ทหารไทยหัวใจเกษตร วัยเกือบ 90 ปี ยังปลูกผักไหว

คุณลุงประเสริฐ รัมมันต์ เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อมีเครื่องบินญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิดที่บางกอกจึงต้องอพยพไปเรียนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ครูจึงแนะให้ไปเรียนที่โรงเรียนจ่าทหารเรือในปี พ.ศ.2488 ถนนวิทยุ เรียนอยู่ 2 ปี ก็สอบติดจ่าโท ประจำการเป็นช่างอยู่โรงเรียนจ่าทหารเรือ

เมื่อมีกบฎแมนอัตตั้นในปี พ.ศ.2494 โรงเรียนถูกยึด เขาเตรียมลาออกจะเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยสำรอง แต่โรงเรียนนายร้อยสำรองไม่รับเพราะเป็นทหารเรือ เขาจึงย้ายสังกัดเข้ากรมเสนาธิการ กระทรวงกลาโหมในยศจ่าเอก ปัจจุบันคือกองบัญชาการทหารสูงสุด

ต่อมาได้มีโอกาสเรียนช่างไฟฟ้า โรงเรียนช่างกลางคืนของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เพราะประเทศขาดแคลนช่างในช่วงนั้น โรงเรียนดังกล่าวเปิดเพียงระยะสั้นในปี พ.ศ.2492-2500 ก็ยุบกิจการ วุฒิการศึกษาเทียบเท่าอนุปริญญาจึงต้องมีตำแหน่งนายร้อยแต่อัตราที่กรมเสนาธิการไม่มี จึงย้ายไปบรรจุเป็นเรืออากาศตรีในปี พ.ศ.2499 ที่กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ จนกระทั่งตำแหน่งสุดท้ายมียศนาวาอากาศโท หัวหน้าหน่วยฐานย่อยที่ 2 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ.2522 ตอนอายุ 51 ปี

 

เริ่มต้นเป็นเกษตรกร

เมื่อลาออกจากกองทัพ คุณลุงได้ทำการเกษตรอย่างจริงจังเพราะใจรัก

เกษตรกรส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากเห็นว่าการรับเงินแต่ละครั้งมีจำนวนมากแต่ลืมคิดถึงต้นทุน เนื่องจากมีนายทุนเป็นผู้สนับสนุน นาวาอากาศโทประเสริฐหรือ “ลุงเสริฐ” ได้เริ่มปลูกอ้อยเพื่อส่งโรงงานน้ำตาลด้วยเนื้อที่ 500 กว่าไร่ ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจึงต้องไปเอาเงินจากโรงงานมาก่อน เมื่อได้ผลผลิตนำส่งโรงงานแล้วจึงหักเงินยืมออกพร้อมดอกเบี้ยเงิน ที่เหลือจึงเป็นของผู้ปลูก ผลผลิตของลุงเสริฐได้แต่ละปีหลายพันตัน แต่ก็แล้วแต่ฟ้าฝนจะเป็นใจ เหลือบ้างไม่เหลือบ้างกระทั่งเป็นหนี้หลายล้านบาท

ช่วงปี พ.ศ.2535 มีบริษัทเอกชนร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำโครงการปลูกกล้วยหอมเข้ามาเพื่อส่งกล้วยไปยังประเทศญี่ปุ่น ลุงเสริฐเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีจึงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนเพื่อผลิตกล้วยส่งญี่ปุ่น บริษัทเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์กล้วย ค่าปุ๋ย และอื่นๆ มูลค่า 1 ล้านบาท ลุงประเสริฐลงทุน 5 แสนบาท ลงทุนปลูกกล้วยหอมจำนวน 30,000 ต้น เมื่อมีผลผลิตปรากฏว่าบริษัทเกิดปัญหาจึงไม่สามารถส่งกล้วยไปญี่ปุ่นได้ ทำให้ขาดทุน หนี้สินพอกพูนขึ้น ธนาคารที่กู้เงินมาเร่งรัดหนี้สินตลอดเวลา ทำให้ลุงประเสริฐตัดใจขายที่ดินแปลงรักนี้ไป 250 ไร่ ได้เงินมาใช้หนี้สินจำนวนหลายล้านบาท

แปลงขมิ้น
แปลงขมิ้น

ต่อมาได้ให้ลูกชายทำกิจการไร่อ้อย ส่วนตัวลุงประเสริฐเข้ามาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่ใจรักการปลูกต้นไม้ จึงปลูกโป๊ยเซียนและชวนชมขาย ซึ่งในขณะนั้นโป๊ยเซียนและชวนชมเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกัน ลุงเสริฐสามารถทำเงินจากการปลูกต้นไม้ขายได้จำนวนมาก ต่อมาทราบข่าวว่ากิจการไร่อ้อยไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำทำให้มีหนี้สินขึ้นมาอีก ในปี พ.ศ.2540 จากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ประกอบกับความนิยมโป๊ยเซียนและชวนชมตกต่ำลง จึงทำให้ต้องตัดสินใจกลับไปบริหารงานไร่อ้อยที่อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรีดังเดิม

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวค่อนข้างเสี่ยง เช่น ไร่อ้อย เนื่องจากปัจจัยดินฟ้าอากาศไม่สามารถควบคุมได้ ลุงประเสริฐจึงได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำการปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อป้องกันความเสี่ยง อีกทั้งต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง จนเมื่อปลูกในพื้นที่ลดลงจึงทำให้ค่อยๆ สามารถปลดหนี้สินดังกล่าวได้ทั้งหมด และนั่นคือความทรงจำต่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เจ็บปวดในชีวิตของลุงประเสริฐ ทั้งทำให้ลุงเสริฐมีความคิดอยากจะรู้เรื่องเกษตรในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่รู้แค่การปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียว

 

อายุไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน

ในปี พ.ศ.2546 ในช่วงเวลาที่ลุงเสริฐนั่งรถโดยสารเข้าเมือง เขาเห็นผู้โดยสารอ่านหนังสือเล่มขนาดใหญ่บนรถ เป็นตำราเรียนเกี่ยวกับการเกษตร จากการสอบถามทราบว่าเป็นหนังสือเรียนของ มสธ.จึงตั้งใจจะซื้อมาอ่านเนื่องจากเป็นคนที่ชอบศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการเกษตร พอดีลูกหลานทราบข่าวจึงซื้อใบสมัครเรียน มสธ.มาให้ ลุงประเสริฐจึงตัดสินใจสมัครเรียนในระดับปริญญาตรี คณะเกษตรและสหกรณ์ของ มสธ.ด้วยวุฒิช่างไฟฟ้ากลางคืนของกรมโยธาธิการซึ่งเทียบได้กับวุฒิอนุปริญญา แต่เกิดปัญหากับการสมัครจากคุณวุฒิ เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวไม่มีผู้รู้จัก ต่อมาได้มีการสอบทานกันจึงพบว่ามีโรงเรียนดังกล่าวจริง แต่ยุบเลิกไปนานแล้ว ลุงประเสริฐสามารถเรียนจนจบตามหลักสูตรด้วยเวลาสองปีครึ่งในปี พ.ศ.2549 ด้วยวัย 80 ปี

ต่อมาปี พ.ศ.2551 มสธ.เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการทรัพยากรเกษตรขึ้นใหม่ ลุงเสริฐได้รับการชักชวนจากอาจารย์ที่สอน จึงสมัครเข้าเรียนและได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้เป็นรุ่นแรก ด้วยความที่มีอายุมากขึ้นทำให้ลุงประเสริฐพยายามอย่างหนักเพื่อให้จบการศึกษา ต้องอาศัยความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า ลุงประเสริฐจึงใช้เวลาเรียนจนจบหลักสูตรด้วยเวลา 6 ปี ในปี พ.ศ.2557 และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามหลักสูตรมหาบัณฑิต เมื่อต้นปี พ.ศ.2558 นี้ในวัย 89 ปี ด้วยกำลังใจจากลูกหลานร่วมรุ่นที่จบการศึกษาไปแล้วอย่างล้นหลาม

 

วิทยานิพนธ์เรื่องการปลูกขมิ้น

ในช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาโท มีชาวสิงคโปร์และมาเลเซียติดต่อผ่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ต้องการหาพื้นที่จำนวน 2-3 ร้อยไร่ ปลูกขมิ้นชันด้วยต้นพันธุ์จากอินเดีย โดยให้ลุงเสริฐทดลองปลูก พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงานที่จะดูแลการปลูกขมิ้น ชาวมาเลเซียจึงย้ายไปดำเนินงานที่จังหวัดเชียงใหม่แทน

จากประสบการณ์การปลูกขมิ้นในครั้งนั้น ทำให้ลุงประเสริฐมั่นใจในการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่อง “ระยะปลูกที่เหมาะสมในการผลิตขมิ้นชัน” ซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ที่ใช้การทดลองที่ยังไม่มีงานวิจัยเรื่องนี้ ในการทดลองได้มีการกำหนดระยะห่างระหว่างแถวของต้นขมิ้นชันที่ปลูก ตั้งแต่ระยะ 10 ,15, 20, 25, 30, และ 35 เซนติเมตร ตามลำดับรวม 6 ระยะ ด้วยการยกร่องขึ้นและปลูกบนแถวร่องเรียงหนึ่ง มีระยะห่างระหว่างร่องต่อร่องหรือต่อต้น 75 เซนติเมตร ร่องหนึ่งมีความยาว 3.5 เมตร

a

การปลูกขมิ้นชันเพื่อการลงหัวที่สมบูรณ์ในพื้นที่ดินแน่น ควรยกร่องหรือทำให้ดินฟู เพื่อให้หัวของขมิ้นสามารถขยายได้โดยไม่ถูกความแน่นของดินบังคับ ผสมปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอก ตากดินไว้ประมาณ 7-15 วัน ก็นำท่อนพันธุ์ขมิ้นใส่หลุมที่ขุดไว้ตื้นๆ กลบดินเพียงบางๆ แล้วนำฟางมาคลุมบนแปลงเพื่อรักษาความชื้นและกันแดดในตอนเที่ยง ปัจจุบันใช้ท่อนพันธุ์พื้นเมืองจากอำเภอศรีสวัสดิ์ เนื่องจากปริมาณคุณค่าทางยาของพันธุ์อินเดียน้อยกว่าขมิ้นชันของไทย

ในการปลูกช่วงแรกรดน้ำเช้าเย็นประมาณ 1 เดือน ต้นจะเริ่มโพล่จากดินให้เห็นเมื่อเดือนที่สอง รดน้ำให้เหลือแค่วันเว้นวัน และเมื่อต้นสมบูรณ์ในเดือนที่สามรดน้ำสามวันครั้ง ช่วงนี้ให้กำจัดวัชพืชออกจากแปลงเพื่อให้ขมิ้นชันเจริญเติบโตได้ดี ใช้เวลา 9 เดือนหัวขมิ้นชันก็จะสมบูรณ์ สามารถขุดหัวขึ้นมาจำหน่ายได้

 

ผลการทดลอง

d

การปลูกขมิ้นชันในระยะที่ห่างกันตั้งแต่ 10-35 เซนติเมตร รวม 6 ระยะ เมื่อขุดหัวได้ต่อแปลงพบว่า ระยะปลูกห่าง 10 เซนติเมตร ได้น้ำหนักหัวมากที่สุดคือ 35.26 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 5,370 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนระยะปลูก 15 เซนติเมตร ได้น้ำหนักต่อแปลง 26.89 กิโลกรัม ระยะห่าง 20 เซนติเมตร ได้น้ำหนัก 24.05 กิโลกรัมต่อแปลง ระยะห่าง 25 เซนติเมตร ได้น้ำหนัก 18.93 กิโลกรัมต่อแปลง ระยะห่าง 30 เซนติเมตร ได้น้ำหนัก 15.70 กิโลกรัมต่อแปลง และระยะห่าง 35 เซนติเมตร ได้น้ำหนัก 17.66 กิโลกรัมต่อแปลง (1 แปลงยาว 3.5 เมตร)

 

ปัจจุบันกาล

ภายใต้พื้นที่ขนาด 300 ไร่ ลุงประเสริฐได้ให้เช่าปลูกอ้อยไป 250 ไร่ พื้นที่ส่วนที่เหลือเอาไว้ปลูกสัพเพเหระ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ข้าวโพดหวาน มะนาว ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู มะระ บวบ ขาย เพียงพอที่จะจ้างแรงงานวันละ 2-3 คน มาช่วยในไร่ สำหรับกล้วยในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 400 ต้น เนื่องจากมีพ่อค้าต้องการมาก โดยจะให้พ่อค้ามาตัดเอง คิดราคาหวีละ 12 บาท ส่วนถั่วดาวอินคาและหมามุ่ยอินเดีย ปัจจุบันไม่ได้ปลูกไว้เนื่องจากไม่มีคนรับซื้อ

ในส่วนของขมิ้นชันที่ปลูกนั้นได้ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ ป่าตะวันตก” ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีสมาชิก 14  คน ทำหน้าที่ปลูกและรวบรวมพืชสมุนไพร อาทิ ขมิ้นชัน หญ้าปักกิ่ง ฟ้าทะลายโจร เสลดพังพอนตัวเมีย ยอ เพชรสังฆาต ชะพลู หนุมานประสานกาย มะขามป้อม ชุมเห็ดเทศ ฝรั่งขี้นก เถาตดหมูตดหมา ลูกใต้ใบ รางจืด ส่งให้โรงพยาบาลอภัยภูเบศทุกเดือน