เครื่องผ่าปลากะตัก ช่วยชุมชน ฝีมือนักศึกษา มทร.ธัญบุรี

ปลากะตักเป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป อาทิ ไส้ตัน  ปลาหัวอ่อน ปลาจิ้งจั๊ง  ปลามะลิ ปลายู่เกี้ย ปลาเก๋ย ปลากล้วย ชาวประมงนิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำน้ำปลาชั้นดี บูดู และปลาป่น  นอกจากนี้ปลากะตัก ยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง หรือเป็นที่รู้จักในนามของปลาไส้ตันตากแห้งหรือปลาฉิ้งฉ้าง สามารถจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จะเห็นว่าช่วงเวลา2-3 ปีมานี้ ความต้องการปลากะตักตากแห้งของต่างชาติ ที่เข้ามากว้านซื้อปลากะตักของไทยสูงกว่าความต้องการในประเทศสูง 5-10 เท่าตัว

ทั้งนี้แม้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งมีจำนวนมากขึ้น แต่ชาวบ้านผู้ผลิตปลาไส้ตันตากแห้ง กลับประสบปัญหาผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาด ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลิตได้ล่าช้า คือ กรรมวิธรการผลิต ที่ต้องใช้แรงงานและเวลา เนื่องจาก ก่อนได้ปลากะตักตากแห้งสำเร็จรูป ผู้ผลิตจะต้องนำปลากะตักไปต้ม และตากแห้ง จากนั้นก็ต้องเด็ดหัว และผ่าเอาก้างออก กรรมวิธีดังกล่าวมานี้ล้วนแต่ใช้แรงงานคน ซึ่งทำได้ช้าไม่ทันกับความต้องการ อีกทั้งมือที่เด็ดหัวปลา และฉีกเอาก้างออกเมื่อต้องทำในปริมาณมากๆ ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ นางสาวศิริวรรณ  สุขเขียว นางสาวสุนิสา ทอทอง นางสาวสิรินทร์พร แข่งขัน นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และเกิดแรงบันดาล ร่วมกันคิดประดิษฐ์เครื่องผ่าปลากระตักขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จนสามารถนำไปช่วยทุ่นแรงของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

นักศึกษาเจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า เครื่องผ่าปลากะตักที่พวกตนคิดค้นขึ้นมานั้น ก็สามารถนำไปให้ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำปลากะตักตากให้ใช้อย่างได้ผลและเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งผลงานจะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ได้อาจารย์พฤกษา   สวาทสุข (มทร.ธัญบุรี) และดร.ศุภกิตต์   สายสุนทร (ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน) เป็นที่ปรึกษาตลอดทั้งโครงการ

พวกเขายังได้เล่าถึงผลงานอันน่าภูมิใจนี้ให้ฟังว่า  ได้ออกแบบ และพัฒนาขึ้น  เพื่อใช้กับกระบวนการแปรรูปปลากะตัก เพื่อลดการใช้แรงงานคน ในกระบวนการเด็ดหัวปลา และผ่าซีกเอาก้างปลาออก การทำงานของเครื่องคือ เมื่อป้อนปลากะตักลงเครื่อง ผ่านลูกกลิ้งทรงกระบอกเข้าสู่ใบมีด เพื่อผ่าปลากะตักให้แยกเป็น 2 ซีก โดยมีลมเป่าทำให้ปลาที่ผ่าได้ตกสู่ตะแกรงคัดแยก ระหว่างเศษไส้ ก้าง และหัวปลา ออกจากตัวปลา

ส่วนปลาที่ไม่ได้ถูกผ่าจะมีการลำเลียงผ่านสกรูลำเลียงเพื่อนำกลับไปผ่าซ้ำ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาศัยแรงงานคนคือใส่ปลาลงเครื่องและควบคุมเครื่องเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ไม่ได้สิ้นเปลืองแรงงาน ซึ่งตามปกติแล้วหากจ้างแรงงาน ต้องเสียค่าแรงงานกิโลกรัมละ 2 บาท และได้ปริมาณเพียงวันละ 10 กิโลกรัม แต่เมื่อใช้เครื่องผ่าปลากระตัก จะสามารถทำงานได้ 2.5 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่  www.rmutt.ac.th