ปลูกพริกในนาข้าว สร้างรายได้เสริมหลังเก็บเกี่ยว ของกลุ่มเกษตรกร อำเภอเกษตรสมบูรณ์

“ดินแดนป่าสอนลอน สะออนสาวบ้านแต้ งามแท้แลคิ้งไกล น้ำพรมไหลผ่าน สงกรานต์ภูกุ้มข้าว นมัสการพระเจ้าองค์ตื้อ ลือพระไกรสิงหนาท พระธาตุกุดจอก นามบ่งบอกคือเกษตรสมบูรณ์”

จากข้อความข้างต้นได้บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นผืนป่า ผืนน้ำ ความเจริญทางวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดกันมายาวนานของชาวเกษตรสมบูรณ์

เกษตรสมบูรณ์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิในจำนวน 16 อำเภอ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ ตอนกลางของพื้นที่อำเภอ เป็นที่ราบลุ่ม สลับเนินมีลำน้ำสายสำคัญได้แก่ “ลำน้ำพรม” ไหลผ่าน ลำน้ำสายนี้ถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวชัยภูมิตอนบนเกือบทุกอำเภอ และเป็นลำน้ำสาขาของน้ำพอง พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การปลูกข้าว

ตอนเหนือของพื้นที่อำเภอเป็นที่ราบสลับเนิน เหมาะแก่การปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์ ทิศใต้และทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตก มีเทือกเขาภูเขียวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ (International Wetland)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้อำเภอเกษตรสมบูรณ์มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ได้เปรียบในหลายพื้นที่ สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชที่เป็นผลผลิตหลัก ได้แก่ข้าว และ พืชอื่นที่เป็นพืชรองหลายชนิด เช่น พริก ยาสูบ ยางพารา ที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแข่งขัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี ที่สำคัญอย่างมากคือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เกษตรสมบูรณ์ทุกคนทุกอาชีพต่างมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นระบบ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนแม้จะไม่เป็นทางการ แต่พวกเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างดีมีคุณภาพ

อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีเกษตรกรรมอะไรบ้าง

ก่อนที่จะไปรับทราบเรื่องราวของการประกอบอาชีพปลูกพริกที่ชาวเกษตรสมบูรณ์ทำเป็นรายได้เสริมหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คุณสาคร มะลิดา ตำแหน่งเกษตรอำเภอเกษตรสมบูรณ์มีข้อมูลตรงและสดจากพื้นที่เกษตรกรรมมาเปิดเผยว่า ที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 3 แสนกว่าไร่ เป็นพื้นที่ใช้ปลูกข้าวเกือบ 2 แสนไร่ ที่เหลือปลูกพืชรองและพืชเสริมได้แก่ อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด

เกษตรอำเภอ กล่าวต่อว่าพืชที่เป็นเอกลักษณ์ของเกษตรสมบูรณ์และเป็นพืชที่ปลูกไม่กี่แห่งในประเทศคือถั่วเหลือง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 3 หมื่นกว่าไร่ และเป็นการปลูกถั่วเหลืองที่ไม่มีการเตรียมดิน เป็นการหว่านบนดิน ทั้งที่ก่อนหน้าที่เคยมีการเผาฝางก่อน แต่ปัจจุบันไม่ทำเช่นนั้นแล้ว มีการพัฒนาวิธีการปลูกด้วยการล้มต้นฝาง เติมน้ำแล้วจึงหว่านถั่ว จากนั้นจึงระบายน้ำทิ้ง ต้นถั่วก็จะงอกขึ้นมา

“ถือว่าเป็นการใช้ความรู้ด้านเกษตรกรรมด้วยการคำนวณว่าควรเติมน้ำก่อนเพื่อแช่ไว้นานเท่าไร ถึงจะมีความเหมาะสมที่จะทำให้ถั่วเหลืองงอกได้อย่างสมบูรณ์

ก่อนหน้าปลูกถั่วเหลือง ชาวบ้านเคยปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ดินแปลงเดียวกัน และให้ผลผลิตถั่วเขียวประมาณ 140-150 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อถั่วเหลืองเป็นพืชแข่งขันที่ให้ผลผลิต 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ แม้จะต้องใช้เวลาการปลูกถั่วเหลือถึง 100-110 วัน ส่วนถั่วเขียวใช้เวลาเพียง 60 วันก็ตาม แต่เกษตรกรเห็นว่าเป็นการปลูกที่ให้รายได้คุ้มค่ากว่า จึงได้ปลูกถั่วเหลืองแทนถั่วเขียว แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีเกษตรกรที่ยังปลูกถั่วเขียวอยู่บ้าง” คุณสาครกล่าว

“พริก” เป็นพืชอีกชนิดที่ทำรายได้ให้กับชาวเกษตรสมบูรณ์ มีผลผลิตเฉลี่ย 2,700 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตที่สูง มีจำนวนพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 3-8 พันไร่ คาดว่าปลูกมากที่สุดในประเทศไทยสำหรับการปลูกพริกในนาข้าว แต่ยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เกษตรคอยให้ความช่วยเหลือที่จะพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณให้ดีขึ้น

สภาพพื้นที่ของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ โดยเฉพาะดินถือว่ามีคุณภาพมาก ไม่เปรี้ยว ไม่เค็ม ส่วนน้ำมีระบบชลประทานเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ และที่พืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตดีเพราะทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทาน อย่างไรก็ตามบางปีหากขาดน้ำจากระบบชลประทาน ยังพอมีน้ำจากใต้ดินดึงขึ้นมาใช้ได้ตลอด

ทางด้านข้าว ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากสำหรับชาวเกษตรสมบูรณ์ คุณสาครกล่าวว่าได้ผลผลิตและมีความสมบูรณ์กว่าหลายอำเภอในชัยภูมิ อาจดูจากปุ๋ยที่ใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่าที่เกษตรสมบูรณ์ใช้ปุ๋ย 1 กระสอบต่อไร่ ขณะที่แห่งอื่นต้องใช้ถึง 4 กระสอบต่อไร่ แถมผลผลิตยังเทียบกันไม่ได้

“พอเสร็จปลูกข้าว ชาวบ้านไม่ยอมหยุด จัดการลงมือปลูกพืชอย่างอื่นต่อเพื่อเป็นรายได้ เช่นพริก ยาสูบ ถั่วเหลือง และอื่นๆ ในที่นาของพวกเขา เรียกว่าทั้งปีชาวบ้านมีกิจกรรมเพื่อหารายได้ตลอด ไม่ทิ้งผืนดินให้ว่างเปล่า พวกเขามีความสุข สนุกกับการทำงานกันเป็นครอบครัว

ส่วนหน้าที่ของทีมงานเกษตรไม่เพียงแค่แนะนำการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเท่านั้น ยังต้องเพิ่มในเรื่องของคุณธรรมเข้าไปด้วย มีการแนะนำให้ทุกคนปลูกพืชแบบปลอดสารเคมี เพราะแน่นอนการใช้สารเคมีย่อมทำให้คุณได้ประโยชน์ แต่ผู้บริโภคจะเสียประโยชน์ ดังนั้นหากทุกคนทำได้จริงก็แสดงว่าทุกคนมีคุณธรรมแล้ว”เกษตรอำเภอกล่าวทิ้งท้าย

เกษตรกรปลูกพริกได้ทั้งคุณภาพ และปริมาณ

จากข้อมูลของเกษตรอำเภอที่ระบุว่าผลผลิตพริกของคุณบรรเย็นและกลุ่มมีคุณภาพและความสมบูรณ์ทั้งขนาดและรูปร่าง อันเป็นผลมาจากการเอาใจใส่แปลงปลูกอย่างจริงจังตามหลักวิธีการที่ถูกต้องจนนำไปสู่ปริมาณผลผลิตที่สูงถึง 2-3 ตันต่อไร่

คุณบรรเย็น คันภูเขียว  มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบ้านเป้า อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 4 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โทรศัพท์ 085-2132969

ผู้ใหญ่บรรเย็น มีอาชีพเกษตรกรรมเหมือนเพื่อนบ้านคนอื่นด้วยการทำนาปลูกข้าว ครั้นพอหมดช่วงทำนา ได้หารายได้เสริมด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้เวลาสั้น ให้ผลผลิตดี ที่สำคัญต้องมีรายได้ดีด้วย ดังนั้นพริกคือพืชอีกชนิดที่เลือกปลูกมาเป็นเวลากว่า 8 ปี

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทางผู้ใหญ่บรรเย็นได้พาคณะไปชมแปลงพริกบนเนื้อที่ดินกว่า 1 ไร่ จากอีกหลายแปลงที่เขามีอยู่ นอกจากคุณบรรเย็นที่ปลูกพริกแล้ว ยังมีเพื่อนบ้านอีก 3คนคือคุณกงหัน ศรีทน มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 1 ไร่,คุณอรุณ เกื้อหนุน ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 2 ไร่และคุณศาสตรา โพธิชาลี มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 1 ไร่เศษ ทั้งสามคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันคือบ้านหมู่ 4 และมีการวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อช่วยเหลือร่วมมือกันแก้ปัญหาซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องการปลูกพริก ดังนั้นแนวทางการปลูกพริกของทั้งสี่คนจึงใช้วิธีเดียวกัน

คุณบรรเย็น เล่าถึงเหตุผลของการปลูกพริกว่าเพราะต้องการทำเป็นรายได้เสริมหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และพริกจะเริ่มปลูกหลังเกี่ยวข้าวแล้ว เป็นการปลูกแบบสลับหมุนเวียน ในการปลูกแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงสามารถเก็บพริกได้ ต่อจากนั้นจะค่อยทยอยเก็บทุก 7 วัน

“จะเริ่มลงมือประมาณปลายเดือนธันวาคม โดยจะจัดการไถพื้นดินก่อนเป็นการเตรียมดิน ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพรองพื้น แล้วจัดการไถกลบ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วันต่อจากนั้นจะยกร่องเตรียมแปลงหาวัสดุคือฟางที่เกี่ยวแล้วมาใช้คลุมดิน

จากนั้นจึงนำต้นกล้าพริกที่เพาะไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 1เดือน มาลงในแปลงที่เตรียมไว้ การกำหนดระยะห่างของต้นพริกต้องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่แต่ละแห่ง แล้วแต่คุณภาพดิน ถ้าคุณภาพดินดี มีพื้นที่ใหญ่ระยะห่างประมาณ 80-100 เซนติเมตร” คุณบรรเย็นอธิบาย

ผู้ใหญ่ให้รายละเอียดต่ออีกว่าขณะต้นพริกเจริญเติบโต ต้องดูแลเอาใจใส่ ฉีดยา ดูใบว่ามีเพลี้ยหรือไม่ ถ้ามีต้องใช้สารเคมีที่ทางเกษตรอำเภอแนะนำ แต่หากมีไม่มาก จะใช้สารชีวภาพ

“ใส่ปุ๋ยทุก 7 วัน เป็นปุ๋ยสูตร 15-15-15 และสูตรนี้ใช้มาตั้งแต่เริ่มปลูก นอกจากนั้นแล้วยังต้องใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นควบคู่ไปเพื่อเป็นการไล่ศัตรูพืช ในกลุ่มฮอร์โมนก็ทำกันเอง เป็นน้ำหมักจากผลไม้

ภายหลังจากที่ปุ๋ยชีวภาพแล้วได้ผลดีมาก ผลผลิตดก สวย มีขนาดใหญ่ อีกอย่างที่สำคัญคือฟางที่เกี่ยวข้าวแล้วให้นำมาคลุมต้นพริก เพราะจะเป็นปุ๋ยที่ดีสำหรับพริกด้วย”เพื่อนสมาชิกในกลุ่มให้รายละเอียดเพิ่ม

ในเรื่องการดูแลแปลงพริกนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญมากคือต้องหมั่นดูแลเรื่องวัชพืชอย่าให้ขึ้นรกบริเวณโคนต้น ควรถากถางให้สะอาด เพราะเวลาใส่ปุ๋ยจะได้ถึงต้นพริก

สำหรับการให้น้ำ คุณบรรเย็นเผยว่าน้ำที่ใช้รดแปลงพริกเป็นน้ำที่ได้มาจากการสูบจากบึง แล้วมาพักเก็บไว้ที่บ่อที่ขุดไว้ จากนั้นเมื่อต้องการใช้จะค่อยทยอยสูบใส่เข้ามาในแปลงพริกเป็นช่วงเป็นตอน เขาบอกว่าเรื่องน้ำไม่ค่อยมีปัญหา ถึงแม้ฝนจะทิ้งช่วง เพราะทางชลประทานได้พร่องน้ำมาให้ตลอด ทั้งนี้จะแตกต่างจากที่อื่นเพราะต้องรอใช้น้ำฝนอย่างเดียว

วิธีการเก็บผลผลิต

ภายหลังจากการดูแลเอาใจใส่ต้นพริกในแปลงอย่างเต็มที่แล้ว คราวนี้ต้องรอเวลาที่ผลผลิตพริกจะออกมาให้ผู้ปลูกเกิดความชื่นใจ

ผู้ใหญ่บรรเย็นบอกว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนพริกจะสามารถเก็บผลผลิตได้เป็นรุ่นแรก จากนั้นผ่านไปอีกประมาณ 7 วันก็สามารถเก็บได้ตลอด ซึ่งภายในหนึ่งเดือนสามารถเก็บได้หลายครั้ง การปลูกพริกจะปลูกไปจนถึงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดังนั้นช่วงการปลูกจะอยู่ประมาณ 6 เดือน และสามารถเก็บพริกได้ถึง 2 รุ่น

ปัญหาจากโรคพืชหรือแมลง

ปัญหาใหญ่ของการปลูกพืชทุกชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือจากโรคพืชและแมลงศัตรูพืช สมาชิกในกลุ่มท่านหนึ่งอธิบายว่า สภาพอากาศมีผลต่อการระบาดของศัตรูพืชและโรคพืช  เพราะถ้าฝนมาเร็ว โรคก็ตามมาเร็วด้วย และโรคที่มากับฝนคือเชื้อรา แต่ถ้าแล้งนัก แมลงศัตรูพืชที่พบมากจะเป็นพวกเพลี้ยไฟและไรขาว

ราคาพริกเป็นอีกหนึ่งปัญหา

ต่อทิศทางการปลูกในอนาคต

ปัญหาเรื่องราคาพริกตกต่ำมักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้มีผลมาจากการปลูกพริกพร้อมกันหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อถึงช่วงให้ผลผลิตจะออกพร้อมกันทำให้ปริมาณพริกในตลาดมีมากจนเกินไป

คุณบรรเย็นเผยว่าในอดีตเมื่อราวสามปีก่อนเคยได้ราคาพริกดีที่สุด 50 บาทต่อกิโลกรัม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงนั้นพริกจากจังหวัดอื่นประสบปัญหาอากาศแล้งมาก เพลี้ยลง จึงทำให้ปริมาณพริกน้อย แต่ที่เกษตรสมบูรณ์ไม่ประสบปัญหาจึงสามารถขายพริกได้ในราคาสูง

“ขณะนี้พริกราคาประมาณ 11-12 บาทเท่านั้นและเป็นราคาที่แย่มาก ถ้าราคาที่พออยู่ได้ควรจะประมาณ 25-30 บาทต่อกิโลกรัม

ผมเคยคำนวณต้นทุนหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วทุกอย่างเช่นค่าจ้างเก็บกิโลกรัมละ 4-5 บาท ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย เบ็ดเสร็จแล้วจะเหลือประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม”ผู้ใหญ่บรรเย็นบอก

จากข้อมูลตัวเลขของผู้ใหญ่บรรเย็นและเพื่อนร่วมกลุ่ม มีความสอดคล้องกับข้อมูลต้นทุนการผลิตพริกจากทางเกษตรอำเภอปี 2554-2555 ที่ว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีปริมาณ 2,750 กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตพริกเป็นเงิน 15.46 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายพริกที่เกษตรกรขายได้ ณ ปัจจุบันเฉลี่ย 12 บาท ต่อกิโลกรัม (วันที่เก็บข้อมูล 25 เมษายน 2555)

อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลุ่มนี้คาดว่าราคาเช่นนี้คงอยู่สักพักหนึ่งแล้วอาจมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งราคาที่สูงสุดก็อาจจะอยู่ใกล้ช่วงเลิกปลูกพริกแล้ว แต่พวกเขาบอกว่าเหตุผลที่ต้องปลูกพริกต่อไปเพราะมีข้อดีคือสามารถเก็บผลผลิตได้ทุก 7 วัน หมายความว่าจะมีเงินสดหมุนเวียนไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตลอด ถึงแม้ราคาจะต่ำ แต่ถ้ามีเงินสดเข้ามาตลอดก็พออยู่ได้ ซึ่งต่างกับพืชชนิดอื่นที่เก็บครั้งเดียวและได้เงินก้อนเดียวก็จบ

“คุณภาพพริกที่ละแวกนี้ถือว่ามีคุณภาพดี ทั้งนี้สังเกตจากลักษณะรูปร่างพริก ใบ และต้น จะมีความสมบูรณ์มาก ข้อมูลเรื่องนี้ได้มาจากกลุ่มพ่อค้าที่มารับซื้อพริก และยังบอกอีกว่าพริกจากเกษตรสมบูรณ์จะมีคุณภาพและเก็บไว้ได้นานกว่าพริกจากจังหวัดอื่น”เจ้าของแปลงพริกกล่าวทิ้งท้าย