พริกกะเหรี่ยง แตงกวาผลใหญ่ ของดีหมู่บ้านกะเหรี่ยง

ห่างจากกรุงเทพฯราว 120 กิโลเมตร ห่างจากถนนเพชรเกษมช่วงอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีไปราว 25 กิโลเมตร บริเวณนั้นมีชุมชนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สอบถามคนเฒ่าคนแก่ ได้ความว่า พวกเขาอยู่มานาน

เมื่อครั้งที่มีความขัดแย้งทางแนวคิด สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้อาศัยผืนป่าแถบนี้เป็นแหล่งพักพิง รวมทั้งมีชาวกะเหรี่ยงร่วมเป็นมวลชนหนุนส่งในการปฏิวัติ

สหาย ป. กุยบุรี เขียนไว้ในหนังสือ”ตะนาวศรีรำลึก”ตอนหนึ่งว่า…งานในเขตป่าเขาและมวลชนชาติกะเหรี่ยงในเขตเทือกเขาตะนาวศรีตั้งแต่ปลายแม่น้ำที่อยู่ห่างไกลกันเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากกุยบุรีหรือปราณบุรี ปลายน้ำเพชรบุรี ปลายน้ำบางระจัน(ตั้งแต่หมู่บ้านกะเหรี่ยงสองพี่น้อง กะเหรี่ยงโปรง พรุพลู เพชรบุรี บ้านตากแดด ห้วยแห้ง บ้านกล้วย โป่งกระทิง สวนผึ้ง ราชบุรี)

สหายรุ่นบุกเบิกเขตงานภาคกลางตะวันตก ได้กล่าวไว้ในหนังสือ”ตะนาวศรีรำลึก” ว่า…พวกเราถอยไปตั้งหลักที่เขตประจวบฯสมทบกับคุณใจและคุณจิต แล้วก็พยายามบุกไปหาลุงสีที่พรุพลู ลุงแสงที่กะเหรี่ยงโป่ง เราอยู่ที่นี่ได้ปีกว่าๆ สัมพันธ์กับมวลชนกะเหรี่ยงได้ดีพอสมควร…

ฐานที่มั่นในเขตนี้ ได้สลายตัวอันดับท้ายๆ ผู้เกี่ยวข้องสร้างอนุสรณ์สถานแบบเรียบง่ายไว้ เพื่อย้ำเตือนความทรงจำ

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ในปัจจุบัน ดูไม่แตกต่างจากชนบททั่วไป แต่มรดกอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติทิ้งไว้ให้คือน้ำพุร้อน ซึ่งมีสายน้ำไหลออกมาทั้งปี ทางท้องถิ่นได้จัดสร้างที่อาบแช่ไว้ให้คนไปใช้บริการ ในราคาย่อมเยา

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หนองหญ้าปล้อง ดำรงเผ่าพันธุ์มานานได้ คงต้องอาศัยปัจจัย 4 อย่างผู้คนในเขตอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย สิ่งที่มีอยู่ บางครั้งพบว่ามีลักษณะพิเศษ เช่นสมุนไพรรักษาโรค พืชพรรณที่มีความแข็งแรง ยามเกิดภัยพิบัติหรือธรรมชาติแปรปรวน

เมื่อมีสิ่งที่ดี พวกเขาก็เก็บรักษาไว้ จากนั้นก็เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง นานมาแล้ว ลุงศิลป์ ศัลยพงศ์ เกษตรกรอาวุโสจังหวัดอุตรดิตถ์ แนะนำไผ่ที่ปลูกอยู่ ลุงบอกว่าได้ไผ่มาจากชาวกะเหรี่ยงเขตน้ำท่วม เขื่อนภูมิพล

“นี่ไผ่จากจังหวัดตาก คนท้องถิ่นที่นั่นต้องย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากการสร้างเขื่อนแล้วน้ำท่วม เขาแทบไม่เอาอะไรเลย ทิ้งเกือบหมด เขาเอาแต่หมากับไผ่ เวลาย้ายบ้าน”ลุงศิลป์ยกตัวอย่างงานเก็บรักษาพืชพรรณดี

ต้นพริกพรานหรือมะแข่วน
ต้นพริกพรานหรือมะแข่วน

ยามแวะเวียนไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง จะเห็นชาวบ้านเขาตากพริกไว้หน้าบ้าน นั่นแหละใช่เลย พริกกะเหรี่ยงขึ้นชื่อ ที่มีการปลูกสืบหน่อต่อแนวกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ อดีตเจ้าหน้าที่เกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่เกษตร เข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน นานมาแล้ว

นานแค่ไหนก็ตั้งแต่สมัยที่มีการรบพุ่งระหว่างเจ้าหน้าที่ของทางการกับพลพรรคทหารในป่า คุณบุญส่งต้องวางตัวให้เหมาะสม จึงเอาชีวิตรอดมาได้ ปัจจุบันนักเกษตรอาวุโสทำเกษตรในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ปลูกพืชสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็สะสมพืชท้องถิ่น ส่วนหนึ่งก็ร่วมศึกษากับชาวบ้าน

สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถตอบสนองความเป็นอยู่ของผู้คนได้อย่างดี

คุณทิตย์ ใจคน อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ 2  ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี หนุ่มใหญ่วัย 57 ปี เล่าว่า พ่อแม่ของตนเอง อาศัยอยู่ที่นี่มานาน พ่อชื่อนายแล้ว ใจคน เคยเป็นกำนัน เมื่อครั้งเก่าก่อน จะไปประชุมที่อำเภอเขาย้อย ต้องเดินไปและค้างคืนบ้านเพื่อน เพราะทางทุรกันดารมาก ปัจจุบันใช้เวลาไปและกลับไม่เกินชั่วโมง

ตั้งแต่จำความได้ คุณทิตย์ ได้พบเห็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก จนกระทั่งเติบใหญ่มีครอบครัว สิ่งที่มีอยู่ บางอย่างนอกจากสามารถผลิตเพื่อเลี้ยงครอบครัวแล้ว บางอย่างทำเป็นการค้า ขายนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

“ฝ้ายเมื่อก่อนปลูกกันเพื่อนำมาทอผ้า ทุกวันนี้ไม่ปลูกแล้วเพราะด้ายหาซื้อง่าย ที่ปลูกเป็นหลักก็ข้าว  พริกกะเหรี่ยง อย่างอื่นมีกันทุกครัวเรือนคือ พริกพราน ดงกะบังซ้า ถิ่งไซ้ซ้า”คุณทิตย์บอก

ข้าวของชาวกะเหรี่ยง เฉพาะที่หนองหญ้าปล้องมีไม่น้อยกว่า 10 สายพันธุ์ คุณทิตย์ปลูกอยู่ 2 สายพันธุ์ เป็นข้าวเจ้าปลูกในสภาพไร่ คือข้าวเหลืองและข้าวลาย

ข้าวเหลือง
ข้าวเหลือง

ข้าวเหลือง เปลือกหุ้มเมล็ดสีเหลือง เมล็ดไม่ใหญ่นัก

ข้าวลาย
ข้าวลาย

ข้าวลาย ที่เปลือกหุ้มเมล็ดนอกจากสีเหลืองแล้ว มีจุดประสีดำเล็กน้อย

ข้าวเหลืองเมล็ดเล็กกว่าข้าวลาย อายุการเก็บเกี่ยวนั้น หากปลูกพร้อมกัน ข้าวลายเก็บเกี่ยวได้ก่อน แต่คุณสมบัติทั่วไป ข้าวทั้งสองสายพันธุ์คุณภาพการหุงต้มดี นุ่ม

“ผมปลูกไว้กิน ปลูก 2-3 ไร่ ได้ผลผลิต 40-50 ปีบต่อไร่พอกินสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน”คุณทิตย์บอก

ส่วนคุณบุญส่งบอกว่า ตนเองมีข้าวเหนียวดำตะนาวศรี และข้าวเจ้าหอมกุหลาบ

“ข้าวเหนียวดำตะนาวศรี เปลือกหุ้มเมล็ดสีเหลือง เยื่อหุ้มเมล็ดสีดำ ส่วนในสุดเมล็ดสีขาว แต่เมื่อหุงเป็นสีดำ ผมนำไปผสมกับข้าวขาวทำข้าวต้มอร่อยมาก ข้าวหอมกุหลาบหอมสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ แต่หอมกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆในพื้นนี้ ชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวไร่เดือนแปด ไปเก็บเกี่ยวกันเดือนสิบเอ็ดสิบสอง แล้วแต่พันธุ์ ผลผลิตข้าวที่ได้ อาจจะไม่มาก แต่เขาก็พอกินกัน สาเหตุหนึ่งเพราะพันธุ์พืชที่มีอยู่  เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความแข็งแรง ผมสะสมไว้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งปลูกกินเอง”คุณบุญส่งให้ข้อมูลเรื่องข้าว

ส่วนพริกกะเหรี่ยง เดิมทีปลูกไว้กินในครอบครัวบ้านละต้นสองต้น แต่เนื่องจากเป็นพริกที่มีรสชาติดี คนพื้นราบต้องการ จึงขยายพื้นที่ปลูกกันมาก อำเภอหนองหญ้าปล้องปลูกพริกแต่ละปี 1,500-2,000 ไร่

คุณทิศ ดังแสง ชาวหนองหญ้าปล้อง มีเชื้อชาติกะเหรี่ยงเช่นกัน บอกว่า ปลูกพริกกะเหรี่ยงปีละ 2 ไร่ พันธุ์ที่ปลูกก็เก็บมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยเลือกผลพริกที่มีความยาว ดก

ผลผลิตที่ได้จากพริกกะเหรี่ยงนั้น พื้นที่ 1 ไร่ ขายพริกสดได้ 3-5 หมื่นบาท แต่หากดินอุดมสมบูรณ์ ฝนดี อาจจะได้ 1 แสนบาทต่อไร่

คุณทิศบอกว่า พริกกะเหรี่ยงมีจุดเด่นที่ความเผ็ดสูง ปรุงอาหารได้รสชาติอร่อย ความเผ็ดของพริกอยู่ที่เปลือก แต่หากปรุงอาหารแล้วต้องตำทั้งเปลือกและเมล็ด เพราะเมล็ดช่วยเพิ่มรสมัน ทุกวันนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวนิยมนำพริกกะเหรี่ยงไปทำพริกดอง ทำพริกป่น พวกเขาแนะนำว่า มีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยชื่อ”ฉอย” ก่อนถึงเขาวัง เมืองเพชร ใช้พริกกะเหรี่ยงจากหนองหญ้าปล้อง

พื้นที่การผลิตพริกกะเหรี่ยง
พื้นที่การผลิตพริกกะเหรี่ยง

“เผ็ดมาก พริกกะเหรี่ยงสุดยอดแห่งความเผ็ดอยู่แล้ว ใช้ทำเครื่องแกง หรือแกงปลา แกงกบ ใส่ส้มตำ 2-3 เม็ด(ผล) ก็พอแล้ว ใส่มากเผ็ด กินไม่ได้แน่”คุณทิตย์พูดถึงพริกกะเหรี่ยง

คุณทิตย์ ยังแนะนำพืชชนิดอื่นอีก

มะเขือเทศผลเล็ก คุณทิตย์เรียก”ดงกะบังซ้า” คุณสมบัติที่โดดเด่นคือปรุงอาหารประเภทต้มยำแกงส้มได้รสชาติดี ดงกะบังซ้าของคุณทิตย์ คล้ายๆมะเขือเครือทางอิสาน

ถิ่งไซ้ซ้า
ถิ่งไซ้ซ้า

“ถิ่งไซ้ซ้า” เป็นแตงกวาสายพันธุ์หนึ่ง ผลขนาดใหญ่ มีรสเปรี้ยว แต่ก่อนนานมา ชาวบ้านนิยมแกงกับกบภูเขา ทุกวันนี้มีปลูกกันทุกบ้าน การใช้ประโยชน์ อาจจะใช้กับแกงทั่วๆไปที่ต้องการรสเปรี้ยว ส่วนกบภูเขามีให้แกงน้อยลง

สอบถามคุณทิตย์และคุณทิศแล้ว “ซ้า” เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่าผล ชาวกะเหรี่ยงที่หนองหญ้าปล้องออกเสียงสูง…ซ้า

ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงเขตอื่นออกเสียงเรียกคำว่าผลเป็นเสียงต่ำกว่า คือ”ส่า”

ตัวอย่าง แตงโม ภาษากะเหรี่ยงคือ “แตะ-เตอ-ส่า”  มะพร้าว “ฆ่อ-ส่า” มะละกอ “สะ-กวิ-เส่-ส่า”

ดงกะบังซ้า
ดงกะบังซ้า

ยังมีอีกมาก สำหรับพืชพรรณ และทรัพยากรด้านอื่นๆของชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หนองหญ้าปล้องและที่อื่น สิ่งที่ดีและมีอยู่ ถูกสืบทอดมายาวนาน บางอย่างทำเป็นการค้า เพื่อซื้อปัจจัยที่ 5 ที่ 6 บางอย่างที่ไม่เหมาะสมก็ถูกลืมไป

ถามคุณทิตย์และคุณทิศ ว่า มีแต่ของดีๆ ดูอุดมสมบูรณ์ หากปิดอำเภอหรือปิดชุมชน คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้าจะเป็นอย่างไร คุณทิตย์และคุณทิศ หัวเราะชอบใจบอกว่า “อยู่ได้”

ผู้สนใจรายละเอียด หรือพืชพรรณดี ถามได้ที่คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ โทรศัพท์ 086-1698033