“ปลาดุกร้า” นาขยาด ไร้สาร ดังกระฉ่อนถึง สวิตเซอร์แลนด์

บ้านโงกน้ำ ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ และยังล้าหลังทั้งในด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิต ชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังมีรายได้น้อย แต่หลังจากที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำงาน และยึดหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่ ทั้งไม้ผล ไม้ประดับ ผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งชาวบ้านรู้จักนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ในท้องถิ่นอย่างมูลสัตว์มาทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นการลดต้นทุนการผลิต จนประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับเป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

บ้านโงกน้ำ ยังเป็นที่รู้จักในนามของปราชญ์ชาวบ้าน ในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แก่เกษตรกร ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีฐานการเรียนรู้ถึง 17 ฐาน เช่น การบริหารการจัดการกลุ่มออมทรัพย์ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การทำปุ๋ยน้ำอีเอ็ม ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร เป็นต้น

โดยเฉพาะการทำปลาดุกร้าจากปลาดุกเลี้ยง ที่ชาวบ้านเลี้ยงครัวเรือนละ 500-800 ตัว ในบ่อพลาสติกข้างบ้าน นำมาแปรรูปขาย สร้างรายได้ และส่งจำหน่ายไปไกลถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การันตีความอร่อย นิ่ม หอม ประกอบกับการบรรจุถุงที่ไร้กลิ่น กลายเป็นของฝากที่น่าประทับใจสำหรับผู้รับ

คุณเฉลา ด้วงเรือง ประธานกลุ่มผลิตปลาดุกร้า ปราชญ์ชาวบ้านโงกน้ำ ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บอกว่า กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้าน 174  ครัวเรือน ได้ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามเกษตรแบบทฤษฎีใหม่  และเลี้ยงปลาดุกไว้ข้างบ้านไว้รับประทานเอง แต่เมื่อเลี้ยงทุกครอบครัว ทำให้มีปลาเป็นจำนวนมาก เมื่อพ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อจึงกดราคา ทำให้ชาวบ้านรวมตัวและคิดทำปลาดุกร้า เป็นการถนอมอาหารไว้กินได้นานๆ และนำไปจำหน่าย จนเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านทั่วไป

นำไปตาก

สำหรับการทำปลาดุกร้า มีส่วนผสมดังนี้

1.ปลาดุก         5         กิโลกรัม

2.น้ำตาลทราย    2.2   มิลลิกรัม

3.เกลือ             2 .2     มิลลิกรัม

วิธีทำ นำปลาใส่กระสอบและใส่เกลือเพื่อน๊อกให้ปลาตาย แล้วตัดหัว ควักไส้ปลาออก ล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง ผสมเกลือและน้ำตาล ยัดเกลือที่ผสมแล้วในท้องปลา คลุกตัวปลา ใส่โอ่งเคลือบ ทิ้งไว้  2  คืน แล้วนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน ก่อนนำมาห่อด้วยกระดาษปรู๊ฟ (ซับน้ำ, น้ำมันปลา) ใส่ถังพลาสติกมีฝาเกลียว ปิดให้มิดชิด ทิ้งไว้ 2 คืน แกะกระดาษออก ตากแดดครั้งที่ 2  ประมาณ 2 วัน ปลาห่อกระดาษเหมือนเดิม เก็บไว้ในถังพลาสติก หมักไว้ 2 คืน ตากแดดอีก 5 ชั่วโมง เก็บไว้ในถัง 2 คืน แล้วนำมาบรรจุถุงสุญญากาศ สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน 1 เดือน

การหมัก

คุณเฉลา บอกอีกว่า หากเรานำไปตากแดดตามระยะเวลา จะทำให้มีกลิ่นหอม ปลาสด ตัวแข็งดี สามารถนำไปทำเป็นอาชีพเสริม สำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาดุก และขายปลาสดแล้วได้ราคาไม่ดี โดยปัจจุบันปลาดุกร้าของกลุ่ม ส่งจำหน่ายไปไกลถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยคุณภาพของปลาดุกร้าที่อร่อยและสด

เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโงกน้ำ หมู่ที่ 8 ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โทรศัพท์ 0-7463-1616 หรือ 08-9297-0859