างต้นแม่ ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีลักษณะทรงต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้านทานโรคไหม้ กับต้นพ่อซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยดพัทลุงที่ไวต่อช่วงแสง ต้นสูง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ในฤดูนาปรัง 2551 และคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม ชั่วที่ 2-6 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และชั่วที่ 7 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ในฤดูนาปี 2555 จนได้ข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์ SRN06008DS-18-1-5-7-CPA-20

สำหรับข้าวทับทิมชุมแพนั้น มีลักษณะทรงต้นเตี้ยและไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 144 วัน ความสูงเฉลี่ย 113 เซนติเมตร กอตั้ง ใบเขียว ปริมาณอะมิโลสต่ำ (12.63%) จำนวนรวง 11 รวง ต่อกอ ผลผลิตค่อนข้างสูง (จากการเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตในฤดูนาปี 2556 ณ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ พบว่ามีผลผลิตสูงถึง 797 กิโลกรัม ต่อไร่) ต้านทานต่อโรคไหม้ จึงเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคไหม้และต้องการข้าวคุณภาพพิเศษ เมล็ดขณะยังเป็นข้าวกล้องจะมีเยื่อหุ้มสีแดง รูปร่างเรียวยาว (ยาว 7.37xกว้าง 2.02 มิลลิเมตร) ข้าวสารจะมีสีขาวขุ่น ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะมีสีแดงใสคล้ายทับทิม นุ่มเล็กน้อย มีความเหนียวมากกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพการหุงต้มรับประทานดี แต่ไม่มีกลิ่นหอม อุดมไปด้วยปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์สูง และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง

กข 22-ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวเปลือก
กข 22-ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวเปลือก
กข 22 -01
กข 22 -01

สุดท้าย ข้าวเหนียว สายพันธุ์ KKN04023-NKI-14-2-6-1 เสนอเป็นพันธุ์รับรอง กข 22 โดย คุณสมใจ สาลีโท นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ลักษณะเด่นเป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ศักยภาพการให้ผลผลิต 929 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 684 กิโลกรัม ต่อไร่ ลักษณะทรงกอตั้ง สูงประมาณ 120 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ปลายใบตั้งตรง ลักษณะรวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น จัดเป็นข้าวเหนียวเมล็ดยาว รูปร่างเรียว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและการสีดี คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในหลายท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้านทานต่อแมลงบั่วในหลายท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน

แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีโรคไหม้และแมลงบั่วระบาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน แต่มีข้อควรระวังในเรื่องของความอ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวงและขอบใบแห้ง รวมถึงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

เกษตรกรที่สนใจข้าวพันธุ์ใหม่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ สามารถติดต่อไปได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย (กข 65) โทร. (053) 721-578, ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก (กข 67) โทร. (055) 311-184, ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ (กข 69)  โทร. (043) 311-155 และศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย (กข 22) โทร. (086) 458-7310