การตกกล้าข้าวบนแห้ง ที่เวียดนาม

จากการที่เกษตรกรเวียดนาม เป็นผู้ริเริ่มในการทำนาครั้งที่สอง แบบหว่านน้ำตมเป็นประเทศแรกของอาเซียน จนหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันเกษตรกรเวียดนาม ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำนาก้าวหน้าไปมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การทำนาแบบพร้อมเพรียงกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นหมู่บ้าน หรือเป็นตำบล ตามคำแนะนำและการประกาศของทางราชการ ทำให้การบริหารจัดการในเรื่องการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การจัดการน้ำ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการตลาดทำได้ง่าย อย่างเป็นระบบ ช่วยให้เกษตรกรเวียดนามลดต้นทุนการเพาะปลูกข้าวลงได้เป็นอันมาก

ริมถนนที่ใช้ตกกล้าข้าว

ขณะเดียวกันการทำนาน้ำตมหรือนาครั้งที่สองแบบหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวงอก ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำนาน้ำตมแบบปักดำต้นกล้าแทนการหว่านกล้า โดยใช้วิธีการตกกล้าข้าวบนแห้งแทนที่จะตกกล้าในแปลงนาแบบเดิมๆ เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ที่เกษตรกรเวียดนามส่วนใหญ่ทำได้เพราะเขามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 2-3 ไร่ แต่รายใหญ่ก็มีถึงประมาณ 50-60 หรือเป็น 100 ไร่ เช่นกัน ซึ่งในรายใหญ่ก็มีการเอาเครื่องดำนาเข้ามาใช้บ้าง ได้สอบถามเกษตรกรที่กำลังรดน้ำกล้าข้าวอยู่ ทำไมถึง (พิเรนทร์) มาตกกล้าบนแห้งข้างถนนรถแบบนี้ เขาบอกว่า เหตุที่เขาตกกล้าบนแห้งเพราะ

  1. เนื่องจากเมล็ดข้าวพันธุ์ดีมีราคาแพง และมีปริมาณไม่มาก เขาจำเป็นต้องลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว และการทำนาน้ำตมแบบหว่านจะมีปัญหาในเรื่องการระบาดของวัชพืชหรือหญ้าในแปลงนามาก ทำให้เกษตรกรต้องใช้แรงงานในการถอน (ปัจจุบัน เวียดนาม เริ่มมีปัญหาการขาดแรงงานภาคเกษตร) หรือใช้สารเคมีควบคุมและป้องกันกำจัดวัชพืชมากขึ้น นอกจากนี้ สารเคมีฆ่าหญ้ายังทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมในนาข้าว และทำลายสุขภาพของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี ส่งผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกข้าวสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกด้วย
  2. แผ่นกล้าม้วนได้
  3. การหว่านกล้าลงในนาข้าวมีการกระจายไม่สม่ำเสมอ บางแห่งก็บางไป บางแห่งก็แน่นเกินไป ตรงบริเวณที่ข้าวขึ้นหนาแน่นทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี เกิดปัญหาการะบาดของโรคข้าวได้ง่าย และหากมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็จะทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือกำจัดได้ เพราะเมื่อเกษตรกรพ่นสารเคมี ละอองของสารเคมีไม่สามารถปลิวลงไปถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่บริเวณตามกาบใบข้าวเหนือระดับน้ำได้ หรือถูกเป็นบางส่วนแต่ไม่สามารถทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตายได้ จึงเกิดการดื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรต้องใช้สารเคมีในปริมาณเพิ่มมากขึ้น หรือซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษรุนแรง และมีราคาแพงมากขึ้นมาใช้ เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด
  4. การตกกล้าข้าวในแปลงนามีวิธีปฏิบัติที่ยุ่งยาก และมีต้นทุนที่สูงกว่าการตกกล้าบนแห้ง ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่ามาก
  5. เกษตรกรกำลังรดน้ำ
  6. การทำงานบนพื้นที่แห้งสะดวกรวดเร็วกว่าการทำงานในแปลงนาซึ่งต้องมีการเตรียมดิน ขณะเดียวกันการย้ายต้นกล้าเพื่อไปปักดำในแปลงนาก็ทำได้ง่าย ในจำนวนต้นกล้าที่เท่ากัน กล้าที่เพาะบนแห้งจะมีน้ำหนักเบากว่า และสามารถขนต้นกล้าไปยังแปลงนาที่จะปักดำได้ครั้งละมากๆ เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาในการล้างดินโคลนออกจากรากต้นกล้าก่อนนำไปปักดำเหมือนเช่นการตกกล้าในแปลงนา
  7. การดูแลรักษาต้นกล้าที่ปลูกบนแห้งง่ายกว่าต้นกล้าที่ปลูกในแปลงนา หากแปลงนาอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักเกษตรกรสามารถตกกล้าบริเวณใกล้กับบ้านพัก ทำให้เกษตรกรสะดวกในการดูแลรดน้ำ หรืออาจทำในบริเวณที่มีพื้นที่ราบเรียบที่มีขนาดพื้นที่เพียงพอที่จะตกกล้าเพื่อใช้ปักดำบริเวณใกล้แปลงนาที่ปักดำข้าว เพียงแต่ต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่จะใช้รดต้นกล้าเท่านั้น
  8. วัสดุที่ใช้ปลูกต้นกล้าข้าวคือ ขุยมะพร้าว ซึ่งมีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น ส่วนผ้าพลาสติกที่ใช้รองพื้นปลูกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้งจนกว่าจะหมดสภาพ
  9. สิ้นเปลืองและสูญเสียเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ตกกล้าเพื่อนำไปปักดำน้อยกว่าการหว่านเมล็ดข้าวลงในแปลงนาโดยตรง
  10. หมดปัญหาการทำลายกัดกินต้นกล้าจากหอยเชอรี่

    ตกกล้าบนไหล่ถนน

ขั้นตอนในการตกกล้าบนแห้งปฏิบัติได้ง่ายมาก เหมือนกับการตกกล้าในกระบะ เพื่อใช้ปักดำโดยเครื่องดำนา สำหรับขุยมะพร้าวที่เป็นวัสดุปลูก ไม่จำเป็นต้องผสมดินปลูกแต่ประการใด แต่หากเกษตรกรอยากจะผสมดินปลูกก็ไม่ผิดกติกาใดๆ เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มงานและเพิ่มค่าใช้จ่ายเท่านั้น สำหรับแผ่นผ้าพลาสติกที่ใช้ปูรองพื้นควรมีความหนาสักหน่อย เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง หากเป็นชนิดใสจะใช้ทนกว่าชนิดสีดำซึ่งมีราคาถูกกว่าชนิดใส มีขนาดกว้าง ประมาณ 1 – 2 เมตร ยาวเท่าใดก็ได้ตามความต้องการ พื้นที่ที่จะใช้ตกกล้า โดยปฏิบัติดังนี้

  1. คัดเลือกพื้นที่สำหรับทำแปลงตกกล้า โดยต้องเป็นพื้นที่ราบเรียบ อยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อความสะดวกในการรดน้ำแปลงกล้า
  2. ปูแผ่นผ้าพลาสติกแล้วจึงโรยขุยมะพร้าวลงบนผ้าพลาสติก ให้หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำด้วยฝักบัวให้ชุ่ม หรือหากเกษตรกรมีทุนและสะดวกก็สามารถรดน้ำด้วยการติดตั้งระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ก็ได้ สะดวกดีแต่เปลืองเงินหน่อย
  3. นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หุ้มและแช่น้ำไว้ 1 คืน มาโรยลงบนขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร จากนั้นจึงรดน้ำเบาๆ ให้ชุ่ม เพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์ข้าวและขุยมะพร้าวไหลกระจายออกจากแผ่นผ้าพลาสติก รดน้ำอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง หรือหากอากาศแห้งก็สามารถรดน้ำเพิ่มได้ ไม่ต้องพรางแสดงแดดให้กับกล้าข้าว
  4. รากข้าวยึดติดกันเป็นแผ่น
  5. หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน เกษตรกรก็สามารถย้ายกล้าไปปักดำได้ แต่หากเกษตรกรต้องการต้นกล้าที่ใหญ่กว่าเพื่อใช้ในการปลูกแบบโยนกล้า ก็ไม่ควรเกิน 15 วัน เพราะหากพันธุ์ข้าวที่ปลูกอายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 90 วัน อาจจะเกิดผลกระทบต่อการตั้งตัวและแตกกอของข้าวได้ ในการย้ายกล้าไปปักดำ เกษตรกรสามารถตัดหรือแบ่งแยกแปลงกล้าที่ปลูกออกเป็นแผ่นๆ ขนาด 50 x 50 เซนติเมตร หรือ 1 x 1 เมตร ก็ได้แล้วแต่สะดวก จากนั้นจะวางซ้อนแผ่นกัน หรือม้วนก็ได้ และขนไปยังแปลงนาที่จะปักดำ ซึ่งแผ่นกล้านี้ต้นข้าวจะไม่แตกหรือแยกออกจากกัน เนื่องจากการยึดติดกันของรากต้นข้าว เป็นลักษณะเหมือนแผ่นพรม
  6. ในการปักดำ เกษตรกรเพียงแต่ใช้นิ้วมือบิแยกต้นกล้าออกจากแผ่นต้นกล้าเพื่อปักดำในแปลงนา จับละ 2-3 ต้น โดยให้มีระยะห่างระหว่างกอ ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ซึ่งระยะปลูกนี้อาจขึ้นอยู่กับการแตกกอของพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรปลูกด้วย ถ้าเป็นข้าวนาปีก็อาจจะปักดำในระยะที่ห่างกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่คำแนะนำที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร โดยเฉลี่ยพันธุ์กล้าข้าว 1 ตารางเมตร สามารถปักดำได้ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร ดังนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,600 ตารางเมตร จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 15-16 กิโลกรัม แต่หากเกษตรกรใช้วิธีปลูกแบบโยนกล้าจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยกว่านี้มาก

จะเห็นว่าการตกกล้าบนแห้งแบบนี้ปฏิบัติได้ไม่ยากเลย แล้วก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่อะไรเลย เพียงแต่เกษตรกรเวียดนามได้ประยุกต์มาจากการตกกล้าในกระบะที่ใช้ปลูกโดยเครื่องปักดำข้าวเท่านั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ปัจจุบันเกษตรกรเวียดนามในเขตพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงใช้วิธีการตกกล้าบนแห้งกันอย่างแพร่หลาย เกษตรกรบ้านเราท่านใดที่มีพื้นที่นาปลูกข้าวไม่มากเกินความสามารถ สนใจก็ลองทำดู ไม่ยาก ไม่เหนื่อย ไม่หนัก สบายกว่าแบบเดิมๆ ที่เคยทำกันมาเยอะเลย หรือท่านใดสนใจก็น่าจะทดลองทำแผ่นกล้าขายเหมือนกับแผ่นหญ้าที่เขาวางขายเพื่อใช้ปูสนามหญ้า ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ไม่เลวเลยทีเดียว

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562